วันจันทร์, มกราคม 29, 2567

ไม่ใช่แค่ “จำนวนครั้งในการทำประชามติ” ที่นักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน และผู้สนใจกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงกัน แต่สิ่งสำคัญเหนือกว่านั้นคือ “คำถาม” ที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้ออกเสียงประชามติ บีบีซีไทยสรุปความเคลื่อนไหวล่าสุด และเบื้องหลังความสับสนอลหม่านเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา


บีบีซีไทย - BBC Thai
21·


ไม่ใช่แค่ “จำนวนครั้งในการทำประชามติ” ที่นักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน และผู้สนใจกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงกัน แต่สิ่งสำคัญเหนือกว่านั้นคือ “คำถาม” ที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้ออกเสียงประชามติ เพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ต่อไป
.
อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
https://bbc.in/3vSOLSI
.....
สรุปสูตรประชามติแก้รัฐธรรมนูญ ใครเสนออะไรบ้าง


หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
27 มกราคม 2024

ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควร แม้พรรคเพื่อไทย (พท.) รณรงค์หาเสียงเลือกตั้งว่าจะ “จัดทำรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตย” แต่จนขณะนี้รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ยังไม่ได้เคาะว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง และใช้คำถามว่าอะไร ท่ามกลางสารพัดสูตรประชามติที่นำเสนอโดยพรรคการเมืองและภาคประชาชน

หากการจัดให้มีการออกเสียงประชามติเกิดขึ้นจริง จะเป็นประชามติหนที่ 3 ของประเทศไทย หลังผู้มีสิทธิออกเสียงชาวไทยเคยไปลงประชามติรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในปี 2550 และรับ/ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ 2560 ในปี 2559

แต่นี่จะเป็นประชามติหนแรกที่นำไปสู่การรื้อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และเปิดทางให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21

รัฐธรรมนูญ 2560 ยกร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ที่มาจากการแต่งตั้งของหัวหน้าคณะรัฐประหารปี 2557 ก่อนนำไปสอบถามความคิดเห็นประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติ ผลปรากฏว่า ประชาชน 16.8 ล้านเสียง ต่อ 10.5 ล้านเสียง ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และประชาชนอีก 15.1 ล้านเสียง ต่อ 10.9 ล้านเสียง เห็นชอบ “คำถามพ่วง” ที่ให้ สว. มีอำนาจร่วมกับ สส. ในการลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี


มีชัย ฤชุพันธุ์ นำทีมกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ถ่ายภาพหมู่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 อาคารรัฐสภา ก่อนร่วมพระราชพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อ 6 เม.ย. 2560

บีบีซีไทยสรุปความเคลื่อนไหวล่าสุด และเบื้องหลังความสับสนอลหม่านเกี่ยวกับกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

อลวนแก้รัฐธรรมนูญ

นายชูศักดิ์ ศิรินิล สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย (พท.) พร้อม สส. พรรค พท. รวม 122 คน ร่วมกันเสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ต่อประธานรัฐสภา เมื่อ 18 ม.ค. ทว่าเพิ่งมาเปิดเผยต่อสาธารณะ-เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในอีก 4 วันถัดมา (22 ม.ค.)

ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มีเนื้อหา 5 มาตรา มีสาระสำคัญไม่ต่างจากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเดิมที่พรรค พท. เคยเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาชุดที่ 25 เมื่อปี 2563-2564 เมื่อครั้งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน โดยให้แก้ไขมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และเพิ่มเติมหมวด 15/1 (การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่) เพื่อเปิดทางให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) 200 คน มาจากการเลือกตั้งล้วน เป็นผู้ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไปได้ไกลที่สุดเพียง 2 วาระ โดยผ่านวาระ 1 (รับหลักการ) คู่กับร่างแก้ไขมาตรา 256 ของรัฐบาลพรรคพลังประชารัฐ (ในขณะนั้น) และวาระ 2 (พิจารณาเป็นรายมาตรา) ก่อนมาถูกคว่ำในวาระ 3 (ให้ความเห็นชอบทั้งฉบับ)

ด้วยเพราะในระหว่างทาง รัฐสภามีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอำนาจหน้าที่ของตัวเองว่า มีอำนาจในการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ หรือทำได้เพียงแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเท่านั้น ตามข้อเสนอของนายไพบูลย์ นิติตะวัน สส.บัญชีรายชื่อ และรองหัวหน้าพรรค พปชร. และนายสมชาย แสวงการ สว. ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ว่ารัฐบาลพลังประชารัฐต้องการ “ยื้อเวลา” “ไม่จริงใจ” และ “เล่นละคร” ไปวัน ๆ


ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะผ่านวาระ 1 ได้ ต้องได้ “คะแนนเสียงเห็นชอบจากสมาชิกรัฐสภาไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่สองสภา และต้องมี สว. เห็นชอบ "ไม่น้อยกว่า 1 ใน 3" ของวุฒิสภาที่มีอยู่

11 มี.ค. 2564 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า รัฐสภามีอำนาจและหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง หรือที่รู้จักในชื่อ คำวินิจฉัยที่ 4/2564

คนการเมืองในสภาแปลความหมายคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงกัน การทำประชามติครั้งแรกที่ศาลระบุว่า ให้ประชาชนลงประชามติ “เสียก่อน” นั้น ต้องทำในชั้นไหน ทำเมื่อใดกันแน่ เกิดเป็นความอลวนในการตีความ

การเดินหน้ารื้อรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับจึงสะดุดหยุดลงตั้งแต่บัดนั้น มีเพียงการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 83 และมาตรา 91 (แก้ไขระบบเลือกตั้ง และกลับไปใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ) เท่านั้นที่ฝ่าด่านสภาชุดก่อนมาได้เพียงฉบับเดียว ได้ประกาศใช้เป็นกฎหมายและใช้จัดการเลือกตั้ง 14 พ.ค. 2566

เบื้องหลังคนเพื่อไทยไปคนละทาง

ต่อมา เมื่อเพื่อไทยพลิกมาเป็นแกนนำรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้งครั้งล่าสุด คณะรัฐมนตรี (ครม.) นายเศรษฐา ทวีสิน ได้แต่งตั้ง คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีมติเมื่อ 25 ธ.ค. 2566 ให้ทำประชามติ 3 ครั้ง และเตรียมรายงานแนวทางต่อ ครม. ภายในเดือน ก.พ. นี้

แต่แล้วจู่ ๆ สส. ร่วมพรรคของนายภูมิธรรมเกือบยกพรรค นำโดยนายชูศักดิ์ ก็ออกมาสวนทิศทางของรัฐบาล ประกาศสนับสนุนแนวทางการทำประชามติ 2 ครั้ง

นายชูศักดิ์กล่าวยอมรับกับบีบีซีไทยว่า การเสนอญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมต่อประธานรัฐสภา เป็น “แท็กติกทางกฎหมาย” เพื่อให้มีโอกาสส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความอีกครั้งว่าต้องทำประชามติกี่ครั้งกันแน่


ชูศักดิ์ ศิรินิล นำทีม สส.เพื่อไทย แถลงข่าวเมื่อ 22 ม.ค. หลังยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ต่อประธานรัฐสภา

มือกฎหมายพรรค พท. คาดหวังว่า หากประธานรัฐสภาไม่บรรจุญัตติของเขาและคณะ ตามข้อเสนอของสำนักกฎหมายประธานรัฐสภา โดยอ้างว่าไม่ใช่ร่างแก้ไขเพิ่มเติม แต่เป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงต้องถามประชาชนก่อนตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ขณะที่สมาชิกรัฐสภาเห็นว่าสามารถดำเนินการได้ ก็จะเกิดประเด็นความขัดแย้งเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของรัฐสภา หากเป็นเช่นนั้น พรรค พท. ก็มีสิทธิยื่นคำร้องผ่านประธานรัฐสภาขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาได้ และจะนำไปสู่คำตอบว่าต้องทำประชามติกี่ครั้ง

“มันเป็นการเดินซ้ำรอยเดิม แต่ตอนนั้นยังถามไม่ได้ วันนี้เราเดินตามเกมนี้ซึ่งก็เป็นเกมเดิม เพื่อหาข้อยุติว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคืออะไรกันแน่” นายชูศักดิ์เล่าเบื้องหลังความคิด

เขายืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาไม่ปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ แต่ปัญหาเกิดจากคำวินิจฉัยที่ยังไม่ชัดเจน จึงต้องทำให้เกิดความกระจ่างเท่านั้น

ถ้าเช่นนั้นทำไมถึงไม่พูดคุยให้จบภายในพรรคก่อนออกมาสื่อสารต่อสังคมไปคนละทิศทาง จะทำให้เพื่อไทยถูกมองว่า “เล่นสองหน้า” และ “ไม่จริงใจ” ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่ บีบีซีไทยถาม

“ก็คุย เขา (นายภูมิธรรม) บอกว่าเขาไม่ขัดข้อง แต่คิดว่าเขาไม่มีหน้าที่มาถาม เขาก็กังวลปัญหานี้ เลยให้ลงประชามติ 3 ครั้ง เพราะต้องการความรอบคอบรัดกุม แต่การทำแบบนั้นมันไม่ logic (เป็นเหตุเป็นผล) จะไปยกร่างกันยังไง ประชาชนก็คงจะงง ๆ เขายังให้สัมภาษณ์ว่าเป็นหน้าที่พรรคการเมืองที่จะไปถาม เราก็ทำ”

“ถ้าไปดูรายงาน (คณะกรรมการชุดนายภูมิธรรม) มีคนให้ความเห็นเรื่องประชามติ 2 ครั้งอยู่ ได้ข่าวว่าเสียงส่วนใหญ่อยากให้ทำ 2 ครั้ง แต่หลายส่วนขอเป็น 3 ครั้ง เพื่อความรอบคอบ ยืนยันว่าเราไม่ได้ตีสองหน้า แต่ใครจะเผชิญปัญหา เราเลือกทำแบบนี้เพื่อทำให้ปัญหามันยุติ... มันเป็นทางสองแพร่งว่าจะตัดสินใจอย่างไร”

อีกเหตุผลหนึ่งที่นายชูศักดิ์แย้มออกมา เพื่อสนับสนุนข้อเสนอให้ทำประชามติ 2 ครั้งคือ “ถ้าทำ 2 ครั้ง ก็ช่วยให้เราหนีจากคำถามที่ 1 ซึ่งเป็นปัญหาที่ทำให้คนคับข้องใจได้”


ที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ที่มี ภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธาน มีมติเมื่อ 25 ธ.ค. 2566 ให้ทำประชามติ 3 ครั้ง

ด้านนายภูมิธรรมอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นกับพรรค พท. และรัฐบาล โดยปฏิเสธว่า “ไม่ใช่ตั้งประเด็นให้เกิดความขัดแย้ง แต่ทางฝ่ายพรรคการเมืองและรัฐบาลมีความเป็นห่วงว่าจะทำประชามติให้ถูกต้องกี่ครั้ง”

ประธานกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ ของรัฐบาล อธิบายว่า หากตอนนี้รัฐบาลไปถามศาลรัฐธรรมนูญ ก็ยังไม่มีคำตอบ เพราะเหตุยังไม่เกิด เป็นไปได้ว่าศาลจะไม่รับวินิจฉัย แต่ถ้าเสนอเข้าสภาและมีความขัดแย้ง ก็สามารถยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ ซึ่งไม่ได้ขัดกับสิ่งที่คณะกรรมการของรัฐบาลดำเนินการ

“เรามั่นใจว่า 2 ครั้งน่าจะผ่านได้ แต่ถ้าศาลรัฐธรรมนูญยืนยันให้ทำ 3 ครั้ง เราก็เดินหน้าทำ 3 ครั้ง" นายภูมิธรรมกล่าวเมื่อ 23 พ.ค.

รองนายกฯ ระบุว่า รัฐบาลไม่ได้วางธงว่าอยากทำประชามติ 2 ครั้ง แต่เป็นไปตามที่นายวุฒิสาร ตันไชย หนึ่งในกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ ได้ศึกษาว่าการทำประชามติ 2 ครั้งน่าจะเป็นไปได้ แต่มีข้อโต้แย้งจากกรรมการคนอื่น ดังนั้นหากทำ 3 ครั้งก็ไม่มีใครโต้แย้ง แต่มีข้อเดียวคืองบประมาณจะมากขึ้นไปหรือไม่

ในการจัดให้มีการออกเสียงประชามติแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายราว 3,200 ล้านบาท หากต้องทำประชามติ 3 ครั้ง เท่ากับต้องใช้งบประมาณ 9,600 ล้านบาท

ปฏิทินรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 เวอร์ชั่นชูศักดิ์

ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการชุดนายภูมิธรรมเคยระบุว่า การจัดทำประชามติครั้งที่ 1 จากทั้งหมด 3 ครั้ง จะเกิดขึ้นอย่างช้าในเดือน พ.ค. แต่ปฏิทินรื้อรัฐธรรมนูญ 2560 อาจมีการขยับตามจำนวนครั้งในการทำประชามติ

หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ว่าให้ทำประชามติ 2 ครั้ง นายชูศักดิ์คาดว่า ในเดือน เม.ย.-พ.ค. ร่างแก้ไขมาตรา 256 ของพรรค พท. จะเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ ซึ่งพรรคร่วมรัฐบาลและภาคประชาชนอาจเสนอร่างของตนเข้ามาด้วย

กรอบเวลาในการเดินหน้าทำประชามติเวอร์ชั่นเพื่อไทย สรุปได้ ดังนี้
  • ภายในเดือน ม.ค. (1-2 สัปดาห์ นับจากยื่นญัตติ) : หากประธานรัฐสภาไม่บรรจุญัตติของ สส.เพื่อไทย ก็จะต้องทำความเห็นส่งกลับมาแจ้งเจ้าของญัตติให้ทราบ
  • ภายในเดือน ก.พ. (1 เดือน): พรรค พท. จัดทำคำร้องโต้แย้งว่าไม่ถูกต้อง และขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของสมาชิกรัฐสภาในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งสามารถดำเนินการพร้อมกับการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256
  • ภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. (1 เดือน นับจากศาลรับคำร้องไว้พิจารณา): คาดว่าศาลน่าจะมีคำวินิจฉัยออกมา ยกเว้นศาลเปิดไต่สวน “แต่ผมคิดว่าไม่น่าจะไต่สวน เพราะเป็นคำวินิจฉัยของตัวเอง และเป็นความเห็นขัดแย้งทางกฎหมาย ไม่ใช่เรื่องข้อเท็จจริง”
  • ภายในเดือน เม.ย.-พ.ค.: ร่างแก้ไขมาตรา 256 เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาได้ หากศาลให้ทำประชามติ 2 ครั้ง
ที่มา: สรุปจากคำให้สัมภาษณ์ของนายชูศักดิ์กับบีบีซีไทย


การทำประชามติ 2 ครั้ง เป็นเงื่อนไขบังคับที่ถูกล็อกไว้โดยมาตรา 256 ของรัฐธรรมนูญ 2560 และคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564

ปฏิกิริยาจากก้าวไกล-ภาคประชาชน

ส่วนปฏิกิริยาของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และภาคประชาชนที่รณรงค์ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ทั้งฉบับ ต่างระบุตรงกันว่า การทำประชามติ 2 ครั้งถือว่า “เพียงพอแล้วตามหลักกฎหมาย” และถ้ายังเดินหน้าทำประชามติ 3 ครั้ง โดยใช้คำถามแบบคณะกรรมการชุดนายภูมิธรรม มีโอกาสที่กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญจะจบลงตั้งแต่ประชามติยกแรก

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ สส.บัญชีรายชื่อ ออกมาประกาศจุดยืนสนับสนุนข้อเสนอของนายชูศักดิ์ ที่เห็นว่าการทำประชามติ 2 ครั้งเพียงพอแล้ว

“พรรคก้าวไกลพร้อมให้ความร่วมมือกับข้อเสนอของพรรคเพื่อไทย โดยโจทย์สำคัญหลังจากนี้คือทั้ง 2 พรรคต้องร่วมมือกันหาแนวทางโน้มน้าวให้สมาชิกรัฐสภา โดยเฉพาะ สว. เห็นชอบกับการทำประชามติ 2 ครั้ง” นายพริษฐ์กล่าวเมื่อ 23 พ.ค.

อย่างไรก็ตาม มีความเห็นต่างในเชิงรายละเอียดของร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 บางประเด็น โดยเฉพาะระบบเลือกตั้ง สสร. และอำนาจของ สสร. ในการแก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ พรรค ก.ก. จึงเตรียมเสนอร่างประกบกับร่างของพรรค พท. โดยหวังใช้รัฐสภาหาทางออกกันเอง แม้ยอมรับว่ายังมีช่องให้คนที่เห็นแย้งยื่นเรื่องไปที่ศาลรัฐธรรมนูญก็ตาม


ไอติม-พริษฐ์ ยอมรับว่า มีความเสี่ยงที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจวินิจฉัยจำนวนครั้งที่จะต้องทำประชามติมา จึงหวังให้ก้าวไกล-เพื่อไทยจับมือกันให้แน่ และยืนยันในหลักการว่าประชามติ 2 ครั้งเพียงพอแล้ว

ขณะที่นักเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่เรียกตัวเองว่า “กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ” (Con for All) ตั้งข้อสงสัยว่า “เพื่อไทยกำลังเล่นเกมอะไร”

นายณัชปกร นามเมือง หนึ่งในสมาชิกกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ เชื่อว่า นายชูศักดิ์พยายามหาทางออกเรื่องคำถามข้อแรกของคณะกรรมการชุดนายภูมิธรรมที่ตั้ง 1 คำถาม 2 เงื่อนไข เพราะไม่ต้องการเดินหน้าสู่การทำประชามติที่มีข้อขัดแย้ง และเป็นการ “มัดมือชกประชาชน” พรรค พท. จึงอยากใช้กลไกรัฐสภาล็อกแทน เพราะถึงอย่างไรร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับเพื่อไทยก็ไม่ให้แก้หมวด 1 และหมวด 2 อยู่แล้ว

“การที่เพื่อไทยเลือก move (เคลื่อนไหว) แบบนี้ เพราะคำถามแรกของคณะกรรมการชุดนายภูมิธรรม มันมีปัญหา มันไปไม่ได้ ทำประชามติไปก็มีแนวโน้มไม่ผ่าน เลยต้องไปทางนี้ สุดท้ายก็ต้องกลับไปที่การตีความของศาลรัฐธรรมนูญ หากศาลให้ทำประชามติ 2 ครั้งก็จบ แต่ถ้าให้ทำ 3 ครั้ง ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนคำถามใหม่” นายณัชปกรให้ความเห็นกับบีบีซีไทย

เขาบอกด้วยว่า จากการพูดคุยในหมู่เครือข่ายภาคประชาชน หากยังใช้คำถามแบบคณะกรรมการชุดนายภูมิธรรมให้ประชาชนลงประชามติ เสียงของภาคประชาชนมีทั้ง โนโหวต (ไม่ออกไปใช้สิทธิออกเสียง) โหวตโน (ออกไปใช้สิทธิ แต่กาช่อง ไม่เห็นชอบ) และกาช่อง ไม่แสดงความคิดเห็น ถ้ายังไม่มีการแก้ไขกติกาในการออกเสียงประชามติ

“ภายใต้สภาวะเสียงแตกเช่นนี้ ประชามติไม่ผ่านหรอก คุณกำลังเดินหน้าไปสู่ประชามติที่ไม่ผ่าน และทำให้การเดินหน้าแก้ไขรัฐธรรมนูญเสียหาย แล้วจะทำไปทำไม” นายณัชปกรตั้งคำถาม

เช่นเดียวกับนายพริษฐ์ที่ระบุว่า คำถามประชามติครั้งแรกที่ระบุเงื่อนไขไม่แก้ไขหมวด 1 และหมวด 2 “อาจส่งผลให้การลงคะแนนของประชาชนไม่เป็นเอกภาพ และโอกาสที่การทำประชามติครั้งแรกผ่านลดน้อยลง”


กลุ่ม Con for All แถลงข่าวเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนคำถามประชามติ เมื่อ 12 ม.ค.

ปัจจุบัน เงื่อนไขในการผ่านประชามติเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 มาตรา 13 โดยกำหนดให้ใช้ “เสียงข้างมาก 2 ชั้น” (Double Majority) ชั้นแรก ต้องมีผู้มาใช้สิทธิออกเสียงจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิออกเสียง ชั้นที่สอง ต้องมีเสียงเกินกึ่งหนึ่งของผู้มาใช้สิทธิออกเสียง จึงจะผ่านประชามติได้

ตัวอย่างเช่น หากมีจำนวนผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติทั้งหมด 52 ล้านคน ในชั้นแรก ต้องมีโหวตเตอร์ออกไปใช้สิทธิเกิน 26 ล้านคน และในการผ่านประชามติ หากมีผู้ไปใช้สิทธิ 26 ล้านคน ต้องมีผู้ลงคะแนนเห็นชอบเกิน 13 ล้านคน จึงจะเป็นอันว่าคำถามนั้นผ่านประชามติ แต่ถ้ามีผู้ไปใช้สิทธิ 25 ล้านคน แม้มีผู้ลงคะแนนเห็นชอบ 13 ล้านคน แต่เมื่อยอดผู้ไปใช้สิทธิไม่ถึงเงื่อนไขขั้นต่ำตามกฎหมาย ก็เป็นอัน “แพ้ฟาล์ว” และถือว่าผลประชามตินั้นคือไม่ผ่าน

สูตรประชามติ
  • จำนวนประชามติ: 3 ครั้ง
  • ทำประชามติ: ครั้งแรก ก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ครั้งที่สอง ภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ผ่านรัฐสภา, ครั้งที่สาม ภายหลังการยกร่างธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. แล้วเสร็จ
  • คำถามในการออกเสียงประชามติครั้งแรก: ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์
สูตรกรรมการชุดนายภูมิธรรม

บีบีซีไทยขอสรุปสูตรประชามติที่คน 4 กลุ่มนำเสนอต่อสาธารณะ

ไม่ใช่แค่ “จำนวนครั้งในการทำประชามติ” ที่นักการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาชน และผู้สนใจกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ตีความคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญไม่ตรงกัน แต่สิ่งสำคัญเหนือกว่านั้นคือ “คำถาม” ที่จะให้ประชาชนชาวไทยได้ออกเสียงประชามติ เพราะจะเป็นตัวกำหนดทิศทางในการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับที่ 21 ต่อไป

สูตรเพื่อไทย

  • จำนวนประชามติ: 2 ครั้ง
  • ทำประชามติ: ครั้งแรก ภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ผ่านรัฐสภา, ครั้งที่สอง ภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. แล้วเสร็จ และได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาแล้ว
  • คำถามในการออกเสียงประชามติครั้งแรก: มี 2 คำถามคือ 1. ท่านเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ 2. ท่านเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่
สูตรก้าวไกล
  • จำนวนประชามติ: 2 ครั้ง เพียงพอแล้วทางกฎหมาย แต่ถ้าจะทำ 3 ครั้ง เสนอให้ ครม. ทบทวนคำถามประชามติใหม่
  • ทำประชามติ: ครั้งแรก ก่อนเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ, ครั้งที่สอง ภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ผ่านรัฐสภา, ครั้งที่สาม ภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. แล้วเสร็จ
  • คำถามในการออกเสียงประชามติครั้งแรก: มี 1+2 คำถาม (กรณีต้องทำประชามติ 3 ครั้ง) คือ 1. ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. (โดยไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขและไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ) 2.1 ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า สสร. ควรจะมาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด 2.2 ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่า สสร. ควรมีอำนาจพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทุกหมวด (ตราบใดที่ไม่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข)

ณัชปกร นามเมือง (ขวา) นำรายชื่อประชาชน 205,739 รายชื่อที่รวบรวมได้ ยื่น กกต. เพื่อเสนอคำถามประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เมื่อ 30 ส.ค. 2566

สูตรกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ (Con for All)
  • จำนวนประชามติ: 2 ครั้ง เพียงพอแล้วทางกฎหมาย แต่ถ้าจะทำ 3 ครั้ง เสนอให้ ครม. ทบทวนคำถามประชามติใหม่
  • ทำประชามติ: ครั้งแรก ภายหลังร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 ผ่านรัฐสภา, ครั้งที่สอง ภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. แล้วเสร็จ
  • คำถามในการออกเสียงประชามติครั้งแรก: ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ (มีการปรับคำถามใหม่หลังตัวแทนกลุ่มได้พูดคุยกับคณะกรรมการชุดนายภูมิธรรม และได้รับข้อมูลว่าการกำหนดเรื่อง สสร. ลงไปในคำถามแรก อาจขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้คำถามเดิมที่ประชาชนกว่า 2 แสนรายชื่อเสนอคือ ท่านเห็นชอบหรือไม่ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน)