วันพุธ, มกราคม 31, 2567

ศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย คดีกล่าวหาพรรคก้าวไกล “ล้มล้างการปกครอง” ในวันที่ 31 ม.ค. นี้ คดีนี้ นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความอดีตพระพุทธะอิสระ ยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยว่า การหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยนโยบายให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่ ชวนอ่าน คำร้อง



เปิดคำร้องคดีหาเสียงแก้ ม. 112 กล่าวหา พิธา-ก้าวไกล “ล้มล้างการปกครอง”

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
29 มิถุนายน 2023

บีบีซีไทยเปิดคำร้องของทนายความอิสระที่ส่งถึงอัยการสูงสุดและศาลรัฐธรรมนูญ ขอให้ตรวจสอบการหาเสียงด้วยการเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของพรรคก้าวไกล (ก.ก.) ซึ่งเขาพบว่า “มีปัญหาข้อกฎหมาย” ใน 5 ประเด็น โดยมือยื่นคำร้องรายนี้ยืนยันว่า ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงทางการเมือง แต่ทำตามหลักของกฎหมาย และต้องการ “ดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลม”

ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเมื่อ 26 มิ.ย. ให้สอบถามอัยการสูงสุด (อสส.) ว่า มีคำสั่งรับหรือไม่รับดำเนินการคำร้อง กรณีนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรค ก.ก. หาเสียงด้วยการเสนอให้แก้ไขมาตรา 112 โดยให้แจ้งต่อศาลภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้

มติศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น หลังจากนายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 ว่า การกระทำของนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค ก.ก. ผู้ถูกร้องที่ 1 และพรรค ก.ก. ผู้ถูกร้องที่ 2 ที่เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่..) พ.ศ. …. เพื่อยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยใช้เป็นนโยบายในการหาเสียงเลือกตั้ง และยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพเพื่อล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง หรือไม่

นายธีรยุทธระบุในคำร้องว่า ได้ยื่นคำร้องต่อ อสส. เมื่อ 30 พ.ค. ขอให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสั่งนายพิธา และพรรค ก.ก. “เลิกการกระทำที่เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพอันนำไปสู่การล้มล้างการปกครองฯ” แต่ไม่ปรากฏว่า อสส. ได้ดำเนินการส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับคำร้อง ซึ่งครบกำหนดไปเมื่อ 14 มิ.ย. เขาจึงใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 49 วรรคสอง

ต่อมา 27 มิ.ย. นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง รองโฆษก อสส. เปิดเผยว่า นายธีรยุทธเดินทางมายื่นคำร้องผ่านสำนักงาน อสส. จริง ซึ่งทาง อสส. ได้พิจารณาคำร้อง และตั้งคณะทำงานขึ้นพิจารณา โดยได้เชิญผู้ร้องมาให้ถ้อยคำประกอบคำร้องเพื่อความครบถ้วนสมบูรณ์ และประสานหาพยานหลักฐานเพิ่มเติมไปยังหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมากกว่า 2 หน่วยงาน แต่หน่วยงานที่ประสานไปยังไม่ส่งเอกสารข้อมูลกลับมาประกอบการพิจารณา แม้ทางผู้ร้องไปยื่นร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงเเล้ว แต่ทาง อสส. พอได้รับคำร้องมา ก็จะดำเนินการควบคู่ไปด้วย เพียงแต่ต้องรอข้อมูลประกอบคำร้อง ไม่ใช่รับคำร้องอะไรมาก็ส่งศาลรัฐธรรมนูญเลย

“ไม่ได้มีจิตต้องการไปประหัตประหารพิธา-ก้าวไกล”


นอกจากยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ ธีรยุทธ สุวรรณเกษร ยังยื่นคำร้องต่อประธาน กกต. ให้ตรวจสอบว่า การหาเสียงให้แก้ไขมาตรา 112 เป็นการกระทำอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ตาม พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 92 (1) (2) หรือไม่

นายธีรยุทธกล่าวกับบีบีซีไทยว่า การใช้สิทธิยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะต้องการให้นายพิธา และพรรค ก.ก. “หยุดพิจารณาแก้ไข” หรือ “หยุดวาระที่อาจจะซ่อนอยู่ในคำว่าแก้ไข ก็คือการยกเลิกมาตรา 112” เนื่องจากเคยมีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญคดีชุมนุม 10 ส.ค. 2563 และคดียุบพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งมีผลผูกพันต่อทุกองค์กรตามรัฐธรรมนูญ พร้อมยืนยันว่า ทำหน้าที่ในฐานะนักกฎหมายที่ต้องทำตามหลักการของกฎหมาย ไม่ได้มีเจตนาแอบแฝงทางการเมืองในช่วงที่พรรค ก.ก. เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล

“ผมไม่ได้มีจิตต้องการไปประหัตประหารท่านพิธา และพรรคก้าวไกล หรือตั้งใจทำลายทำร้ายอะไรเขา ท่านไม่ได้มาทำอะไรผม ท่านมีแนวความคิด มีการแสดงความคิดเห็นออกมา แต่สิ่งที่ท่านจะทำ จะเปิดช่อง เปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลหรือใครฉวยไปทำอะไรหรือเปล่า ศาลก็จะวินิจฉัยตรงนั้น” นายธีรยุทธกล่าว

ส่วนสาเหตุที่ออกมาเคลื่อนไหวยื่นคำร้องในช่วงนี้ ทั้ง ๆ ที่พรรค ก.ก. เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร ตั้งแต่ปี 2564 นั้น นายธีรยุทธชี้แจงว่า เรื่องนี้ต้องเคารพอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติและผู้กำกับดูแล เท่าที่ฟังจากนายชวน หลีกภัย อดีตประธานสภา เมื่อได้รับการยื่นญัตติเข้ามา ทางประธานและฝ่ายกฎหมายของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจดูแล้วเห็นว่า อาจมีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ว่า “องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้” จึงมีความเห็นให้ส่งร่างคืนพรรค ก.ก.

“พอทางสภาทำหนังสือตอบกลับไป พรรคก้าวไกลก็ออกมายืนยันว่าจะเสนอร่างต่อ แสดงว่าร่างนี้แม้ไม่ได้รับการบรรจุ แต่ยังคาอยู่ ถ้าพรรคก้าวไกลเขาได้ตำแหน่งประธานสภาไปจริง ๆ การบรรจุวาระจะเกิดขึ้นแน่นอน เพราะเขาพูดหลายครั้งว่าจะผลักดันต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ ทุกอย่างปรากฏชัดในนามท่านพิธา และพรรคก้าวไกล” นายธีรยุทธกล่าว

ทนายความอิสระ วัย 49 ปี กล่าวว่า ส่วนตัวได้ศึกษา 300 นโยบายของพรรค ก.ก. พบว่า หลายอย่างเป็นประโยชน์ต่อสังคมและการพัฒนาประเทศ เข้าใจว่ามีผู้ทรงภูมิรู้ในพรรคจำนวนมาก หากไม่ทำเรื่องมาตรา 112 สักเรื่องหนึ่ง ก็ยังสามารถผลักดันนโยบายอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติ

สำหรับนายธีรยุทธเป็นที่รู้จักในฐานะทนายความของนายสุวิทย์ ทองประเสริฐ หรืออดีต “พระพุทธะอิสระ” อดีตแกนนำ กปปส.

ยกบรรทัดฐาน “คดีทะลุเพดาน” ชี้เสนอแก้ ม. 112 ไม่ได้

บีบีซีไทยตรวจสอบคำร้องของนายธีรยุทธที่ส่งถึงศาลรัฐธรรมนูญ จำนวน 19 หน้า โดยมีการอ้างถึงบรรทัดฐานจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564 หรือที่รู้จักในชื่อ “คดีทะลุเพดาน” ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 10 ข้อ บนเวทีการชุมนุมของกลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2563 กระทบต่อสถานะของสถาบันกษัตริย์

"การใช้สิทธิหรือเสรีภาพของผู้ถูกร้องที่ 1 (นายอานนท์ นำภา) ที่ 2 (นายภาณุพงศ์ จาดนอก) และที่ 3 (น.ส.ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล) เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยไม่สุจริต เป็นการละเมิดกฎหมาย มีมูลเหตุจูงใจเพื่อล้มล้างการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคหนึ่ง"

ศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ผู้ถูกร้องทั้ง 3 รวมทั้งกลุ่มองค์กรเครือข่ายเลิกกระทำการดังกล่าวที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

คดีดังกล่าว มีนายณฐพร โตประยูร เป็นผู้ยื่นคำร้องโดยตรงต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อขอให้พิจารณาวินิจฉัยและมีคำสั่งให้คณะบุคคลเลิกการกระทำ โดยอาศัยอำนาจตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง เช่นกัน

1 ใน 10 ข้อเรียกร้องของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์ฯ คือ “ให้ยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 รวมถึงเปิดให้ประชาชนได้ใช้เสรีภาพแสดงความคิดเห็นต่อสถาบันกษัตริย์ได้ และนิรโทษกรรมผู้ถูกดำเนินคดีเพราะวิพากษ์วิจารณ์สถาบันกษัตริย์ทุกคน”



นายธีรยุทธตีความว่า บรรทัดฐานจากคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญใน “คดีทะลุเพดาน” มีผลผูกพันว่า การใช้สิทธิหรือเสรีภาพเรียกร้องเพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บัญญัติขึ้นห้ามผู้ใดล่วงละเมิด หมิ่นประมาท หมิ่นพระบรมเดชานุภาพสถาบันพระมหากษัตริย์ เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร มีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และจะนำไปสู่การบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขในที่สุด การกระทำใด ๆ ที่มีเจตนาเพื่อทำลายหรือทำให้สถาบันพระมหากษัตริย์ต้องสิ้นสลายไป ไม่ว่าจะโดยวิธีการพูด การเขียน หรือการกระทำต่าง ๆ เพื่อให้เกิดผลเป็นการบ่อนทำลาย ด้อยคุณค่า หรือทำให้อ่อนแอลง ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีเจตนาเพื่อล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์

“ดังนั้นการกระทำของนายพิธา และพรรค ก.ก. จึงเข้าลักษณะองค์ประกอบความผิดตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 19/2564” นายธีรยุทธระบุในคำร้อง

5 ปัญหาร่างแก้ ม. 112 ฉบับก้าวไกล จากมุมมือยื่นคำร้อง

พรรค ก.ก. เสนอร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ลงรับเลขรับที่ 27/2564 เมื่อ 25 มี.ค. 2564 อย่างไรก็ตามร่างกฎหมายดังกล่าวไม่ได้รับการการบรรจุเป็นวาระพิจารณา

นายธีรยุทธระบุในคำร้องว่า ร่างแก้ไขมาตรา 112 ฉบับก้าวไกล “มีปัญหาข้อกฎหมาย” ใน 5 ประเด็น สรุปได้ ดังนี้
  • ให้ “ยกเลิก” มิใช่เพียง “แก้ไข” มาตรา 112
  • แก้ไขลักษณะความผิด และลดสถานะความคุ้มครองลงมาอยู่ในหมวด 4 ว่าด้วยความผิดต่อสัมพันธไมตรี (จากเดิมอยู่ในหมวด 1 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรไทย)
  • ลดอัตราโทษสำหรับความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เหลือระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (จากเดิมต้องระวางโทษจำคุก 3-15 ปี) ซึ่งน้อยกว่าอัตราโทษหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไปที่ให้จำคุกไม่เกิน 2 ปี และปรับไม่เกิน 200,000 บาท ส่วนความผิดต่อพระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ลดอัตราโทษจำคุกเหลือไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (จากเดิมต้องระวางโทษจำคุก 3-15 ปี)
  • เปิดโอกาสให้บุคคลสามารถก้าวล่วง วิพากษ์วิจารณ์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ โดยไม่มีความผิด หรือไม่ต้องรับโทษใด ๆ หากเป็นการ “ติชม แสดงความคิดเห็น หรือแสดงข้อความใดโดยสุจริต เพื่อธำรงไว้ซึ่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เพื่อธำรงไว้ซึ่งรัฐธรรมนูญ หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะ” และยังเพิ่มเหตุยกเว้นโทษ กรณีพิสูจน์ได้ว่าความผิดนั้นเป็นความจริง แต่ห้ามไม่ให้พิสูจน์เรื่องความเป็นอยู่ส่วนพระองค์/ส่วนตัว และการพิสูจน์ไม่เป็นประโยชน์แก่ประชาชน
  • ให้คดีหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์เป็นความผิดอันยอมความได้ เหมือนกับความผิดหมิ่นประมาทบุคคลทั่วไป และจำกัดให้เพียงสำนักพระราชวังเป็นผู้ร้องทุกข์และเป็นผู้เสียหายเท่านั้น (จากเดิมประชาชนทั่วไปสามารถฟ้องคดีได้)

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรค เป็นผู้แถลงนโยบายการเมืองของพรรคก้าวไกล ในหมวดศาลและกระบวนการยุติธรรม เมื่อ 15 ต.ค. 2565 หนึ่งในนั้นคือการแก้ไขมาตรา 112

เขาบรรยายถึงพฤติกรรมของหัวหน้าพรรค ก.ก. และพรรค ก.ก.ที่ “ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะยกเลิกมาตรา 112 สำเร็จ” ทั้งการเผยแพร่รณรงค์โฆษณานโยบายแก้ไขมาตรา 112 ผ่านเว็บไซต์ของพรรค ก.ก., กรณีนายพิธายืนยันนโยบายยกเลิกมาตรา 112 หลายครั้งในระหว่างหาเสียงเลือกตั้ง ในจำนวนนี้คือการนำสติ๊กเกอร์สีแดงปิดลงในช่อง “ยกเลิก ม.112” บนเวทีปราศรัยหาเสียงของพรรค ก.ก. ที่แหลมฉบัง จ.ชลบุรี เมื่อ 25 มี.ค. รวมถึงการตอบข้อซักถามสื่อมวลชนในวันลงนามข้อตกลงร่วมกันในการจัดตั้งรัฐบาล 8 พรรค เมื่อ 22 พ.ค. ว่าการแก้ไขมาตรา 112 “พรรคก้าวไกลยืนยันที่จะทำอยู่” หลังไม่ปรากฏเรื่องนี้เป็น 1 ใน 23 วาระร่วมของ 8 พรรคการเมือง

“จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลม”

นายธีรยุทธยังอ้างถึงความเห็นของ 3 บุคคลที่แสดงความเห็นผ่านสื่อมวลชน ประกอบคำร้องของเขาด้วย ได้แก่
  • นายแก้วสรร อติโพธิ นักวิชาการด้านกฎหมาย เขียนบทความถาม-ตอบเกี่ยวกับการเสนอแก้ไขมาตรา 112 ของพรรค ก.ก. เผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์
  • นายสมเกียรติ อ่อนวิมล สื่อมวลชนอาวุโส แสดงความกังวลต่อการตอบคำถามผู้สื่อข่าวต่างประเทศของนายพิธา ในระหว่างแถลงข่าว 16 พ.ค. เกี่ยวกับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันพระมหากษัตริย์กับมวลชน
  • นายสนธิ ลิ้มทองกุล สื่อมวลชนอาวุโส วิจารณ์คำให้สัมภาษณ์บีบีซีของนายพิธา ในรายการของเขา
ทนายความรายนี้บอกกับบีบีซีไทยว่า เขาไม่รู้จักทั้ง 3 คนเป็นการส่วนตัว แต่เห็นว่าเป็นบุคคลสาธารณะ เป็นผู้อาวุโส และโพร์ไฟล์ดี เมื่อคนเหล่านี้แสดงความเห็นและมีข้อชี้แนะออกมา และได้รับการเผยแพร่โดยสื่อมวลชน เขาจึงแกะเทปนำคำกล่าวของคนเหล่านี้มายื่นประกอบคำร้อง


ประชาชนบางส่วนรวมตัวกันหน้าศาลรัฐธรรมนูญ ศูนย์ราชการ ถ.แจ้งวัฒะ เมื่อ 10 พ.ย. 2564 เพื่อฟังคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง กรณีชุมนุม "ทะลุเพดาน"

คำร้องของนายธีรยุทธระบุว่า การที่นายพิธา และพรรค ก.ก. ดำเนินการให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 จะส่งผลให้สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ อันนำไปสู่การสร้างความปั่นป่วนและความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน เป็นการใช้สิทธิหรือเสรีภาพที่เกินความพอเหมาะพอควร มีผลทำให้กระทบกระเทือนหรือเป็นอันตรายต่อความมั่นคงของรัฐความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และในประการที่อาจนำไปสู่การเซาะกร่อนบ่อนทำลายการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่มีลักษณะเฉพาะอันเป็นเอกลักษณ์ของราชอาณาจักรไทย อันอาจจะเป็นการนำไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบอื่น ย่อมไม่ไกลเกินเหตุที่เข้าข่ายจะนำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

“ดังนั้น เพื่อเป็นมาตรการป้องกันความเสียหายร้ายแรงที่อาจจะเกิดแก่สถาบันหลักของประเทศไว้ก่อน อันเป็นรัฐประศาสโนบายที่จำเป็นเพื่อดับไฟกองใหญ่ไว้แต่ต้นลม” ผู้ร้องจึงขอศาลรัฐธรรมนูญโปรดพิจารณาวินิจฉัยสั่งให้นายพิธา และพรรค ก.ก. ดังนี้
  • ให้เลิกการดำเนินการใด ๆ หรือการกระทำใด ๆ เพื่อยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112
  • ให้เลิกการแสดงความคิดเห็น การพูด การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่น เพื่อให้มีการยกเลิกหรือแก้ไขมาตรา 112 ที่กระทำอยู่ และเลิกดำเนินการใด ๆ หรือการกระทำใด ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 49 วรรคสอง
ที่มา (https://www.bbc.com/thai/articles/cd1xe2nzzyxo)