วันศุกร์, มกราคม 26, 2567

"สะพานข้ามสีส้ม" อย่าลืมหลักการ ระวังรากจะลอย


Nithiwat Wannasiri
3h·
จารย์วรเจตน์ แม่งอ่านขาดแต่เนิ่นๆจริงๆ พับผ่า!

Nithiwat Wannasiri
June 29, 2023
·
"สะพานข้ามสีส้ม"
-------
เนื้อหาต่อไปนี้ตัดทอนมาจากบทความ
"วรเจตน์ ภาคีรัตน์: มองย้อนจุดเดือด ว่าด้วยการยุบพรรคอนาคตใหม่" ของ Waymagazine
อ่านฉบับเต็มได้ที่ --> https://waymagazine.org/interview-worajet/
-------
พรรคอนาคตใหม่เท่าที่เห็นและเป็นไป
เขาสร้างปรากฏการณ์ทางการเมืองหลายอย่าง คนอภิปรายดีๆ ก็มีหลายคน โดยโทนเขาต้องการสร้างทางเลือกใหม่ขึ้นมา ถ้าเราดูจากไอเดีย เขาต้องการหลุดออกจากความขัดแย้งแดงเหลือง เพื่อไปสู่อันใหม่ ฐานเสียงอยู่ในกลุ่มปัญญาชน นิสิตนักศึกษา ชนชั้นกลางในเมือง เห็นชัดว่าตอนถูกยุบพรรค พวกนี้เริ่มออกมาแสดงบทบาท แง่นี้ ผมว่าเขาประสบความสำเร็จ
เพียงแต่คงไม่ได้มีฐานจากเจเนอเรชั่นนี้อย่างเดียว มันมีหลายเฉด ส่วนหนึ่งเป็นคนเสื้อแดง ที่อาจผิดหวังจากคุณทักษิณ หลายส่วนย้ายมาสนับสนุนอนาคตใหม่ เพราะเหมือนมีอะไรบางอย่างที่อาจจะดูว่าสู้กว่า ก้าวหน้ากว่า อีกส่วนอาจจะมาจากคนที่ผิดหวังทหาร แต่ก็ไม่ชอบคุณทักษิณ บางส่วนอาจเคยเป็นกลุ่มพันธมิตรหรือ กปปส. และที่ต้องไม่ลืมคือ การเลือกตั้งครั้งนี้มันเปลี่ยนรัชสมัยแล้วด้วย
***อนาคตใหม่อาจสำเร็จในเบื้องต้น แต่ส่วนที่สำเร็จก็ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งกับคนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง เพราะที่ผ่านมาคนเสื้อแดงรู้สึกว่าเป็นผู้ถูกกระทำ ฉะนั้น การตัดขาดความขัดแย้งเหลืองแดง ก็อาจจะเป็นปัญหาหนึ่งแต่แรก***
อนาคตใหม่เป็นที่รวมของคนหลายกลุ่ม เขาได้ทั้งประโยชน์และปัญหาจากระบบเลือกตั้ง การมีเวลาจำกัด เขาต้องแสวงหาความร่วมมือในระนาบที่กว้างที่สุด พอกว้างที่สุด ก็จะมีคนหลายพวกเข้ามาในพรรค การหลอมรวมความคิด อุดมการณ์ มันก็อาจจะขาดความคม ความชัดเจน
ความหลากหลายทำให้เกิดความขัดแย้งได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งผมว่าเห็นได้ชัดคือตอนยุบพรรค อาจจะมี สส. จำนวนหนึ่งไม่อยู่แล้ว ไปหาที่ใหม่ ส่วนหนึ่งอาจถูกซื้อก็ได้ ส่วนหนึ่งรู้สึกว่าพรรคไม่ใช่อย่างที่คิด โดยระยะเวลาการสร้างพรรคในเวลาจำกัดเช่นนี้ มันเลี่ยงไม่ได้ ถามว่าทำไมเป็นแบบนี้ ส่วนหนึ่งเพราะข้อจำกัดจากระบบเลือกตั้ง บัตรใบเดียว พรรคต้องการจะโต เขาต้องส่งคนให้ได้ครบทุกเขต เพราะไม่มีคะแนนเสียงของบัญชีรายชื่อโดยตรง.......
อิทธิพลของชนชั้นนำ?
ระบบเลือกตั้งแบบนี้ ผมไม่เห็นด้วย คือมันพอมองได้อยู่ว่า ทุกคะแนนเสียงมีความหมาย แต่มันเป็นระบบเลือกตั้งที่ทำลายความเป็นเอกภาพของพรรคการเมือง และถ้าคิดดีๆ ไม่ได้เคารพเจตจำนงของประชาชนอย่างถึงที่สุด เพราะบางคนไม่อยากเลือกคนในเขต แต่อยากเลือกบัญชีรายชื่อก็ไม่มีให้เขาเลือก บางคนอยากเลือกคนในเขต ไม่อยากเลือกบัญชีรายชื่อ แต่พอเขาลงคะแนนให้คนในเขต แล้วคนในเขตที่เขาลงคะแนนให้ไม่ชนะในเขต คะแนนของเขากลายไปเป็นของบัญชีรายชื่อทันที อันนี้ผมก็พูดมาตั้งแต่ตอนวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญก่อนออกเสียงประชามติแล้ว
เป็นความพยายามของชนชั้นนำที่มีส่วนในการเขียนรัฐธรรมนูญ ที่จะทำลายลีดเดอร์เดี่ยว เราดูสิ ตอนปี 2550 เขาเลิกระบบเขตเดียวทั้งประเทศ เพราะไม่ต้องการให้ใครมาเคลมเรื่อง 19 ล้านเสียง เขาไม่ต้องการให้ใครเคลม แต่ถึงทำระบบเลือกตั้งแบบนี้ พรรคที่สืบสาวมาจากไทยรักไทย ยังชนะเลือกตั้งอีก คือพลังประชาชน
หลังยุบพลังประชาชน มีการแก้ระบบเลือกตั้งอีก แต่รัฐธรรมนูญปี 2560 เขาคิดอีกแบบขึ้นมาเลย คือคิดว่าทำยังไงให้พรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงข้างมากในสภายาก ฝ่ายของคุณทักษิณแก้เกมโดยแตกแบงก์พัน แต่มันเกิดอุบัติเหตุเรื่องแคนดิเดต ขณะเดียวกัน เขาก็นึกไม่ถึงว่าจะมีพรรคแบบอนาคตใหม่เกิดขึ้น อนาคตใหม่เป็นเซอร์ไพรส์จริงๆ ของชนชั้นนำ คือไม่ว่าคุณจะเขียนรัฐธรรมนูญยังไง มันมีช่องที่ลอดออกไปได้ในที่สุด
***อนาคตใหม่ได้ประโยชน์ แต่ข้ออ่อนคือการหลอมรวมแนวคิดของพรรค ไม่รู้ว่าเป้าหมายจริงๆ คืออะไร มันมีหลายแบบมาก ทั้งการเมือง วัฒนธรรม ความหลากหลายทางเพศ ชาติพันธุ์ พร้อมๆ กับการแยกออกจากคนเสื้อแดง รวมทั้งการมองเหลืองแดงเป็นปัญหาในอดีตที่ต้องข้ามให้พ้น อันนี้ผมว่ามีปัญหาอยู่เหมือนกัน***
ระวังรากจะลอย
ถ้ามองแค่ความขัดแย้งพื้นฐาน ระหว่างคนสองฝ่ายที่คิดไม่เหมือนกันในทางการเมือง มันก็มองได้อยู่ แต่ผมคิดว่ามองเท่านี้ไม่พอ มองเท่านี้จะเป็นการทิ้งอะไรหลายอย่างที่เคยสู้มา แล้วมันจะไม่เชื่อมกัน ผมเป็นนักกฎหมาย ผมเห็นการใช้กฎหมายบดขยี้ ผมเห็นความเลอะเทอะเหลวไหลในการใช้กฎหมายที่ไปซัพพอร์ตฝ่ายที่มีทัศนะทางการเมืองแบบกลุ่มพันธมิตร รวมทั้งกลุ่ม กปปส. เห็นการใช้การตีความกฎหมายหลายเรื่องที่มันไปกันไม่ได้เลยกับหลักการที่ถูกต้อง ถ้าเราไม่กลับไปตรงนี้ หลักการพวกนี้มันก็จะไม่เกิด
ถ้าคุณไม่ชี้ให้เห็นว่าแง่การต่อสู้ทางการเมือง มันบิดหลักกฎหมายกันยังไง อันนี้น่าเสียดาย ทั้งเหลืองทั้งแดง คนที่ไปชุมนุมธรรมดาเกลียดกัน แล้วทำร้ายกัน…มันมี แต่ว่าฝ่ายเสื้อแดง คุณถูกกระทำโดยอำนาจรัฐด้วยครับ ใครจะเถียงผม หรือใครจะปฏิเสธ ว่าถ้าเปรียบเทียบการต่อสู้กัน ใครถูกกระทำอย่างรุนแรงที่สุดจากอำนาจรัฐ
***ฝ่ายเสื้อเหลืองอาจบอกว่าผมพูดไม่แฟร์ เพราะสมัยหนึ่ง รัฐบาลพลังประชาชนก็มีเรื่องสลายชุมนุม แต่ว่าระดับความรุนแรงต่างกันมากระดับความรุนแรงของการสลายชุมนุมมันเทียบกันไม่ได้ คนตายจากการใช้อำนาจรัฐมันไม่สามารถเทียบกันได้เลย ยิงหัวแบะแบบนี้ ยิงในวัดปทุมวนาราม มันจะเทียบกันยังไง
ถ้าใครจะบอกว่ามันเหมือนกัน มันต้องข้ามทั้งหมด ผมว่าคนที่ถูกกระทำโดยอำนาจรัฐแบบนี้ เขารับไม่ได้หรอก***
ประเด็นพวกนี้ ผมว่าทิ้งไม่ได้ คุณอาจพูดถึงเหลืองแดงได้ พูดว่าฝ่ายเหลืองถูกหรือผิดตรงไหน ฝ่ายแดงถูกหรือผิดตรงไหน แต่สุดท้ายคุณต้องกลับไปที่หลักการนะ คุณต้องถามว่าการยุบไทยรักไทย มันถูกไหม คุณใช้กฎหมายที่ออกมาจาก คปค. (คณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข) ตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค มันใช่เหรอ ยุบพลังประชาชนเพราะเห็นว่ามีคนหนึ่งทำผิด และยุบทั้งพรรค มันใช่หรือเปล่า
เราต้องดูภาพใหญ่ทั้งหมดว่าเกิดอะไรขึ้น ใครเป็นฝ่ายถูกบดขยี้จากอำนาจรัฐเป็นหลัก
***แล้วมันต้องเคลียร์ แต่นี่ยังไม่เคลียร์ คนที่เกี่ยวข้องก็มายึดอำนาจในภายหลังด้วยใช่ไหมล่ะ ที่เกี่ยวพันน่ะ มันกลายเป็นมายึดอำนาจซ้ำอีก และเรื่องนี้ก็ไม่มีการเคลียร์ เวลาเราพูดว่าพยายามข้ามพ้น ผมคิดว่าถ้าคุณข้ามพ้น ประวัติศาสตร์ก็จะไม่ถูกชำระ***
แน่นอนว่าเฉพาะหน้า อาจจะต้องสมานฉันท์เพื่อเปลี่ยนการเมืองก่อน แน่นอนว่าเราวิจารณ์ได้ว่าฝ่ายผู้นำของพรรคการเมืองและกลุ่มเคลื่อนไหวเสื้อแดงใช้คนเสื้อแดงเพื่อประโยชน์ของตัวเองไหม พวกนี้วิจารณ์ได้ทั้งนั้น แต่ต้องไม่ลืมว่าการใช้กฎหมายที่ผ่านมาใช้กันยังไง การฆ่ากลางเมืองในเดือนพฤษภา 53 มันรุนแรงยังไง พยายามให้ความเป็นธรรมอย่างที่สุดกับเรื่องใหญ่แบบนี้ อย่าทำแบบสื่อมวลชนจำนวนหนึ่งที่พยายามบิดเบือนการถูกกระทำของผู้ชุมนุมอย่างเลือดเย็นและโหดร้ายครั้งนั้น
สำหรับการยุบพรรค ถ้าเรายอมรับการยุบพรรคอนาคตใหม่ไม่ได้ มันก็ต้องรับไม่ได้ทั้งหมด ยุบไทยรักไทย พลังประชาชน ไทยรักษาชาติ ต้องพูดในระนาบเดียวกัน และคุณต้องเชื่อมกลับไปที่กฎหมายแบบนี้ในอดีตให้ได้ ไม่ใช่มองแค่เรื่องในวันนี้
อย่าลืมหลักการ
บางคนบอกว่าการยุบพรรคอนาคตใหม่เป็นการลงโทษที่รุนแรงไป มันใช่แน่นอน โทษยุบพรรคแรงไป คำถามคือถ้าคุณถือหลักการแบบนี้จริง ทำไมตอนนั้นคุณไม่พูด คนที่มีพื้นที่ในสื่อสาธารณะหลายคนทำไมตอนนั้นไม่พูด ทำไมเห็นดีเห็นงามด้วย พอผมพูดแบบนี้ ก็อาจมีปัญหาอีกว่าทำไมผมเรียกร้องให้ทุกคนมาพูดแบบผม
***ผมกำลังจะบอกว่ามันต้องมีความสม่ำเสมอบ้างนะ และพอตัดขาดแบบนี้ แง่หนึ่งอนาคตใหม่จึงกลายเป็นสะพานให้คนจำนวนหนึ่งใช้เดินข้ามมา เพื่อจะมาสู่ตรงนี้ เกาะอนาคตใหม่ข้ามมา เรื่องในอดีต ไม่มีใครถาม เพราะทุกคนบอกว่ามันต้องขยายมิตร***
คือผมเข้าใจ เวลาคนบอกว่า อาจารย์ เราก็ต้องแสวงหาแนวร่วมให้มากที่สุด ผมบอกว่าคุณขยายมิตรน่ะได้ แต่ว่าผมไม่ชอบที่คุณไม่สม่ำเสมอ แล้วพอคุณไม่สม่ำเสมอ พอเกาะมาอยู่ตรงนี้แล้วกลายเป็นเหมือนกับในอดีตคุณไม่เคยทำอะไรที่ไม่เข้าท่าเลย
***นึกออกใช่ไหม แง่หนึ่งมันเหมือนอนาคตใหม่เปิดให้เขากลับเข้ามาเชื่อม แล้วใช้อันนี้ต่อไป แต่การมาเชื่อมต้องไม่ใช่กลับมาฟอก เพราะถ้ากลับมาฟอก มันแปลว่าเราลืมในทางหลักการหมด***
เพิ่งตาสว่าง?
***จะเพิ่งตาสว่างยังไง เรื่องมันเหลือทนมาตั้งแต่ในอดีต เห็นได้ชัดว่าบางคนดูเหมือนเปลี่ยน เพราะถูกทหารกระทำ บางคนดูเหมือนเปลี่ยนเพราะไม่พอใจรัฐบาลที่เป็นอยู่ บางคนดูเหมือนเปลี่ยน เพราะกระแสคนรุ่นใหม่กำลังขึ้น เห็นได้ชัดว่าวันข้างหน้า คนเหล่านี้ก็อาจเปลี่ยนอีก***
ผมอาจมองโลกแง่ร้ายไปหน่อย ความจริงคนเหล่านี้อาจกลับมามองถูกต้องแล้วก็ได้ พวกเขาเพิ่งรู้ ภาวนาให้เป็นแบบนั้น เพียงแต่ว่าภาพในอดีตบางภาพมันยังหลอนผมอยู่ โอเค เด็กรุ่นนี้ไม่รับรู้ เขาไม่ทันเห็นไง พอไม่เห็น เราควรทำยังไง
มีคนบอก เฮ้ย อาจารย์ไปอยู่ส่วนของอาจารย์เถอะ ให้เขาหลอมรวมอะไรไป เป็นอันใหม่ อย่าไปย้อนอดีตเลย อดีตเป็นอดีตไป พรรคเก่าแก่พวกนั้นก็ไม่ค่อยดี มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีทุนสามานย์ ถูกยุบไปก็ดีแล้ว ใช่ไหม มีคนคิดแบบนี้
เราจะเห็นชัดเจนเลยไงว่าขาดความสม่ำเสมอ และถ้าหลักนี้มันไม่ได้ ผมกลัวว่า สมมุติวันหนึ่งเกิดเปลี่ยนแปลงได้จริง ไม่ว่าระดับไหน มันจะสไลด์ไปสู่อะไรที่คาดหมายไม่ได้ เราอยากจะเป็นสังคมแบบนี้เหรอ อยู่กันแบบนี้ ลืมอะไรง่ายๆ ไม่คิดอะไรเลยในทางหลักการ ผมว่าไม่น่าจะใช่

(https://www.facebook.com/photo/?fbid=6254214464664204&set=a.152292684856443)

อ่านฉบับเต็มได้ที่ -->( https://waymagazine.org/interview-worajet/)