วันพุธ, มกราคม 24, 2567

ยกเลิก ‘ครูอยู่เวร’ ไปไม่คล่อง เพราะเป็นปัญหาทางโครงสร้าง ไม่มีงบประมาณจ้างภารโรงมาทำหน้าที่แทน

เรื่อง ครูอยู่เวร ก็เป็นปัญหาทางโครงสร้างด้วยเหมือนกัน ไม่ใช่ว่าใช้คำสั่งยกเลิกมติ ครม. (ปี ๒๕๔๒) แล้วจะเสร็จ พอรองฯ เสนอนายกฯ ก็ฟันเช๊ะ แม้จะมีลูกพรรคทั่นรองฯ คนเดียวออกมาค้าน (เป็นข่าว) ก็ยังไปไม่คล่อง เพราะโครงสร้างไม่อำนวย

เรื่องที่ว่ามาจากเหตุ ครูสตรีวัย ๔๑ ปี โรงเรียนบ้านโป่งเกลือ เมืองเชียงราย ถูกชายระห่ำบุกทำร้ายบาดเจ็บฟกช้ำขณะอยู่เวรตามระเบียบ รักษาการณ์ที่ครูทั่วประเทศมีหน้าที่ต้องทำ ครั้นเป็นข่าวเน่าให้รัฐบาลเสียหน้า ร้อนถึงกระทรวงศึกษา

ซึ่งพอดีรัฐมนตรีว่าการเป็นตำรวจ แต่สังกัดพรรคของทั่นรองฯ ซึ่งควบ รมว.มหาดไทย ซึ่งมีส่วนได้เสียต่อความละมุนบนใบหน้า เพราะมีหน้าที่กำกับดูแลโดยตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล จึงได้เสนอต่อที่ประชุม ครม.

“ข้าราชการไม่ควรต้องมารับผิดชอบต่อความเสียหายของทรัพย์สินทางราชการ...หากมีอาชญากรรมเกิดขึ้นเป็นหน้าที่ของหน่วยงานความมั่นคงที่จะต้องดูแล ไม่ว่าจะป้องกันหรือปราบปราม ไม่ใช่หน้าที่ครู เสี่ยหนูประกาศแข็งขัน

นายกฯ เศรษฐา ทวีสิน ก็ took action ทันใด แจ้งว่า ครม.มีมติให้ยกเว้นการบังคับใช้มติ ครม.ฉบับ ๖ กรกฎา ๔๒ แล้ว ข่าวว่าครูทั่วประเทศได้เฮ แต่ สฤษดิ์ บุตรเนียร ส.ส.ปราจีนบุรี พรรคภูมิใจไทย ซึ่งเคยเป็นเจ้าของโรงเรียน ไม่ถูกใจ

“มองว่า การออกคำสั่งใดๆ ก็ตาม อย่าให้ครอบจักรวาลมากนัก เหมือนเผาป่า ฆ่าหนูนิ” เขาบอกกับสำนักข่าว เดอะ สแตนดาร์ด หนูตัวเดียวกัดต้นหญ้า เราต้องเผาป่าเพื่อตีหนูตัวนั้นเหรอ โนๆ เขาว่ายังไม่จำเป็นต้องยกเลิกระเบียบทั้งประเทศ

อีกทั้งน่าจะยังทำอะไรไม่ค่อยได้ตามที่ทั้งรองฯ และนายกฯ ต้องการ ต้องฟัง เลขาธิการคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน ร้อยตรี ธนุ วงษ์จินดา ว่า โรงเรียนในสังกัด สผฐ. ๓ หมื่นโรงเรียน ยังไม่มีงบประมาณจ้างยาม ฉะนั้นโรงเรียนส่วนใหญ่ก็ยังคงใช้ครูอยู่เวร

“โดยให้ครูผู้หญิงอยู่เวรกลางวัน ครูผู้ชายอยู่กลางคืน นอกจากประสานงานกับชุมชนและท้องถิ่นให้มาช่วยดูแลความปลอดภัยที่โรงเรียนแล้ว ก็ยังทำหนังสือขอจ้างภารโรงมาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยควบไปด้วย” ทั่นเลขาฯ พูดตามตรง

ซึ่งทาง กทม. โดยรองผู้ว่าฯ ศานนท์ หวังสร้างบุญ ชี้ให้เห็นเป็นตัวอย่าง ว่าทำมาตั้งแต่ปี  ๒๕๖๒-๒๕๖๔ แล้ว “กรุงเทพมหานคร ให้สำนักงานเขตสามารถจ้างเอกชนเข้ามาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้” แต่ก็ยังต้องดูบริบทของแต่ละท้องที่

“ช่วงกลางวันอาจมีบางโรงเรียนที่มีครูเวรอยู่ประจำ” ในระยะที่มีการเปิดรับสมัครนักเรียนใหม่ “วันเสาร์-อาทิตย์ หากพนักงานรักษาความปลอดภัยอยู่คนเดียวจะไม่มีครูรับเรื่องในการรับสมัคร” จึงเป็นกรณีพิเศษ แต่จะไม่มีครูอยู่เวรกลางคืนเด้ดขาด

(https://thestandard.co/stop-letting-teachers-stay-on-duty/)