วันศุกร์, มกราคม 26, 2567

☁️Q&A ตอบคำถามข้อสงสัย ทำไมต้องเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน 🕊️


iLaw
21h
·
Q&A ตอบคำถามข้อสงสัย ทำไมต้องเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน
ก่อนจะคิกออฟแคมเปญล่ารายชื่อเสนอร่างพ.ร.บ. “นิรโทษกรรมประชาชน” ชวนอ่านคำถามพบบ่อยเกี่ยวกับการเสนอกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าจะที่มาที่ไปของร่างกฎหมายฉบับนี้ ใครจะได้รับประโยชน์บ้างและทำไมต้อง #นิรโทษกรรมประชาชน
อ่านรายละเอียดใต้ภาพ



ร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม มีที่มาอย่างไร?

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนเกิดขึ้นจากความร่วมมือขององค์กรทางกฎหมาย นักวิชากร องค์กรภาคประชาสังคม และนักกิจกรรมทางสังคมกว่า 23 องค์กร นำโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ไอลอว์ แอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย กลุ่ม 24 มิถุนาประชาธิปไตย ฯลฯ ซึ่งต่างทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับการดำเนินคดีต่อประชาชนที่แสดงออกทางการเมือง และตระหนักดีว่าประเทศไทยกำลังอยู่ในยุคสมัยที่มีการดำเนินคดีต่อประชาชนที่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองเป็นจำนวนมากที่สุดในประวัติศาสตร์ เนื่องจากความขัดแย้ง การรัฐประหาร และการชุมนุมประท้วงที่ต่อเนื่องมาเกือบ 20 ปี มีคดีจำนวนมากที่ยังไม่สิ้นสุด และมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำมาอย่างต่อเนื่องยาวนานพร้อมกับแนวโน้มที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ถูกจัดทำขึ้นเพื่อยุติการดำเนินคดีความ คลี่คลายปัญหาความขัดแย้งที่สืบเนื่องจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 เหตุที่วางกรอบเวลาไว้ที่รัฐประหาร 2549 เนื่องจากเป็นหมุดหมายสำคัญทางการเมือง เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งทางการเมืองในยุคปัจจุบัน


คดีความในฐานความผิดใด ที่จะได้รับการนิรโทษกรรมบ้าง?

ในร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน มาตรา 5 ระบุว่า มีคดีที่จะได้รับการนิรโทษกรรมโดยทันที ได้แก่ คดีความผิดตามประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, คดีพลเรือนที่ถูกดำเนินคดีในศาลทหารตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ, คดีตามฐานความผิดในมาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญา, คดีตามฐานความผิดในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548, คดีตามฐานความผิดในพ.ร.บ.ออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และคดีตามฐานความผิดที่เกี่ยวโยงกับฐานความผิดที่กล่าวมาก่อนหน้า

ในทางปฏิบัติจะให้มีการตั้งคณะกรรมการนิรโทษกรรมประชาชนขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบไปด้วยประธานสภาผู้แทนราษฎรเป็นประธานคณะกรรรมการ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล ส.ส. 10 คนตามสัดส่วนของพรรคการเมืองในสภาผู้แทนราษฎร ตัวแทนจากประชาชนผู้ถูกดำเนินคดีจาก 4 เหตุการณ์ คือ การรัฐประหาร 2549 จากการชุมนุมช่วงปี 2552 - 2553 จากช่วงการรัฐประหาร 2557 - 2562 และจากการชุมนุมช่วงปี 2563 – 2566 เหตุการณ์ละ 1 คน และตัวแทนองค์กรภาคประชาชนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับการค้นหาความจริงและอำนวยความยุติธรรม 2 คน คณะกรรมการชุดนี้จะทำหน้าที่วินิจฉัยว่า นอกจากคดีตามข้อหาที่กล่าวมาแล้วมีคดีใดอีกบ้างที่เกี่ยวเนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองและควรได้รับการนิรโทษกรรม

อย่างไรก็ตาม ร่างกฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่ร่างที่จะแก้ปัญหาความไม่ชอบธรรมจากกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมได้ครบทุกมิติ อาจมีคดีความบางประเภทที่ไม่ได้รวมอยู่ด้วย เช่น คดีที่เกี่ยวข้องกับนโยบายด้านป่าไม้ที่ดินตามคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคดีที่เกิดจากการชุมนุมเรียกร้องสิทธิทางสิ่งแวดล้อม คดีที่เกิดจากการชุมนุมเรียกร้องสิทธิแรงงาน เป็นต้น


ใครจะได้รับประโยชน์ จากร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนบ้าง?

ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนจะทำให้ประชาชนที่ถูกดำเนินคดีตามข้อ 3 ได้รับการนิรโทษกรรม คิดเป็นจำนวนประมาณ 6,000 คน โดย "ไม่" นิรโทษกรรมให้กับเจ้าหน้าที่รัฐที่สลายการชุมนุมหรือกระทำการใดที่เกินกว่าเหตุ หรือเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 113 กล่าวคือ ความผิดฐานเป็นกบฏ ซึ่งได้แก่ความผิดฐานล้มล้างรัฐธรรมนูญ อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร หรืออำนาจตุลาการ แบ่งแยกราชอาณาจักรหรือยึดอำนาจปกครอง ประเด็นนี้เป็นจุดที่ทำให้ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน แตกต่างจากการนิรโทษกรรมที่ผ่านมาในประวัติศาสตร์ไทยที่มักจะรวมเจ้าหน้าที่รัฐเข้าไปกับการนิรโทษกรรมประชาชนด้วย


ทำไมต้องยกเว้นความผิด ให้กับคนทำผิดกฏหมาย?

การใช้เสรีภาพการแสดงออกหรือการใช้เสรีภาพการชุมนุมเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ไม่ควรเป็นความผิดต่อกฎหมายใดตั้งแต่แรก ที่ผ่านมาผู้มีอำนาจรัฐใช้กฎหมายที่มีบทกำหนดโทษทางอาญามาดำเนินคดีเพื่อจงใจขัดขวางการแสดงออกที่ไม่สอดคล้องกับแนวทางของผู้มีอำนาจรัฐและเพื่อหวังปิดกั้นการแสดงออก และรักษาอำนาจทางการเมืองของตัวเอง โดยกฎหมายส่วนใหญ่มีเจตนารมณ์ที่ถูกหยิบมาใช้มีเจตนารมณ์ที่มุ่งคุ้มครองสังคมในประเด็นอื่น แต่กลับถูกนำมาใช้ "หยุดยั้ง" การแสดงออกทางการเมือง เช่น มาตรการควบคุมโรคโควิดตามพ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ข้อหาอั้งยี่หรือซ่องโจรตามประมวลกฎหมายอาญา ข้อหาตามพ.ร.บ.การจราจรทางบก หรือข้อหาตามพ.ร.บ.ความสะอาดฯ แม้ว่าการคีดความส่วนใหญ่ศาลจะพิพากษายกฟ้อง หรือหาทางออกอื่น เช่น การรอการกำหนดโทษ หรือรอลงอาญา แต่การดำเนินคดีก็สร้างภาระส่งผลให้ประชาชนไม่กล้าใช้เสรีภาพการแสดงออกเพราะไม่ต้องการถูกดำเนินคดี การนำกฎหมายมาใช้ดำเนินคดีเพื่อหวังผลประโยชน์ในการรักษาอำนาจทางการเมืองในลักษณะนี้ จึงถูกนิยามได้ว่า "คดีการเมือง" และไม่ใช่การดำเนินคดีทางอาญาต่อผู้ที่ฝ่าฝืนกฎหมายตามปกติ

การดำเนินคดีที่เห็นได้ชัดเจน คือ การใช้ข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ที่มีโทษจำคุก 3-15 ปี ที่ปริมาณการบังคับใช้มีความสัมพันธ์กับการปราบปรามผู้ชุมนุมต่อต้านนอำนาจรัฐ อย่างการชุมนุมของคนเสื้อแดงในปี2553 ช่วงการรัฐประหารคสช. 2557 และการชุมนุมของนักเรียนและนักศึกษาในปี 2563 ในยุคหลังสุดนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีมากที่สุดเป็นประวัติการณ์คือ 287 คดี โทษหนักสุดจำคุก 50 ปี จำเลยคดีมาตรา 112 จำนวนมากเป็นเยาวชนและคนหนุ่มสาว ที่นำเสนอข้อเรียกร้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ให้สอดคล้องกับหลักการประชาธิปไตยสากล จึงถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาที่มีโทษหนักแทนการพูดคุยและตอบสนองต่อข้อเรียกร้องในระบบ การดำเนินคดีจำนวนมากจึงมีแต่จะสร้าง "บาดแผล" ต่อผู้ถูกจองจำ เพื่อนฝูง และครอบครัว โดยอาจเกิดผลทางการเมืองขึ้นในระยะสั้นแต่ไม่ได้ทำให้ข้อเรียกร้องและความคิดความเชื่อหายไป ไม่อาจสร้างสันติสุขในหมู่ประชาชนได้ และไม่ได้บรรลุเป้าหมายหรือคุณธรรมทางสังคมที่กฎหมายมุ่งจะคุ้มครอง

การนิรโทษกรรม "คดีการเมือง" ให้กับประชาชนจึงไม่ใช่การยกเว้นความผิดให้กับผู้ที่ทำผิด แต่เป็นการยกเลิกการใช้กฎหมายในทางที่ผิด แต่เลือกบังคับใช้กฎหมายให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ที่มุ่งปราบปรามอาชญากรรมคุ้มครองสังคม ไม่ทำให้กฎหมายและกระบวนการยุติธรรมกลายเป็นสาเหตุของความขัดแย้งหรือตกเป็นเพียงเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจรัฐเท่านั้น


ทำไมต้องนิรโทษกรรม คดีมาตรา 112 ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง?

ประวัติศาสตร์การออกกฎหมายนิรโทษกรรมจากเหตุการชุมนุมทางการเมืองทุกครั้ง กำหนดให้นิรโทษกรรมแบบกว้างขวาง โดยไม่ได้ระบุฐานความผิดเอาไว้ว่านิรโทษกรรมเพียงบางข้อหา หรือไม่นิรโทษกรรมให้บางข้อหา กำหนดเพียง "กรอบเวลา" จึงทำให้ทุกคดีความผิดที่เกี่ยวเนื่องกับการชุมนุมภายใต้ระยะเวลาที่กำหนดได้รับนิรโทษกรรมไปด้วย เช่น การนิรโทษกรรมกรณีการชุมนุม 14 ตุลาคม 2516 ที่นิสิตและนักศึกษาประท้วงจอมพลถนอม กิตติขจรและถูกปราบปรามด้วยกำลังอย่างรุนแรง หรือการนิรโทษกรรมให้กับเหตุการณ์ชุมนุมเดือนพฤษภาคม 2535

ตัวอย่างการนิรโทษกรรมที่ชัดเจน สำหรับเหตุการณ์ชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ที่มีประเด็นข้อกล่าวหาเกี่ยวกับสถาบันพระมหากษัตริย์จากการแสดง "ละครแขวนคอ" นำไปสู่การล้อมปราบของเจ้าหน้าที่รัฐและการใช้กำลังของกลุ่มประชาชนจัดตั้ง หลังความรุนแรงมีนักศึกษาเสียชีวิตและถูกจับกุมดำเนินคดีในฐานความผิดกบฏและมาตรา 112 แต่ท้ายสุดในปี 2521 รัฐบาลก็ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ยกเลิกการดำเนินคดีทั้งหมดที่เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2519 รวมทั้งคดีตามมาตรา 112 ด้วย

จากประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาจึงเห็นได้ว่า คดีความที่เกี่ยวเนื่องกับสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ยังได้รับการนิรโทษกรรมมาเสมอเช่นเดียวกับคดีในข้อหาอื่นๆ แม้จะเป็นกฎหมายนิรโทษกรรมที่ออกมาโดยรัฐบาลจากการทำรัฐประหารก็ยังยึดแนวทางเช่นนี้ จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะนิรโทษกรรมให้คดีจากการชุมนุมทางการเมืองโดยยกเว้นข้อหาบางประการไว้เป็นพิเศษ


ร่างนิรโทษกรรมประชาชนรวมมาตรา 112 จะทำให้ผ่านสภาได้ยากขึ้นหรือไม่?

การเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนเป็นการเสนอกฎหมายระดับพระราชบัญญัติฉบับหนึ่ง ผู้มีอำนาจพิจารณาและผ่านกฎหมาย คือ รัฐสภา โดยต้องมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ลงมติเห็นชอบมากกว่าครึ่งหนึ่ง คือ 251 คน เมื่อได้รับเสียงของ สส. แล้วก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา (สว.) ซึ่งมีอำนาจมากที่สุดเพียงยับยั้งไว้เป็นเวลา 180 วันเพื่อให้เกิดการทบทวนและลงมติใหม่โดยสส. ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติทุกฉบับ สว. ไม่มีอำนาจที่จะขัดขวางได้ ต่างจากการพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ต้องอาศัยเสียงของสว. อย่างน้อย 1 ใน 3

ผลการเลือกตั้ง 2566 มีพรรคการเมืองในสภาอย่างพรรคก้าวไกลที่เห็นด้วยกับการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพรรคเพื่อไทยที่แกนนำของพรรคสะท้อนปัญหาการบังคับใช้มาตราดังกล่าว หากรวมเสียงของสส.สองพรรคนี้จะมีจำนวนเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีอยู่ในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งเพียงพอจะออกเสียงเห็นชอบให้ร่างกฎหมายผ่านการพิจารณาได้แล้ว ดังนั้น ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จะผ่านสภาได้หรือไม่จึงขึ้นอยู่กับว่า สส. ที่มาจากการเลือกตั้งจะออกเสียงไปในแนวทางเดียวกับที่หาเสียงไว้ก่อนการเลือกตั้งหรือไม่เท่านั้น


คดีของพันธมิตรเสื้อเหลือง ไม่ได้นิรโทษกรรมใช่หรือไม่?

ไม่ถูกต้องทั้งหมด เพราะกรอบระยะเวลาของร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน กำหนดให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 จนถึงวันที่ร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จึงไม่รวมถึงคดีความที่เกิดขึ้นจากการชุมนุมหรือการแสดงออกทางการเมืองของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เกิดก่อนหน้าการรัฐประหาร 2549 แต่ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนยังเปิดช่องในกรณีที่คณะกรรมการนิรโทษกรรมเห็นว่า คดีใดเข้าข่ายเป็นการกระทำที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมืองสามารถวินิจฉัยให้นิรโทษกรรมได้ โดยผู้ที่ถูกดำเนินคดีสามารถร้องขอให้กรรมการพิจารณาคดีความของตัวเองได้ด้วย


ใครลงชื่อเพื่อเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน ได้บ้าง?

ผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายจะต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีสัญชาติไทยและมีอายุ 18 ปีขึ้นไปในวันที่นำรายชื่อไปตรวจสอบกับฐานข้อมูลทะเบียนราษฎรของกรมการปกครอง

ในทางปฏิบัติการรวบรวมรายชื่อร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนมีระยะเวลาตั้งแต่วันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 และหลังปิดการเข้าชื่อจะต้องดำเนินการเพื่อความเรียบร้อยของเอกสาร คาดการณ์ว่า จะนำส่งต่อสภาได้ในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งเมื่อนำส่งแล้วสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะทำการตรวจสอบเอกสารการเข้าชื่อเสนอกฎหมายและตรวจสอบสิทธิของผู้เข้าชื่อ ซึ่งอาจใช้ระยะเวลาหลายสัปดาห์ การตรวจสอบอายุของผู้เข้าชื่อจะอยู่ในขั้นตอนนี้ ดังนั้นแล้วผู้ที่มีอายุกำลังจะเข้า 18 ปีสามารถลงชื่อเสนอกฎหมายไว้ก่อนได้ เพราะมีความเป็นไปได้ว่า ในวันที่สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรตรวจสอบรายชื่อจะมีอายุครบ 18 ปีพอดี

การไม่ได้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งก่อนหน้านี้ไม่เป็นเหตุที่จะตัดสิทธิในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย


ลงชื่อทางออนไลน์ ได้หรือไม่?

การลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนสามารถลงชื่อออนไลน์ได้ ตามพ.ร.บ.การเข้าชื่อเสนอกฎหมาย 2564 เปิดทางให้ประชาชนสามารถเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมายต่อสภาได้สะดวกขึ้น โดยมีสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นฝ่ายเลขานุการ โดยลงชื่อได้ทางเว็บไซต์ อย่างไรก็ตามประชาชนที่ไม่สะดวกเข้าชื่อออนไลน์ยังสามารถเข้าชื่อลงบนกระดาษได้

หนึ่งคนลงชื่อช่องทางเดียวเท่านั้น ทุกชื่อทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์มีความหมายอย่างแน่นอน ไม่จำเป็นต้องเข้าชื่อซ้ำสองทาง

ก่อนหน้านี้ในกิจกรรม “CONFORALL” ไม่สามารถเข้าชื่อออนไลน์ได้ เนื่องจากเป็นการเข้าชื่อเพื่อเสนอคำถามประชามติตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ 2564 ซึ่งขั้นตอนการรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอคำถามประชามติมีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นฝ่ายเลขานุการ ซึ่งเป็นกระบวนการการใช้สิทธิของประชาชนตามกฎหมายคนละฉบับและดำเนินการดูแลโดยหน่วยงานคนละแห่ง จึงใช้กฎระเบียบที่แตกต่างกัน


การลงชื่อจะส่งผลกระทบอะไรหรือไม่?

มาตรา 133 (3) ของรัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติไว้ว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนเข้าชื่อเสนอกฎหมายตามหมวด ๓ สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย หรือหมวด ๕ หน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ ตามกฎหมายว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย” ประชาชนมีสิทธิตามรัฐธรรมนูญที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมายระดับพระราชบัญญัติให้รัฐสภานำไปพิจารณาได้ และรัฐสภามีหน้าที่ต้องรับกฎหมายที่ประชาชนเสนอตามช่องทางนี้เอาไว้พิจารณา สิทธิการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเช่นนี้ ไม่ใช่สิทธิพิเศษที่เพิ่งเริ่มมีขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ล่าสุด แต่เป็นสิทธิที่มีอายุอยู่ในสังคมไทยมากว่า 20 ปีแล้ว และประชาชนหลากหลายกลุ่มก็เคยใช้สิทธินี้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติมาแล้วหลักร้อยฉบับ รวมทั้งเรื่องที่มีความอ่อนไหวทางการเมือง โดยไม่เคยมีผลกระทบหรือมีการติดตามผู้ที่ลงชื่อแต่อย่างใด

ตามกฎหมายปัจจุบันหลังลงชื่อเสนอกฎหมายแล้วจะ "ไม่" มีการส่งจดหมายตอบรับกลับไปยังที่อยู่ตามทะเบียนบ้านและไม่มีภาระใดเพิ่มเติมกับผู้ที่ลงชื่อ แต่ผู้ลงชื่อสามารถตรวจสอบการลงชื่อของตัวเองได้บนเว็บไซต์ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร

https://www.facebook.com/iLawClub/posts/774120284761593?ref=embed_post