วันศุกร์, มกราคม 26, 2567

ไม่ต้องแปลกใจ ถ้าก้าวไกลจะนั่งใจในประชาชน - เบญจาพาทัวร์ เปิด 5 ขุมทรัพย์ธุรกิจของกองทัพ

https://www.facebook.com/MoveForwardPartyThailand/videos/1119259102403297
พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
7h·

เบญจาพาทัวร์ เปิด 5 ขุมทรัพย์ธุรกิจของกองทัพ

เบญจาพาทัวร์ เปิด 5 ขุมทรัพย์ธุรกิจของกองทัพ เส้นทางเศรษฐีนายพลหลังเกษียณ ที่คุณอาจไม่เคยรู้! ทั้งที่ราชพัสดุ บอร์ดรัฐวิสาหกิจ งบกระทรวงกลาโหม คลื่นวิทยุ-โทรทัศน์ กระทั่งธุรกิจพลังงาน
.
ส่วนหนึ่งของการอภิปราย เสนอตั้งกรรมาธิการวิสามัญ ศึกษาการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพคืนรัฐบาล ในการประชุมสภาฯ วันนี้
.....
พรรคก้าวไกล - Move Forward Party
6h ·

 [ เปิด 5 ขุมทรัพย์ธุรกิจกองทัพ เส้นทางเศรษฐีที่ประชาชนตรวจสอบไม่ได้ ]
 ที่ดิน - บอร์ดรัฐวิสาหกิจ - งบกลาโหม - สื่อ - พลังงาน
.
ประเด็นหนึ่งที่ผู้คนให้ความสนใจกันในช่วงที่ผ่านมา คือการเปิดเผยบัญชีทรัพย์สินของทหารชั้นนายพลหลังพ้นจากตำแหน่ง ดังเช่นที่มีการจับตาการเปิดบัญชีทรัพย์สินของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาในรอบ 9 ปี ซึ่งมีทรัพย์สินของตนและภรรยารวมกันกว่า 130 ล้านบาท ขณะที่พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณแจ้งบัญชีทรัพย์สิน 89 ล้านบาท
.
นอกจากนี้ยังพบว่า อดีต ผบ.ทบ. หลังเกษียณหลายคนมีบัญชีทรัพย์สินมูลค่าสูงมาก บางรายมี 200 ล้านบาท 300 ล้านบาท 500 ล้านบาท และมีรายหนึ่งแจ้งบัญชีทรัพย์สินสูงถึง 800 ล้านบาท 
.
นี่เป็นเพียงไม่กี่ตัวอย่างของนายพลผู้มั่งคั่งหลังลงจากตำแหน่ง ผบ.ทบ. และตำแหน่งทางการเมือง ประเทศไทยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันยังมีนายพลที่มั่งคั่งอีกกว่า 3,000 นาย ซึ่งรวยกันตั้งแต่หลักสิบล้าน ไปจนถึงหลักร้อยล้าน พันล้าน
.
วันนี้ (25 มกราคม 2567) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พรรคก้าวไกล นำโดย Bencha Saengchantra - เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ ได้เป็นผู้อภิปรายเปิดญัตติ เรื่อง “ขอให้สภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง”
.
เบญจาตั้งคำถามว่า นายพลเหล่านี้รับราชการทหารมาทั้งชีวิตเหมือนข้าราชการในอาชีพอื่น ๆ แต่อะไรที่ทำให้นายพลเป็นข้าราชการที่มั่งคั่งได้ถึงเพียงนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า การเข้ามามีอิทธิพลและตำแหน่งทางการเมืองและทางธุรกิจของทหาร เป็นเส้นทางเศรษฐีของบุคคลระดับสูงในกองทัพ ผ่าน 5 ขุมทรัพย์ทางธุรกิจ ประกอบด้วย
.
.
 (1) ที่ดินราชพัสดุ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกองทัพ
.
กองทัพไทยคือหน่วยงานที่ครอบครองที่ดินกระจายอยู่ทั่วประเทศ โดยสิ่งที่น่าสนใจคือ ที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของกรมธนารักษ์กว่า 12.5 ล้านไร่ กองทัพทั้งสามเหล่าครอบครองไว้จำนวนเกือบ 7.5 ล้านไร่
.
และสิ่งที่น่าตกใจก็คือ กองทัพมีสถานีบริการน้ำมัน 150 แห่ง มีสนามกอล์ฟ 74 แห่งซึ่งสร้างรายได้หลายพันล้านบาทต่อปี มีร้านสะดวกซื้อของเจ้าสัวรายหนึ่งที่ผูกขาดเป็นร้านค้าสวัสดิการในค่ายทหาร มีธุรกิจตลาดนัด กิจการสโมสร โรงแรม สนามมวย สนามม้า รวมไปถึงสถานพักฟื้นพักผ่อนของกองทัพ
.
นอกจากนี้ กองทัพยังใช้ที่ดินของรัฐไปทำโครงการที่อยู่อาศัย เพื่อนำไปจัดสรรให้กับกำลังพล เช่น โครงการบ้านประชารัฐบนที่ดินราชพัสดุ หรือโครงการบ้านธนารักษ์ประชารัฐ โดยได้รับความร่วมมือจากกรมธนารักษ์ด้วย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่ากำลังพลคนไหนถ้าจะเข้าร่วมโครงการ ก็ต้องมีนายทหารผู้บังคับบัญชาเป็นคนเซ็นรับรองให้ ดังนั้น ผู้ที่ได้ประโยชน์จากการเอาที่ดินของรัฐไปจัดสรรให้กำลังพล ก็เห็นจะมีแต่นายทหารระดับผู้บังคับบัญชาเท่านั้น
.
.
 2) การเป็นบอร์ดรัฐวิสาหกิจ
.
หลังการรัฐประหารทุกครั้ง จำนวนนายพลที่เข้าไปมีตำแหน่งในบอร์ดรัฐวิสาหกิจก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น สร้างรายได้ต่อปีรวมกันกว่า 5 ล้านล้านบาท โดยหลังการรัฐประหารครั้งล่าสุด มีจำนวนนายพลที่เข้าไปนั่งเป็นประธานในบอร์ดรัฐวิสาหกิจเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า
.
เบญจาระบุว่า มีรัฐวิสาหกิจหลายแห่งที่ประกอบกิจการไม่ตรงกับความชำนาญของบุคลากรจากกองทัพ ไม่ว่าจะเป็นการรถไฟฯ การนิคมอุตสาหกรรมฯ การท่าเรือฯ การท่องเที่ยวฯ ธุรกิจพลังงานอย่าง ปตท. รวมไปถึงบอร์ดธนาคาร สถาบันการเงิน หรือแม้แต่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งบอร์ดนอกจากจะมีอำนาจในการกำกับดูแลและบริหารแล้ว ยังได้รับประโยชน์ตอบแทนจากรัฐวิสาหกิจที่ตนเข้าไปนั่งเป็นกรรมการด้วย บางรายนั่งเป็นบอร์ดหลายแห่งในเวลาเดียวกัน หลายรายได้รับทั้งค่าตอบแทนรายเดือน ค่าเบี้ยประชุม โบนัส เงินเดือนประจำตำแหน่งนายพล ค่าตอบแทนรถประจำตำแหน่ง จนกลายเป็นเส้นทางเศรษฐีของนายพลหลายคนในกองทัพไทยไปแล้ว
.
ที่น่าสังเกตคือ บอร์ดรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มักถูกเปลี่ยนแปลงหลังเกิดการรัฐประหารทุกครั้ง คำถามสำคัญคือ รัฐวิสาหกิจเหล่านี้จะมีความโปร่งใสในการบริหารมากน้อยเพียงใด จะมีการใช้อำนาจที่ทับซ้อน ก่อให้เกิดการเอื้อผลประโยชน์ต่อตนเองและพวกพ้องอย่างไรบ้าง เราไม่เคยตรวจสอบข้อมูลเหล่านี้ได้เลย
.
.
 3) งบประมาณกระทรวงกลาโหม
.
ในปี 2548 กระทรวงกลาโหมได้รับงบประมาณอยู่ที่ 8.1 หมื่นล้านบาท แต่หลังจากการรัฐประหาร 2549 เป็นต้นมา งบประมาณกระทรวงกลาโหมก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในปี 2552 และหลังจากการรัฐประหาร 2557 งบประมาณก็เพิ่มขึ้น 3 เท่าในปี 2563 เป็น 2.3 แสนล้านบาท จึงทำให้เห็นชัดว่า งบประมาณที่กองทัพได้รับสัมพันธ์กับอำนาจที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ทั้งนี้ งบประมาณกระทรวงกลาโหมแทบจะไม่เคยได้ปรับลด หรือปรับลดได้น้อยมาก หรือเมื่อปรับลดได้แล้วแต่สุดท้ายก็ไปอนุมัติเพิ่มเติมกันในภายหลัง
.
นอกจากนี้ยังแทบไม่มีหน่วยงานใดที่เข้าไปตรวจสอบงบประมาณกลาโหมได้ แม้แต่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) นี่จึงเป็นที่มาที่ทำให้เกิดการทุจริต มีเงินทอนในโครงการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ ตั้งแต่โครงการจัดซื้อรถถัง เรือดำน้ำ เฮลิคอปเตอร์ ยานยนต์สรรพาวุธ จีที 200 ที่ใช้งานไม่ได้ หรือแม้กระทั่งโครงการจัดซื้อกางเกงในทหาร
.
.
 4) สื่อในมือกองทัพ
.
ปัจจุบันกองทัพถือครองคลื่นความถี่และประกอบกิจการในระบบวิทยุกระจายเสียงมากที่สุดเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ รวม 205 คลื่น โดยรายได้ของธุรกิจวิทยุส่วนใหญ่มาจากการขายโฆษณาและค่าเช่าคลื่น แต่ไม่มีใครทราบตัวเลขรายได้จากธุรกิจวิทยุทั้ง 205 คลื่นของกองทัพเลย
.
เบญจายกตัวอย่างสถานีวิทยุ FM 93 MHz คูลฟาเรนไฮต์ และ FM 94 MHz อีเอฟเอ็ม ซึ่งเป็นสถานีวิทยุเรตติ้งอันดับต้น ๆ ในกรุงเทพฯ ที่ยังคงถูกครอบครองโดยกองทัพจนถึงวันนี้ แต่ไม่มีข้อมูลว่าสัมปทานจากการเช่าคลื่นวิทยุนี้มีราคาเท่าใด เท่าที่พอหาได้ก็มีแต่คลื่นไลฟ์เรดิโอ FM 99.5 MHz ซึ่งทำสัญญาเช่าคลื่นวิทยุจากหน่วยบัญชาการทหารพัฒนา กองบัญชาการทหารสูงสุด เป็นเวลา 2 ปี ด้วยจำนวนเงิน 64.8 ล้านบาท นี่เป็นเพียงการเช่าคลื่นหนึ่งคลื่นที่อยู่ในมือกองทัพเท่านั้น ถ้ารวมทั้งหมด 205 คลื่นจะเป็นจำนวนเงินมหาศาลเพียงใด แต่ประชาชนไม่เคยเห็นตัวเลข และไม่เคยได้รับการเปิดเผยใด ๆ จากกองทัพ
.
เบญจากล่าวว่า ตนเข้าใจดีว่าที่ผ่านมากองทัพเคยใช้ข้ออ้างเรื่องความมั่นคงมาแช่แข็งเวลา แต่ในยุคสมัยนี้ การที่กองทัพจะอ้างเรื่องความมั่นคงไม่น่าจะฟังขึ้นแล้ว สถานีเหล่านี้ได้กลายเป็นคลื่นเปิดเพลงเพื่อความบันเทิง และไม่เคยมีเนื้อหาใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือการป้องกันประเทศอีกแล้ว
.
นอกจากนี้ กองทัพยังเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัล (MUX) รายใหญ่ที่สุดในประเทศแบบผูกขาด หลังจาก กสทช.อนุมัติใบอนุญาตต่อเวลาให้เพิ่มอีก 15 ปีหลังการรัฐประหาร ต่อมา กสทช.ยังอนุมัติให้กองทัพได้รับใบอนุญาตการให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิทัลเพิ่มอีกหนึ่งใบ เพื่อแลกกับการไปเจรจากับคู่สัญญาสัมปทานอย่างบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ (BBTV) ให้ย่นระยะเวลาสัมปทานของสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 ลง เพื่อช่วยให้การยุติทีวีระบบอนาล็อกเร็วขึ้น
.
โครงข่ายโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล (MUX) ถือเป็นขุมทรัพย์สำคัญของกองทัพ ที่ช่องทีวีดิจิทัลจะต้องมาเช่าใช้เพื่อแพร่ภาพกระจายเสียง โดยมีค่าเช่าประเภทช่องความคมชัดสูง (HD) อยู่ที่เดือนละ 10.5 ล้านบาท และค่าเช่าประเภทช่องความคมชัดปกติ (SD) อยู่ที่เดือนละ 3.5 ล้านบาท ช่องที่ใช้โครงข่ายฯ ของกองทัพมีอยู่ 14 ช่อง ทำให้ ททบ.5 ได้เงินค่าเช่าโครงข่ายฯ ปีละ 1,008 ล้านบาท ไม่รวมกับค่าโฆษณา ค่ารับจ้าง และบริการอื่น ๆ อีกหลายพันล้านบาทต่อปี แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่เคยปรากฏชัดในเอกสารใด ๆ เลย
.
เบญจาระบุอีกว่า รายได้นี้มาจากการที่ กสทช.ไปเปลี่ยนเงื่อนไขให้ ททบ.5 สามารถหารายได้จากการโฆษณาและแสวงหากำไรได้ โดยสามารถมีการโฆษณาได้เฉลี่ยชั่วโมงละ 8-10 นาที เท่ากับทีวีดิจิทัลธุรกิจ ปัจจุบันกองทัพจึงกลายเป็นเสือนอนกิน รับรายได้จากคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ฟันกำไรมหาศาล ผูกขาดโดยไม่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นเลย
.
.
5) ธุรกิจพลังงานของกองทัพ
.
กองทัพเป็นอีกหนึ่งกลุ่มทุนขนาดใหญ่ที่ผูกขาดธุรกิจพลังงาน ทั้งธุรกิจน้ำมัน ธุรกิจไฟฟ้า และโซล่าร์ฟาร์ม โดยข้อมูลจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติและกรมการพลังงานทหารระบุว่า ปัจจุบันกองทัพสามารถผลิตน้ำมันดิบที่ อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ได้ปีละ 3.65 แสนบาเรล เมื่อคำนวณด้วยราคากลางย้อนหลัง 60 ปี (50 เหรียญสหรัฐต่อบาเรล) จะนับเป็นมูลค่าปีละ 625 ล้านบาท และหากคำนวณตามระยะเวลาที่ดำเนินการมาแล้ว 68 ปี จะคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 4.43 หมื่นล้านบาท
.
กองทัพอ้างว่าผลผลิตเหล่านี้ดำเนินการภายในกรมการพลังงานทหาร เอาไว้ใช้เพื่อป้องกันประเทศและเพื่อความมั่นคงในเขตทหาร แต่ก็ต้องตั้งคำถามว่าขุมทรัพย์ใต้ดินที่กองทัพผลิตได้มีปริมาณเท่าใด ใช้ภายในกองทัพเท่าใด ขายออกไปสู่ตลาดภายนอกเท่าใด มีการส่งออกไปที่ภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานรัฐในรูปแบบการค้าหรือไม่ ทั้งหมดนี้ไม่เคยมีการเปิดเผย หลายครั้งกรรมาธิการงบประมาณขอดูรายได้จากส่วนการขายน้ำมันนี้ แต่กองทัพก็ไม่เคยนำส่งรายได้หลายหมื่นล้านบาทนี้เข้ากระทรวงการคลัง
.
นอกจากนี้ กองทัพยังมีธุรกิจไฟฟ้าในครอบครอง โดยกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือที่ก่อตั้งขึ้นมากว่า 84 ปีโดยฐานทัพเรือ อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี ซึ่งที่ผ่านมาในอดีตใช้เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับหน่วยงานราชการทหารและหน่วยราชการฝ่ายพลเรือนในเขตพื้นที่ทหารเท่านั้น แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป ก็ได้มีการขยายเขตเหล่านี้เข้าไปบริการให้ประชาชนได้ใช้ โดยวันนี้มีประชาชนมากกว่าแสนคนที่ต้องใช้ไฟจากกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ
.
แต่ด้วยขีดความสามารถและความชำนาญของกองทัพที่มีอยู่จำกัด จึงสร้างปัญหากระแสไฟฟ้าตกและดับบ่อย เครื่องใช้ไฟฟ้าของประชาชนในพื้นที่ก็ได้รับความเสียหายโดยไม่เคยมีใครรับผิดชอบ ตามมาด้วยราคาค่าไฟที่แพงและสูงมากกว่าปกติ ตนจึงเห็นว่ากองทัพควรปล่อยวางจากธุรกิจไฟฟ้าได้แล้ว ทบทวนบทบาทที่แท้จริงของตัวเอง และให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งมีขีดความสามารถและความชำนาญเข้ามาจัดการตามบทบาทหน้าที่ดีกว่า
.
เบญจาอภิปรายต่อไปถึงกรณีโซลาร์ฟาร์ม โดยระบุว่าในปี 2558 กองทัพบกเริ่มนำที่ดินราชพัสดุที่อยู่ในครอบครองจำนวน 4,000 ไร่มาผลิตไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ร่วมกับเอกชน ตั้งโซลาร์ฟาร์ม 310 เมกะวัตต์ โดยมีการขอให้กระทรวงพลังงานเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มในที่ดินกองทัพบกเพิ่ม และขยายโครงการอีกกว่า 20 แห่ง
.
นโยบายสนับสนุนการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์ฟาร์มเป็นรายได้จำนวนมหาศาลมาก ถ้ายึดตามช่วงเวลา ณ ปัจจุบันอยู่ที่ 3 บาทต่อหน่วย ในระยะเวลา 25 ปีโครงการโซลาร์ฟาร์มของกองทัพจะมีรายได้กว่า 3.34 หมื่นล้านบาท ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2564 กองทัพบกและการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยยังได้ร่วมกันศึกษาพัฒนาการลงทุนโซลาร์ฟาร์มบนที่ดินราชพัสดุ 600,000 ไร่ เพื่อให้รองรับการผลิตโซลาร์ฟาร์มได้ 30,000 เมกะวัตต์ โดยนำพื้นที่ของกองทัพบกทั่วประเทศกว่า 4 ล้านไร่มาพัฒนาและบริหารจัดการ ซึ่งจะทำให้เกิดการผลิตไฟฟ้ายาวนานต่อเนื่องไปอีก 25 ปี
.
อย่างไรก็ตาม ขุมทรัพย์มหาศาลจากการลงทุนในพลังงานทั้งหมดนี้ไม่ปรากฏต่อสาธารณะว่าจะจัดสรรให้นายพลคนใด กองทัพได้ไปเท่าใด กรมธนารักษ์จะได้ไปในสัดส่วนใด และคงเหลือคืนคลังเท่าใด
.
.
 [ การปฏิรูปกองทัพ กับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง คือเรื่องเดียวกัน]
.
เบญจาอภิปรายทิ้งท้ายว่า ธุรกิจกองทัพที่ตนได้อภิปรายไปทั้งหมด เป็นแค่เศษเสี้ยวหนึ่งของปัญหาความเหลื่อมล้ำในประเทศนี้ แม้ว่าวันนี้พรรคก้าวไกลจะเป็นเพียงฝ่ายค้าน ยังไม่สามารถที่จะผลักดันนโยบายปฏิรูปกองทัพให้สำเร็จเป็นจริงได้ แต่การตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาเพื่อศึกษาการถ่ายโอนธุรกิจของกองทัพ จะเป็นประตูบานแรกที่จะทำให้สภาผู้แทนราษฎรได้ร่วมกันพิจารณาอย่างจริงจังว่า กองทัพมีความจำเป็นแค่ไหนที่จะต้องครอบครองที่ดินจำนวนมหาศาล มีค่ายทหารตั้งอยู่บนที่ดินใจกลางกรุงเทพฯ และผูกขาดการทำธุรกิจที่ทำธุรกิจต่าง ๆ
.
ถึงเวลาแล้วหรือยังที่ต้องมีการปฏิรูปกองทัพ คืนทหารให้ประชาชน คืนนายพลกลับไปทำงานในกองทัพ และคืนธุรกิจกองทัพหลายหมื่นล้านบาทให้กับรัฐบาล ปรับลดงบประมาณกระทรวงกลาโหมกลับไปเท่าก่อนรัฐประหาร แล้วประเทศไทยจะมีงบประมาณเพิ่มหลายแสนล้านบาท เพื่อมาเป็นสวัสดิการให้กับประชาชน
.
“ถ้างบประมาณและทรัพยากรของประเทศนี้ถูกจัดลำดับความสำคัญอย่างถูกที่ถูกทาง ไม่กระจุกตัวอยู่แค่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่จัดสรรผลประโยชน์โดยให้ประชาชนเป็นที่ตั้ง วิธีการเช่นนี้จะเป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ยั่งยืนได้ การปฏิรูปกองทัพกับการแก้ปัญหาเศรษฐกิจปากท้องคือเรื่องเดียวกัน” เบญจากล่าว
.
ท้ายที่สุด ที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการถ่ายโอนธุรกิจต่าง ๆ ของกองทัพ ไปอยู่ในความดูแลของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วยกรรมาธิการจำนวน 25 คน และกำหนดระยะเวลาการพิจารณา 90 วัน
.
โดยกรรมาธิการในสัดส่วนของพรรคก้าวไกลมีจำนวน 6 คน ได้แก่ (1) เบญจา แสงจันทร์ (2) เชตวัน เตือประโคน (3) จิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ (4) กิตติพงษ์ ปิยะวรรณโณ (5) รศ.พวงทอง ภวัครพันธุ์ และ (6) ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ 
.
#ธุรกิจกองทัพ #ก้าวไกล
.....