ชาติพันธุ์นิพนธ์
1d·
เด็กขัดรองเท้ากับคนจนเมือง
ตลอด 26 ปีของการไปเวียดนาม ทั้งไปสั้นๆ บ้าง ไปอยู่นานๆ บ้าง ผมใช้บริการเด็กขัดรองเท้าที่นั่นเพียง 2 ครั้ง
ครั้งแรกคือเมื่อ 20 ปีก่อน ช่วงนั้นยังเก็บข้อมูลสนามที่นั่น แล้วได้ไปสอนหนังสือในโครงการนานาชาติวิชาหนึ่ง จึงได้พานักศึกษาชาวอเมริกันร่วม 20 คนไปพื้นที่ที่ซาปา
หลังจากผมพานักศึกษาเดินหัวหกก้นขวิดขึ้นเขาลงเขาลุยดินโคลนอยู่ 6 ชั่วโมงจนนักศึกษาร้องไห้ไปตามๆ กัน ทำให้รองเท้าผมเลอะเทอะมาก กลับมาแค่ล้างโคลนออกแล้วก็ยังดูแย่
เมื่อไปนั่งร้านเบียร์ในเมืองฮานอย มีเด็กขัดรองเท้าเดินมาถามว่า đánh giầy không (แด๋ญ เสิ่ย คงม์) หรือ ขัดรองเท้าไหม ผมก็เลยลองใช้บริการดูเป็นครั้งแรก แล้วก็พบว่าคุ้มค่าจริงๆ ราคาถูกมาก แต่ได้รองเท้าผ้าใบเสมือนใหม่กลับมาคู่หนึ่ง
วิธีการคือ เขาจะเอารองเท้าแตะมาให้สวมนั่งรอ แล้วเอารองเท้าเราไปทำความสะอาด แบบแห้งๆ ทั้งส่วนตัวรองเท้า เชือกรองเท้า พื้นรองเท้า เขาทำความสะอาดหมดจด โดยด้านในไม่เปียกเลยสักนิด เรียกว่ากึ่งล้างกึ่งเช็ดแล้วสวมต่อได้เลย
ตอนนั้นราคาถูกมาก แต่ก็สักครึ่งหนึ่งของราคาเฝอแบบถูกๆ สมัยนั้น แต่ก็ยังถือว่าถูกมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพในกรุงเทพฯ ขณะนั้น
จากนั้นจนถึงครั้งนี้ผมก็ไม่ได้ใช้บริการอีกเลย ส่วนหนึ่งเพราะอยากให้อาชีพนี้หมดไป แล้วให้คนไปทำมาหากินอย่างอื่นกันเสียเถอะ กับอีกส่วนหนึ่งเพราะมีเรื่องเล่าที่อาจไม่จริงเลยว่า มีเด็กขัดรองเท้าขโมยรองเท้าของนักท่องเที่ยวหนีไป แต่อีกส่วนคือ ผมรู้สึกไม่ดีที่จะต้องใช้บริการทำความสะอาดสิ่งของสกปรกส่วนตัวที่ควรทำด้วยตนเองอย่างรองเท้า
จนมาเจอพี่คนนี้นี่แหละ ที่ผมเห็นใจแกจนยอมใช้บริการแก พอดีรองเท้าก็มอมมากด้วยเพราะเดินลุยฝนเฉอะแฉะในฮานอยมา 3 วันเต็ม
ทีแกเรียกเงินสูงหน่อย ผมลองต่อราคาแกดู แกลดให้ ผมก็เลยตกลง แต่พอขัดเสร็จ ผมก็ให้เงินแกเท่าที่แกเรียกมาตอนแรกนั่นแหละ เพราะค่าขัดรองเท้าแพงกว่าค่าเบียร์สดฮานอยหนึ่งแก้ว (ราว 20 บาท) ขึ้นมาอีกแค่ 7 บาทเท่านั้นเอง
นั่งดูพี่คนนี้แกขัดรองเท้าไป แล้วจ่ายเงินเสร็จ ผมก็นึกสะท้อนใจว่า ทำไมแกถึงยังทำอาชีพบริการเลอะเทอะและดูต่ำต้อยด้อยค่านี้อยู่
นึกสงสัยว่า แกทำอาชีพนี้มาตั้งแต่เด็กเลยหรือเปล่า นึกสงสัยต่อกับความรับรู้ที่ผมมีต่อคนขัดรองเท้าที่นี่ และคิดต่อไปถึงว่า สังคมเมืองที่มีคนขัดรองเท้าเป็นสังคมแบบไหนกันนะ
อยากถามเพื่อนๆ ว่า ครั้งสุดท้ายที่คุณเห็นเด็กขัดรองเท้าในเมืองไทยคือเมื่อไหร่ หรือคุณเคยเห็นเด็กขัดรองเท้าในเมืองไทยรึเปล่า เอาประเภทเดินเร่ริมถนนเลยนะ
สำหรับผม ผมแทบจำไม่ได้ว่าเคยเห็นคนขัดรองเท้าริมถนนในกรุงเทพฯ เลย คนรุ่นก่อนผมอาจมี แต่รุ่นผมไม่มีแล้ว หรือมีแต่น้อยมากในบางย่านเท่านั้นที่ทำให้ผมไม่เคยเห็น
แต่ในเวียดนาม ผมเห็นตั้งแต่วันแรกๆ ที่ไปเวียดนามเมื่อปี 1998 จนกระทั่งปีนี้ 2024 ผ่านมา 26 ปีแล้ว ก็ยังมีเด็กขัดรองเท้าในฮานอย
สิ่งที่เปลี่ยนไปคือ ช่วงไม่กี่ปีก่อนโควิด-19 คนขัดรองเท้าน้อยลงกว่าเมื่อทศวรรษ 2000 มาก แต่ที่สม่ำเสมอมากขึ้นคือ คนขัดรองเท้าไม่เด็กอีกต่อไป ส่วนใหญ่วัยรุ่น และมีผู้หญิงมากขึ้น
แต่พอหลังโควิด ผมกลับไปเวียดนามในปลายปี 2022 กลางปี 2023 และต้นปี 2024 รวม 4 ครั้ง และรู้สึกได้ว่า คนขัดรองเท้ามีจำนวนมากขึ้น
ที่ทำให้ผมตกใจและสะเทือนใจมากกับคนที่เพิ่งใช้บริการที่คนนี้คือ การที่คนขัดรองเท้าทุกวันนี้อายุมากขึ้น มากถึงขนาดนี้ ผมว่าเขาน่ามีอายุเท่าผมหรือแก่กว่าผมด้วยซ้ำ แต่เขายังเร่ขัดรองเท้าอยู่เลย
ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า อะไรที่ทำให้เมืองไทยไม่มีคนขัดรองเท้า หรือเคยมีแต่ไม่มีมานานแล้ว และอะไรที่ทำให้ในเมืองใหญ่ที่เวียดนามทุกวันนี้ยังมีคนขัดรองเท้าอยู่ทั่วไปและดูจะกลับมามากขึ้นหลังโควิด
ผมคิดว่าไม่น่าจะใช่เรื่องวัฒนธรรมรองเท้าอย่างแน่นอน ผมถูกสอนให้ขัดรองเท้าตนเองและช่วยขัดรองเท้าให้พ่อมาตั้งแต่เด็กๆ รองเท้าผ้าใบก็ถูกสอนให้ซักเอง ดูแลเองมาตลอด ไม่เคยมีความคิดว่าจะจ้างเด็กขัดรองเท้าที่ไหนนอกบ้าน
ส่วนครอบครัวที่มีลูกจ้าง เขาคงให้ลูกจ้างที่บ้านทำ แต่ก็ไม่น่าจะมีที่จะต้องไปใช้บริการขัด/ล้างรองเท้าตามที่ต่างๆ นอกบ้านกันมากนัก
ดังนั้น เรื่องการมีเด็กขัดรองเท้าในเมืองจึงน่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจเสียมากกว่า พูดง่ายๆ คือ เศรษฐกิจเวียดนามยังไม่ได้ก้าวกระโดดอย่างที่คนคิดว่าเขาร่ำรวยขึ้นด้วยตัวเลขจีดีพีสูงๆ ต่อเนื่องกันหลายสิบปี หรือเขาก็ก้าวมาไกลมากแล้วล่ะ แต่ยังไม่มากพอจนถึงขนาดที่คนไทยมักคิดว่าเขาจะร่ำรวยแซงไทยไปแล้ว
คนไทยมักมองเวียดนามเป็นคู่แข่งที่น่าเกรงกลัว แต่ก็มองไม่เห็นว่าเบื้องหลังตัวเลขเหล่านั้นคือความเหลื่อมล้ำขนาดใหญ่ที่ยังคงถ่วงรั้งชาวเวียดนามอยู่
ถ้าดูเฉพาะภาพคนจนเมืองในฮานอย ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ก็บอกได้เลยว่า เศรษฐกิจเวียดนามยังไม่สามารถดูดแรงงานนอกระบบที่ยากไร้เหล่านี้จำนวนมากไปทำงานในระบบหรือแม้แต่ไปทำงานนอกระบบที่รายได้ดีกว่านี้ได้
ยิ่งบ้านเมืองในภาพรวมมั่งคั่งขึ้น ยิ่งเจริญทางวัตถุมากขึ้น ผมยิ่งเห็นช่องว่างระหว่างคนจนกับคนรวยมากยิ่งขึ้น
ภาพคนขับรถโรสลอยมานั่งกินก๋วยเตี๋ยวราคาแพงชามละ 200 บาทริมถนน แล้วจ้างคนขัดรองเท้าครั้งละ 20-30 บาท เป็นส่วนเสี้ยวของภาพประจำวันในเมืองใหญ่ของเวียดนามทุกวันนี้ที่ไม่ได้เกินจริงเลย
คนขัดรองเท้าจะยังอยู่เป็นดัชนีชี้ความเหลื่อมล้ำของเวียดนามไปอีกนานแค่ไหน ผมก็ยังเดาไม่ได้
(https://www.facebook.com/photo/?fbid=870202931772502&set=a.269054695220665)