เปิดเกณฑ์ 7 ข้อธนาคารโลก แบบไหนที่เรียกว่าเศรษฐกิจเกิดวิกฤติ
By นครินทร์ ศรีเลิศ
กรุงเทพธุรกิจ
9 ม.ค. 2567
เปิดเกณฑ์ธนาคารโลก 7 ข้อประเมินเศรษฐกิจ อย่างไรที่เรียกว่าเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ หลังฝ่ายหนุน - ค้าน ดิจิทัลวอลเล็ต มองเห็นไม่ตรงกัน ชี้เกณฑ์ของ World Bank ใช้ประเมินเศรษฐกิจทั่วโลกมาแล้ว
เรียกได้ว่า กลับมาสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้งสำหรับนโยบายแจกเงินดิจิทัล วอลเล็ต ให้กับประชาชนที่อายุ 16 ปีขึ้นไป คนละ 1 หมื่นบาทของรัฐบาล เนื่องจากการตอบคำถามของคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 12 กลับมายังรัฐบาลได้มีการตอบกลับความเห็นที่เป็นข้อกฎหมายว่า เนื้อความใน มาตรา 53 ของพระราชบัญญัติวินัยการเงินและการคลัง ที่รัฐบาลต้องมีการพิสูจน์ได้ว่าการออก พ.ร.บ. หรือ พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท นั้นจะต้องมีความจำเป็นเร่งด่วน ต้องแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง หรือแก้ไข “วิกฤติ” ของประเทศ"
ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาว่า นโยบายนี้จะเข้าเงื่อนไขหรือไม่ คณะกรรมการกฤษฎีกาให้รัฐบาลไปรับฟังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีข้อมูลเชิงประจักษ์ยืนยันได้ โดยต้องอาศัยตัวเลขทางเศรษฐกิจ
ดังนั้นการขับเคลื่อนนโยบายดิจิทัล วอลเล็ต จุดที่เป็นตัวชี้ขาดของโครงการนี้คือเศรษฐกิจของประเทศวิกฤติหรือไม่ ซึ่งจะเห็นได้ว่าในมุมของรัฐบาล หรือนักเศรษฐศาสตร์ที่สนับสนุนรัฐบาลนั้นจะออกมาพูดตรงกันว่าเศรษฐกิจเข้าขั้นวิกฤติแล้ว ขณะที่ฝ่ายค้าน หรือหน่วยงานที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจก็จะพูดตรงกันว่าเศรษฐกิจของประเทศยังขยายตัวได้ต่อเนื่องและไม่ได้เกิดวิกฤติ
อย่างไรก็ตามในเวทีโลกเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นวิกฤติเศรษฐกิจของแต่ละประเทศนั้นมักไม่เห็นการถกเถียงกันไปมาของฝ่ายต่างๆว่าเศรษฐกิจวิกฤติหรือไม่ และที่ผ่านมาเมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมาจริงๆจะไม่ต้องมาถกเถียงกันว่าเป็นวิกฤติหรือไม่ เช่น วิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ หรือวิกฤติโควิด-19 ทุกฝ่ายเห็นพ้องกันว่าเกิดวิกฤติและมีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องแก้ไขวิกฤติ โดยออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินเพื่อมาแก้ไขวิกฤติที่เกิดขึ้น
ตัวชี้วัดวิกฤติเศรษฐกิจของธนาคารโลก
รศ.ดร.มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันนั้นอยู่ในช่วงที่กำลังฟื้นตัวจากโควิด-19 โดยเศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไปซึ่งในลักษณะนี้นักเศรษฐศาสตร์ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็จะบอกว่ายังไม่วิกฤติ ขณะที่รัฐบาลก็จะบอกว่าตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจที่ต่ำ ขณะที่หนี้สินประชาชนอยู่ในระดับสูงก็จะมองว่าเศรษฐกิจวิกฤติ
ทั้งนี้ในเรื่องของการให้นิยามว่า “เศรษฐกิจวิกฤติ” นั้นยังเกี่ยวข้องกับข้อกฎหมายเพราะตามรัฐธรรมนูญ และกฎหมายพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังที่กำหนดว่าการออกพ.ร.บ.หรือกฎหมายกู้เงินเพิ่มเติมของรัฐบาลจะทำได้ก็ต่อเมื่อเกิดสถานการณ์วิกฤติ เร่งด่วน และหลีกเลี่ยงไม่ได้เท่านั้น
เมื่อมีคนมอง “วิกฤติ” แตกต่างกัน “ธนาคารโลก” (World Bank) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ติดตามภาวะเศรษฐกิจทั่วโลกจึงกำหนดเกณฑ์ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ว่าหากเจอกับสถานการณ์ต่อไปนี้เข้าข่ายที่เศรษฐกิจจะเจอปัญหาวิกฤติ มีทั้งหมด 7 ข้อดังนี้
1.เกิดวิกฤติสถาบันการเงิน (banking หรือ Financial crisis) คือเกิดเหตุการณ์แบงก์ล้มต่อเนื่องกันเหมือนกับที่เคยเกิดกับประเทศไทยในใน 2540 จนเป็นวิกฤติต้มยำกุ้งที่มีสถาบันการเงินล้มจำนวนมาก ซึ่งสถาบันการเงินนั้นเป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่สูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อสถาบันการเงินล้มจึงกระทบกับภาคส่วนต่างๆของเศรษฐกิจจนเกิดเป็นวิกฤติเศรษฐกิจในที่สุด
2.ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนด โดยปัจจุบันมาตรฐานของ World bank นั้นกำหนดให้ทุนสำรองระหว่างประเทศต้องมีไม่น้อยกว่า 4.5 เท่า ของมูลค่าการนำเข้าต่อเดือน ซึ่งแต่ละประเทศมักมีการเก็บทุนสำรองในรูปแบบสินทรัพย์ที่มั่นคง เช่นเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐฯ เพราะเมื่อเกิดเหตุการณ์ถูกเรียกให้ชำระหนี้ต่างประเทศมักให้ชำระเป็นสกุลเงินดอลลาร์ จึงต้องมีเงินดอลลาร์เป็นทุนสำรอง ซึ่งเมื่อเร็วๆนี้กรณีที่ประเทศศรีลังกาเกิดวิกฤตินั้นเนื่องจากทุนสำรองเงินสำรองระหว่างประเทศเป็นศูนย์ แล้วเหมือนกับที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์นี้ในปี 2540 และทุนสำรองติดลบ
ขณะที่ในปัจจุบันประเทศไทยนั้นทุนสำรองระหว่างประเทศติดอันดับ 11 ของโลก มีความมั่นคงมาก ซึ่งหากมองจากเรื่องนี้ถือว่าเศรษฐกิจไทยไม่เข้าขั้นวิกฤติ
3.วิกฤติเงินเฟ้อ โดยระดับเงินเฟ้อที่ World bank กำหนดว่าเป็นระดับที่เกิดวิกฤติคือต้องอยู่ในระดับที่มากกว่า 40% ต่อเดือน หรือในรอบหนึ่งปีต้องเพิ่มขึ้นมากกว่า 5 เท่า ซึ่งหลายประเทศเคยเจอเงินเฟ้อในระดับที่เพิ่มขึ้นระดับพันหรือหมื่นเปอร์เซ็นต์ต่อปี จึงเข้าขั้นวิกฤติเงินเฟ้อ ส่วนประเทศไทยนั้นในปีนี้เจอเงินเฟ้อแค่ 1.5% ถือว่าอยู่ในระดับปกติ
4.วิกฤติเศรษฐกิจที่มาจากค่าเงินอ่อนค่ารุนแรง ซึ่งอาจมาจากการโจมตีค่าเงิน อย่างประเทศไทยก็เคยเจอปัญหาก่อนปี 2540 ที่พ่อมดการเงินจอร์ส ซอรอส เข้ามาโจมตีค่าเงินบาท ทำให้ค่าเงินอ่อนค่าหรือผันผวนรุนแรง แต่ปัจจุบันถือว่าค่าเงินบาทของเรามีความผันผวนน้อยอยู่ในระดับ 6-7% แม้ว่าบางช่วงค่าเงินจะอ่อนค่าเร็วกว่าในภูมิภาค แต่เมื่อมีการไหลกลับมาของเงินทุนต่างชาติค่าเงินบาทก็แข็งค่าขึ้น
5.วิกฤติที่เกิดจากหนี้สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาก และรวดเร็วเกินไป โดยปัจจุบันนั้นหนี้สาธารณะของไทยอยู่ที่ประมาณ 62% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ซึ่งแม้ว่าจะมีภาระหนี้เยอะกว่าในอดีต แต่เมื่อเทียบกับเพดานที่กำหนดว่าหนี้ต่อจีดีพีต้องไม่เกิน 70% ของจีดีพี ก็ถือว่ายังไม่เกินกรอบที่กำหนด
6.วิกฤติการขาดดุลงบประมาณเรื้อรัง ซึ่งโดยนิยามนี้ประเทศไทยอาจเข้าข่ายได้ เนื่องจากเราก็มีการขาดดุลงบประมาณมาต่อเนื่องหลายปีงบประมาณ แต่ปัญหาของประเทศไทยนั้น จากการหารายได้ไม่ได้ และการใช้จ่ายงบประมาณบางส่วนไม่มีประสิทธิภาพ อย่างไรก็ตามกฎหมายวินัยการเงินการคลังของเรากำหนดว่าให้ขาดดุลงบประมาณไม่เกิน 20% ของรายจ่ายงบประมาณประจำปี ซึ่งของไทยถือว่าเป็นไปตามเกณฑ์ที่ World Bank กำหนดให้ การขาดดุลงบประมาณ ไม่เกิน 30% ของงบประมาณรายจ่ายในปีนั้นๆ
และ 7.ภาวะเศรษฐกิจหดตัว หรือขยายตัวติดลบ 2ไตรมาสติดต่อกัน ซึ่งโดยปกติแล้วเรียกว่าภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือ “Economic Recession” ซึ่งสะท้อนวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงเวลาหนึ่ง ซึ่งไม่เหมือนกับภาวะเศรษฐกิจเติบโตได้น้อย ซึ่งการเติบโตของเศรษฐกิจที่น้อยนั้นเป็นเรื่องของฝีมือการบริหารประเทศ และการบริหารเศรษฐกิจมากกว่า
“เรื่องของเศรษฐกิจนั้นวิกฤติหรือไม่จำเป็นที่ต้องดูเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้กัน ซึ่งเรื่องนี้ world bank ได้ทำเกณฑ์ไว้แล้ว และมีความเป็นสากล หากใช้เกณฑ์ตรงนี้ก็จะสามารถตัดสินได้ชัดเจนว่าเศรษฐกิจของประเทศไทยนั้นวิกฤติหรือไม่ โดยที่ไม่ต้องมาถกเถียงกันเอง” รศ.ดร.มนตรี กล่าว
(https://www.bangkokbiznews.com/business/economic/1107695?anm=)