วันพุธ, มกราคม 17, 2567

ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่า วิเคราะห์ว่า ทำไมประเทศมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ควรจะหันมาสนใจเรื่องการปฏิวัติในพม่า ซึ่งในตอนนี้กองกำลังฝ่ายต่อต้านกำลังรุกคืบจนทำให้ฝ่ายเผด็จการทหารซวนเซ ถ้าหากมีแรงสนับสนุนจากภายนอกบ้างเล็กน้อยก็จะทำให้เผด็จการทหารล่มสลายได้เร็วขึ้น


กองกำลังป้องกันแห่งชาติกะเรนนี หรือ KNDF ยึดมหาวิทยาลัยลอยก่อ ที่เมืองลอยก่อ ซึ่งเป็นเมืองหลวงของรัฐกะเรนนี ทางตะวันออกของพม่า ภาพเผยแพร่เมื่อ 16 พ.ย. 66 ระหว่างปฏิบัติการของกองกำลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่าในรัฐกะเรนนี (ที่มา: แฟ้มภาพ/The Irrawaddy)

บทวิเคราะห์: ทำไมสหรัฐฯ ควรหนุนหลังฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า

2024-01-16
ประชาไท

ปีเตอร์ มอร์ริส ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่า เผยแพร่วิเคราะห์ใน The Diplomat ว่า ทำไมประเทศมหาอำนาจตะวันตกอย่างสหรัฐฯ ควรจะหันมาสนใจเรื่องการปฏิวัติในพม่า ซึ่งในตอนนี้กองกำลังฝ่ายต่อต้านกำลังรุกคืบจนทำให้ฝ่ายเผด็จการทหารซวนเซ ถ้าหากมีแรงสนับสนุนจากภายนอกบ้างเล็กน้อยก็จะทำให้เผด็จการทหารล่มสลายได้เร็วขึ้น

ปีเตอร์ มอร์ริส ทนายความและนักข่าวที่เคยร่วมโครงการเกี่ยวกับพม่ามาตั้งแต่สิบกว่าปีที่แล้วระบุว่า ในขณะที่สหรัฐอเมริกากำลังขลุกอยู่กับความขัดแย้งในยูเครน, กาซ่า และที่อื่นๆ พวกเขากำลังพลาดโอกาสทองในเรื่องต่างๆ หลายเรื่อง นอกเหนือจากเรื่องการป้องกันไม่ให้จีนรุกรานไต้หวันแล้ว ยังอาจจะพลาดโอกาสที่ประธานาธิบดี โจ ไบเดน จะได้รับชัยชนะครั้งใหญ่ในการต่อสู้ช่วงชิงกันระหว่างประชาธิปไตยกับระบอบเผด็จการ

มอร์ริสระบุว่า ถ้าจะให้ชี้ชัดไปกว่านั้นคือสหรัฐฯ ควรจะให้การสนับสนุนต่อกองกำลังฝ่ายต่อต้านในพม่าแม้เพียงเล็กน้อยก็ยังดี จากการที่กองกำลังฝ่ายต่อต้านของพม่ากำลังมีแนวโน้มที่จะได้รับชัยชนะในการปฏิวัติโค่นล้มเผด็จการทหารพม่าผู้เหี้ยมโหดในการปฏิวัติที่เรียกว่าการปฏิวัติฤดูใบไม้ผลิ ถ้าหากสหรัฐฯ ให้การสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ ก็จะช่วยให้เผด็จการทหารพม่าล่มสลายเร็วขึ้นและคืนประชาธิปไตยให้กับพม่าได้เร็วขึ้นด้วย

มอร์ริสมองว่า ถ้าหากสหรัฐฯ สนับสนุนฝ่ายต่อต้านในพม่า ก็จะทำให้สหรัฐฯ ได้รับความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์อย่างมากเทียบกับฝ่ายตรงข้ามคือจีน

ประการแรกคือ การช่วยเหลือฝ่ายต่อต้านในพม่าให้ประสบความสำเร็จนั้นจะกลายเป็นหมุดหมายสำหรับชัยชนะครั้งสำคัญของระบอบประชาธิปไตยโลก เพราะว่าพม่าตั้งอยู่บนทางแยกของยุทธศาสตร์ภูมิภาคระหว่างจีน, อินเดีย และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งเป็นภูมิภาคที่กำลังเผชิญกับการถดถอยของประชาธิปไตยในขณะที่จีนกำลังขยายอิทธิพล

ประการที่สอง คือ มันจะเป็นการรักษาความสามารถของสหรัฐฯ ในการขัดขวางรัฐบาลจีนโดยการปิดกั้นช่องแคบมะละกาในยามที่มีความขัดแย้ง

จีนจำเป็นต้องพึ่งพาช่องแคบมะละกาอย่างมากในการนำเข้าน้ำมันและของจำเป็นอื่นๆ ซึ่งช่องแคบนี้สามารถถูกปิดกั้นได้ง่ายมากโดยสหรัฐฯ และพันธมิตรของสหรัฐฯ ทำให้มีคำเรียกว่า "ไดเล็มมามะละกา" (Malacca Dilemma) เรื่องนี้กลายเป็นสิ่งที่ให้อำนาจต่อรองอย่างมากแก่สหรัฐฯ ที่จะนำไปใช้กับจีน และยังเป็นการขัดขวางไม่ให้จีนรุกรานไต้หวันหรือทำเรื่องร้ายๆ อย่างอื่นด้วย

เห็นได้ชัดว่าผู้นำจีน สีจิ้นผิงมีความหมกมุ่นกับไต้หวันและเกือบจะทำให้ตัวเองไปอยู่ในสถานการณ์ล่อแหลมเพราะประเด็นนี้ ถึงขั้นที่ว่าเขาอาจจะรู้สึกถูกกดดันจากพวกชาตินิยมจัดของจีนให้โจมตีไต้หวันถึงแม้เขาจะรู้ดีว่าการทำเช่นนั้นเป็นเรื่องโง่เขลาก็ตาม ดังนั้นแล้วสหรัฐฯ จึงไม่มีทางเลือก นอกเสียจากทำให้ตัวเองมีอำนาจต่อรองมากพอที่จะสกัดกั้นจีนไม่ให้กระทำการใดๆ ที่อาจจะก่อให้เกิดสงครามนิวเคลียร์ได้

ในแง่นี้ กรณีของพม่าจึงเป็นโอกาสเฉพาะตัวสำหรับสหรัฐฯ หลังจากที่เผด็จการทหารล่มสลาย รัฐบาลใหม่ของพม่าจะไม่เพียงแค่เป็นประชาธิปไตย แต่ยังจะไม่เต็มใจจะให้ในสิ่งที่จีนต้องการที่สุดด้วย นั่นคือการเข้าถึงทะเลอินเดียได้โดยไม่จำกัดในฐานะที่มันเป็นทางเลือกอื่นนอกเหนือจากช่องแคบมะละกา

แม้แต่นักวิชาการชาวอเมริกันเชื้อสายพม่าก็พูดถึงเรื่องนี้ไว้ คือ มีมี่วินเบิร์ด (Miemie Winn Byrd) ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพม่าที่เป็นทหารสหรัฐฯ เกษียณ และกำลังสอนอยู่ที่ศูนย์เอเชีย-แปซิฟิกเพื่อการศึกษาความมั่นคงฯ ที่ตั้งอยู่ในฮาวาย เบิร์ดบอกว่าพม่าในตอนนี้เป็น "จุดบอดทางยุทธศาสตร์" ที่ใหญ่ที่สุดของอเมริกา

ไทยกับจีนก็เริ่มเอือมระอาเผด็จการพม่า?

ผู้คนมักจะมองว่าสาเหตุที่สหรัฐฯ หลีกเลี่ยงที่จะสนับสนุนการปฏิวัติของกลุ่มต่อต้านในพม่าก็เพราะว่าพวกเขาไม่อยากมีเรื่องกับจีนและกระทบกระเทือนต่อความสัมพันธ์ที่มีความเปราะบางกับประเทศที่เป็นพันธมิตรกันมายาวนานคือประเทศไทย อย่างไรก็ตามเมื่อไม่นานมานี้ทั้งจีนและไทยต่างก็เปลี่ยนแปลงนโยบายของพวกเขาเกี่ยวกับพม่าด้วย 3 สาเหตุคือ

สาเหตุที่ 1 คือ ทั้งจีนและไทยต่างก็เข้าใจในที่สุดว่าเผด็จการทหารพม่า "กำลังล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว" ทำให้พวกเขาต้องเปลี่ยนแปลงนโยบายของตัวเองในที่สุดอยู่ดี

สาเหตุที่ 2 คือ ทั้งจีนและไทยในตอนนี้มองว่าเผด็จการทหารพม่าเป็นผู้ที่ทำลายเสถียรภาพในภูมิภาคมากที่สุด

สาเหตุที่ 3 คือ จีนและไทยสรุปว่าผู้นำการรัฐประหารคือมินอ่องหล่ายไม่เต็มใจที่จะทำหรือไม่สามารถที่จะทำการแก้ไขปัญหาการระบาดของการบังคับใช้แรงงานต้มตุ๋นออนไลน์ที่เรียกว่า "ไซเบอร์สแกม" ได้ ซึ่งปัญหาดังกล่าวนี้เกิดขึ้นอย่างมากตามชายแดนของพม่ากับทั้งสองประเทศนี้ในช่วงการระบาดหนักของ COVID-19 และเป็นปัญหาที่สร้างความเสียหายอย่างมากต่อผู้คนนับไม่ถ้วนจากจีน, ไทย และประเทศอื่นอีกหลายสิบประเทศ

ถ้าให้พูดกันจริงๆ แล้ว หนึ่งในเหตุผลที่จีนให้การสนับสนุน "ปฏิบัติการ 1027" ของกลุ่มต่อต้านอยู่อย่างเงียบๆ เป็นเพราะว่ามินอ่องหล่าย ผู้นำเผด็จการปฏิเสธที่จะปราบปรามการบังคับใช้แรงงานทาสสแกมเมอร์และอาชญากรรมอื่นๆ ที่ส่งผลทำร้ายประชาชนชาวจีน


กองกำลังโกก้างยึดเมืองกุนโหลงและสะพานยุทธศาสตร์ข้ามแม่น้ำสาละวิน เมืองกุนโหลงนับเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญเพราะเป็นปากทางเชื่อมพื้นที่รัฐฉานเขตปกครองตนเองโกก้าง ภาพเผยแพร่เมื่อ 12 พฤศจิกายน 2566 (ที่มา: Facebook/The Kokang)


ทหารกองกำลังปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง TNLA ลาดตระเวนในเมืองน้ำสั่น เมืองศูนย์กลางของภูมิภาคตะอาง ภาพเผยแพร่เมื่อ 18 ธันวาคม 2566 (ที่มา: Shwe Phee Myay News Agency)

โดยที่ปฏิบัติการ 1027 เป็นปฏิบัติการที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์ 3 กลุ่ม คือกองกำลังโกก้าง (MNDAA), กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง (TNLA) และกองกำลังอาระกันอาร์มี (AA) ร่วมมือกันรุกคืบเข้าไปยังฐานที่มั่นฝ่ายเผด็จการตอนเหนือของรัฐฉาน ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาเรื่องแหล่งใช้แรงงานทาสในธุรกิจสแกมเมอร์ออนไลน์ เบิร์ดบอกว่าปฏิบัติการนี้เป็นปฏิบัติการที่ประสบความสำเร็จอย่างมากและนับเป็นจุดพลิกผันของการปฏิวัติพม่า

เรื่องที่จีนแอบสนับสนุนปฏิบัติการดังกล่าวนี้ยังเป็นสิ่งที่ช่วยอธิบายความสับสนในหมู่ผู้กำหนดนโยบายของจีนที่เกิดขึ้นในช่วงไม่นานนี้ได้ด้วย โดยที่จีนนั้นเป็นแหล่งอาวุธและเงินทุนรายใหญ่ของกองทัพเผด็จการพม่า ทำให้ที่ผ่านมากลายเป็นว่าจีนคอยสนับสนุนค้ำจุนเผด็จการพม่าผู้ที่ไม่สามารถให้เสถียรภาพได้ ซ้ำร้ายยังทำกำไรจากการทำร้ายประชาชนชาวจีนมาโดยตลอด

หรือเผด็จการพม่าจะแค่กำลังรอวันล่มสลาย


ในหมู่นักวิเคราะห์พม่าที่เชี่ยวชาญเรื่องความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ เช่น แมททิว อาร์โนลด์ และเบิร์ด ต่างก็เห็นตรงกันว่าเผด็จการพม่ากำลังล่มสลายลงอย่างรวดเร็ว เดวิด แมททีสัน ผู้ทำการวิเคราะห์ความขัดแย้้งในพม่ามาเป็นเวลายาวนานก็บอกว่ากองทัพเผด็จการพม่า "จบสิ้นแล้ว" แอนโทนี เดวิส นักวิเคราะห์จากนิตยสารการทหารเจนส์ดีเฟนซ์วีคลีย์ผู้ที่เขียนเรื่องความขัดแย้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาเป็นเวลาหลายสิบปี ได้ทำการเรียกร้องให้ประชาคมโลก "เตรียมการตอบโต้ทางการทูต, ทางด้านมนุษยธรรม และทางกระบวนการยุติธรรมเอาไว้" เผื่อไว้ใช้ช่วงหลังจากที่เผด็จการทหารพม่าล่มสลายลงแล้ว

ถึงกระนั้นทางการจีนก็ยังคงไม่ยอมรับว่าประชาธิปไตยจะกลับคืนสู่พม่า เมื่อใดก็ตามที่จีนคิดได้ในจุดนี้พวกเขาก็จะเห็นว่าการสนับสนุนการปฏิวัติของกลุ่มต่อต้านเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดทางเลือกเดียว และจะหันมาพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับประชาชนชาวพม่าผู้ที่จะเป็นคนตัดสินว่าจีนจะสามารถเข้าถึงทะเลอินเดียได้หรือไม่

ยิ่งถ้าจีนสามารถเข้าถึงทะเลอินเดียได้มากขึ้นเท่าไหร่ สหรัฐฯ ก็จะมีอำนาจต่อรองกับจีนน้อยลงในการสกัดกั้นไม่ให้จีนโจมตีไต้หวัน และสกัดกั้นไม่ให้จีนใช้อิทธิพลเข้าครอบงำพื้นที่พิพาทและพื้นที่ของต่างประเทศ ทำลายอธิปไตยของประเทศอื่นๆ และก่อเรื่องเลวร้ายอย่างอื่นได้

โครงการของจีนที่ชื่อระเบียงเศรษฐกิจจีน-พม่า (CMEC) ที่จะทำให้พวกเขาเข้าถึงทะเลอินเดียได้ก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ เลยหลังจากเกิดรัฐประหาร ซึ่งเผด็จการทหารพม่ารู้ดีในเรื่องนี้จึงพยายามล่อให้จีนเชื่อว่าพวกเขาจะช่วยสร้างเสถียรภาพที่จำเป็นต่อ CMEC ซึ่งจริงๆ แล้ว CMEC เป็นโครงการที่จีนทำกับพม่าไว้ในสมัยรัฐบาลพลเรือนอองซานซูจี ในตอนนั้นจีนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับรัฐบาล

แต่ก็สายไปแล้วสำหรับเผด็จการทหารเพราะถ้าจีนรู้ตัวเร็วมากขึ้นเท่าไหร่ว่าการปฏิวัติของกลุ่มต่อต้านจะได้รับชัยชนะ จีนก็จะพยายามได้เร็วมากขึ้นเท่านั้นในการพยายามฟื้นฟูความสัมพันธ์กับกลุ่มผู้นำพม่ากลุ่มใหม่ ความคิดต่อต้านจีนเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมานานแล้วในพม่าและยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณหลังจากที่เกิดรัฐประหารเพราะจีนสนับสนุนเผด็จการทหารในการทำสงครามกับประชาชนของตัวเอง

การที่จีนจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ได้นั้น เพียงแค่ให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้กับจีนในสายตาพม่าได้มากขึ้นจากเดิมที่เป็นภาพลบ แต่ถ้าจีนยังคงสนับสนุนเผด็จการทหารต่อไปมันก็จะส่งผลเสียต่อผลประโยชน์ของประเทศพวกเขาในระยะยาว

รัฐบาลเงาที่มาจากฝ่ายต่อต้านเผด็จการคือ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) ก็เพิ่งจะเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับ "จุดยืนของ NUG ต่อจีน" ที่เป็นการพยายามเกลี่ยกล่อมจีนว่า NUG เป็นคู่หูของจีนที่ดีกว่าเผด็จการทหาร อีกทั้งในเอกสารจุดยืนยังระบุอีกว่า NUG จะมีมาตรในการ "คุ้มครองการลงทุนทางเศรษฐกิจของจีน" และต่อต้าน "การต้มตุ๋นออนไลน์"

ความร่วมมือจากสหรัฐฯ จะเป็นประโยชน์อย่างใหญ่หลวงกับพวกเขาเอง

ถึงที่สุดแล้วจีนก็อาจจะเล็งเห็นว่าสิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดสำหรับพวกเขาคือการให้ความร่วมือกับสหรัฐฯ และไทย ในการเร่งให้เกิดการล่มสลายของเผด็จการทหารพม่าซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ อย่างน้อยก็โดยการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม เพื่อการนี้เอง สก็อต มาร์เซียล เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำพม่า ได้เสนอว่าทางการสหรัฐฯ ควรจะพิจารณาร่วมมือกับจีนในประเด็นเรื่องพม่า และศาสตราจารย์ โทนี วอเตอร์ส ก็เสนอไอเดียว่าความร่วมมือกับพม่าอาจจะนำไปสู่การผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ได้

เรื่องนี้เป็นไปได้ เพราะในความเป็นจริงแล้วจีนกับสหรัฐฯ ได้ร่วมมือกันมาก่อนแล้วในเรื่องการป้องกันไม่ให้เผด็จการทหารพม่าได้เป็นตัวแทนของประเทศพม่าที่สหประชาชาติ ถึงแม้ว่าเป็นเรื่องฝันกลางวันที่สหรัฐฯ กับจีนจะร่วมมือกันมากกว่านี้ แต่มอร์ริสก็เสนอว่าสหรัฐฯ ควรจะเล็งเห็นว่าการสนับสนุนการปฏิวัติของฝ่ายต่อต้านจะเป็นประโยชน์กับสหรัฐฯ เอง ไม่ว่าจีนจะทำอะไรก็ตาม

มอร์ริสระบุว่าแค่สหรัฐฯ เพิ่มความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม ก็กลายเป็นการช่วยเร่งปฏิกิริยาให้เกิดการล่มสลายของเผด็จการทหารได้ เพราะมันจะเป็นการช่วยประหยัดทรัพยากรให้กับกองกำลังฝ่ายต่อต้านในการที่จะเอามาใช่ช่วยเหลือกลุ่มคนพลัดถิ่นหลายล้านคนที่ต้องการอาหาร, ยา และที่พักพิง

สหรัฐฯ อาจจะทำและควรจะทำได้มากกว่านี้ในการสนับสนุนการปฏิวัติของฝ่ายต่อต้านแต่อย่างน้อยรัฐบาลไบเดนก็ควรจะเร่งให้เกิดการส่งความช่วยเหลืออย่างเต็มรูปแบบตามที่อนุมัติไว้ในกฎหมาย BURMA Act ที่ออกมาเมื่อต้นปี 2566

มอร์ริสมองว่าหลังจากที่ปฏิบัติการ 1027 เสร็จสิ้นลง กลุ่มเผด็จการทหารพม่าก็จะยิ่งโจมตีใส่พลเรือนหนักขึ้นเพราะพวกเขาพยายามดิ้นรนอย่างเอาเป็นเอาตายเพื่อไม่ให้ตัวเองพบกับความพ่ายแพ้ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ประเทศไทยรู้ในเรื่องนี้ดีและได้เข้าหาญี่ปุ่นเพื่อขอความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จะเตรียมไว้ให้กับผู้ลี้ภัยชาวพม่าแล้ว

ด้วยเหตุนี้เองมอร์ริสเสนอว่า สหรัฐฯ ควรจะให้ความช่วยเหลือมากขึ้นและทำการคว่ำบาตรหนักขึ้นโดยอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรของพวกเขา ยิ่งทำให้เผด็จการพม่าล่มสลายเร็วเท่าไหร่ ประชาชนพม่าก็จะประสบกับความทุกข์ยากน้อยลงเท่านั้น

มอร์ริสสรุปว่าการทำเช่นนี้สหรัฐฯ จะไม่ได้ลงทุนอะไรมาก แต่จะยิ่งได้ผลประโยชน์ที่มีค่ามาก โดยเฉพาะเรื่องการส่งเสริมผลประโยชน์ของสหรัฐฯ โดยการคืนชีวิตให้ประชาธิปไตยในภูมิภาคและทำให้สหรัฐฯ ยังคงมีอำนาจป้องปรามขัดขวางการกระทำสุ่มเสี่ยงของจีนได้ อีกทั้งยังจะทำให้ประชาชนชาวพม่าเป็นมิตรกับสหรัฐฯ ทำให้สหรัฐฯ วางตัวเองเป็นผู้มีบทบาทหลักในการฟื้นฟูพม่าและเปลี่ยนผ่านพม่าไปสู่ประชาธิปไตยได้ ยิ่งไปกว่านั้นมันจะทำให้สหรัฐฯ กลับมาส่งอิทธิพลต่อเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ หลังจากที่เคยสูญเสียอิทธิพลที่ว่านี้ให้กับจีน

เรียบเรียงจาก

Why the US Needs to Back Myanmar’s Spring Revolution, Peter Morris, The Diplomat, 08-01-2024

(https://prachatai.com/journal/2024/01/107652)