วันอาทิตย์, มกราคม 14, 2567

“ศรีลังกา” จาก “ผู้ชนะสิบทิศ” สู่ “หายนะสิบทิศ”



“ศรีลังกา” จาก “ผู้ชนะสิบทิศ” สู่ “หายนะสิบทิศ”

By Jakkrit Siririn
July 4, 2022
Salika.Co

ย้อนหลังกลับไปปลายทศวรรษ 90 คือในปี ค.ศ. 1998 “ศรีลังกา” ได้รับการจัดอันดับเป็น “ประเทศรายได้ระดับกลาง-ล่าง” (Lower-Middle Income Economy)

ที่มี “รายได้ประชาชาติ” หรือ GNI (Gross National Income) หรือ “รายได้เฉลี่ยต่อคนต่อปี” สูงกว่า 1,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ

มาเป็น “ประเทศรายได้ระดับกลาง-บน” (Upper- Middle Income Economy) ที่มี GNI สูงกว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี ในปี ค.ศ. 2019

เป็นความภูมิใจของกลุ่มประเทศเอเชียใต้ ที่นอกจาก “ศรีลังกา” แล้ว ชาติดาวรุ่งพุ่งแรงในขณะนั้นอีกประเทศก็คือ “มัลดีฟส์”

ที่แม้นักวิชาการจำนวนมากได้พากันตั้งข้อสงสัยถึงภาพสะท้อนทางเศรษฐกิจที่แท้จริง

เนื่องจาก “รายได้ประชาชาติเฉลี่ยต่อคนต่อปี” โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รายได้ของประเทศ ทั้งของ “ศรีลังกา” และของ “มัลดีฟส์” มาจากการท่องเที่ยว

ซึ่งเกือบทั้งหมดเป็นรายได้ของเครือโรงแรมยักษ์ใหญ่ระดับโลก และรีสอร์ตต่างๆ ของบรรดาบรรษัทข้ามชาติ





อย่างไรก็ดี ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีของการเป็นดาวรุ่งพุ่งแรง เป็นผลมาจากการที่ “ศรีลังกา” ได้รับฉายา “ผู้ชนะสิบทิศ”

เพราะ “ศรีลังกา” ตั้งอยู่ในพิกัด “ประเทศเส้นทางขนส่ง” ที่ “พลุกพล่านที่สุดแห่งหนึ่งของโลก”

โดยที่ผ่านมา “ศรีลังกา” ไม่เคยประสบภาวะขาดแคลนอาหารมาก่อนเลยในประวัติศาสตร์ จากการเป็น “ชาติกสิกรรม”

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชื่อเสียงเรียงนาม ความสามารถฟันฝ่าวิกฤตการณ์น้อยใหญ่มาได้อย่างโชกโชน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตการณ์ทางการเมืองเรื่องความขัดแย้งระหว่างชาติพันธุ์ “สิงหล” ซึ่งเป็นคนกลุ่มใหญ่ใน “ศรีลังกา” กับกลุ่มชาติพันธุ์ “ทมิฬ” ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยของประเทศ

ที่ไม่เพียงรบราฆ่าฟันกันใน “ศรีลังกา” ทว่า ลุกลามข้ามพรมแดนไปยัง “อินเดีย”

เนื่องจาก “ชาวทมิฬ” ในเอเชียใต้ มีจำนวนมากกว่า “คนสิงหล” ที่ กลุ่มชาติพันธุ์ “ทมิฬ” ข้ามมาเปิดศึกความขัดแย้งกับกลุ่มชาติพันธุ์ “สิงหล” ใน “ศรีลังกา”


หญิงสิงหลสวมชุดส่าหรีพื้นเมือง // th.wikipedia.org



ตั้งแต่ครั้งที่ “ศรีลังกา” ได้รับเอกราชจาก “อังกฤษ” ในปี ค.ศ. 1948 ลากยาวมาจนสถานการณ์คลี่คลายลงในปี ค.ศ. 2019 เรียกได้ว่า ยืดเยื้อมากว่า 70 ปี!

ยังไม่นับการเผชิญหน้าอย่างกล้าหาญกับมหาธรณีพิบัติภัย Tsunami ในปี ค.ศ. 2004 ที่กวาดโครงสร้างพื้นฐานของชาติราบเป็นหน้ากลอง

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฉีกคร่าชีวิตประชาชนไปเป็นจำนวนมาก!

รวมถึงวิกฤตการณ์โลกร้อน ที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศของ “ศรีลังกา” อย่างรุนแรง แม้ว่าจะเป็นหายนะที่เกิดขึ้นทั่วโลก

ทว่า สำหรับ “ศรีลังกา” ต้องเผชิญหน้ากับการเกิด “อุทกภัย” สลับกับ “ความแห้งแล้ง” อย่างสาหัสสากรรจ์

กระทบโดยตรงถึงภาคการเกษตรที่เป็นเส้นเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยง “ศรีลังกา” มาอย่างยาวนาน

อย่างไรก็ตาม แม้จะเผชิญกับอุปสรรคขวากหนามนานัปการ แต่ “ศรีลังกา” ก็ยังสามารถเดินหน้าพัฒนาเศรษฐกิจได้ดีอย่างต่อเนื่อง

จนทำให้ ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา แทบทุกชาติในเอเชียใต้ ต่างพากันยกย่อง “ศรีลังกา” และใช้ “ศรีลังกา” เป็นต้นแบบ หรือที่เรียกว่า “ศรีลังกาโมเดล”



ทว่า เมื่อกาลเวลาเดินหน้ามาถึงปี ค.ศ. 2020 สถานการณ์ที่กล่าวมาทั้งหมด กลับพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ!

เพราะพลันเมื่อ “ศรีลังกา” ย่างก้าวเข้าสู่ปี ค.ศ. 2020 สถานะ GNI ของ “ศรีลังกา” กลับหดตัวลงมาในระดับตํ่ากว่า 4,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน คือกลางปี ค.ศ. 2022 ที่ “ศรีลังกา” ก็เข้าสู่สถานการณ์ “ประเทศล่มสลาย-เศรษฐกิจหายนะ” ตามคำกล่าวของ Ranil Wickremesinghe นายกรัฐมนตรี “ศรีลังกา” เอง!

จากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ วิกฤตการณ์พลังงาน วิกฤตการณ์อาหาร วิกฤตการณ์สังคมและวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง วิกฤตการณ์ทางการเมือง อย่างเต็มรูปแบบ หรือเรียกว่า “หายนะสิบทิศ”

นักวิเคราะห์หลายสำนักชี้ตรงกัน ว่าต้นเหตุ “ความเสื่อม” อย่างรวดเร็วของ “ศรีลังกา” เกิดจากการบริหารนโยบายทางเศรษฐกิจที่ผิดพลาด

ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากการผูกขาดทางการเมืองของตระกูล “ราชปักษา” ที่ฝังรากลึกลงในแผ่นดิน “ศรีลังกา” มาอย่างต่อเนื่องและยาวนาน

นำโดย “พี่สอง” หรือ “Percy” Mahinda Rajapaksa ประธานาธิบดีคนที่ 6 ซึ่งครองอำนาจยาวนานกว่า 10 ปี (ค.ศ. 2005-2015) โดยขึ้นมาดำรงนายกรัฐมนตรีในปี ค.ศ. 2019

ร่วมกับ “พี่สาม” หรือ Nandasena “Gotabaya” Rajapaksa ที่นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในช่วงที่ “พี่สอง” เป็นประธานาธิบดี (ค.ศ. 2005-2015) ก่อนที่จะขึ้นเป็นประธานาธิบดีแทน “พี่สอง” ในปี ค.ศ. 2019

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “น้องเล็ก” หรือ “Basil” Rohana Rajapaksa ผู้เคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาการเศรษฐกิจ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เจ้าของฉายา “Mr. 10%”

ปิดท้ายผสมทัพด้วย “พี่ใหญ่” หรือ “Chamal” Jayantha Rajapaksa ซึ่งทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการมาหลายกระทรวง!



นี่คือ “ครอบครัวการเมือง” ที่ปกครอง “ศรีลังกา” แบบ “สมบัติผลัดกันชม”

สืบทอดอำนาจ ส่งต่อให้กันมาอย่างยาวนาน จนไม่มีใครหน้าไหนกล้าหือ!

ตระกูล “ราชปักษา” เน้นหนักไปที่นโยบายประชานิยมผสมชาตินิยม ลดแหลก แจกกระหน่ำ ท่ามกลางข้อครหาเกี่ยวกับการการ “คอร์รัปชั่น” แบบสะบั้นหั่นศพ

ส่งผลให้ระบบการเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ล่มสลายในวันนี้!

ที่ขาดแคลนเงินสำหรับการนำเข้าอาหารและพลังงาน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศ

เติมเต็มด้วยการกู้ยืมจากจีน อินเดีย และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF

Ranil Wickremesinghe นายกรัฐมนตรี “ศรีลังกา” กล่าวว่า “ศรีลังกา” กำลังพุ่งลงเหว!

สะท้อนผ่านรูปถ่ายประชาชนอดมื้อกินมื้อ และต่อแถวยาวเหยียดหน้าปั๊มน้ำมัน

ได้กลายเป็นภาพความเป็นจริงอันโหดร้ายในวันนี้ของ “ศรีลังกา”

ที่เชื้อเพลิงแห่งปัญหาเริ่มที่ตระกูล “ราชปักษา” ที่บริหารประเทศล้มเหลว ท่วมด้วยปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ที่เป็นมะเร็งร้ายในสังคม ผ่านการก่อสร้างโครงการเมกะโปรเจคต์ผลาญงบประมาณอย่างมหาศาล!

สมทบด้วยเหตุระเบิด “อีสเตอร์” โจมตีโบสถ์คริสต์ คร่าชีวิตผู้คนกว่า 260 เขย่าอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เป็นแหล่งรายได้สำคัญของประเทศ!



แทนที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อนำภาษีมาเติมเงินคงคลัง แต่ “ราชปักษา” กลับประกาศแผนลดภาษีครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ประเทศ!

ส่งผลให้ “ศรีลังกา” ถูกลดอันดับความน่าเชื่อถือจากสถาบันจัดอันดับระดับโลก ปิดกั้นหนทางกู้ยืมเงินจากต่างประเทศลงในทันที

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง COVID-19 ที่เข้ามา Shutdown ธุรกิจท่องเที่ยว กรีดเส้นเลือดแดงของ “ศรีลังกา” ไหลทะลัก!

และขณะที่กำลังเผชิญหน้ากับภาระหนี้ท่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หนี้ภาครัฐปริมาณมหาศาล บวกกับสถานะเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่กำลังลดน้อยร่อยหรอลงเรื่อยๆ

แต่ “ราชปักษา” กลับประกาศห้ามนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศหลายรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ปุ๋ยเคมี”

ควบคู่ไปกับการผลักดันเกษตรอินทรีย์อย่างไม่มีแผนรองรับ ส่งผลให้ราคาพืชผลการเกษตรพุ่งสูงขึ้นทันที

และเมื่อสงคราม “ยูเครน-รัสเซีย” เปิดฉากขึ้น ราคาอาหาร และพลังงาน พุ่งขึ้น 60% บวกกับภาวะเงินเฟ้อ หรือ inflation ทะยานไปแตะที่ระดับ 40%

ม็อบสารพัดชนิดจึงดาหน้าออกมาประท้วง “ราชปักษา” เต็มท้องถนน “ศรีลังกา” เป็นชนวนนำไปสู่เหตุรุนแรงในที่สุด

ซึ่งยิ่งซ้ำเติมวิกฤตการณ์อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่กำลังทยอยฟื้นตัวจาก COVID ให้กลับฟุบลงไปอีก!



โดยในปัจจุบัน “ศรีลังกา” มีภาระหนี้กว่า 50,000 ล้านดอลลาร์ แน่นอนว่า หากสถานการณ์ยังดำเนินไปเช่นนี้ “ศรีลังกา” จะไม่สามารถที่จะชำระดอกเบี้ยเงินกู้ดังกล่าวได้เลย

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเงิน “ศรีลังกา” ดิ่งเหวลงไปมากถึง 80% อยู่ที่ราว 360 รูปีต่อดอลลาร์ ทำให้การนำเข้าแพงขึ้นชนิดที่เรียกว่า ไม่สามารถนำเข้าอะไรได้เลยในตอนนี้!

จากปัจจัยทั้งหมด “ศรีลังกา” จึงเข้าสู่สภาพชาติล้มละลาย รัฐบาลไม่มีเงินสำหรับการนำเข้าอาหาร น้ำมัน นม แก๊สหุงต้ม ประชาชนไม่มีเงินแม้แต่จะซื้อกระดาษชำระ!

โดยในขณะนี้ ประชาชนชาว “ศรีลังกา” จำนวนมากทยอยเดินทางออกนอกประเทศเพื่อหางานทำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้าราชการ “ศรีลังกา” ต้องหยุดงานสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อไป “ปลูกข้าว” และทำการเกษตรอื่นๆ เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนอาหาร!

อย่างไรก็ตาม เพื่อนบ้านที่แสนดีของ “ศรีลังกา” คือ “อินเดีย” ได้ให้เงินช่วยเหลือราว 4,000 ล้านดอลลาร์

และอยู่ระหว่างการหารือกับจีน รวมถึงสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อขอความช่วยเหลืออยู่อย่างเร่งด่วน!

ที่มา (https://www.salika.co/2022/07/04/sri-lanka-bankruptcy/)