วันพุธ, ธันวาคม 13, 2566

เนเธอร์แลนด์มีกษัตริย์เป็นประมุข แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีกษัตริย์หรือพระราชินีในธนบัตร ธนบัตรมีแต่รูปดอกไม้ นก - ส่วนเมืองไทย ต้องมี เพราะเป็นส่วนหนี่งของการทำงาน "ราชานิยม"


Pipob Udomittipong
Yesterday·

กรมธนารักษ์ #เนเธอร์แลนด์ เตรียมพิมพ์ธนบัตรรูป เดนนิส เบิร์กแคมป์ ศูนย์หน้า #อาร์เซนอล + ทีมชาติ พร้อมลูกที่เขายิงอาร์เจนตินาจนตกรอบรองฟุตบอลโลกปี 1998 ซึ่งครบรอบ 25 ปีพอดี นับเป็นนักกีฬาคนแรกที่ได้รับเกียรตินี้ เนเธอร์แลนด์มีกษัตริย์เป็นประมุข แต่หลายสิบปีที่ผ่านมา ไม่มีกษัตริย์หรือพระราชินีในธนบัตร ธนบัตรมีแต่รูปดอกไม้ นก (หลายชนิดเลย) ดอกทานตะวัน นักปรัชญา จิตกร กวี นักดนตรี ประภาคาร ฯลฯ
.....
Kamolphut Orapin
ขณะที่ธนบัตรของไทยแลนด์นั้น
แค่สามัญชนก็ยังไม่มีได้ขึ้นบนธนบัตรเลยสักคน
มองประวัติศาสตร์ชาติ ผ่านภาพกษัตริย์บนธนบัตร
ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์

28 กรกฎาคม 2018
https://www.bbc.com/thai/thailand-44982026
.....
มองประวัติศาสตร์ชาติ ผ่านภาพกษัตริย์บนธนบัตร

ผศ.พิพัฒน์ กระแจะจันทร์
สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
28 กรกฎาคม 2018
บีบีซีไทย



28 กรกฎาคม 2561 วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร และเป็นวันที่ธนบัตรชนิดใหม่ในรัชกาลที่ 10 ราคา 500 บาท และ 1,000 บาท ออกสู่ท้องตลาด ภายหลังธนบัตรชุดแรก ชนิดราคา 20 บาท 50 บาท และ 100 บาทออกสู่ประชาชน เมื่อวันจักรีที่ผ่านมา

อาจกล่าวได้ว่า ธนบัตรคือบันทึกประวัติศาสตร์ฉบับย่อที่สะท้อนอุดมการณ์ทางการเมือง และพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศ ฮันส์ เดอ เฮจ นักประวัติศาสตร์ด้านเงินตราชาวดัทช์ ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจว่า ภาพบุคคลบนธนบัตรมักเลือกใช้ภาพของบุคคลสำคัญของชาติและมีความศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เงินนั้นมีความน่าเชื่อถือและมีค่า

นอกจากนี้ ภาพที่ใช้ประกอบยังบ่งบอกอัตลักษณ์และภาพลักษณ์ของแต่ชาติอีกด้วย ดังนั้น ภาพบนธนบัตรจึงนับเป็นเครื่องมือหนึ่งที่เผยแพร่ ภาพลักษณ์ของสถาบันชาติและสถาบันกษัตริย์ในระดับชีวิตประจำวันและพื้นที่สาธารณะได้กว้างขวาง นับตั้งแต่เริ่มใช้ธนบัตรมาในสมัยรัชกาลที่ 5 จนถึงปัจจุบัน


ภาพประธานด้านหลัง เป็น พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช (ร.9) และ พระสาทิสลักษณ์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร (ร.10)

ราชานิยมบนธนบัตรไทย

ชาตรี ประกิตนนทการ นักประวัติศาสตร์ศิลปะ อธิบายไว้ในบทความ "รูปภาพ ลวดลาย และสัญลักษณ์ธนบัตรไทย" ใน จุลสารหอจดหมายเหตุธรรมศาสตร์ ว่า การออกแบบธนบัตรไทยนั้นมีความสัมพันธ์กับ 3 องค์ประกอบหลัก คือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง แนวคิดชาตินิยมไทย และการพัฒนาของอำนาจสถาบันกษัตริย์

ธนบัตรยุคแรกไม่มีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ แต่ใช้ตราแผ่นดินเป็นสำคัญ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 7 ในช่วงที่สถาบันกษัตริย์ถูกสั่นคลอน ในการออกแบบธนบัตร รัฐบาลจึงอัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมาเป็นประธานด้านหน้า พร้อมกับใช้ภาพพระบรมมหาราชวังและเรือสุพรรณหงส์มาประกอบ ใช้ภาพทิวทัศน์แม่น้ำปิงเพื่อสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ของชาติ ส่วนด้านหลังเป็นภาพพระสมุทรเจดีย์ เพื่อสื่อถึงพระมหากรุณาธิคุณของ สมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ผู้ทรงปกป้องประเทศจาก วิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 หรือ สงครามฝรั่งเศส - สยาม


เปลี่ยนแปลงการปกครอง

การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ส่งผลให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงธนบัตรใหม่ พร้อมอุดมการณ์การเมืองใหม่ ธนบัตรใหม่ ออกสู่สาธารณะในปี พ.ศ.2481 ด้วยพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 8 เป็นประธาน แต่ก็ถูกอธิบายภายใต้ระบบการเมืองแบบใหม่ เพราะมีลายน้ำที่เป็นพานรัฐธรรมนูญ ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของคณะราษฎร ในขณะที่ด้านหลังธนบัตร ถึงจะใช้ภาพพระที่นั่งอนันตสมาคมที่สร้างโดยรัชกาลที่ 5 ก็ตาม แต่ภายหลัง 2475 พระที่นั่งองค์นี้ได้ถูกใช้เป็นที่ประชุมรัฐสภา ทำให้ความหมายของพระที่นั่งนี้เปลี่ยนจากของของเจ้ามาสู่ราษฎร อย่างไรก็ดี การปรากฏพระบรมสาทิสลักษณ์กับพานรัฐธรรมนูญบนธนบัตรอาจบ่งบอกถึงความพยายามในการประนีประนอมกับระหว่างฝ่ายเจ้ากับฝ่ายคณะราษฎร

ต่อมา สงครามมหาเอเชียบูรพาสิ้นสุดลงในปี 2488 พร้อมกับการลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ทำให้ระบอบเผด็จการทหารหยุดลงชั่วคราว จึงมีการออกแบบภาพด้านหลังธนบัตรใหม่เป็นพานรัฐธรรมนูญเต็มพื้นที่ ทั้งนี้เพื่อขานรับกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และเชิดชูระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่ธนบัตรนี้ก็มีอายุสั้นเพียงแค่ 2 ปีเท่านั้น เพราะมีการเปลี่ยนรัชกาล และเกิดการรัฐประหารในปี 2490


ประชาชนที่ไปแลกธนบัตรร.10 ที่ธนาคารออมสิน สาขาตลาดอตก.

รัชกาลใหม่ ธนบัตรใหม่

ใน พ.ศ.2491 รัฐบาลได้เริ่มต้นใช้ธนบัตรใหม่ที่มีพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 9 เป็นประธาน ในขณะที่ภาพด้านหลังเปลี่ยนกลับไปเป็นพระที่นั่งอนันตสมาคม แต่ในธนบัตรชนิดราคา "ห้าสิบสตางค์" ยังคงใช้พานรัฐธรรมนูญประดับที่กึ่งกลาง นับเป็นธนบัตรชุดสุดท้ายที่เป็นมรดกทางความคิดของคณะราษฎร

อย่างไรก็ดี นับตั้งแต่หลัง พ.ศ.2500 เป็นต้นมา เมื่ออำนาจของสถาบันกษัตริย์ได้เพิ่มขึ้นนับจากยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เราก็ไม่พบภาพของพานรัฐธรรมนูญอีก และโดยเฉพาะนับจาก พ.ศ.2510 ภาพด้านหลังของธนบัตรจะเน้นภาพที่เกี่ยวข้องกับสถาบันกษัตริย์และชาติเป็นแกนหลัก เช่น เรือพระที่นั่งสุพรรณหงส์ วัดเบญจมบพิตร เป็นต้น

จนกระทั่งปี 2518 การคุกคามของคอมมิวนิสต์จากภายนอกสร้างความหวั่นกังวลอย่างมากต่อรัฐบาลไทย พร้อมกับการเกิดขึ้นของธนบัตรใหม่ในชุด "มหาราช" ด้านหน้าของธนบัตร มีพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 9 ยังเปลี่ยนจากทรงชุดครุยมาทรงฉลองพระองค์ชุดจอมทัพ ส่วนภาพด้านหลังใช้ภาพของอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช สมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงช้างยุทธหัตถี และ พระบรมรูปทรงม้า ซึ่งสะท้อนถึงอิทธิพลของประวัติศาสตร์ชาติแบบราชาชาตินิยม และอนุสาวรีย์ในฐานะของเครื่องมือทางการเมือง



200 ปี รัตนโกสินทร์

ภายหลังปัญหาคอมมิวนิสต์สิ้นสุดลง ประเทศไทยเข้าสู่ภาวะฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปีใน พ.ศ. 2525 รัฐบาลผลิตธนบัตรใหม่ในราคา 50 บาท และ 500 บาท โดยด้านหลังธนบัตรใบละ 500 เป็นภาพอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 1 เพื่อสื่อถึงการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะที่ใบละ 50 บาทเป็นอนุสาวรีย์รัชกาลที่ 7 ที่มีฉากหลังเป็นพระที่นั่งอนัตสมาคม คงเพื่อสื่อถึงระบอบประชาธิปไตยและการพระราชทานรัฐธรรมนูญโดยกษัตริย์ตามวาทกรรมชาติ

หลังการเฉลิมฉลอง สถาบันกษัตริย์มีความมั่นคงต่อเนื่อง พร้อมไปกันกับการขยายพระราชอำนาจและพระราชกรณียกิจไปยังสาขาต่างๆ ได้แก่ เศรษฐกิจ การศึกษา สังคม และวัฒนธรรม ในปี 2535 รัฐบาลจึงจัดพิมพ์ธนบัตรที่นำเสนอภาพพระราชกรณียกิจของพระมหากษัตริย์พระองค์ต่างๆ เป็นครั้งแรก ตัวอย่างเช่น ธนบัตรใบละ 500 เป็นภาพรัชกาลที่ 1 กับรัชกาลที่ 2 โดยมีภาพพระบรมมหาราชวัง เพื่อสื่อว่าพระองค์เป็นผู้สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ และภาพรามเกียรติ์พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 2 เป็นต้น เช่นเดียวกับด้านหน้าธนบัตรได้มีการขยายภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ให้ใหญ่ขึ้น

วิกฤตเศรษฐกิจและการเมือง

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่ร้อนแรงระหว่างปี 2539-2539 ทำให้วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 รัฐบาลจึงหันมาส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่และเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ ดังเห็นได้จากด้านหลังธนบัตรใบละ 1,000 บาท ที่มีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์รัชกาลที่ 9 ทรงชุดสูทสากล พร้อมกล้องถ่ายรูปและแผนที่แนบติดพระวรกาย ด้านข้างมีภาพของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเมฆฝนที่ทำให้นึกถึงฝนเทียม ซึ่งสะท้อนพระอัฉริยภาพของพระองค์ด้านการจัดการน้ำ ด้านข้างยังมีภาพเรือกสวนไร่นา ซึ่งสะท้อนเกษตรทฤษฎีใหม่ที่พระองค์ท่านทรงส่งเสริม

เมื่อประเทศฟื้นจากวิกฤตเศรษฐกิจ พัฒนาการทางการเมืองก็นำไปสู่ความขัดแย้งทางการเมืองที่นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2549 และความพยายามของรัฐบาลทหารในการส่งเสริมให้ประชาชนรักชาติผ่านประวัติศาสตร์ จึงปรากฏภาพของวีรบุรุษประวัติศาสตร์บนด้านหลังของธนบัตร เช่น ภาพพ่อขุนรามคำแหงโดยมีภาพของจารึกหลักที่ 1 สังคโลก และประชาชนกำลังสั่นกระดิ่งร้องทุกข์ ภาพสมเด็จพระนเรศวรประกาศเอกราช ภาพพระเจ้าตากสินที่มีภาพประกอบเป็นพระราชวังเดิมและทรงเกลี้ยกล่อมให้ประชาชนรวมกำลังกันกู้อิสรภาพ เป็นต้น การปรากฏภาพของอดีตพระมหากษัตริย์นับจากหลังปี 2540 นี้สอดคล้องกับการผลิตละครและภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเน้นไปทางชาตินิยม และกษัตริย์นิยมอีกด้วย

ความรุ่งเรืองในอดีตที่คนไทยทุกสมัยใฝ่หา


ภาพประธานด้านหน้า ธนบัตรชนิดราคา 500 บาท

ภาพบนธนบัตรในรัชกาลที่ 10

ธนบัตรที่ออกแบบใหม่เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชกาลที่ 10 และเป็นเครื่องหมายของการเปลี่ยนรัชกาลนั้น จึงเป็นเสมือนกับสายธารของอุดมการณ์ทางการเมืองและความนิยมในสถาบันกษัตริย์ในรัชกาลก่อนหน้านี้อย่างเห็นได้ชัด

สำหรับธนบัตรในรัชกาลที่ 10 ภาพด้านหน้ามีภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ในฉลองพระองค์เครื่องแบบเต็มยศของทหารอากาศ เป็นประธานของธนบัตรในทุกชนิดราคา เนื่องด้วย พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถด้านการบิน ในขณะที่ด้านหลังของธนบัตรทั้ง 5 ชนิดราคา ได้อัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรีมาเรียงลำดับเป็นคู่ๆ จากรัชกาลที่ 1 จนถึง 10 โดยมีภาพประกอบที่เป็นพระราชกรณียกิจสำคัญ และมีลวดลายประดับเช่น กระหนก ซึ่งสะท้อนพัฒนาการของความเป็นไทยที่แตกต่างกัน ไปในแต่ละช่วงเวลา

อนึ่ง การสืบเชื้อสายจากบรรพกษัตริย์ถือเป็นความชอบธรรมอย่างหนึ่งในการขึ้นเป็นกษัตริย์นับแต่ยุคจารีต ซึ่งระบบนี้ได้รับการปรับปรุงในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีการแต่งตั้งตำแหน่งมกุฏราชกุมารขึ้น ดังนั้น การอัญเชิญพระบรมสาทิสลักษณ์กษัตริย์จัดวางเป็นคู่ ช่วยทำให้เห็นถึงความต่อเนื่อง ของเชื้อสายราชวงศ์จักรี และสิทธิธรรมในการปกครองประเทศจากอดีตที่ส่งต่อมายังรัชกาลปัจจุบัน

ถ้าอธิบายรายละเอียดของภาพประกอบธนบัตรแต่ละชนิดราคา จะพบว่า ล้วนสัมพันธ์กับภาพลักษณ์ของกษัตริย์แต่ละพระองค์ ที่รับรู้กันผ่านประวัติศาสตร์ชาติหรือแบบเรียน กล่าวคือ

ธนบัตรใบละ 20 บาท ภาพประกอบรัชกาลที่ 1 เป็นพระบรมมหาราชวัง เพื่อสื่อถึงการสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์ ในขณะที่ภาพประกอบรัชกาลที่ 2 เป็นพระราชนิพนธ์เรื่องอิเหนา เพื่อสื่อถึงอัจฉริยภาพด้านการกวีและศิลปวัฒนธรรม



ภาพประธานด้านหลัง ​เป็น พระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช (ร.1) และพระบรมสาทิสลักษณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (ร.2)


ธนบัตรใบละ 50 บาท ภาพประกอบรัชกาลที่ 3 เป็นเรือสำเภา เพื่อสื่อถึงความรุ่งเรืองทางการค้ากับจีน ภาพประกอบรัชกาลที่ 4 เป็นหอชัชวาลเวียงชัย พระนครคีรี ซึ่งโปรดให้สร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหอสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ภาพนี้จึงสื่อถึงอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์


ธนบัตรใบละ 100 ภาพประกอบรัชกาลที่ 5 เป็นภาพการเสด็จประพาสยุโรปเพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับนานาชาติ และยังสื่อถึงภาวะความทันสมัย ภาพประกอบรัชกาลที่ 6 เป็นพระองค์ทรงม้าเพื่อทรงฝึกกองเสือป่า (เดิมภาพประกอบรัชกาลที่ 6 เคยใช้ภาพเด็กเรียนหนังสือกับพระ) ทำให้เรานึกถึงการส่งเสริมให้พลเรือนเป็นทหารเพื่อป้องกันประเทศ


ภาพประธานด้านหน้า ธนบัตรชนิดราคา 50 บาท

ธนบัตรใบละ 500 ภาพประกอบรัชกาลที่ 7 เป็นภาพที่พระองค์ทรงพระราชทานรัฐธรรมนูญ เมื่อ 2475 ซึ่งประเด็นการพระราชทานรัฐธรรมนูญนี้ถือเป็นวาทกรรมที่ช่วงชิงและถกเถียงกันมาตลอดทั้งในวงวิชาการและประชาชนทั่วไป ส่วนภาพประกอบรัชกาลที่ 8 เป็นภาพการเสด็จไปเยี่ยมราษฎรชาวจีนที่สำเพ็ง ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความขัดแย้งระหว่างชาวไทยและชาวจีนจนเกือบเกิดสงครามกลางเมือง

สุดท้ายธนบัตรใบละ 1000 บาท ภาพประกอบรัชกาลที่ 9 เป็นภาพทรงรับดอกบัวจากราษฎร ซึ่งสะท้อนความใกล้ชิดระหว่างพระองค์กับราษฎร และการเสด็จเยี่ยมราษฎรในท้องถิ่นทุรกันดาร ในขณะที่ภาพประกอบรัชกาลที่ 10 เป็นภาพขณะทอดพระเนตรแผนที่ ระหว่างเสด็จเยี่ยมราษฎร ในโครงการพัฒนาลุ่มน้ำบางนรา จ.นราธิวาส ซึ่งสะท้อนการประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อประโยชน์สุขของพสกนิกร



กล่าวโดยสรุป อุดมการณ์ของชาตินั้นมีกลไกการทำงานที่สามารถแทรกซึมลงได้ในระดับชีวิตประจำวัน ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าทุกคนกำลังถือประวัติศาสตร์ชาติฉบับจิ๋วอยู่ในมือนั่นเอง