วันอังคาร, ธันวาคม 26, 2566
เมื่อประชาชนใช้กฎหมายเป็นอาวุธทำร้ายกันเอง: เปิดสถิติคดี ม.112 ที่ผู้กล่าวโทษคือ “ประชาชน”
TLHR / ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน @TLHR2014
ในคดี #ม112 มีผู้ถูกดำเนินคดีอย่างน้อย 262 คน ในจำนวน 286 คดี ในจำนวนนี้แยกเป็นคดีที่ “ประชาชน” เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษมากถึง 141 คดี ในจำนวนจำเลย 136 คน ในโอกาสนี้ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ขอนำเสนอข้อมูลสถิติคดีมาตรา 112 ที่แจ้งดำเนินคดีโดยประชาชน ซึ่งกำลังมีเพิ่มมากขึ้นจากความขัดแย้งกันในโลกออนไลน์ของกลุ่มคนที่มีแนวคิดทางการเมืองที่ตรงกันข้ามกับผู้ต้องหาและจำเลยในคดีมาตรา 112 ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมักจะเป็นกลุ่มประชาชนที่ไม่ได้สังกัดกลุ่มนักกิจกรรม หรือเข้าร่วมขบวนการเคลื่อนไหวในการชุมนุมใหญ่ใด ๆ มาก่อน อ่านบนเว็บไซต์ : https://tlhr2014.com/archives/62570
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าคดีมาตรา 112 – พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ถูกดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์โดยกลุ่มเครือข่ายประชาชนที่เคลื่อนไหวในนาม “ปกป้องสถาบันฯ” มากกว่า 70 คดี โดยพบว่ามีการกล่าวโทษกันมากที่สุดในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ และปริมณฑล ถึง 57 คดี โดยพื้นที่รองลงมาคือภาคใต้ จำนวน 7 คดี ในส่วนของภาคเหนือ 5 คดี และภาคอีสาน 1 คดี (นับเฉพาะที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหา อาจมีกรณีการแจ้งความอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่ได้มีการแจ้งข้อกล่าวหาเกิดขึ้น)
กลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบันฯ ก่อตั้งขึ้นภายหลังการชุมนุมของกลุ่มเยาวชนปลดแอก เมื่อปี 2563 โดยมีแกนนำคือ อานนท์ กลิ่นแก้ว เป็นผู้ก่อตั้งกลุ่ม กลุ่ม ศปปส. มีวัตถุประสงค์เพื่อต่อต้านกลุ่มผู้ชุมนุมที่ต้องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวยังคงดำเนินงานกล่าวโทษมาตรา 112 กับประชาชนที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมืองอยู่เป็นประจำ
นอกจากกลุ่มเครือข่ายของประชาชนในข้างต้นแล้ว ประชาชนทั่วไปที่เข้าใจว่าดำเนินการในลักษณะปัจเจกบุคคลก็มีการเดินทางไปสถานีตำรวจใกล้บ้านเพื่อกล่าวโทษบุคคลที่เขาเห็นว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วยเช่นกัน โดยในการสืบพยานในชั้นศาล ประชาชนเหล่านี้มักระบุว่าตนเองไม่ได้เป็นตัวแทนหรืออยู่ในกลุ่มสังกัดใด เพียงแค่ทำ ‘หน้าที่’ ปกปักษ์รักษาไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์เพียงเท่านั้น จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนนับตั้งแต่วันที่ 24 พ.ย. 2563 จนถึงวันที่ 1 ธ.ค. 2566 มีประชาชนที่ระบุตนไว้ไร้สังกัดเป็นผู้กล่าวหาในคดีมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ อย่างน้อย 70 คดี โดยในจำนวนนี้มี 3 คดีที่ผู้กล่าวหาเป็นบุคคลที่มีบทบาททางสังคม เช่น นักการเมือง และบริษัทการบินไทย
นอกจากนี้ ในกลุ่มอื่น ๆ พบว่าในพื้นที่ภาคกลางยังมีกลุ่มไทยภักดี ที่เคยกล่าวโทษในคดีมาตรา 112 ไว้ถึง 6 คดี, กลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ 4 คดี, กลุ่มศูนย์กลางประสานนักศึกษาอาชีวะ ประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ (ศอปส.) 2 คดี, กลุ่มพลังประชาชนปกป้องสถาบันกษัตริย์ (พปปส.) 2 คดี และในส่วนภูมิภาคอื่นๆ ทางอีสานมีกลุ่มประชาชนที่เข้าแจ้งกล่าวโทษในคดีดังกล่าว คือ กลุ่มชมรมคนรักในหลวงขอนแก่น 1 คดี ส่วนภาคใต้มีกลุ่มพิทักษ์ราชบัลลังก์ 1 คดี และกลุ่มประชาภักดิ์พิทักษ์สถาบันฯ ซึ่งยังคงดำเนินการกล่าวโทษคดี ม.112 กับประชาชนในพื้นที่ภาคใต้อยู่อย่างต่อเนื่องเป็นจำนวน 6 คดีแล้ว (นับเฉพาะคดีที่มีการแจ้งข้อกล่าวหาต่อผู้ต้องหาแล้ว)
กลุ่มศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมาย ผู้ถูกล่วงละเมิดบนโลกออนไลน์ (ศชอ.) มี นพดล พรหมภาสิต, แน่งน้อย อัศวกิตติกร เป็นแกนนำกลุ่ม ซึ่งภายหลังแน่งน้อยลดบทบาทตัวเองลง เหลือเพียงนพดลที่ยังดำเนินการกล่าวโทษร้องทุกข์กับประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมหรือมีความคิดเห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และจากการติดตามข้อมูลพบว่าคดีมาตรา 112 ที่มาจากการกล่าวโทษของกลุ่ม ศชอ. มากกว่า 14 คดี
ที่มา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธอมนุษยชน
https://twitter.com/TLHR2014/status/1739227070998475263