วันอาทิตย์, ธันวาคม 31, 2566

อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หนึ่งในคกก.ประชามติฯ โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวระบุว่า คำถามประชามติที่ออกมามีปัญหา และเสนอให้ ครม. ทบทวนข้อเสนอของ คกก.เสียงข้างน้อย



.....
Tha (ถา) - Nutchapakorn @NutchapakornTha 20h
อ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี หนึ่งในคกก.ประชามติฯ โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัวระบุว่า คำถามประชามติที่ออกมามีปัญหา และเสนอให้ ครม. ทบทวนข้อเสนอของ คกก.เสียงข้างน้อย 

หวังว่า ข้อถกเถียงเรื่องคำถามนี้มีปัญหาหรือไม่ คงไม่ต้องไปเถียงกับกองเชียร์รัฐบาลที่ไหนอีก
.....
Siripan Nogsuan Sawasdee
Yesterday ·

ประชามติ
เขียนข้อความต่อไปนี้ ในฐานะเป็นหนึ่งในคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ โดยไม่มีเจตนาปัดความรับผิดชอบต่อคำถามประชามติ ที่ว่า
"ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์"
ขณะเดียวกัน ก็เห็นว่า คำถามนี้เป็นคำถามซ้อนคำถาม และสร้างปัญหาอย่างน้อย 2 ประการคือ
1. ทำให้บางคำตอบ ถูกตีความได้หลายแบบ เช่น หากไม่เห็นชอบ จะหมายความว่า ไม่เห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หรือ เห็นชอบให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่เห็นชอบที่จะไม่แก้ไข หมวด 1 และ หมวด 2
2. เมื่อไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 โดยหลักการจึงขัดกับ “การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ”
คำถามประชามติที่เหมาะสม ควรเป็นคำถามที่ง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา และสร้างแนวร่วมเพื่อความเห็นชอบ
ไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาอย่างไร หากคำถามซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการ ถูกตั้งคำถามถึงความชอบธรรมเสียแล้ว แทนที่จะเป็นประชามติเพื่อหาทางออกร่วมกัน และแก้ไขความขัดแย้งอย่างที่มุ่งหวัง จะกลายเป็นการทำประชามติที่สร้างความแตกแยก สังคมไทยจะต้องตกอยู่ท่ามกลางความขัดแย้งที่ร้าวลึกต่อไปอีกนานเท่าไหร่
เพื่อลดการปะทะกันทางความคิดของ 3 กลุ่มหลัก คือ ก) กลุ่มที่ต้องการให้จัดทำใหม่โดยเว้นหมวด 1 และ 2 ข) กลุ่มที่ต้องการให้จัดทำใหม่ได้ทุกหมวด ทุกมาตรา และ ค) กลุ่มที่ไม่ต้องการให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จึงขอเป็นเสียงเล็ก ๆ ที่เสนอให้
1. คณะรัฐมนตรีผู้ตัดสินใจขั้นสุดท้าย นำความเห็นของกรรมการเสียงข้างน้อยในเรื่องคำถาม และจำนวนครั้งในการทำประชามติไปพิจารณาอย่างรอบคอบ รอบด้าน และอาจขอคำชี้แจงเพิ่มเติม หรือขอให้ทบทวนข้อเสนอได้
2. ไม่ว่าจะทำประชามติกี่ครั้ง ด้วยคำถามใด กระบวนการที่จำเป็น ที่ต้องเกิดขึ้นก่อนการทำประชามติ คือ การพูดคุยแลกเปลี่ยนอย่างเปิดใจ โดยปลอดภัยระหว่างกลุ่มที่เห็นต่าง ที่ทำเป็นวงสนทนาปิด มีตัวแทนแต่ละกลุ่มจำนวนไม่มาก แต่ต้องตัดสินใจแทนกลุ่มความคิดของตนได้ ทั้งนี้ เพื่อให้ได้ข้อตกลงร่วมกันมากพอที่จะเดินต่อได้
3. จำเป็นอย่างยิ่งที่สังคมไทย จะมีมโนภาพเบื้องต้นก่อนทำประชามติว่า เจตจำนงของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่คืออะไร สิทธิเสรีภาพจะครอบคลุม มั่นคงได้อย่างไร หน้าตากระบวนการยุติธรรมที่เป็นธรรมมีเหตุมีผลเป็นอย่างไร และที่สำคัญจะจัดความสัมพันธ์อำนาจทางการเมืองขององคาพยพในการบริหารกิจการบ้านเมืองอย่างไร
ไม่ใช่ลงประชามติแล้วค่อยไปคิดกันข้างหน้า
การเปิดรับหรือหันหลังให้ข้อเรียกร้องของกลุ่มเห็นต่าง จะเป็นปัจจัยกำหนดว่ากระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จะประสานรอยร้าว หรือ ขยายความขัดแย้ง จะขัดขวาง หรือสร้างฉันทามติใหม่ในหลักการพื้นฐาน และคุณค่าที่สังคมเชิดชู กระบวนการประชามติที่ยึดมั่นในหลักการ จะเป็นสิ่งบ่งชี้ว่ารัฐธรรมนูญมีความชอบธรรมหรือไม่
สาเหตุที่ไม่ปรากฎคำถามเรื่องที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญในคำถามครั้งที่ 1 เนื่องจากกรรมการหลายท่าน ยึดตามคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ซึ่งเจาะจงว่า “รัฐสภา” เป็นองค์กรที่มีอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จีงรอไว้ตอนทำประชามติแก้ไขมาตรา 256 ซึ่งเป็นประชามติบังคับตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด
จริงอยู่บางประเทศให้ประชาชนลงประชามติว่าอยากเห็นผู้ร่างรัฐธรรมนูญมีที่มาอย่างไร เช่น ชิลี
และหลายท่านอาจเห็นว่า เสียงของประชาชน “ผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ” ย่อมมีผลผูกพันให้รัฐสภาต้องปฏิบัติตาม รวมถึงผลประชามติเรื่องที่มา สสร.
แต่ในอีกมุมหนึ่ง อาจมองได้ว่า กลไกระบอบประชาธิปไตยแบบตัวแทนที่มีการอภิปรายในสภา อาจได้ข้อสรุปที่ดีกว่าในเรื่องที่ต้องใช้ความรู้ ความเข้าใจ มากกว่าความเห็น
การทำประชามติใด ๆ ต้องใช้อย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะการลงประชามติในเรื่องที่ไม่รู้ชัดเจนว่าอะไรจะตามมา กรณี BREXIT เป็นตัวอย่างที่ดี แม้แต่ในสวิตเซอร์แลนด์ที่เป็นต้นกำเนิดและทำประชามติบ่อยที่สุด ก็เคยมีกรณีที่ผลประชามติไปลิดรอนสิทธิคนกลุ่มน้อยชาวมุสลิม เช่นประชามติเห็นชอบห้ามก่อสร้างหอเรียกสวดมนต์ minarets ปี 2009
ทราบดีว่า หลายคนมีความสังสัย ไม่ไว้วางใจต่อความตั้งใจจริง ในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ของรัฐบาล ในเรื่องนี้ดิฉันไม่อาจกล่าวรับรองแทนรัฐบาลซึ่งประกอบด้วยหลายพรรคการเมือง
แต่สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ ตัวแทนรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ไม่มีเจตนาที่จะถ่วงเวลา กรรมการหลายท่านเร่งรัดให้ตัดสินใจเร็วขึ้น ด้วยมีความหวังร่วมกันว่า ประเทศไทยจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ดีกว่าเดิม
---
คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ ย่อหน้าสุดท้าย ใจความว่า
“อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น จึงวินิจฉัยว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว
ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”