วันเสาร์, ธันวาคม 30, 2566

ปฏิกิริยาบังเกิด “คำถามซ้อนคำถาม และสร้างปัญหา” จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ไม่ให้แก้หมวด ๑ และหมวด ๒

เมื่อ Siripan Nogsuan Sawasdee นักรัฐศาสตร์ ภาควิชาปกครอง จุฬาฯ เขียนถึงการตั้งคำถามประชามติ ที่ว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไข หมวด ๑ บททั่วไป หมวด ๒ พระมหากษัตริย์” ปฏิกิริยาก็บังเกิด

ทั้งที่เธอยอมรับว่า “คำถามนี้เป็นคำถามซ้อนคำถาม และสร้างปัญหา” เนื่องจากสามารถตีความได้สองแง่สองง่าม คือหากไม่เห็นด้วยกับการผูกปมไม่ให้แก้ไขหมวด ๑ กับหมวด ๒ แล้วตอบว่าไม่เห็นชอบ ก็อาจจะถูกเหมาเอาว่าไม่เห็นชอบกับการแก้ รธน.ครั้งนี้

แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเปลี่ยนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ด้วยการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยใช้ สสร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ๑๐๐% นั่นคือไม่จำกัดว่าห้ามแก้หมวดนั้นหมวดนี้ ซึ่งรัฐบาล ข้ามขั้ว ของพรรคเพื่อไทยไม่ต้องการอย่างนั้น

แล้วเกิดการครหาว่ารัฐบาลเศรษฐา ผ่านทางภูมิธรรม เวชยชัย จัดตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ขึ้นมาเพื่อเตะถ่วงเหนี่ยวรั้งกระแสเรียกร้องรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ จึงกลายเป็นความผิดพลาดของ อจ.สิริพรรณ หนึ่งในกรรมการดังกล่าว

ผู้ออกมาปกป้องกรรมการทั้งคณะ แล้วยังแก้ต่างให้แก่รัฐบาลไปพร้อมกัน เธออ้าง “สิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้คือ ตัวแทนรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง และคณะกรรมการศึกษาแนวทางในการทำประชามติ ไม่มีเจตนาที่จะถ่วงเวลา” มิหนำซ้ำ “กรรมการหลายท่านเร่งรัดให้ตัดสินใจเร็วขึ้น”

หนึ่งในคอมเม้นต์ต่อท้ายโพสต์ของเธอ ว่า “อจ.สัมผัสได้อย่างไร เป็นความเห็นของ อจ. ไม่จำเป็นที่ผู้อื่นจะต้องเห็นตรงกันครับ” Yeesibsee Yeesibsee เติมท้ายว่า “ความเป็นรัฐบาลที่เก๋าเกม เพื่อนเยอะ เจ้าอาวาส นั้น

คำพูดที่ดูเหมือนจะฟังแล้วดี มันไม่สามารถทำใจให้เชื่อถืออะไรได้เลยสักอย่างเดียว” อีกคน Ronaldo Bee ก็ว่า “อ.นก ทำตัวเองเสียรังวัดหมด” ตามด้วย Punn Rajata Rujataronjai เตือนใจ “ระวังจะกลายเป็นตรายางรับรองความชอบธรรมให้คณะกรรมการ ตามที่คนระแวง”

ยิ่งเจอ Thanapol Eawsakul ใส่ให้ตรงๆ เลยว่า “ไม่นึกว่าอาจารย์สิริพรรณ นกสวนแกจะไร้เดียงสาขนาดนี้” และ “นี่อาจจะเป็นความผิดพลาดที่สุดในชีวิต ที่ไปรับตำแหน่งในกรรมการชุดนี้” แล้วกลายเป็นผู้มีส่วนได้เสียโดยตรง

(ดูข้อเขียนเต็มของ อจ.สิริพรรณได้ที่ https://www.facebook.com/siripan.nogsuansawasdee/posts/2YKE1McY)