วันพุธ, ธันวาคม 27, 2566

‘iLaw’ เตือนคำถามประชามติที่มีปัญหาคนอาจโหวต No - ต้องเปิดกว้างไว้แล้วให้ประชาชนเลือก สสร.ที่อยากได้



‘iLaw’ เตือนคำถามประชามติที่มีปัญหาคนอาจโหวต No - ต้องเปิดกว้างไว้แล้วให้ประชาชนเลือก สสร.ที่อยากได้

2023-12-26
ประชาไท

"รัชพงษ์" จากไอลอว์ชี้ปัญหาคำถามประชามติของคณะกรรมการศึกษาแนวทางประชามติฯ ว่าอาจทำให้คนไปโหวตโน และคำถามก็ไม่สะท้อนว่าถ้าโหวตโนแล้วตกลงว่าคนไม่เห็นด้วยเรื่องไม่แก้หมวด 1-2 หรือไม่อยากร่าง รธน.ใหม่ แนะ ครม.ออกคำถามที่เปิดกว้างแล้วให้ประชาชนไปเลือก สสร.ที่แบบที่อยากได้

26 ธ.ค.2566 จากกรณีคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติออกความเห็นเรื่องคำถามประชามติมาคำถามเดียวว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์” ซึ่งประเด็นไม่แก้หมวด 1 และ 2 ทางคณะกรรมการฯ แสดงชัดเจนแต่แรกว่าจะไม่มีการแก้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และวันนี้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ได้กล่าวถึงคำถามประชามติของคณะกรรมการว่าต้องการทำให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่เกิดขึ้นได้ โดยไม่สร้างความขัดแย้งขึ้นมาใหม่ และการออกคำถามมานี้ได้รับฟังความเห็นจากหลายส่วนแล้วโดยจะส่งความเห็นที่รับฟังมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
 
'ภูมิธรรม' แถลงถามประชามติ 3 ครั้ง เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ไม่แตะหมวด 1 และ 2 เตรียมเสนอ ครม. ม.ค. 67

ประชาไทได้สัมภาษณ์ รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล จากไอลอว์ ซึ่งทางคณะกรรมการประชามติฯ ได้เชิญให้ความเห็นต่อการออกคำถามประชามติด้วยกล่าวถึงการให้ความเห็นกับทางคณะกรรมการว่าฯ ไอลอว์ได้รับเชิญไปให้ความเห็นด้วยโดยได้ยืนยันอย่างชัดเจนว่าการตั้งคําถามแบบที่ออกมานี้จะไม่เป็นผลดีเลยและผู้เข้าร่วมประชุมส่วนใหญ่ที่มาในครั้งเดียวกันก็เห็นทิศทางเดียวกันว่าคําถามประชามติควรจะเปิดกว้างที่สุดและอย่าไปล็อคไว้ก่อน

ตัวแทนจากไอลอว์กล่าวต่อว่า ตนก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ภูมิธรรมกล่าวว่าเสียงส่วนใหญ่ที่มาให้ความเห็นกับคณะกรรมการฯ นั้นเห็นด้วยกับคำถามประชามติของคณะกรรมการฯ นั้นจริงเท็จอย่างไรและคนส่วนใหญ่ที่ว่านั้นเป็นใครบ้าง แต่ตนก็หวังว่าทางคณะกรรมการจะมีการเปิดเผยรายงานการรับฟังความเห็นต่อไปเพราะที่ผ่านมาก็ยังไม่มีรายงานออกมาว่าได้มีใครมาแสดงความเห็นบ้าง

ต่อคำถามที่ว่าการที่คณะกรรมการฯ กำหนดให้ไม่มีการแก้ไขหมวด 1 และ 2 ก็เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งครั้งใหม่นั้น รัชพงษ์กล่าวว่าที่ผ่านมาการที่ภูมิธรรมพูดว่าจะเกิดความขัดแย้งเรื่องหมวด 1 และ 2 นั้นจะเกิดจากใครและไม่เคยลงรายละเอียดว่าใครบ้างที่จะไม่เห็นด้วยหรือต้องการล็อกทั้งสองหมวดนี้ไว้ไม่ให้แก้ไขได้ นอกจาก สว.ที่แสดงท่าทีชัดเจน

“หัวใจหลักของการเขียนว่าแก้ได้ทั้งฉบับและ สสร.มาจากการเลือกตั้งสุดท้ายความขัดแย้งมันก็มี เราไม่มีทางเห็นร่วมกันอยู่แล้วว่า(รัฐธรรมนูญ) จะออกมาหน้าตาเป็นยังไงเพราะก็มีหลายความคิด แต่ว่าเราก็ไปคุยกันในสนามเลือกตั้ง ผมไม่ได้บอกว่าจะแก้ให้หมวด 1 หมวด 2 ผมไม่ได้บอกผมจะไม่แก้ หมวด 1 หมวด 2 ผมไม่มีข้อเสนอด้วยซ้ำว่าจะแก้ยังไง”

รัชพงษ์อธิบายว่า เรื่องหมวด 1 หมวด 2 นี้สุดท้ายคนที่อยากแก้และคนที่ไม่อยากแก้ก็ไปหาเสียงกันในฐานะ สสร.แล้วก็ให้คนไปโหวตเลือก สสร.ที่อยากได้ ไปวัดกันในสนามเลือกตั้ง แต่อย่ามาล็อคไว้ก่อนหรือสร้างเงื่อนไขไว้ก่อนที่สุดท้ายจะกลายเป็นเงื่อนไขของคนที่ออกไปโหวตซึ่งจะไม่เป็นผลดีอยู่แล้วกับทั้งประชาชนและก็รัฐบาล

ส่วนประเด็นเรื่องที่ก่อนหน้านี้มีข้อห่วงกังวลกันว่า คำถามประชามติอาจจะมีการล็อกเรื่องอื่นๆ ไว้อีกเช่น เรื่องอำนาจ สว.หรือยุทธศาสตร์ชาติ ด้วยแต่ทางคณะกรรมการฯ ก็ล็อกไว้เพียงเรื่องหมวด 1 หมวด 2 นี้ รัชพงษ์เห็นว่ายังไม่ได้มีอะไรชัดเจนว่ารัฐบาลจะไม่ล็อกเรื่องอื่นๆ ไม่ให้แก้อีกเพราะคำถามประชามติที่ออกมานี้ยังเป็นเพียงคำถามในการทำประชามติครั้งแรกเท่านั้น หลังจากการทำประชามติครั้งแรกไปแล้วก็ยังต้องกลับเข้าไปที่รัฐสภาที่ยังมี สว.อยู่ ก็ยังไม่รู้ว่า สว.ในชั้นกรรมาธิการจะมีการใส่เงื่อนไขอะไรลงไปอีกบ้างในการเลือก สสร.ที่จะต้องกำหนดเรื่องที่มาและอำนาจไว้

“สิ่งที่เราบอกมาตลอดว่าจะป้องกันเรื่องนี้ได้ดีที่สุดคือการตั้งไปเลยว่าเขียนใหม่ได้ทั้งฉบับ สสร.มาจากการเลือกตั้ง แบบนี้ สว.ก็จะทำอะไรไม่ได้มากแล้วเพราะเหมือนเรามัดมือเขา แทนที่รัฐบาลจะมามัดมือเรา เราไปมัดมือเขาว่าอย่าไปใส่เงื่อนไขอะไรที่ไม่ถูกไม่ควรแล้วปล่อยให้ สสร.จากประชาชนจัดการไป มันเปิดกว้างเลยไม่ใช่แค่เรื่องหมวด 1 หมวด 2 มันหมายถึงอย่างอื่นก็ยังเป็นไปได้อยู่”

ตัวแทนจากไอลอว์กล่าวต่อถึงประเด็นเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญยกเรื่องอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนจึงต้องทำประชามติว่า เรื่องทั้งหมดนี้อยู่ที่ว่าจะตีความคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญอย่างไรที่จะทำให้ต้องเกิดการทำประชามติสองหรือสามครั้ง แต่ทางไอลอว์ก็ยืนยันตลอดว่าสามารถทำประชามติแค่สองครั้งก็ได้ถ้าครั้งแรกมีปัญหาก็ไม่ต้องทำก็ได้ แต่ทางพรรคเพื่อไทยเองก็กลัวว่า สว.จะไม่โหวตให้เพราะยกเรื่องนี้มาอ้างตลอดในการคว่ำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อเวลาล่วงเลยมาถึงปลายเดือนธันวาคมแล้วกว่า ครม.จะมีมติออกมาก็ประมาณไตรมาสแรกของปี 2567 ที่ สว.ก็กำลังจะหมดอายุแล้ว ถ้าคำถามประชามติเป็นปัญหาขนาดนั้นก็อาจจะไม่ต้องทำประชามติก็ได้ แล้วรอให้ สว.หมดอายุไปเองก็ได้
รัชพงษ์กล่าวว่าเมื่อเป็นแบบนี้แล้วก็เหมือนกับว่าไม่ได้มีประชาชนในสมการเลย เมื่อศาลรัฐธรรมนูญก็บอกว่าอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นของประชาชนดังนั้นก็อย่าไปตั้งเงื่อนไขล็อกไว้ก่อน

ตัวแทนจากไอลอว์กล่าวถึงแนวทางหลังจากนี้ว่า สถานการณ์ยังไม่จบเพราะตอนนี้ยังเป็นเพียงความเห็นของคณะกรรมการศึกษาแนวทางประชามติฯ ที่มีหน้าที่แค่ศึกษาเท่านั้นแม้จะมีผลสรุปออกมาแล้วก็ไม่ได้หมายความว่า ครม.จะต้องทําตามข้อสรุปของคณะกรรมการ เมื่อผลจากคณะกรรมการฯ ออกมาแบบนี้แล้วสังคมมีการถกเถียงกันมากแล้วก็มีโอกาสที่คนจะออกไปโหวตไม่รับ ดังนั้นแล้วอำนาจตัดสินใจความรับผิดชอบทุกอย่างอยู่ที่คณะรัฐมนตรีที่มีเศรษฐา ทวีสินเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งสุดท้ายแล้วนายกฯ จะเอาตามคณะกรรมการหรือแบบอื่นเพราะเห็นแล้วว่าถ้าไปต่อตามข้อสรุปของคณะกรรมการไม่ได้แล้วเพราะอาจจะพัง ความรับผิดชอบสุดท้ายแล้วก็อยู่กับนายกฯ อยู่ดี ก็ต้องติดตามกันต่อไป

ทั้งนี้เมื่อถามต่อหากเกิดการทำประชามติตามคำถามที่ออกมาจากคณะกรรมการฯ แล้วคนโหวตไม่เห็นด้วยมากกว่าอาจจะทำให้ถูกเอาไปตีความไปว่าประชาชนไม่อยากแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ รัชพงษ์ตอบประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องที่ไม่มีทางรู้ได้เลย เพราะเป็นปัญหาของการตั้งคำถามแบบนี้ ดังนั้นคำถามที่มีปัญหาจะทำให้เกิดปัญหาตามมา และเขาก็ไม่อยากให้ไปถึงจุดนั้น แต่ตอนนี้คำถามประชามติยังไม่ได้ออกมาอย่างเป็นทางการ ถึงแม้ทางรัฐบาลจะมีเป้าหมายอยู่แล้วแต่ก็ยังไม่ได้เป็นทางการ ยังเหลือช่องทางและเวลาให้ต้องกดดันรัฐบาลต่อ
“เมื่อไหร่ที่คุณเศรษฐาเซนไปแล้วว่าเอาคำถามแบบนี้ความรับผิดชอบก็จะอยู่บนบ่าของเขาทันที แล้วถ้าเกิดอะไรขึ้นมาคุณเศรษฐาจะต้องรับผิดชอบอย่างไร อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราต้องถามหาเหมือนกัน”