วันอังคาร, ธันวาคม 26, 2566

ชวนอ่านอีกครั้ง กลุ่มไหนสนับสนุนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ กลุ่มไหนสนับสนุนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยยกเว้นการแก้ไขในหมวดหนึ่ง และหมวดสอง กลุ่มอื่นๆที่ไม่ได้พูดอย่างชัดเจนถึงเงื่อนไขในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือการระบุเงื่อนไขลงไปในคำถามประชามติ



ทั้งฉบับหรือจำกัดเงื่อนไข สรุปความเห็นภาคประชาสังคมต่อคำถามประชามติ

เมื่อ 17 พ.ย. 2566
โดย iLaw

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 หรือ “คณะกรรมการประชามติฯ” ได้เชิญ iLaw และภาคประชาสังคมจำนวนมากไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการออกคำถามประชามติของรัฐบาล

ตลอดระยะเวลากว่าสามชั่วโมง มีตัวแทนจากภาคประชาสังคมหลายกลุ่มแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับทิศทางของคำถามประชามติและขอบเขตการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เอาไว้เป็นจำนวนมาก ซึ่งสามารถถูกแบ่งออกได้เป็นสามกลุ่มใหญ่ๆ คือ

1) กลุ่มที่สนับสนุนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยไม่มีการจำกัดการเขียนใหม่ในหมวดใดเป็นพิเศษ

2) กลุ่มที่สนับสนุนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ แต่ต้องไม่แก้ไขเนื้อหาในหมวดหนึ่งและหมวดสอง

3) กลุ่มอื่นๆ


กลุ่มที่สนับสนุนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

กลุ่มที่สนับสนุนการเขียนใหม่ทั้งฉบับ หมายถึงกลุ่มที่ไม่ต้องการให้คำถามประชามติมีการใส่ข้อจำกัดลงไปด้วย เช่น การห้ามแก้ไขหมวดหนึ่งหรือหมวดสอง หรือการห้ามแก้ไขทุกหมวดทุกมาตราที่เกี่ยวข้องกับพระราชอำนาจ แต่ต้องเปิดกว้างไว้ก่อนในขั้นแรก และอาจจะถกเถียงเรื่องรายละเอียดหรือเนื้อหาในขั้นตอนของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. ต่อไป

ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ประกอบไปด้วย:

1. iLaw

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ระบุว่า หากคำถามประชามติไม่ดี จะทำให้ไม่สามารถรู้ถึงเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชนได้ ขณะเดียวกันคำถามประชามติก็สามารถแสดงถึงเจตจำนงของผู้มีอำนาจได้เช่นกัน จึงจำเป็นที่ต้องเขียนคำถามให้ดีแต่แรก

อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำว่าไม่จำเป็นที่ต้องกังวลเรื่องข้อจำกัดจาก พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่กำหนดให้ต้องมีผู้ออกมาใช้สิทธิเกินกึ่งหนึ่งของผู้ที่มีสิทธิออกเสียงทั่วประเทศ เนื่องจากหากออกแบบคำถามดี ประชาชนรู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลง ตรงไปตรงมา พวกเขาก็จะออกมาใช้สิทธิ แต่หากเป็นไปในทางตรงกันข้ามก็อาจจะทำให้ประชามติไม่ผ่านเช่นกัน ดังนั้นคำถามจึงต้องเปิดกว้างและไม่จำกัดเงื่อนไขไว้แต่แรก

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ กล่าวว่า ประชาชนจำนวนมากเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติ #conforall ถึงมือของคณะรัฐมนตรีแล้ว จึงเน้นย้ำว่าอย่านำข้อจำกัดหรือเงื่อนไขใส่เข้าไปในคำถามประชามติ เพราะผลประชามติจะออกมาสับสน รวมทั้งจะทำให้ประชาชนสนใจประเด็นพระราชอำนาจในรัฐธรรมนูญจนกลายเป็นที่ถกเถียงแทนที่จะเป็นการลงประชามติเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แทน

2. เครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (Constitution Advocacy Alliance: CALL)

ณัชปกร นามเมือง ระบุว่า ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2562 ถึงปี 2566 พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า การแก้ไขเพียงรายมาตรายังไม่เพียงพอ แต่ประเทศไทยต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งทำให้ต้องมีประชามติครั้งแรกก่อนการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ตามคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ

อย่างไรก็ตาม คำถามประชามติต้องยืนยันในหลักการว่าจะเป็นคำถามที่เปิดกว้าง มีส่วนร่วมจากประชาชน และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะตามมาด้วยข้อเสนอของการเลือกตั้ง สสร. ทั้งหมดเพื่อเข้ามาสะท้อนเจตนารมณ์ดังกล่าว และขอให้รัฐบาลอย่าใส่เงื่อนไขจำกัดในการแก้ไขเนื้อหาในหมวดหนึ่งและหมวดสองเข้าไปในคำถามประชามติ เพราะจะนำไปสู่ความขัดแย้งในสังคมอย่างแน่นอน

3. สมัชชาคนจน

บารมี ชัยรัตน์ เห็นว่า รัฐธรรมนูญ 2560 ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เน้นให้ความมั่นคงของรัฐเป็นหลัก จึงเห็นว่า ต้องแก้ไขทั้งฉบับ ยืนยันว่าต้องแก้ไขเนื้อหาในหมวดหนึ่งซึ่งมีประเด็นเรื่ององค์กรอิสระ และมาตราหนึ่งที่ระบุเรื่องการ “มิอาจแบ่งแยกได้” ที่ขัดกับหลักการกระจายอำนาจ เพราะเมื่อพูดถึงการกระจายอำนาจก็มักที่จะมีผู้ออกมาขวางโดยอ้างมาตราหนึ่งเสมอ ดังนั้นจึงเห็นว่าควรมีการแก้ไขได้ทุกหมวดทุกมาตรา ขณะที่ สสร. จะต้องมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด จังหวัดละหนึ่งคน ส่วนนักวิชาการไม่จำเป็นต้องเข้ามาอยู่ในสัดส่วนนี้

“เราเป็นเจ้าของบ้าน เป็นคนบอกว่า เราต้องการอะไร สถาปนิกออกแบบมาให้เรา มีกี่แบบ พวกนั้นไม่ต้องมาเป็น สสร. ออกแบบมาให้เฉยๆ เท่านั้นก็เพียงพอแล้ว” พร้อมทิ้งท้ายว่า คนที่ร่างรัฐธรรมนูญในอดีตมาแล้วไม่ประสบความสำเร็จ ก็ไม่ควรจะกลับมามีสิทธิ์ร่วมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้อีกแล้ว

4. คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.)

อนุสรณ์ อุณโณ ระบุว่า ตอนที่จัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไม่เคยมีธงว่าห้ามแก้ไขหมวดใดเป็นพิเศษดังที่อาจจะกำลังเกิดขึ้น ขณะเดียวกันการแก้ไขหมวดดังกล่าวยังมีความเป็นไปได้อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าจะไม่มีความเป็นไปได้เลยในทางกฎหมาย

สิ่งที่หลายฝ่ายกลัวว่าจะเกิดขึ้นอย่างการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครอง ก็เป็นไปไม่ได้อยู่แล้วตามขั้นตอนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้นจึงไม่ควรมีความจำเป็นที่ต้องกังวลในเรื่องดังกล่าว ขอสนับสนุนให้คำถามประชามติมีความเรียบง่าย ไม่มีเงื่อนไขจำกัดโอกาสการแสดงความเห็นของแต่ละฝ่ายในสังคม

5. ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-Move)

จำนงค์ หนูพันธ์ กล่าวว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 แก้ไขการจำกัดสิทธิพี่น้องประชาชนในการจัดการที่อยู่อาศัยให้ประชาชนทั่วประเทศ ปัญหาจะไม่ถูกแก้ จึงยืนยันว่า ต้องแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ทุกหมวดทุกมาตรา และเลือกตั้ง สสร. ทั้งหมด

ขณะเดียวกัน สุริยันต์ ทองหนูเอียด กล่าวเสริมว่า เมื่อมีผลบังคับใช้แล้วให้ยุบสภาเลือกตั้งใหม่ทันที มองว่า ต้องแก้หมวดหนึ่งเพราะมีความเกี่ยวเนื่องกับการกระจายอำนาจ และปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ต้องนิรโทษกรรมคดีคนจน รวมทั้งกระจายการถือครองที่ดิน

6. เครือข่ายสลัมสี่ภาค

นุชนารถ แท่นทอง ระบุว่า เห็นควรให้ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และมีการเลือกตั้ง สสร. ทั้งหมด รวมถึงมีหลักประกันด้านที่อยู่อาศัย สิทธิในที่ทำกิน และรัฐสวัสดิการ

7. ขบวนผู้หญิงปฏิรูปประเทศไทย (WeMove)

สุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง ระบุว่า เห็นควรให้จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งหมายรวมถึงหมวดหนึ่งและหมวดสองด้วย ถือเป็นโอกาสในการตอบคำถามและทำความเข้าใจร่วมกันถึงความหมายของการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ขณะที่เรื่อง สสร. จะต้องประกอบด้วยประชาชนทุกเพศสภาพ จะต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นก่อนการร่าง ระหว่างร่าง และหลังร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมทั้งก่อนการทำประชามติจะต้องให้ข้อมูลแก่ประชาชนอย่างเพียงพอ และไม่ปล่อยให้การทำประชามติเนิ่นช้าออกไป

ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีเจตนารมณ์ในการรวมศูนย์อำนาจ การแก้ไขหรือจัดทำใหม่จะต้องกำหนดเจตนารมณ์ให้มีการกระจายอำนาจอย่างแท้จริง ทั้งงบประมาณและการบริหารบุคลากร รวมถึงอำนาจในการกำหนดนโยบายและแผนการพัฒนา นอกจากนี้จะต้องออกแบบให้มีการใช้บังคับให้ได้จริง มีมาตรการป้องกัน ไม่ให้มีการฉีกรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้อีก

กลุ่มผู้สนับสนุนการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ โดยยกเว้นการแก้ไขในหมวดหนึ่ง และหมวดสอง

กลุ่มดังกล่าวจะมีแนวทางเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับรัฐบาล คือ มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ต้องการที่จะไม่ให้เกิดการแก้ไขเนื้อหาในหมวดหนึ่งและหมวดสองอย่างแน่นอน โดยกลุ่มนี้จะเน้นการแก้ไขเนื้อหาที่มีปัญหาในแต่ละประเด็นรายหมวดเป็นส่วนมาก

ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ประกอบไปด้วย:


1. สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย

ตัวแทนระบุว่า เห็นด้วยว่า ควรเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไขในหมวดหนึ่งและหมวดสอง ขณะเดียวกันก็เห็นด้วยว่า รัฐธรรมนูญ 2560 วางกับดักไว้ให้แก้ไขยาก

ในส่วนของเนื้อหา ระบุว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้รับผลกระทบจากการขาดการกระจายอำนาจ ถูกกำกับดูแลโดยกระทรวงมหาดไทย เพราะตีความคำว่า “กำกับดูแล” เป็นการควบคุม ทำให้แม้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะใกล้ชิดกับประชาชน มีเนื้องานหลักที่ทำสัมพันธ์เกือบทุกกระทรวง แต่เมื่อขาดความอิสระก็ทำให้การแก้ไขปัญหาค่อนข้างเป็นไปได้ยาก

อีกประเด็นหนึ่งคือ ระเบียบกฎเกณฑ์ คำสั่ง คสช. ที่ 8/2560 ยังส่งผลทำให้อำนาจทั้งหมดเข้าสู่ส่วนกลาง การจัดตำแหน่งไม่ตรงตามภูมิลำเนาซึ่งเป็นปัญหา ทำให้ต้องผลักดันในการแก้ไขคำสั่งดังกล่าว

2. สมาพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์

มานพ เกื้อรัตน์ ระบุว่า เห็นด้วยในการทำให้รัฐธรรมนูญมีความเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น แต่ไม่เห็นด้วยที่จะแก้ไขเนื้อหาในหมวดหนึ่งและหมวดสองไปจากเดิม

ประเด็นที่เสนอไว้ คือ การเพิ่มสิทธิของผู้ใช้แรงงานในแต่ละจังหวัดแต่ไม่สามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในพื้นที่นั้นๆ ได้ และต้องการนำกิจการบริการสาธารณะ โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจกลับมาเป็นของรัฐ รวมทั้งการปรับโครงสร้างภาษีใหม่ให้นำมาพัฒนาประเทศได้ ขณะที่ประเด็น สสร. ได้เสนอไว้ว่าต้องคำนึงถึงแต่ละวิชาชีพประกอบด้วยเช่นกัน

3. สมาคมสภาคนพิการทุกประเภทแห่งประเทศไทย

ชูศักดิ์ จันทยานนท์ กล่าวว่า อยากได้สิทธิคนพิการที่ดีขึ้นในทางปฏิบัติมากกว่านี้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ การเขียนความหมายของสิทธิต่างๆ ไว้กว้างๆ ทำให้ไม่เห็นในรายละเอียด ขณะเดียวกันเห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญยกเว้นหมวดหนึ่งและหมวดสองเพื่อให้ประเทศเดินหน้าไปได้ และเชื่อว่าสิ่งนี้จะทำให้คนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้นในการเลือกตั้งครั้งหน้า

อย่างไรก็ตาม การประชาสัมพันธ์ข้อมูลการทำประชามติต้องคำนึงเรื่องการเข้าถึงกับกลุ่มผู้พิการมากขึ้น และ สสร. ควรมีสัดส่วนให้กลุ่มเปราะบางด้วย เพราะหากต้องเลือกตั้งแข่งขันอาจจะทำให้กลุ่มนี้กลายเป็นพลเมืองชั้นสองของประเทศ ไม่มีเสียงทัดเทียมกลุ่มอื่น

4. สภาเกษตรกรแห่งชาติ

นัยฤทธิ์ จำเล ระบุว่า เห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่โดยไม่แก้ไขเนื้อหาในหมวดหนึ่งและหมวดสอง มาตราใดที่มีปัญหาก็ควรแก้ไขรายมาตราเท่านั้น อย่างไรก็ตามต้องการให้รัฐธรรมนูญใหม่สนับสนุนให้รัฐมีหน้าที่คุ้มครอง รักษาประโยชน์ ส่งเสริม การทำงานและการรวมกลุ่มของเกษตรกรมากขึ้น

5. กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ตัวแทนกลุ่ม ระบุว่า เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยที่ไม่เปลี่ยนแปลงเนื้อหาในหมวดหนึ่งและหมวดสองเพื่อป้องกันความแตกแยกในสังคม ส่วนประเด็นที่มาของ สสร. เห็นด้วยว่าต้องเลือกตั้งทั้งหมด แต่ควรคำนึงที่สัดส่วนของกลุ่มทางเพศด้วย

กลุ่มอื่นๆ

กลุ่มนี้ไม่ได้พูดอย่างชัดเจนถึงเงื่อนไขในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่หรือการระบุเงื่อนไขลงไปในคำถามประชามติ อย่างไรก็ตามพวกเขามุ่งเน้นการนำประเด็นใหม่ๆ หรือการแก้ไขในประเด็นสำคัญในเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เป็นหลัก รวมถึงกระบวนการในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

ผู้สนับสนุนแนวคิดนี้ประกอบไปด้วย:

1. ตัวแทนกลุ่มศิลปินและบันเทิง การแสดงและดนตรีกลางแจ้ง ผับและบาร์

สุวิทย์ กิตติธรานนท์ กล่าวถึงปัญหาการถูกแย่งงานจากชาวต่างชาติ ทำให้นักดนตรีไทยสูญเสียประโยชน์เป็นอย่างมากเนื่องจากไม่ได้มีกฎหมายรองรับ ปกป้อง คุ้มครอง หรือสงวนอาชีพ จึงต้องการให้มีเนื้อหาเหล่านี้ประกอบไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย

กิตติ กาญจนสถิตย์ ต้องการให้มีการระบุสิทธิด้านสวัสดิการนักดนตรีเข้าไปในรัฐธรรมนูญ

ปีเตอร์ คอร์ป ไดเรนดัล ระบุว่า กฎหมายเดิมทำให้การส่งออกดนตรีหรือศิลปะไปยังต่างประเทศยากกว่าชาติอื่น จึงเสียเปรียบหากจะสร้าง Soft Power และต้องการให้คำนึงถึงเรื่องนี้ในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต่อไป

2. สมาคมฟ้าสีรุ้ง

กิตตินันท์ ธรมธัช ระบุว่า ต้องการให้ประเด็นเรื่องเพศสภาพและวิถีทางเพศถูกกำหนดลงไปในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากในปี 2549 และปี 2550 ถูกบรรจุไว้เพียงในบทเจตนารมณ์เท่านั้น ขณะที่รัฐธรรมนูญปี 2560 ได้นำเนื้อหานี้ออกไปอย่างสิ้นเชิง

อีกประการหนึ่ง คือ หากรัฐธรรมนูญไม่ได้ระบุเรื่องความแตกต่างหลากหลายทางเพศไว้ จะกระทบไปถึงกระบวนการในกระบวนการยุติธรรม สาธารณสุข การศึกษา และส่วนอื่นๆ ของประเทศด้วย จึงควรใส่ไว้ในตัวบทของรัฐธรรมนูญใหม่ที่จะมาถึง

3. กลุ่มกรรมกรและเกษตรกรอีสาน

ผู้แทนกลุ่ม ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ต้องแก้ไขทุกปัญหาของชาติ อย่างไรก็ตามควรถามประชาชนก่อนว่าต้องการแก้หรือไม่ จึงอยากฝากให้คณะกรรมการประชามติฯ รีบจัดทำประชามติภายใน 120 วันหลังจากนี้ด้วยคำถามเพียง “ต้องการให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่” ตามเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญ ไม่ได้ระบุขอบเขต ความกังวล หรือข้อจำกัดอื่นใด

อย่างไรก็ตามได้เน้นย้ำ ระบบยุติธรรมตามรัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ทำให้ทุกองค์กรได้ขึ้นศาลเดียวกัน กลายเป็นอำนาจนอกระบบที่ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำทางด้านความยุติธรรม

4. สมาพันธ์สมานฉันท์แรงงานไทย

สาวิทย์ แก้วหวาน ระบุว่า รัฐธรรมนูญแทบทุกฉบับมีปัญหาที่คนใช้ แต่หากประชาชนเห็นควรว่าต้องแก้ไขทั้งฉบับก็ต้องเคารพประชาชน ประชาชนจะเห็นเป็นอย่างไร อยากอยู่ในประเทศแบบใด ก็ต้องเคารพเสียงตามนั้น

ด้าน สสร. เน้นย้ำว่าไม่ควรจำกัดวุฒิการศึกษา เพราะประชาชนทั่วไปที่มีความเข้าใจสังคมแต่ไม่มีวุฒิการศึกษาก็มีจำนวนมาก รวมทั้งอยากให้กลุ่มอาชีพที่มีจำนวนมากก็ควรมีสัดส่วนที่นั่งสูงใน สสร. เช่นกัน พร้อมต้องมีสัดส่วนของผู้หญิงและเพศสภาพที่หลากหลายประกอบกันไปด้วย

นอกจากนี้ยังเน้นย้ำว่า การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ต้องให้ประชาชนได้ประโยชน์ เพราะปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีหน้าที่เพียงแค่สร้างความร่ำรวยให้กลุ่มทุนเท่านั้น จึงควรเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ให้คำนึงถึงกลุ่มสาขาอาชีพมากขึ้น

5. สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

ตัวแทนจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ระบุว่า สสร. ควรมีนักวิชาการที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเข้าร่วมด้วย ขณะที่การเขียนรัฐธรรมนูญควรสั้น กระชับ และไม่ควรต้องกลับมาแก้ไขบ่อย และเน้นย้ำให้มีการตรวจสอบองค์กรอิสระให้ชัดเจนเช่นเดียวกับที่องค์กรอิสระมีช่องทางในการตรวจสอบอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหาร พร้อมยกประโยคประกอบว่า “เป็นองค์กรที่มาโดยรัฐธรรมนูญ ก็สมควรถูกตรวจสอบโดยรัฐธรรมนูญ”

สุดท้ายได้กล่าวว่า หากมีขั้นตอนใดในรัฐธรรมนูญที่ไม่มีความชัดเจนหรือมีช่องว่าง ก็ต้องการให้เปิดช่องทางในรัฐธรรมนูญใหม่สำหรับการเข้าไปมีส่วนร่วมของประชาชนในการแก้ไขปัญหา