วันพุธ, ธันวาคม 27, 2566

เมื่อการพูดถึงข้อเท็จจริงทางปวศ. อาจผิด ม.112: ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 ของ “เก็ท-โจเซฟ” กรณีปราศรัย #ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน



เมื่อการพูดถึงข้อเท็จจริงทางปวศ. อาจผิด ม.112: ประมวลการต่อสู้คดี ม.112 ของ “เก็ท-โจเซฟ” กรณีปราศรัย #ใครฆ่าพระเจ้าตากสิน

26/12/2566
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

วันที่ 27 ธ.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญาธนบุรีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง และ “โจเซฟ” (นามสมมติ) ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต จากกรณีร่วมปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 บริเวณอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่

คดีนี้มีจำเลย 3 คน ได้แก่ โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง หรือ เก็ท จำเลยที่ 1, โจเซฟ (นามสมมติ) จำเลยที่ 2 และมิ้นท์ (นามสมมติ) นักกิจกรรมกลุ่มนาดสินปฏิวัติ จำเลยที่ 3 ปัจจุบันเหลือจำเลยเพียง 2 ราย คือ โสภณและโจเซฟ เนื่องจากมิ้นท์ได้ตัดสินใจลี้ภัยทางการเมือง

ทบทวนไทม์ไลน์คดี

ในคดีนี้ตำรวจ สน.บุปผาราม ได้ขอศาลอาญาธนบุรีออกหมายจับทั้งสาม เมื่อวันที่ 5 พ.ค. 2565 โดยไม่เคยมีการออกหมายเรียกมาก่อน ต่อมาวันที่ 10 พ.ค. 2565 ตำรวจได้บุกจับกุมนักกิจกรรม 2 รายแรก คือ “โจเซฟ” และ “มิ้นท์” และนำตัวทั้งคู่ไปควบคุมไว้ที่กองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด (บช.ปส.) ก่อนจะแจ้งข้อกล่าวหาต่อทั้งสอง ใน 2 ข้อหาข้างต้น

พนักงานสอบสวนได้ควบคุมตัวทั้งคู่ไปที่ศาลอาญาธนบุรีเพื่อขอฝากขัง ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันตัว ศาลยังกำหนดเงื่อนไข ได้แก่ ห้ามกระทำการในลักษณะที่ถูกกล่าวหาอีกหรือกระทำการอันเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์, ห้ามเข้าร่วมกิจกรรมที่ก่อความวุ่นวายในบ้านเมือง และห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร

17 พ.ค. 2565 พนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม เข้าแจ้งข้อหาต่อ “เก็ท” โสภณ สุรฤทธิ์ธำรง นักกิจกรรมจากกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ หลังเขาถูกคุมขังในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง โดยขณะนั้น เก็ทยังเริ่มอดอาหารเพื่อเรียกร้องสิทธิการประกันตัวร่วมกับตะวันมาตั้งแต่วันที่ 5 พ.ค. 2565

วันที่ 1 ส.ค. 2565 พนักงานอัยการธนบุรี 3 ยื่นฟ้องคดีต่อศาลอาญาธนบุรี ข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 ทั้งนี้ได้กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสามได้กล่าวคำปราศรัยที่เป็นการใส่ความรัชกาลที่ 1 และรัชกาลที่ 10 ในราชวงศ์จักรี ต่อบุคคลที่สาม โดยประการที่น่าจะทำให้กษัตริย์ทั้งสองพระองค์เสื่อมเสียพระเกียรติ เสียชื่อเสียง ถูกดูหมิ่น และถูกเกลียดชัง ทั้งเป็นการดูหมิ่นกษัตริย์ทั้งสองพระองค์ โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวทั้งสามคนระหว่างพิจารณา

ภาพรวมการสืบพยาน: โจทก์กล่าวหาว่าคำปราศรัยของจำเลย เป็นการใส่ความ ร.1 และ ร.10 ด้านจำเลยต่อสู้ พูดถึงข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ ทั้งยังใช้ข้อความที่สุภาพ ไม่มีคำหยาบคาย

ในการพิจารณาคดี มีการสืบพยานไปทั้งหมด 5 นัด โดยเก็ทได้ถูกคุมขังในเรือนจำอีกครั้งตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค. 2566 หลังศาลอาญามีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 อีกคดีหนึ่ง ได้แก่ กรณีปราศรัยในกิจกรรม #ทัวร์มูล่าผัว โดยลงโทษจำคุก 3 ปี 6 เดือน และไม่อนุญาตให้ประกันตัวเรื่อยมา เขาจึงถูกนำตัวมาศาลในฐานะผู้ต้องขังระหว่างการสืบพยานคดีที่ศาลอาญาธนบุรีคดีนี้ ระหว่างวันที่ 4, 11, 18, 25 ก.ย., และ 6 พ.ย. 2566

ก่อนเริ่มการสืบพยาน เก็ท ในฐานะจำเลยที่ 1 ได้แถลงไม่ยอมรับอำนาจศาลในการพิจารณาพิพากษาคดี โดยขอ ‘ถอนทนายความ’ ของตนเอง และไม่ประสงค์จะมีส่วนร่วมใด ๆ ในการดำเนินกระบวนพิจารณาของศาล รวมถึงไม่ขอลงลายมือชื่อในเอกสารทุกรายการ

ระหว่างการพิจารณาในนัดต่าง ๆ เขายังแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ ทั้งการนั่งหันหลังให้ผู้พิพากษา และถอดเสื้อประท้วงในห้องพิจารณาคดี รวมถึงลุกขึ้นแถลงต่อศาล เรียกร้องให้มีการคืนสิทธิประกันตัวแต่ผู้ต้องขังคดีทางการเมือง และเรียกร้องให้มีการยุติการดำเนินคดี 112 ทั้งหมด

ในการสืบพยาน ฝ่ายโจทก์ได้นำพยานเข้าเบิกความจำนวน 7 ปาก โดยเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจฝ่ายสืบสวน 3 ปาก, ฝ่ายพิสูจน์หลักฐานและพนักงานสอบสวนฝ่ายละ 1 ปาก, นักวิชาการและอาจารย์ผู้ให้ความเห็น 2 ปาก โดยพยายามกล่าวหาว่าคำปราศรัยของจำเลยเข้าข่ายเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น พระมหากษัตริย์ แม้ไม่ได้กล่าวถึงกษัตริย์องค์ปัจจุบัน แต่การกล่าวถึงอดีตกษัตริย์ ก็กระทบมายังกษัตริย์องค์ปัจจุบัน แต่ก็ยังมีความเห็นแตกต่างกันไปว่าการกล่าวข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ จะเข้าข่ายความผิดหรือไม่ รวมถึงมาตรา 112 คุ้มครองไปถึงกษัตริย์พระองค์ใด

ตลอดการพิจารณา มีเพียงทนายของจำเลยที่ 2 (โจเซฟ) ที่ทำหน้าที่ในคดี ทำให้เนื้อหาการถามค้านหลักเป็นประเด็นคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ซึ่งฝ่ายจำเลยพยายามชี้ให้เห็นว่ามีเนื้อหาเป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการประหารพระเจ้าตากสิน มีการอ้างอิงไว้ในงานวิชาการทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่การใส่ความหรือไม่ได้พาดพิงกษัตริย์องค์ปัจจุบัน รวมทั้งฝ่ายโจทก์เองก็ไม่ได้มีการนำสืบให้เห็นว่าข้อความเป็นเท็จอย่างไร ไม่มีพยานที่เป็นนักวิชาการหรือผู้เชี่ยวชาญทางประวัติศาสตร์ให้ความเห็น ทั้งคำปราศรัยเป็นไปโดยสุภาพ ไม่มีถ้อยคำหยาบคาย

ผู้กล่าวหาเบิกความ อ้างว่า คำปราศรัยของจำเลยทั้งสองเข้าข่าย ม.112 แม้จะเป็นข้อเท็จจริงตามปวศ. แต่ก็ทำให้พระองค์เสียหาย

พันตำรวจเอกยงยุทธ พิชัยวรชิต ผู้กล่าวหาในคดี ขณะเกิดเหตุ รับราชการเป็นรองผู้กำกับสืบสวน สน.บุปผาราม เบิกความว่า ในวันที่ 5 เม.ย. 2565 ตนได้ตรวจสอบไปยังเพจโมกหลวงริมน้ำ และพบว่ามีการนัดหมายทำกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ ในวันที่ 6 เม.ย. 2565

ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พยานเฝ้าระวังและตรวจสอบพฤติกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มโมกหลวงริมน้ำ ในวันที่เกิดเหตุ พยานได้จัดกำลังชุดสืบสวน เพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบบริเวณที่เกิดเหตุ โดยวางกำลังตั้งแต่ 9.00 น.

หลังจากนั้น เวลาประมาณ 16.20 น. กลุ่มผู้ชุมนุมจึงทยอยเข้ามาที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน และเริ่มทำกิจกรรมชื่อว่า ‘ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก’ พยานอยู่ในเหตุการณ์และได้ยินจำเลยทั้งสามพูดปราศรัย โดยพยานสั่งการให้ ด.ต.พรชัย วิชัยโย เป็นคนบันทึกภาพและเสียงในวันเกิดเหตุ นอกจากนี้ พยานยังสั่งการให้ จ.ส.ต.อิทธิพล นามแสงผา ตรวจดูกล้องวงจรปิดในพื้นที่การชุมนุมตลอด และให้บันทึกภาพการถ่ายทอดสดในเพจ “สำนักข่าวราษฎร” ด้วย

ภายหลังจากการชุมนุมยุติในเวลา 19.00 น. พยานได้สั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาถอดเทปคำปราศรัย จากนั้นพยานได้จัดทำรายงานการสืบสวนเสนอผู้บังคับบัญชาในวันรุ่งขึ้น

พยานยืนยันว่า จำเลยทั้งสามได้ใช้ลำโพงและไมโครโฟนในการปราศรัย ซึ่งเป็นเครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้าซึ่งมีเสียงดัง และไม่ได้มีการขออนุญาตจาก สน.บุปผาราม

หลังจากรายงาน ผู้บังคับบัญชาได้ส่งเรื่องต่อไปยังตำรวจนครบาลและมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาการกระทำของผู้ชุมนุมว่าผิดกฎหมายหรือไม่ จากนั้นพยานก็ไม่เกี่ยวข้องอะไรอีก

พยานกล่าวว่า ตนรับรู้เกี่ยวกับข้อกล่าวหาที่แจ้งต่อจำเลยที่ 1 และ 2 ว่าเป็นความผิดตาม ม.112 ซึ่งสร้างความเสียหายต่อพระมหากษัตริย์หลายพระองค์ ทั้งรัชกาลที่ 10, รัชกาลที่ 5 รวมถึงรัชกาลที่ 1 ซึ่งตามความเห็นของพยาน คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 เข้าข่ายหมิ่นเพียงรัชกาลที่ 1 แต่เป็นการพาดพิงรัชกาลที่ 10 และทำให้ท่านเสื่อมเสีย

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่าไม่ได้มีการตรวจสอบว่าใครเป็นเจ้าของเครื่องเสียง ทั้งยังไม่ทราบว่าใครต้องเป็นคนไปขออนุญาตใช้ นอกจากนี้ พยานยังไม่ทราบว่าการขออนุญาตต้องไปขอจากผู้อำนวยการเขต ไม่ใช่ผู้กำกับการ สน.บุปผาราม

พยานไม่ทราบว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จะเริ่มคุ้มครองตั้งแต่พระมหากษัตริย์พระองค์ไหน แต่เห็นว่าถ้าเป็นพระมหากษัตริย์ต้องคุ้มครองหมดทุกพระองค์ ทั้งพยานยังไม่แน่ใจว่า ถ้ามีบุคคลใดกล่าวถึงพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา กับสมัยธนบุรี จะผิด ม.112 หรือไม่

พยานเห็นว่า ตามข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์ เราสามารถวิพากษ์วิจารณ์บทบาทของพระมหากษัตริย์ในอดีตได้ แต่ต้องเป็นไปในทางที่ไม่สร้างความเสียหายต่อกษัตริย์ แต่พยานไม่ทราบว่า ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่าพระมหากษัตริย์ทำตัวเสียหายเอง จะสามารถพูดถึงได้หรือไม่

พยานไม่ขอตอบว่า ข้อความว่า “กษัตริย์ไม่ใช่เทพ หากแต่เป็นคนธรรมดา สามารถพูดถึงได้ ไม่ต่างจากประชาชน” ซึ่งเป็นหนึ่งในเนื้อหาการปราศรัยวันเกิดเหตุ จะเป็นความจริงหรือไม่ เหตุที่พยานไม่ขอตอบเนื่องจาก ในความรู้สึกของพยาน พระมหากษัตริย์เปรียบเสมือนเทพ เพราะท่านทำคุณประโยชน์ให้กับประเทศชาติ

พยานรับกับทนายว่า ตามข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ ประชาชนธรรมดา ไพร่ ทาส ก็ต้องหมอบกราบและให้ความเคารพกับพระมหากษัตริย์ในฐานะสมมติเทพ

พยานรับว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ที่กล่าวว่า รัชกาลที่ 4 และ รัชกาลที่ 5 มีภรรยาหลายคนนั้น เป็นความจริง

ตามประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระเจ้าตากสิน พยานเคยได้ยินว่ามีเรื่องราวที่เป็นที่รับรู้กันอยู่ 2 ตำรา คือตำราที่บอกว่า รัชกาลที่ 1 ทรงปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์และสั่งสังหารพระเจ้าตาก และตำราที่บอกว่าพระเจ้าตากทรงหนีไปบวชที่นครศรีธรรมราช พยานไม่ทราบว่าตนเชื่อแบบไหน แต่ในทางตำราพงศาวดารได้จารึกไว้ว่า รัชกาลที่ 1 สั่งสังหารพระเจ้าตาก รวมถึงตำราของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่บอกว่ามีการสั่งประหาร และมีคนตายทั้งสิ้น 150 คน ซึ่งรวมทั้งเครือญาติของพระเจ้าตากด้วย

พยานรับว่า ตามตำราทางประวัติศาสตร์ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้มีการระบุไว้ว่า รัชกาลที่ 1 ทรงสั่งให้มีการประหารพระเจ้าตาก พยานไม่ทราบว่าตำราเล่มอื่นที่จะมาขัดแย้งกับตำราเล่มนี้จะเป็นเล่มใด เนื่องจากเป็นเรื่องของคณะทำงานของกองบัญชาการตำรวจนครบาล ต้องสอบถามไปทางคณะทำงานจึงจะทราบ

พยานไม่ทราบว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 จะเป็นความจริงและไม่บิดเบือนหรือไม่ และไม่ขอตอบว่าจำเลยที่ 2 พูดความเท็จ แต่พยานเห็นว่าคำปราศรัยเป็นการใส่ความรัชกาลที่ 1 แม้จะตรงตามตำรา แต่ก็เป็นการกล่าวคำปราศรัยในลักษณะทำให้พระองค์เสียหาย

ในการกล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ใส่ความ รัชกาลที่ 1 พยานได้ข้อมูลมาจากคณะทำงานชุดดังกล่าว แต่จะเป็นตำราเล่มใดนั้นพยานไม่ทราบ ทั้งยังจำไม่ได้แล้วว่าคนที่เอาข้อมูลมาให้พยานนั้นชื่ออะไร โดยคณะทำงานได้ทำความเห็นกลับมาว่า จำเลยที่ 2 ปราศรัยเป็นเท็จในลักษณะทำให้เสียหาย

ในชั้นสอบสวน พยานไม่ได้ให้การว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 จะเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้าย หรือทำให้รัชกาลที่ 10 เสียหายหรือไม่ และจนถึงปัจจุบัน พยานไม่เคยไปให้การเพิ่มเติมว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ทำให้รัชกาลที่ 10 เสียหาย หรือถูกดูหมิ่นอย่างไร ทั้งยังไม่เคยสืบสวน หรือสอบถามผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์ว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 จะเป็นเท็จอย่างไร

พยานรับว่า ในวันเกิดเหตุ 6 เม.ย. 2565 ซึ่งตรงกับวันจักรี จริง ๆ แล้วนัยของวันนี้มีอยู่ 2 อย่าง คือเป็นวันที่รัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์ และเป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าตากสิน

พยานรับว่าพระมหากษัตริย์จากราชวงศ์จักรี จะนำพวงมาลาไปวางที่อนุสาวรีย์ของพระเจ้าตากทุกปี ประชาชนสามารถตั้งคำถามได้ว่า จะเป็นการทำไปเพื่อขอขมาพระเจ้าตากหรือไม่ แต่จะมีคำตอบของคำถามนี้หรือไม่ พยานไม่ทราบ

พยานรับว่า ตำรวจ สน.บุปผาราม รวมถึงตัวพยาน ไม่เคยไปแจ้งความกับอาจารย์ทางด้านประวัติศาสตร์ที่มีสอนว่ารัชกาลที่ 1 สั่งให้ประหารพระเจ้าตาก และพยานไม่ขอตอบว่า ข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ เป็นสิ่งที่ไม่ควรเรียน ไม่ควรศึกษา และไม่ควรพูดถึงใช่หรือไม่

พยานรับว่า การปราศรัยในวันเกิดเหตุ เป็นการปราศรัยโดยเน้นข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ และใช้ข้อความที่สุภาพ ไม่มีคำหยาบ

เจ้าหน้าที่สืบสวนผู้ถอดเทป รับการปราศรัยพูดถึงข้อเท็จจริงตามปวศ. ทั้งในโพสต์ชวนชุมนุมก็ไม่ปรากฏถ้อยคำหยาบคาย

ดาบตำรวจพรชัย วิชัยโย ขณะเกิดเหตุ รับราชการอยู่ฝ่ายสืบสวน สน.บุปผาราม เบิกความว่า ในวันที่ 5 เม.ย. 2565 เจ้าหน้าที่สืบสวนได้ตรวจสอบเพจโมกหลวงริมน้ำ และพบว่ามีการนัดหมายทำกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ ในวันที่ 6 เม.ย. 2565

ผู้บังคับบัญชาได้มอบหมายให้พยานลงพื้นที่ไปสืบสวนหาข่าว และถ่ายภาพนิ่งของการชุมนุมดังกล่าว โดยในวันเกิดเหตุ พยานลงพื้นที่ไปตั้งแต่เวลา 11.00 น. โดยไปคนเดียว ส่วนเจ้าพนักงานคนอื่นก็แยกย้ายกันไปตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย

เวลา 16.20 น. ได้เริ่มการปราศรัยโดยใช้ไมโครโฟนและเครื่องขยายเสียง พยานเริ่มบันทึกเทปตั้งแต่ช่วงการปราศรัยของจำเลยที่ 1 โดยใช้กล้องวิดีโอที่ติดกับเสื้อที่สามารถถ่ายภาพและเสียงได้ แต่พยานบันทึกได้ไม่หมด เนื่องจากมีมวลชนเข้ามากดดัน เลยต้องมีการเดินเข้า-เดินออกในพื้นที่การชุมนุม

หลังจากจำเลยที่ 1 ปราศรัยเสร็จ จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ก็ขึ้นมาปราศรัยตามลำดับ และพยานได้มีการบันทึกเทปไว้ตลอด จนถึงเวลาประมาณ 19.00 น. ก็มีการประกาศยุติการชุมนุมและแยกย้ายกันกลับ

ภายหลังการชุมนุม พยานได้มอบบันทึกเทปให้กับผู้บังคับบัญชาคือ พ.ต.ท.ยงยุทธ พิชัยวรชิต โดยพยานเป็นคนหนึ่งที่รวบรวมถอดเทปคำปราศรัย ทั้งในซีดีที่พยานบันทึกไว้ และซีดีที่ได้มาจากการบันทึกภาพใน Youtube และได้ร่วมทำรายงานการสืบสวนกับผู้บังคับบัญชาด้วย

พยานขอยืนยันว่าจากการดูบันทึกเทปทั้งหมด เป็นสิ่งที่ตรงและสอดคล้องกับสิ่งที่พยานได้ไปรับฟังในวันเกิดเหตุ

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ คนที่ขออนุญาตจะต้องเป็นผู้จัดการชุมนุม โดยพยานไม่ได้สืบสวนว่าใครจะเป็นคนจัดเตรียมและนำเครื่องเสียมา ทั้งผู้ปราศรัยก็ไม่ได้มีการยุ่งเกี่ยวกับเครื่องเสียงใด ๆ

พยานรับว่า ประวัติศาสตร์เป็นสิ่งที่พูดถึงได้ และมีการเรียนการสอนอยู่ทั่วไป และการปราศรัยในวันเกิดเหตุก็เป็นการพูดถึงข้อเท็จจริงที่ถกเถียงได้ตามประวัติศาสตร์

ในโพสต์ประกาศเชิญชวนให้มาชุมนุมทางเพจโมกหลวงริมน้ำ ไม่ปรากฏถ้อยคำหยาบคาย และตามบันทึกถอดเทปของจำเลยที่ 2 ข้อความทั้งหมดก็เป็นไปด้วยความสุภาพ ไม่มีถ้อยคำหยาบคาย หรือใส่ร้ายใด ๆ และข้อความในตอนท้ายของประกาศเชิญชวนที่ระบุว่า “กษัตริย์ไม่ใช่เทพ หากแต่เป็นคนธรรมดา สามารถพูดถึงได้ ไม่ต่างจากประชาชน” เป็นข้อเท็จจริงธรรมดาที่ทราบโดยทั่วไป

พยานรับว่า วันที่ 6 เม.ย. ของทุกปี คือวันจักรี และ รัชกาลที่ 1 ก็ทรงขึ้นครองราชย์ต่อจากพระเจ้าตากสินจริงตามที่จำเลยที่ 2 ปราศรัย ส่วนการปราศรัยของจำเลยที่ 2 ที่บอกว่า บรรดาเครือญาติของพระเจ้าตากถูกสังหารไป 100 กว่าคน เป็นข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ ที่มีตำรารับรอง โดยตรงกับตำราของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ที่อ้างอิงจากพงศาวดารระบุไว้

พยานไม่ได้มีการไปสอบถามนักวิชาการหรืออาจารย์ด้านประวัติศาสตร์ว่าสิ่งที่จำเลยที่ 2 พูด จะถูกต้องตามประวัติศาสตร์หรือไม่ และไม่ทราบว่า สน. ที่พยานสังกัดอยู่จะเคยมีการดำเนินคดีหรือเรียกอาจารย์ที่สอนประวัติศาสตร์เกี่ยวกับกรุงธนบุรีมาสอบสวนหรือไม่

นอกจากข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ พยานรับว่า จำเลยที่ 2 ไม่ได้มีการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้าย รัชกาลที่ 10

ตำรวจฝ่ายเทคนิค รับ การศึกษาปวศ.จำเป็นต้องมีการถกเถียง ซึ่งเรื่องราวพระเจ้าตากก็มีความรับรู้กันอยู่ 2 กระแส โดนฆ่าตาย-หนีไปบวช

จ่าสิบตำรวจอิทธิพล นามแสงผา ขณะเกิดเหตุ รับราชการอยู่ฝ่ายสืบสวน สน.บุปผาราม เบิกความว่า ในวันที่ 5 เม.ย. 2565 พยานได้ตรวจสอบไปยังเพจโมกหลวงริมน้ำ และพบว่ามีการนัดหมายทำกิจกรรมที่บริเวณอนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ ในวันที่ 6 เม.ย. 2565

หลังจากทราบเรื่องดังกล่าว พยานได้รายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ จึงมีคำสั่งให้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการ โดยได้มอบหมายให้พยานเชื่อมกล้อง และอุปกรณ์ไอทีต่าง ๆ มาที่ห้องปฏิบัติการ เพื่อเอาไว้ใช้สังเกตการณ์ต่าง ๆ พยานในฐานะฝ่ายเทคนิคของฝ่ายสืบสวน จึงต้องคอยเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ตามคำสั่ง

ศูนย์ปฏิบัติการตั้งเสร็จเวลา 10.00 น. ของวันที่ 6 เม.ย. 2565 และผู้บังคับบัญชาได้เข้ามาตรวจเยี่ยมตั้งแต่เวลานั้น โดยพยานอยู่ร่วมในศูนย์ปฏิบัติการตลอดเพราะเป็นฝ่ายเทคนิค

นอกจากดูกล้องวงจรปิด ในช่วงที่มีการชุมนุม พยานได้สืบทราบว่าสื่อมวลชนอิสระได้มีการถ่ายทอดสดเหตุการณ์การชุมนุมด้วย พยานเลยเปิดดูผ่านช่องทางถ่ายทอดสดทางช่อง Youtube ของ “สำนักข่าวราษฎร” กล่าวคือ ดูทั้งในกล้องวงจรปิด และใน Youtube ไปในคราวเดียวกัน

พยานเริ่มบันทึกไฟล์วิดีโอจาก Youtube หลังจากเสร็จสิ้นการชุมนุมแล้ว โดยไปบันทึกมาจากคลิปการถ่ายทอดสดของสำนักข่าวราษฎร หลังจากนั้น พยานได้บันทึกลงแผ่นซีดี และรายงานต่อผู้บังคับบัญชา

พยานมีส่วนร่วมในการสืบสวนโดยเป็นคนถอดเทปหลัก และเป็นคนรวบรวม รวมถึงประมวลความถูกต้องเพื่อที่จะรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบต่อไป

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานกล่าวว่า ตนได้รับมอบหมายให้ไปตรวจสอบกล้องบริเวณรอบวงเวียนใหญ่ เพื่อเชื่อมต่อมายังห้องของศูนย์ปฏิบัติการ โดยพยานจำจำนวนกล้องที่แท้จริงไม่ได้ แต่โดยรวมแล้วมีประมาณ 10 กล้อง กล้องที่ติดอยู่ห่างจากบริเวณวงเวียนใหญ่ประมาณ 200-300 เมตร กล้องไม่สามารถบันทึกเสียงได้ จะเห็นได้แต่ภาพ ซึ่งก็จะไม่ค่อยชัด เลยต้องอาศัยไปเอาบันทึกภาพจากการถ่ายทอดสดของสำนักข่าวราษฎรอีกที

พยานไม่ทราบว่าจำเลยที่ 2 จะเป็นสมาชิกกลุ่มโมกหลวงฯ หรือไม่ เพราะไม่ทราบว่าสมาชิกจะมีใครบ้าง

เกี่ยวกับรายงานการสืบสวนที่พยานเบิกความว่าได้มีส่วนร่วมในการถอดเทป พยานไม่ได้ลงลายมือชื่อว่าเป็นคนถอดเทป และรับว่าพยานได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวน โดยให้ความเห็นเกี่ยวกับคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ไว้ด้วย ว่ามีการกล่าวถึงประวัติศาสตร์กรุงธนบุรี และมีลักษณะดูหมิ่นรัชกาลที่ 1

พยานทราบว่าเรื่องราวประวัติศาสตร์ไทยของพระเจ้าตาก กับรัชกาลที่ 1 ก็มีการเรียนการสอนอยู่ทั่วไป ซึ่งตามความเห็นของพยาน การศึกษาประวัติศาสตร์จำเป็นต้องมีการวิพากษ์วิจารณ์ ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการศึกษาประวัติศาสตร์

หลังจากพยานได้ดูการปราศรัยจบ พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนฆ่าพระเจ้าตาก แต่ทราบว่ารัชกาลที่ 1 ทรงขึ้นครองราชย์หลังจากที่พระเจ้าตากตาย

พยานทราบว่าเกี่ยวกับเรื่องราวของพระเจ้าตาก มีการถกเถียงและความรับรู้อยู่ 2 กระแส คือ 1. บอกว่าท่านถูกฆ่าตาย และ 2. ท่านหนีไปบวชที่นครศรีธรรมราช โดยรับว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 2 มีการปราศรัยถึงสมัยกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งเป็นการกล่าวถึงข้อเท็จจริงตามประวัติศาสตร์ ไม่ได้กล่าวถึงหรือพาดพิงรัชกาลที่ 10

ผู้ให้ความเห็นด้านกม. ระบุ ม.112 เป็นกฎหมายอาญา ต้องตีความตามตัวบท ทั้งยังคุ้มครองเฉพาะกษัตริย์องค์ปัจจุบันเท่านั้น

วัลลภ ห่างไธสง อาจารย์ประจำหลักสูตรนิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ผู้ให้ความเห็นด้านกฎหมาย เบิกความให้ความเห็นว่า คำปราศรัยของจำเลยที่ 1 เข้าข่ายดูหมิ่นองค์พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน และเข้าข่ายผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

ส่วนประโยคที่กล่าวว่า “ทุกคนครับกษัตริย์เป็นคนครับ เป็นคนที่มีกิเลสไม่ต่างจากเรา เป็นคนที่มีความโลภไม่ต่างจากเรา เราจะทำยังไงให้บ้านเมืองที่เราสร้างขึ้นมาใหม่ รัชสมัยใหม่มีความสงบสุข มีความราบรื่น ก็ต้องฆ่าต้องทำลายยุคสมัยเก่าออกไปก่อนไงครับ นี่คือเหตุผลที่ทำไมนายทองด้วงถึงได้ฆ่าเพื่อนร่วมรบอย่างพระเจ้าตากไป” พยานเห็นว่ายังไม่เข้าข่ายผิดตาม ม.112 เนื่องจากเป็นการพูดถึงพระมหากษัตริย์ในอดีต เป็นเพียงการพูดโน้มน้าวให้คนฟังเข้าใจว่าพระเจ้าตากถูกกระทำอย่างไรบ้าง ยังไม่ผิดตาม ม.112

ส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 พยานมองว่าเข้าข่าย ม.112 เนื่องจากจำเลยที่ 2 มีการปราศรัยซึ่งอาจทำให้ผู้ฟังจงเกลียดจงชัง ไม่ให้การเคารพ และลดคุณค่าในตัวของพระองค์ เป็นการกล่าวกระทบถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน เช่นประโยคที่กล่าวว่า “ปัจจุบันเราจะเห็นนะครับว่าพระมหากษัตริย์ของพวกเรา มีพระราชนามเป็นพุทธาวดาร ปัจจุบันเราเรียก พระรามที่สิบ หรือการอวตารของพระรามครั้งที่สิบ นั่นก็คือ วชิราลงกรณ์ในปัจจุบันนะครับผม”

ส่วนการพูดโน้มน้าวให้คนฟังเข้าใจว่ารัชกาลที่ 1 มีส่วนในการฆ่าล้างบางเครือข่ายของพระเจ้าตาก พยานมองว่ายังไม่เข้าข่าย ม.112 เพราะไม่กระทบกับพระมหากษัตริย์พระองค์ปัจจุบัน

พยานเบิกความว่า กฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกบัญญัติให้อยู่ในหมวดความมั่นคง และคำปราศรัยทั้งหมดมันอาจจะกระทบกับความรู้สึก ซึ่งอาจทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยในบ้านเมืองได้ อย่างไรก็ตาม ม.112 เป็นกฎหมายอาญา ดังนั้นต้องตีความอย่างเคร่งครัด ตามตัวบทกฎหมาย ไม่สามารถตีความได้กว้างแบบเรื่องความมั่นคง ดังนั้นตามความเห็นของพยาน คำปราศรัยของจำเลยทั้งสองจึงมีบางประโยคที่เข้าและไม่เข้าองค์ประกอบความผิด

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ตนไม่เคยเขียนบทความหรือมีงานวิชาการเกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

พยานรับว่า พระนามของกษัตริย์ในอดีต เป็นการตั้งให้สอดคล้องกับชื่อของพระพุทธเจ้าหรือเทพเจ้าองค์ต่าง ๆ ซึ่งการกล่าวพระนามเฉย ๆ โดยไม่ได้กล่าวพระอิสริยยศ เช่น ‘วชิราลงกรณ์’ ไม่ผิด แต่ถ้ามีประโยคอื่นเข้ามา ซึ่งเป็นการลดทอนคุณค่าของพระองค์ และทำให้คนอื่นเข้าใจได้ว่าเป็นการลดคุณค่าจะมีความผิดได้

พยานรับว่า เกี่ยวกับการปฏิบัติพระราชกรณียกิจ รัชกาลที่ 9 ทรงปฏิบัติมากกว่า รัชกาลที่ 10 เพราะมีเอกสารเป็นที่ประจักษ์ พยานรับอีกว่า ในอดีตไม่สามารถวิจารณ์พระมหากษัตริย์ได้ แต่ในรัชสมัยของรัชกาลที่ 9 ท่านเคยตรัสไว้ว่า พระมหากษัตริย์สามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ แต่พยานเห็นว่า ควรต้องเหมาะสม ไม่ใช่ไปดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อพระองค์

พยานเบิกความรับว่า คำปราศรัยที่กล่าวถึงราชวงศ์จักรี หรือรัชกาลที่ 1 เป็นการวิพากษ์วิจารณ์ตามประวัติศาสตร์ ซึ่งถ้าเป็นการพูด การกล่าวถึงโดยสุจริตสามารถพูดถึงได้ทุกคน แต่ถ้าให้ร้ายจะเป็นความผิด

พยานรับว่า หลังจากรัชกาลที่ 9 สวรรคตไป รัชกาลที่ 10 ได้ขึ้นครองราชย์ และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงกฎหมายทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ให้กลายมาเป็นทรัพย์สินส่วนพระองค์ รวมทั้งมีการออกกฎหมายเกี่ยวกับการบริหารจัดการกองทัพส่วนพระองค์ด้วย

พยานรับว่า ธรรมเนียมปฏิบัติ หรือพระราชพิธีต่าง ๆ ต้องมีเรื่องของการดูฤกษ์ยาม ตามโหรหลวงกำหนด ซึ่งก็มีทั้งแบบพราหมณ์และพุทธ ซึ่งพระราชพิธีเหล่านี้ก็ล้วนสืบเนื่องมาจากความเชื่อที่ว่า พระมหากษัตริย์เป็นองค์เทพที่ลงมาจุติในร่างของมนุษย์

ส่วนที่พยานเบิกความ เห็นว่าคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 ผิด ม.112 เป็นสิ่งที่พยานไม่ได้ให้การไว้กับพนักงานสอบสวนตั้งแต่แรก แต่เป็นการให้ความเห็นจากการอ่านคำปราศรัยในศาล

ส่วนเกี่ยวกับหลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) พยานเบิกความว่า มีการกำหนดให้มีบุคคลผู้สนองพระบรมราชโองการ แต่ในปัจจุบัน การบริหารราชการ ไม่ว่าจะเป็นการเลื่อน ลด ปลดย้ายนายทหาร พระองค์ทรงใช้พระราชอำนาจโดยที่ไม่มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษา ระบุ แม้จะพูดถึงข้อเท็จจริงทางปวศ. แต่ถ้าใช้คำไม่เหมาะสม-สร้างความเกลียดชัง ก็ยังถือว่าดูหมิ่น

วรรณิสา จำปาทอง ข้าราชการครู เบิกความว่า ตนมีประสบการณ์เป็นครูสอนภาษาไทยมาแล้วประมาณ 13 ปี โดยก่อนหน้านี้ไม่ทราบว่ามีการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2565 แต่ได้รับการประสานให้มาเป็นพยานผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาเมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2565 โดยพนักงานสอบสวน สน.บุปผาราม เป็นคนประสาน ซึ่งพยานได้ไปให้การไว้เกี่ยวกับถ้อยคำที่มีการปราศรัยของจำเลยทั้งสาม

พยานเห็นว่า จำเลยที่ 1 มีการใช้คำที่ไม่เหมาะสมกับพระมหากษัตริย์ไม่ว่าจะเป็นการเรียก รัชกาลที่ 1 ว่านายทองด้วง ซึ่งคำว่า ‘นาย’ ควรจะเป็นคำที่ใช้เรียกบุคคลธรรมดา ไม่ใช้ในการเรียกพระมหากษัตริย์ นอกจากนี้ยังมีการใช้คำว่า ‘เค้า’ ซึ่งเป็นการใช้คำสรรพนามที่ไม่เหมาะสมกับองค์พระมหากษัตริย์

นอกจากการใช้คำที่ไม่เหมาะสมแล้ว ยังมีการกล่าวหาว่ารัชกาลที่ 1 ทรงยึดอำนาจ ซึ่งถือว่าเป็นการดูหมิ่นรัชกาลที่ 1 เนื่องจากไม่มีหลักฐานหรือข้อเท็จจริงแน่นอน อีกทั้งยังเป็นการดูหมิ่นต้นตระกูลพระมหากษัตริย์ ซึ่งก็คือรัชกาลที่ 1 ว่าส่งต่อสิ่งไม่ดีให้กับพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน และปลุกระดมให้คนมองว่าราชวงศ์นี้ไม่ดีตั้งแต่ต้น หรือตั้งแต่ปฐมกษัตริย์

เมื่อพยานอ่านการคำปราศรัยทั้งหมดแล้ว เห็นว่า เจตนาผู้พูดคือต้องการจะโน้มน้าวความคิดของประชาชน ให้รับรู้เกี่ยวกับข้อบิดเบือนในการสั่งฆ่าพระเจ้าตาก

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า นอกจากการสอนหนังสือในโรงเรียนแล้ว พยานไม่มีตำแหน่งทางวิชาการใด ๆ และไม่เคยตีพิมพ์ผลงานทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับเรื่องภาษาศาสตร์และประวัติศาสตร์

พยานเคยอ่านหนังสือประวัติศาสตร์ของ นิธิ เอียวศรีวงศ์ เรื่อง ‘การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี’ และพยานรู้จัก ‘พงศาวดาร’ ซึ่งเป็นหลักฐานที่มีการลงบันทึกเหตุการณ์สำคัญไว้ และเป็นสิ่งที่นักประวัติศาสตร์ใช้ในการศึกษา ซึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ ก็สามารถถกเถียงกันได้ว่า ประวัติศาสตร์แบบไหนเป็นสิ่งที่ถูกต้อง

พยานรับว่าในหนังสือเล่มดังกล่าวของนิธิ มีการเขียนระบุว่า ได้มีการปรึกษาหารือถึงโทษของพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่าจะสำเร็จโทษท่านอย่างไร โดยมีการอ้างอิงตามพงศาวดาร และมีการระบุถึงสาเหตุการตายว่า โดนตัวหัวที่ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ซึ่งในทางประวัติศาสตร์คนที่ควบคุมตัวและมีคำสั่งให้ประหารชีวิตพระเจ้าตาก ก็คือรัชกาลที่ 1

พยานรับว่า ในหนังสือ ‘ประวัติศาสตร์อยุธยา ห้าศตวรรษสู่โลกใหม่’ ของ ผาสุก พงษ์ไพจิตร และ คริส เบเคอร์ ได้มีการระบุไว้ว่า จากพยานหลักฐานทางประวัติศาสตร์ อ้างอิงจากพงศาวดารฉบับราชหัตถเลขา พระยาจักรีได้ยกทัพกลับมาและตั้งศาลตัดสินว่าควรสำเร็จโทษเครือข่ายอำนาจของพระเจ้าตากทั้ง 150 คนเสีย

ตำราทั้งสองดังกล่าว เป็นตำราที่อ้างอิงมาจากพงศาวดาร ซึ่งถือว่าเป็นที่ยอมรับทางวิชาการ และน่าเชื่อถือในทางประวัติศาสตร์ จนกว่าจะมีพยานหลักฐานอื่นมาหักล้าง

พยานเบิกความว่าตนได้ไปให้การกับพนักงานสอบสวน โดยเป็นการให้ความเห็นว่าถ้อยคำแต่ละคำที่จำเลยใช้นั้นหมายความว่าอะไร ส่วนความเห็นที่พยานเบิกความต่อศาลว่าจำเลยบิดเบือนข้อเท็จจริงต่าง ๆ ไม่ได้มีการให้การไว้ในชั้นสอบสวน ทั้งพยานยังไม่ได้นำเสนอหลักฐานต่อพนักงานสอบสวนหรือศาลนี้ ว่ามีหลักฐานอื่น ๆ ที่หักล้างกับคำพูดของจำเลยว่าเป็นความเท็จ

พยานไม่ทราบว่าพนักงานสอบสวนจะได้ไปติดต่อนักวิชาการ หรือหาหลักฐาน ตำรา มายืนยันในสิ่งที่พยานได้ให้ความเห็นไว้หรือไม่ และส่วนที่พยานไปให้การเกี่ยวกับจำเลยที่ 2 พยานไม่ได้ระบุว่าเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรืออาฆาตมาดร้าย พระมหากษัตริย์รัชกาลปัจจุบัน

พยานรู้จักนายทองด้วง แต่พยานเห็นว่าในแง่ภาษาไทย คำ ๆ นี้มันไม่เหมาะสม เพราะขึ้นเป็นกษัตริย์แล้วไม่ควรใช้คำเรียกแบบบุคคลธรรมดา

พยานไม่ได้จบกฎหมาย และไม่ทราบว่าการพูด “พระนาม” เฉย ๆ จะผิดกฎหมายหรือไม่ และที่พยานบอกว่าคำพูดของจำเลยหมิ่นหรือไม่หมิ่น ก็เป็นการมองในแง่การใช้ภาษา การใช้คำ ซึ่งตามความรู้สึกของพยาน คำพูดของจำเลยเข้าข่ายหมิ่นเพราะเป็นการปลุกระดม สร้างความเกลียดชังต่อราชวงศ์จักรี ต่อให้ข้อความที่ถูกพาดพิงจะเป็นการพูดถึงข้อเท็จจริง แต่ถ้าเป็นการปลุกระดมและสร้างความเกลียดชัง ก็หมิ่นอยู่ดี

จนท.พิสูจน์หลักฐาน ระบุ คลิปที่ตรวจไม่ใช่ต้นฉบับ-มีการแก้ไขเพิ่มเติมรูปภาพเข้าไป แต่ไม่พบการตัดต่อ

พันตำรวจตรีธัญญสิทธิ์ เกิดโภคทรัพย์ ขณะเกิดเหตุ รับราชการตำรวจอยู่กลุ่มงานตรวจพิสูจน์อาชญากรรมคอมพิวเตอร์ กองพิสูจน์หลักฐานกลาง เบิกความว่า เมื่อวันที่ 9 พ.ค. 2565 พนักงานสอบสวนได้ส่งดีวีดีมาให้พยานตรวจ จำนวน 1 แผ่น โดยให้ตรวจว่ามีการตัดต่อหรือไม่

ผลก็คือพบแฟ้มข้อมูลภาพยนตร์จำนวน 1 รายการ และมีการเพิ่มสัญลักษณ์ และตัวอักษรเข้ามา แต่ไม่พบการตัดต่อ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า สอดคล้องกันทั้งภาพและเสียง เมื่อตรวจเสร็จก็ได้ออกรายงานการตรวจพิสูจน์ส่งให้พนักงานสอบสวน

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ตามเอกสารที่พยานได้จัดทำเป็นรายงานการตรวจพิสูจน์ คลิปที่พยานตรวจไม่ใช่ต้นฉบับ มีการแก้ไขเพิ่มเติมรูปภาพเข้าไป และหลังจากที่ได้ดู-ได้ฟังคลิป พยานจะมีความรู้สึกดูหมิ่นรัชกาลที่ 1 หรือรัชกาลที่ 10 หรือไม่ พยานไม่ขอตอบ

พนง.สส. ยืนยัน การวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ แม้จะโดยสุจริตก็ไม่สามารถทำได้ และการเรียกพระนามเฉย ๆ ก็อาจเข้าข่าย ม.112 ได้

พันตำรวจโทศุภวุฒิ แป้นชุม พนักงานสืบสวน สน.บุปผาราม เบิกความว่า ตนได้รับแจ้งจากผู้บังคับบัญชาว่าจะมีผู้ชุมนุมมาจัดกิจกรรมในวันที่ 6 เม.ย. 2565 ที่อนุสาวรีย์สมเด็จพระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ พอถึงวันเกิดเหตุ พยานจึงเตรียมความพร้อมประจำอยู่ที่ สน. เพื่อติดตามสถานการณ์

หลังจากเสร็จการชุมนุม พยานได้ทำความเห็นเสนอผู้บังคับบัญชา และเสนอไปยังกองบังคับการ ตามลำดับชั้น เมื่อคณะประชุมพิจารณาแล้ว มีความเห็นว่าผิดตามมาตรา 112 และมีคำสั่งให้แต่งตั้งคณะพนักงานสืบสวนสอบสวน โดยพยานเป็นหนึ่งในคณะทำงานนี้ด้วย รับหน้าที่สอบปากคำและรวบรวมพยานหลักฐาน

วันที่ 2 พ.ค. 2565 พ.ต.อ.ยงยุทธ พิชัยวรชิต ได้รับมอบหมายให้มาแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยร้องให้ดำเนินคดีกับจำเลยทั้งสามในความผิดตาม ม.112 และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โดย พ.ต.อ.ยงยุทธ ได้มอบดีวีดีบันทึกเหตุการณ์ และรายงานการสอบสวนให้พยานด้วย จากนั้นพยานได้ไปยื่นคำร้องต่อศาลอาญาธนบุรี เพื่อขออนุมัติหมายจับ

ต่อมา พยานได้สอบปากคำพยานความเห็นต่าง ๆ หลังจากนั้นคณะพนักงานสืบสวนสอบสวนได้มีความเห็นสั่งฟ้องจำเลยทั้งสาม ส่งให้พนักงานอัยการเพื่อพิจารณาคดีต่อไป

ในการตอบทนายจำเลยถามค้าน พยานรับว่า ตนไม่ทราบว่าใครเป็นผู้จัดการชุมนุม และตามกฎหมาย ผู้จัดการชุมนุมต้องเป็นคนไปขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียงกับผู้อำนวยการเขต ซึ่งพยานก็ไม่ได้มีหมายเรียก ผอ.เขต ให้มาเป็นพยานเพื่อสอบสวนเรื่องนี้

พยานไม่ได้ดำเนินคดีกับบุคคลอื่นที่ขึ้นปราศรัยในวันดังกล่าว และไม่ได้มีการไปสอบผู้เชี่ยวชาญด้านประวัติศาสตร์แต่อย่างใด

ส่วนในความเห็นของคณะทำงานคดีนี้ มาตรา 112 คุ้มครองเฉพาะราชวงศ์จักรี แต่พยานรับว่าในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้มีการระบุว่า คุ้มครองเฉพาะราชวงศ์จักรี

พยานไม่ทราบว่าแต่เดิมรัชกาลที่ 1 เป็นสามัญชน คือ นายทองด้วง ซึ่งเป็นเพื่อนกับนายสิงห์ ซึ่งต่อมาเสวยราชเป็นสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช และไม่ทราบว่าการถกเถียงเรื่องการตายของพระเจ้าตากมีอยู่ 2 ความเห็นคือถูกประหาร และหนีไปบวชที่นครศรีธรรมราช

พยานรับว่า รัชกาลที่ 1 เป็นปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งตามความเห็นทางด้านประวัติศาสตร์ก็คือ ต้องมีการสิ้นพระชนม์ของเจ้าตากก่อน รัชกาลที่ 1 จึงจะสามารถขึ้นครองราชย์ได้

พยานไม่ทราบว่า มีการเคารพสรรเสริญพระมหากษัตริย์ โดยสรรเสริญท่านว่าเป็นพระพุทธเจ้า หรือเทพเจ้าลงมาจุติในร่างมนุษย์ ซึ่งมีการเคารพนับถือท่านและตั้งชื่อล้อตามเทพเจ้า เช่น พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก

พยานไม่ทราบว่า ตามหนังสือ หรือตำราทางวิชาการต่าง ๆ จะมีการเรียกกล่าวพระนามเฉย ๆ โดยที่ไม่ได้มีการฉลองพระยศหรือไม่ แต่พยานเห็นว่าการเรียกพระนามเฉย ๆ ผิด เป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม แต่จะผิดกฎหมายมาตราใด พยานตอบไม่ได้ พยานรู้เพียงแค่ว่า ถ้าเป็นพระมหากษัตริย์ ก็ต้องใช้คำราชาศัพท์ การเรียกพระนามเฉย ๆ อาจเข้าข่ายดูหมิ่น หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายได้

พยานไม่ทราบว่า ในอดีตก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งอำนาจสูงสุดอยู่ที่พระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว

พยานได้รับฟังคำปราศรัยและรู้สึกว่าไม่เหมาะสม แต่ตัวพยานเองเมื่อฟังแล้วก็ไม่ได้เกิดความรู้สึกดูหมิ่น หรือรู้สึกไม่ดีต่อรัชกาลที่ 10, รัชกาลที่ 5 หรือรัชกาลที่ 1

พยานทราบว่า คำว่า ‘ในหลวง’ เป็นคำลำลอง และปัจจุบันก็มีการเรียกขานพระนามของ รัชกาลที่ 5 หรือ รัชกาลที่ 9 ว่า ‘พ่อ’, ‘พ่อหลวง’ ซึ่งคำว่าพ่อก็ไม่ได้ผิดกฎหมายและเป็นการยกตนเสมอท่าน สามารถเรียกได้เหมือนเป็นคำที่ชาวบ้านเรียกกันโดยทั่วไป

พยานไม่ทราบว่ารัชกาลที่ 9 ทรงเคยบอกว่าไม่ควรนำมาตรา 112 มาใช้ เพราะทำให้พระองค์ได้รับความเสียหาย และโดนติเตียน ซึ่งรัชกาลที่ 9 เองก็ทรงมีพระราชดำรัสว่า พระมหากษัตริย์ต้องสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้

พยานขอยืนยันว่า การวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริตนั้น ถ้าเป็นกรณีของคนธรรมดาสามารถทำได้ แต่ถ้าเป็นกรณีของพระมหากษัตริย์ แม้จะสุจริต แต่ก็ไม่สามารถทำได้