วันอังคาร, ธันวาคม 26, 2566

Tha (ถา) - Nutchapakorn เขียนถึง พรรคเพื่อไทย เมื่อ 2 เดือนก่อน ไม่มีความหมายเลย ..


.....
Tha (ถา) - Nutchapakorn @NutchapakornTha·53m
เขียนไว้ 2 เดือนก่อน ไม่มีความหมายเลย ..

Tha (ถา) - Nutchapakorn @NutchapakornTha ·Oct 25

ถึง พรรคเพื่อไทย 

การที่คุณจะไม่แก้หมวดที่ 1 หมวดที่ 2 มันเป็นสิทธิของคุณ แต่ขอเน้นย้ำว่า คุณสามารถจัดการเรื่องนี้โดยไม่ต้องมัดมือชกประชาชนผ่านคำถามประชามติได้ ด้วยการยื่นร่างแก้รัฐธรรมนูญในสภาภายหลัง ตอนนั้น คุณก็เสนอของคุณไป แล้วสภาจะลงมติอย่างไร ก็คงต้องยึดตามมติของสภา 

แต่สิ่งที่เราคัดค้าน คือ อย่าเอามา 'ยัด' ในคำถามประชามติตั้งแต่แรก เพราะเท่ากับมัดมือชกประชาชน ว่า ถ้าจะแก้รัฐธรรมนูญก็ต้องรับเงื่อนไขไม่แก้หมวด 1-2 มาด้วย ทั้งที่ไม่จำเป็น และมีแต่เพิ่มความเสี่ยงให้การทำประชามติจะมีปัญหา ประชาชนเกิดความแตกแยก 

แท้จริงแล้ว คุณสามารถตั้งคำถามแบบเปิดกว้างได้ เช่น เห็นด้วยหรือไม่กับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ เท่านั้นก็พอ หรือ ถ้าจะถามคำถามให้มันละเอียดพอ ก็สามารถที่จะแยกคำถามประชามติได้ ไม่ต้องมัดทุกอย่างเข้าด้วยกัน จนทำให้เกิดความสับสน 

คุณอาจจะบอกได้ว่า ทีตอนประชาชนเสนอคำถามประชามติ #Conforall ประชาชนยังมีการล็อคสเปกคำถามเลย ว่าต้องร่างใหม่ทั้งฉบับ จาก สสร. เลือกตั้ง 100% 

แต่ผมก็ต้องข้อเน้นย้ำว่า คำถามดังกล่าว เป็นคำถามที่สอดคล้องกับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ให้กับมาถามผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ หรือ ก็คือ ประชาชนว่าเห็นด้วยหรือไม่กับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ 

อีกทั้ง การมีเงื่อนไขที่ต้องให้สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. มาจากการเลือกตั้ง ก็เป็นข้อเสนอที่รัฐสภาเคยลงมติเห็นชอบทั้งในวาระที่หนึ่งและสองมาก่อน ไม่ได้เสนอหลักการพิสดารอะไรกว่าที่เคยมีอยู่ และนี่ก็เป็นวิถีทางที่ดูจะเป็นประชาธิปไตยที่สุด คือ ให้ประชาชนได้เลือกตัวแทน หรือ เลือกคนที่มีจุดยืน นโยบายในการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ที่ตรงกับความต้องการของตัวเอง 

แน่นอนว่า การเสนอคำถามประชามติของประชาชน มีแค่ 211,904 รายชื่อ คุณมีสิทธิที่จะมองว่ามันน้อยนิดในเชิงปริมาณ แต่ความคาดหวังของประชาชนที่ต้องเห็นรัฐธรรมนูญฉบับประชาชนมันเป็นสิ่งที่ประเมินด้วยตัวเลขอย่างเดียวไม่ได้ และมันไม่ได้มีอยู่แค่ 211,904 รายชื่อ อย่างแน่นอน 

ถ้าคุณจะมองว่า น้ำพักน้ำแรงของประชาชนมันเล็กน้อย ไม่สะท้อนตัวแทนของทั้งประเทศ พรรคเพื่อไทยก็คงต้องช่วยบอกหน่อยว่า คุณจะมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นอย่างไร และจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เมื่อมีข้อเสนอที่ไม่ตรงกับที่ประชาชนลงชื่อกันเสนอ แล้วคุณจะไม่ปัดตกไปดื้อๆ หรือ มองข้ามข้อเสนอของประชาชนที่เพียรพยายามอย่างยากลำบากในการเข้าชื่อกันเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี 

แน่นอนว่า ตาม พรบ.ประชามติฯ อำนาจตัดสินใจเด็ดขาดยอมเป็นอำนาจของ ครม. แต่ขอให้ประชาชนได้รู้ว่า การตัดสินใจต่างๆ ของคุณ มันเป็นการรับฟังความเห็นต่างอย่างเต็มที่ มิเช่นนั้น ผมในฐานะประชาชนคนหนึ่งก็คงจะอดคิดไม่ได้ว่า ที่ผ่านมา คุณรับฟังคนเพียงกลุ่มเดียวมาโดยตลอด 

ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ มิใช่ต้องการโจมตีหรือต่อว่า พรรคเพื่อไทย แต่อยากอธิบายให้เข้าใจวิธีคิดและความรู้สึกนึกคิด ด้วยคิดว่า 'เราคือเพื่อนกัน' แม้ว่าหลายอย่างเราจะคิดเห็นไม่ตรงกันก็ตาม แต่ยังเชื่อมั่นว่า เราจะช่วยกันเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตยได้จริง ไม่ได้ติดอยู่ในระบอบประยุทธ์อย่างที่เป็นอยู่