วันพฤหัสบดี, ธันวาคม 28, 2566

บีบีซีไทยสรุป 5 เหตุการณ์สำคัญในการเมืองไทย 2566 ที่นำไปสู่จุดพลิกผัน-หักเหทางการเมืองไทย เริ่มต้นด้วย “การเมืองใหม่” ไม่วายลงเอยสู่ “การเมืองเก่า”



5 จุดหักเหการเมืองไทยปี 66 เริ่มต้นด้วย “การเมืองใหม่” ไม่วายหวนคืนสู่ “การเมืองเก่า”



หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
26 ธันวาคม 2023

เหตุการณ์การเมืองแห่งปี 2566 หนีไม่พ้น การเลือกตั้ง 14 พ.ค. ซึ่งนำมาสู่ปรากฏการณ์แปลก-ใหม่มากมาย สิ่งที่หลายคนคาด อาจไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่คิด สิ่งที่ไม่เคยเห็น กลับมาปรากฏอยู่ตรงหน้า

บีบีซีไทยสรุป 5 เหตุการณ์สำคัญในช่วงเลือกตั้ง 2566 ที่นำไปสู่จุดพลิกผัน-หักเหทางการเมืองไทย ไว้ ณ ที่นี้

2 ป. “แยกกันเดิน” แต่ถูกจับ “ตีรวมกัน”

เปิดศักราชปี 2566 ด้วยการประกาศ “แยกทาง-แยกพรรค” ของพี่น้อง 2 ป. นั่นคือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีคนที่ 29 และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอไปต่อเป็นสมัยที่ 3 ทว่าครั้งนี้ไม่ใช่ในนามพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อทำภารกิจส่งนายพลนอกราชการกลับเข้าทำเนียบรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง 2562 แต่เป็นพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ที่ พล.อ.ประยุทธ์ใช้เป็น “ฐานบัญชาการใหม่” ถึงขั้นสมัครเป็นสมาชิกพรรคการเมืองครั้งแรกในชีวิตเมื่อ 9 ม.ค. ก่อนมีตำแหน่งเป็นประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค

ส่วนบรรดาลูกพรรค พปชร. ต่างยุให้ พล.อ.ประวิตร รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรค พปชร. ท้าชิงเก้าอี้นายกฯ คนที่ 30 พ่วงผู้สมัคร สส.บัญชีรายชื่อหมายเลข 1 ของพรรค ซึ่งเป็นการเสนอตัวเป็นผู้แทนฯ ครั้งแรกของ ป.ประวิตร เช่นกัน

เป็นผลให้มี “พรรค(อดีต)ทหาร” ลงสนามเลือกตั้งพร้อมกัน 2 พรรค 2 พี่น้องทหารสายบูรพาพยัคฆ์กลายเป็นคู่แข่งขันทางการเมือง


พล.อ.ประยุทธ กับ พล.อ.ประวิตร นั่งรอลูกพรรคจับหมายเลขผู้สมัคร สส.กทม. ที่สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง เมื่อ 3 เม.ย.

ป. ผู้น้อง ซึ่งนั่งเก้าอี้นายกฯ นาน 9 ปี ขอกลับเข้าทำเนียบฯ อีกครั้ง ด้วยคำขวัญ “ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ” เดินสายขึ้นเวทีปราศรัยหาเสียงช่วยผู้สมัคร สส. จากพรรค รทสช.

ป. ผู้พี่ ชิ่งหนีจากภาพลักษณ์ผู้ร่วมวงรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ก่อนนำเสนอตัวเองเป็นผู้นำ “ก้าวข้ามความขัดแย้ง” ออกจดหมายแจกแจงแนวคิด-อุดมการณ์ทางการเมืองรวม 10 ฉบับ จากเคยพูดน้อย “ลุงป้อม” เปิดบ้านป่ารอยต่อฯ โชว์ผัดกับข้าวออกทีวี รวมถึงให้สัมภาษณ์รายการสด

แม้แยกย้ายไปสร้างดาวคนละดวง แต่ขั้วตรงข้ามการเมืองอย่างพรรคก้าวไกล (ก.ก.) จับทั้งคู่มามัดรวมกันอีกครั้ง ผ่านคำประกาศ “มีลุงไม่มีเรา มีเราไม่มีลุง” ไม่ว่า “ลุง” คนไหน ชาวก้าวไกลก็ไม่ขอร่วมรัฐบาลด้วย นี่ถือเป็นแคมเปญสื่อสารที่ประสบความสำเร็จสูงสุดของพรรคสีส้ม

ท้ายที่สุดพรรค พปชร. ที่เคยเป็นพรรค 116 เสียงในศึกเลือกตั้ง 2562 จึงมียอด สส. ลดลงเหลือเพียง 40 เสียงในศึกเลือกตั้งครั้งล่าสุด ส่วนพรรคเกิดใหม่อย่าง รทสช. อาศัยเรตติ้ง “ลุงตู่” หิ้ว สส. เข้าสภาได้ 36 ชีวิต ทว่าพรรคอันดับ 4 และอันดับ 5 รวมกันได้ 76 เสียง ยังห่างไกลจากสถานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ กลายเป็นเงื่อนไขบังคับให้ 2 ป. ที่แยกทางกันไปก่อนหน้า ต้องร้างลาจากอำนาจฝ่ายบริหารทั้งคู่ด้วยมติประชาชน


หลังแพ้การเลือกตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรค รทสช. และใช้เวลาพักผ่อนกับครอบครัว ก่อนมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรี เมื่อ 29 พ.ย.

ก้าวไกลชนะเลือกตั้ง แต่ตกที่นั่งฝ่ายค้าน

พรรคก้าวไกล (ก.ก.) เปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้การเมืองไทยหลายบท โดยใช้เวลาเพียง 5 ปีนับจากก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่/ก้าวไกล ก็สามารถล้มทั้งพรรคแชมป์เก่า 5 สมัย (2544-2562) และยัดเยียดความปราชัยให้แก่ “พรรคทหารจำแลง” คาสนามเลือกตั้ง

แม้ประชาชน 14.4 ล้านเสียงโหวตเลือกพรรค ก.ก. ในบัตรปาร์ตี้ลิสต์ แต่ไม่อาจส่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค สส.บัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 1 และแคนดิเดตนายกฯ ไปถึงฝั่งฝัน เมื่อเสียงชี้ขาดอยู่ที่ 750 เสียงในรัฐสภา ซึ่งพิธาไม่อาจฝ่าไปได้

พรรคอันดับ 1 ของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 26 ที่มี สส. 151 เสียง จึงตกที่นั่งฝ่ายค้านในท้ายที่สุด



อย่างไรก็ตาม ชัยชนะของพรรค ก.ก. ที่นำไปสู่การรับบทแกนนำจัดตั้งรัฐบาลในช่วงต้น ทำให้เกิดสิ่งที่พิธาเรียกว่า “ประเทศไทยเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้วตั้งแต่ 14 พ.ค.”


บีบีซีไทยขอชี้ให้เห็นถึงปรากฏการณ์ใหม่-ธรรมเนียมใหม่ที่ก้าวไกลสร้างขึ้นในช่วง 66 วัน นับจากกำชัยชนะในคูหาเลือกตั้งก่อนจบลงด้วยความพ่ายแพ้กลางรัฐสภา (14 พ.ค.-19 ก.ค.)
  • สร้างปรากฏการณ์ “สึนามิในสนาม กทม.” โดยชนะเลือกตั้ง สส. ใน 32 เขต จากทั้งหมด 33 เขต “ปักธงส้ม” ได้ครบทุกภาค กวาด สส. ยก 7 จังหวัด ประกอบด้วย นนทบุรี (8 เขต) สมุทรปราการ (8 เขต) สมุทรสงคราม (3 เขต) สมุทรสาคร (1 เขต) จันทบุรี (3 เขต) ระยอง (5 เขต) และภูเก็ต (3 เขต)
  • หลังจากนั้น พรรคอันดับ 1 และอันดับ 2 ประกาศจับมือจัดตั้งรัฐบาลร่วมกัน ซึ่งไม่เคยเกิดภาพเช่นนี้เลยในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา
  • แกนนำพรรค ก.ก. ต่อสายส่งเทียบเชิญพรรคชาติพัฒนากล้า (ชพก.) ที่มี 2 เสียงเข้าร่วมรัฐบาลเพิ่มเติม ก่อนถูก “ล้มดีล” ในเวลาไม่ถึง 24 ชม. เมื่อผู้สนับสนุนพรรคที่ถูกเรียกขานว่า “ด้อมส้ม” พร้อมใจกันติดแฮชแท็ก “มีกรณ์ ไม่มีกู” จนขึ้นเทรนด์เอ็กซ์ สุดท้ายพิธาต้องขอโทษ พร้อมระบุว่าจะระลึกไว้เสมอว่า “พรรคใหญ่กว่าคน ประชาชนใหญ่กว่าพรรค”
  • 8 พรรคการเมืองนำโดยพรรค ก.ก. ประกาศข้อตกลงร่วม (MOU) ในการจัดตั้งรัฐบาลผสม 313 เสียง (ณ เวลานั้น) เมื่อ 22 พ.ค. ประกอบด้วย พรรคก้าวไกล (151 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง), พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง), พรรคไทยสร้างไทย (6 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคเป็นธรรม (1 ที่นั่ง) และพรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง) ก่อนที่เอ็มโอยูตั้งรัฐบาลฉบับแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทยจะถูกฉีกทิ้งในเวลาต่อมา


หัวหน้า 8 พรรคการเมืองร่วมเซ็นยูจัดตั้งรัฐบาล และประกาศ 23 วาระร่วมกันเมื่อ 22 พ.ค. 2566 โดยหวังบันทึกประวัติศาสตร์หน้าใหม่กลบทับการรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557
  • แม้รวบรวมเสียงข้างมากในสภาล่างได้ แต่พรรค กก. ไม่อาจหาเสียงสนับสนุนจาก สว. ได้ตามคาด ที่ประชุมรัฐสภามีมติเมื่อ 13 ก.ค. เห็นชอบให้พิธาเป็นนายกฯ 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน ยังขาดอีก 51 เสียง จึงจะผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่กำหนดให้ใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่งของสมาชิกรัฐสภาที่มีอยู่ หรือ 375 จาก 749 เสียง ทำให้ชื่อถูกตีตกกลางสภา
  • ต่อมา ก้าวไกลและพันธมิตรเสนอชื่อพิธาให้รัฐสภาโหวตเลือกเป็นนายกฯ อีกครั้งเมื่อ 19 ก.ค. ทว่าที่ประชุมรัฐสภามีมติ 395 ต่อ 312 ว่า การเสนอชื่อนายพิธารอบสอง "กระทำไม่ได้” เพราะขัดข้อบังคับการประชุมรัฐสภา ข้อที่ 41
นอกจากไม่ได้เข้าทำเนียบฯ พิธายังต้อง “เว้นวรรค” การทำหน้าที่ในสภา เมื่อศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องคดีถือ “หุ้นไอทีวี” ไว้พิจารณา พร้อมสั่งให้เขาหยุดปฏิบัติหน้าที่ สส. ตั้งแต่ 19 ก.ค. จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย ซึ่งศาลนัดฟังคำวินิจฉัย 24 ม.ค. 2567


พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ถอดบัตรประจำตัว สส. ออก ก่อนเดินออกจากห้องประชุมรัฐสภา หลังทราบมติศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว เมื่อ 19 ก.ค.

เพื่อไทยแพ้ แต่ส่งเศรษฐาเข้าทำเนียบฯ สำเร็จ

เมื่อโอกาสจัดตั้งรัฐบาลของพรรค ก.ก. หลุดลอยไป จึงได้เวลาที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ซึ่งเป็นพรรคอันดับ 2 จะออกมาแสดงตัวด้วยบทบาทใหม่-วิธีการใหม่ในฐานะแกนนำจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

ผลการเลือกตั้ง 14 พ.ค. ที่เพื่อไทยประสบความพ่ายแพ้เป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปีให้แก่พรรคการเมืองในขั้วเดียวกัน ทำให้อำนาจต่อรองของพรรคสีแดงลดลง ทางเดียวที่จะการันตีความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาลได้คือการผลักก้าวไกล ซึ่งถูกมองว่าเป็น “ภัยคุกคามใหม่” ของฝ่ายอนุรักษนิยม ออกจากสมการจัดตั้งรัฐบาล

2 ส.ค. แกนนำพรรค พท. ประกาศ “ขอถอนตัวจากการร่วมมือกัน” กับพรรค ก.ก. และเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลพรรคร่วมฯ ใหม่ เสนอชื่อ เศรษฐา ทวีสิน แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีลำดับ 2 ของพรรค เป็นนายกฯ คนที่ 30 และมิลืมประกาศจุดยืนว่า “จะไม่สนับสนุนการแก้ไขมาตรา 112” ซึ่ง สว. บางส่วนใช้เป็นเหตุผลในการโหวตคว่ำชื่อพิธากลางสภา

ไม่ว่าก่อนหรือหลังโหวตนายกฯ คนที่ 30 ได้เกิดภาพที่สังคมการเมืองไทยไม่คิดว่าจะได้เห็น ก็ได้เห็น โดยมี 2 ช็อตสำคัญ

ภาพแรกคือ การเปิดที่ทำการพรรคเพื่อไทย ถ.เพชรบุรีตัดใหม่ ต้อนรับแกนนำ 5 พรรคการเมืองซึ่งมีทั้งที่เป็น “ลูกน้องเก่า” และ “คู่แค้นเก่า” ของ ทักษิณ ชินวัตร ในระหว่าง 22-23 ก.ค. โดยอ้างว่าเป็นการ “พูดคุยหาทางออกให้ประเทศ ไม่ใช่การเชิญเข้าร่วมรัฐบาล”

ทว่าภาพที่ “ช็อตฟีล” กองเชียร์ที่สุด หนีไม่พ้น ภาพหัวหน้าพรรคและเลขาธิการพรรค รทสช. - พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ - ซึ่งเป็นอดีตคนประชาธิปัตย์ และอดีต กปปส. ที่ต่อสู้กับ “ระบอบทักษิณ” มายาวนาน พูดคุย-หัวร่อกับลูกน้องของอดีตนายกฯ ทักษิณ


พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และ เอกนัฏ พร้อมพันธุ์ ร่วมแถลงข่าวภายหลังพูดคุยกับแกนนำพรรค พท. เมื่อ 22 ก.ค.


อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เหลียวหลังดูหนังสือที่มี “นายเก่า” ทักษิณ ชินวัตร ขึ้นปก ในระหว่างไปเหยียบถิ่นเก่า เพื่อพูดคุยกับแกนนำพรรค พท. เมื่อ 22 ก.ค.

ต่อมาพรรค พท. เปิดตัว 11 พรรคร่วมฯ ชุดใหม่ ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย (141 ที่นั่ง), พรรคภูมิใจไทย (71 ที่นั่ง), พรรคพลังประชารัฐ (40 เสียง), พรรครวมไทยสร้างชาติ (36 ที่นั่ง), พรรคชาติไทยพัฒนา (10 ที่นั่ง), พรรคประชาชาติ (9 ที่นั่ง), พรรคชาติพัฒนากล้า (2 ที่นั่ง), พรรคเพื่อไทรวมพลัง (2 ที่นั่ง), พรรคเสรีรวมไทย (1 ที่นั่ง), พรรคพลังสังคมใหม่ (1 ที่นั่ง), พรรคท้องที่ไทย (1 ที่นั่ง) แน่นอนว่า 5 พรรคที่แกนนำมุดเข้ารังเพื่อไทยได้ร่วมรัฐบาลทั้งหมด

นักวิเคราะห์การเมืองทุกสำนักฟันธงตรงกันว่า การดึงเอาพรรค “2 ลุง” เข้าร่วมรัฐบาล เพราะเพื่อไทยหวังเสียงสนับสนุนจาก สว. ที่มาจากการแต่งตั้งของ คสช. แม้เผชิญกับเสียงวิจารณ์อย่างกว้างขวางเรื่องการตั้ง “รัฐบาลผสมพันธุ์ข้ามขั้ว” แต่แกนนำเพื่อไทยก็เดินหน้าต่อ และขอเรียกมันว่า “รัฐบาลพิเศษสลายขั้วการเมือง” นอกจากนี้ เศรษฐา ทวีสิน ยังขอให้ทุกฝ่ายลืมวาทกรรม “2 ลุง” โดยอ้างความจำเป็นจาก “คณิตศาสตร์การเมือง”

ภาพที่สองคือ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนที่ 30 เดินทางไปพูดคุย-คารวะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ คนที่ 29 ถึงตึกไทยคู่ฟ้า ทำเนียบรัฐบาล เมื่อ 24 ส.ค. ซึ่งเป็นภาพที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยในการเมืองไทย โดยเฉพาะเมื่ออดีตนายกฯ เพื่อไทยคนก่อน ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกยึดอำนาจในปี 2557 อีกทั้งในการหาเสียงรอบล่าสุดนี้ เพื่อไทยก็ประกาศ “ปิดสวิตช์ 3 ป.”

“พล.อ.ประยุทธ์เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพและได้พูดคุยกันดีแบบผู้ใหญ่” เศรษฐาบอกผู้สื่อข่าวหลังจับเข่าคุยกับอดีตหัวหน้า คสช.


นายกฯ คนที่ 29 เปิดทำเนียบฯ ให้การต้อนรับ เศรษฐา ทวีสิน นายกฯ คนที่ 30 เมื่อ 24 ส.ค. ก่อนที่เศรษฐาจะออกมาระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์เป็น “ผู้ใหญ่ที่น่าเคารพ”

บทสรุปของเรื่องนี้ เพื่อไทยเหมือนแพ้ แต่ชนะในเกมชิงอำนาจ เมื่อสามารถส่งนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผู้มีอายุงานการเมืองเพียง 175 วันนับจากเปิดตัวร่วมงานกับพรรค พท. (1 มี.ค.-22 ส.ค.) ขึ้นเป็นประมุขฝ่ายบริหารได้สำเร็จ

ทักษิณกลับไทย แต่ไม่ต้องนอนคุก

ในวันโหวตเลือก เศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกฯ คนที่ 30 เป็นวันเดียวกับที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คนที่ 23 ตัดสินใจเดินทางกลับบ้านเกิดในรอบ 15 ปีนับจากเดินทางมาไทยครั้งสุดท้ายปี 2551 โดยมีนักการเมืองและมวลชนเสื้อแดงไปรอต้อนรับที่สนามบินดอนเมือง

2 สัปดาห์สุดท้ายก่อนถึงวันเลือกตั้ง ทักษิณ “ขออนุญาต” กลับบ้านมาเลี้ยงหลาน โดยแจ้งผ่านบัญชีเอ็กซ์ 2 ครั้ง ในวันที่ 1 และ 9 พ.ค.

“ไม่ต้องกังวลว่าผมจะเป็นภาระพรรคเพื่อไทย ผมจะเข้าสู่กระบวนการกฎหมาย และวันที่ผมกลับยังเป็นช่วงรัฐบาลรักษาการของ พล.อ.ประยุทธ์อยู่ ทั้งหมดคือการตัดสินใจของผมเองด้วยความรักความผูกพันกับครอบครัว/แผ่นดินเกิดและเจ้านายของเรา” เขาระบุผ่านบัญชีเอกซ์เมื่อ 9 พ.ค.

แรกเริ่มเดิมที ทักษิณตั้งใจกลับไทยก่อนวันคล้ายวันเกิดปีที่ 74 ในวันที่ 26 ก.ค. ทว่าเมื่อพรรค พท. พ่ายแพ้ ผู้มีอำนาจจำต้อง “พลิกเกมใหม่” ทำให้แผนกลับบ้านของอดีตนายกฯ เลื่อนไปราว 1 เดือน

แม้ตัวทักษิณ และ แพทองธาร ชินวัตร บุตรสาว ผู้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค พท. จะอ้างว่า การกลับมาของทักษิณ “เป็นคนละเรื่องกัน” และ “ไม่เกี่ยวกับพรรคเพื่อไทย” แต่คอการเมืองน้อยคนนักจะเชื่อเช่นนั้น


ทักษิณ ชินวัตร เดินทางกลับไทยเมื่อ 22 ส.ค. โดยมีครอบครัวรอต้อนรับ

ทักษิณพ้นจากตำแหน่งเพราะถูกรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และถูกตั้งข้อหาทุจริตหลายคดี ในจำนวนนี้มีอยู่ 4 คดีที่ศาลพิพากษาแล้ว แต่มีอยู่ 1 คดีที่ขาดอายุความไปแล้ว

ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกนายทักษิณใน 3 คดี รวมกำหนดโทษ 8 ปี ประกอบด้วย 1. คดีให้ธนาคารเอ็กซิมแบงก์ปล่อยกู้เงินแก่เมียนมา 4,000 ล้านบาท จำคุก 3 ปี 2. คดีทุจริตโครงการหวยบนดิน จำคุก 2 ปี 3. คดีให้นอมินีถือหุ้นชินคอร์ป และเข้าไปมีส่วนได้เสียในกิจการโทรคมนาคม จำคุก 5 ปี

อดีตนายกฯ วัย 74 ปี ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในช่วงเที่ยงวันนั้น ทว่าผ่านเที่ยงคืนไปเพียง 20 นาที เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ก็ส่งตัวเขาไปรับการรักษาที่ รพ.ตำรวจ ด้วยอาการแน่นหน้าอก ความดันโลหิตสูง ระดับออกซิเจนปลายนิ้วต่ำ ระหว่างถูกคุมขังในแดน 7 ของเรือนจำ และ “พักรักษาตัว-พักฟื้น” อยู่ที่นั่นตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้

ในระหว่างนี้ ทักษิณได้ทำหนังสือทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษ ก่อนมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานอภัยลดโทษให้ จากจำคุก 3 คดี รวมเวลา 8 ปี เหลือโทษจำคุก 1 ปี “เพื่อจะได้ใช้ความรู้ความสามารถ ประสบการณ์ช่วยเหลือและทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ สังคมและประชาชน สืบไป”



ตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา เสียงวิพากษ์วิจารณ์กรณี “ขังนอกคุก” ดังขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ. 2566 ที่เปิดทางให้คุมขังผู้ต้องขังใน “สถานที่สำหรับอยู่อาศัย” หรือ “สถานพยาบาล” ประกาศใช้เมื่อ 6 ธ.ค. ก็ทำให้เกิดคำถามว่าเอื้อประโยชน์ให้แก่ “คนชั้น 14” หรือไม่


สส.ฝ่ายค้าน สว. นักกิจกรรมการเมือง และนักร้องการเมือง เริ่มทวงถามคำชี้แจงจากทั้ง รมว.ยุติธรรม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ว่าเมื่อไรจะนำชายที่พวกเขาเรียกว่า “นักโทษเทวดา” หรือ “อภิสิทธิ์ชน” กลับเข้าเรือนจำเสียที แต่ถึงเวลานี้ยังมีไม่ความชัดเจน

ประชาธิปัตย์ไม่ใช่พรรคร่วมฯ แต่ร่วมหนุนเศรษฐา

ปิดท้ายที่พรรคการเมืองเก่าแก่ที่สุดของไทยอย่างประชาธิปัตย์ (ปชป.) ซึ่งอยู่ในภาวะ “ตกต่ำที่สุด” ในรอบ 77 ปีนับจากก่อตั้งพรรค โดยเหลือผู้แทนฯ เพียง 25 คนเท่านั้น และมีคะแนนมหาชน (ป็อบปูลาร์โหวต) ต่ำล้าน โดยได้เพียง 9.2 แสนเสียง จนหลายคนลืมไปว่า ปชป. เคยมียุครุ่งเรือง-มีมวลชนสนับสนุน 12.1 ล้านเสียงในการเลือกตั้งปี 2550

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ประกาศลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคคนที่ 8 เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อการนำพรรคสีฟ้าตกที่นั่ง “พรรคเสี้ยวร้อย” ท่ามกลางกระแสเรียกร้องจากคนในให้เร่ง “ปฏิรูป-ฟื้นฟู-กอบกู้” ความน่าเชื่อถือศรัทธาคืนมาให้กับพรรค

การลุกจากเก้าอี้ของหัวหน้าคนเดิม ทำให้พรรคต้องจัดการประชุมใหญ่วิสามัญเพื่อเลือกหัวหน้าพรรคและกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) ชุดใหม่ ทว่าต้องใช้เวลาถึง 7 เดือน จัดประชุมถึง 3 หน (วันที่ 9 ก.ค., 6 ส.ค. และ 9 ธ.ค.) จึงจะได้หัวหน้าพรรคคนที่ 9 ที่ชื่อ เฉลิมชัย ศรีอ่อน อดีต สส.ประจวบคีรีขันธ์ และมี เดชอิศม์ ขาวทอง สส.สงขลา เป็นเลขาธิการพรรคคนใหม่



ในช่วงที่ผ่านมา ได้เกิด “ความปกติใหม่” ขึ้นใน ปชป. และเกิดการงัดข้อกันระหว่างฝ่าย “อำนาจใหม่” ในพรรคที่ส่งสัญญาณพร้อมร่วมรัฐบาลกับพรรค พท. กับฝ่าย “อำนาจเดิม” ที่ตั้งคำถามว่าความคิดเรื่องการต่อสู้กับระบอบทักษิณยังมีอยู่หรือไม่ และต้องการได้ผู้นำคนใหม่เอาจริงเอาจังกับการนำพรรคออกจากวิกฤต

ข่าวลือลอยลมเริ่มมีเค้าลางความจริง เมื่อเดชอิศม์เดินทางไปพบปะ-พูดคุยกับทักษิณ ชินวัตร ผู้มีอิทธิพลทางความคิดต่อพรรค พท. ที่เกาะฮ่องกง ในช่วงที่อำนาจในการจัดตั้งรัฐบาลย้ายมาอยู่ในมือเพื่อไทย

ในระหว่างการประชุม สส. ปชป. เมื่อ 3 ส.ค. ชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรค ปชป. ได้ยิงคำถามเรื่องนี้ใส่เดชอิศม์ตรง ๆ และได้รับคำชี้แจงว่า “ไปแก้บน และคุณทักษิณเชิญให้เข้าไปพบ”

แต่ความมาปรากฏชัด เมื่อเดชอิศม์นำทีม 16 สส. ร่วมลงมติ “เห็นชอบ” ให้เศรษฐาเป็นนายกฯ ในระหว่างการประชุมรัฐสภา 22 ส.ค. ทั้งที่มติพรรคคือ “งดออกเสียง”

ปชป. กับ พท. นั้นถือเป็น “คู่แค้นทางการเมือง” มายาวนานตลอด 2 ทศวรรษ นับจากยุคไทยรักไทย พลังประชาชน มาถึงเพื่อไทย ทว่าภายใต้ผู้บริหารพรรคชุดใหม่ อะไรก็เกิดขึ้นได้


เฉลิมชัย ศรีอ่อน เคยประกาศเอาไว้ก่อนการเลือกตั้งว่าหากนำ สส. เข้าสภาได้ต่ำกว่ายอดเดิม 52 คน จะวางมือเลิกเล่นการเมืองตลอดชีวิต แต่กลับรับตำแหน่งหัวหน้าพรรค ทำให้ถูกทวงถามหาสัจจะ


อภิสิทธิ์ชี้ว่า ปชป. ต้องฟื้นฟูพรรคถ้าคิดจะกลับมา “เราไม่เคยกลัวเป็นฝ่ายค้าน ทั้งที่หลายพรรคเป็นได้แค่พรรครัฐบาล กับพรรครอร่วมรัฐบาล แต่เราไม่ใช่”

เมื่อ ชวน หลีกภัย เสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคคนที่ 7 ชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคอีกครั้งเมื่อ 9 ธ.ค.

อภิสิทธิ์-เฉลิมชัย จึงขอปิดห้องคุยกัน ก่อนที่อภิสิทธิ์จะประกาศขอถอนตัวจากการเป็นผู้สมัคร และลาออกจากสมาชิกพรรคที่สังกัดมา 30 ปี

เขาถูกผู้สื่อข่าวถามว่าที่ตัดสินใจเช่นนี้ เพราะฝ่ายบริหารชุดใหม่จะเข้าร่วมรัฐบาลหรือเปล่า แต่อภิสิทธิ์ไม่ได้ตอบคำถามนี้

มีเพียงเวลาเท่านั้นที่จะบอกได้ว่า ปชป. จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลเศรษฐาหรือไม่

ทั้งหมดนี้คือภาพการเมืองไทย 2566 ซึ่งเริ่มต้นด้วยกระแส “การเมืองใหม่” แต่ลงเอยด้วยภาวะย้อนยุคหวนคืนสู่ “การเมืองเก่า” สำเร็จได้ด้วยการตกลง-ต่อรองของผู้มีอำนาจไม่กี่คนที่อยู่หลังฉาก