วันอังคาร, ธันวาคม 26, 2566

กก.ชุดภูมิธรรมเคาะทำประชามติ 3 ครั้ง รอบแรกใช้คำถามเดียว-ไม่ล็อก สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญ

พานรัฐธรรมนูญถูกนำมาจัดแสดง ในจัดกิจกรรมวันฉลองรัฐธรรมนูญประจำปี 2566 ที่รัฐสภา ย่านเกียกกาย เมื่อ 10 ธ.ค. 2566

กก.ชุดภูมิธรรมเคาะทำประชามติ 3 ครั้ง รอบแรกใช้คำถามเดียว-ไม่ล็อก สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญ

หทัยกาญจน์ ตรีสุวรรณ
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
เมื่อ 8 ชั่วโมงที่แล้ว

คณะกรรมการพิจารณาแนวทางแก้ไขรัฐธรรมนูญของรัฐบาล “เศรษฐา” มีมติให้ทำประชามติ 3 รอบ โดยคาดว่าประชาชนจะได้เข้าคูหาเลือกตั้งรอบแรกภายในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2567

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”

คือคำถามเพียงข้อเดียวที่รัฐบาลจะสอบถามประชาชนในการลงประชามติครั้งแรก โดยไม่มีการระบุให้ชัดเจนว่าสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) จะเป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นี่เป็นผลจากการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน วันนี้ (25 ธ.ค.)

หลังจากนี้ คณะกรรมการจะนำข้อสรุปที่ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายในเดือน ม.ค. 2567 ต่อไป

“ยืนยันว่ารัฐบาลจะมุ่งแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ผ่านไปให้ได้ภายใน 4 ปี พร้อมจะผลักดันอย่างเต็มที่ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้” นายภูมิธรรมแถลงภายหลังการประชุมนัดที่ 3 ซึ่งเป็นนัดส่งท้ายปี 2566

“นายกฯ ก็ถามผมอยู่ทุกวันว่าไปถึงไหนแล้ว” นายภูมิธรรมเล่า เพื่อยืนยันว่าไม่มีเหตุรัฐบาลต้องดึงเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ

รองนายกฯ กล่าวว่า คณะกรรมการเห็นว่าควรทำประชามติ 3 ครั้ง แต่ให้ความสำคัญกับครั้งแรกก่อนเพื่อให้ผ่านให้ได้


นายภูมิธรรม เวชยชัย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางการทำประชามติ เมื่อ 25 ธ.ค.

ด้านนายนิกร จำนง กรรมการเพื่อศึกษาแนวทางการทำประชามติฯ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า หาก ครม. ให้ความเห็นชอบวาระนี้ในเดือน ม.ค. 2567 ก็จะส่งเรื่องให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนดวันออกเสียงประชามติต่อไป ทั้งนี้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564 กำหนดให้การจัดประชามติ ต้องไม่เร็วกว่า 90 วัน และไม่ช้ากว่า 120 วัน จึงคาดว่าการทำประชามติครั้งแรกจะเกิดขึ้นได้อย่างเร็วที่สุดในเดือน เม.ย. และช้าที่สุดภายในเดือน พ.ค. 2567

นายนิกรเป็นประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2566 ซึ่งนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ในวันนี้

บีบีซีไทยขอสรุปและเปรียบเทียบข้อเสนอของคณะอนุกรรมการชุดนายนิกร กับมติของคณะกรรมการชุดใหญ่ ดังนี้

ทำประชามติกี่ครั้ง

คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติฯ เห็นควรให้ทำประชามติ 3 ครั้ง ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการ

ครั้งที่ 1 ก่อนเริ่มกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ครั้งที่ 2 ภายหลังการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 (เปิดทางให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร. เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่)

ครั้งที่ 3 ภายหลังการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร. แล้วเสร็จ ก่อนนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย

ใช้งบเท่าใด

ในการทำประชามติแต่ละครั้ง คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายราว 3,200 ล้านบาท หากต้องทำ 3 รอบ ก็เท่ากับว่าต้องใช้งบประมาณแผ่นดิน 9,600 ล้านบาท

นายนิกรอธิบายว่า ถ้าไม่มีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ก็ต้องใช้งบ 3,200 ล้านบาท ซึ่งมีความเห็นในที่ประชุมว่า “กฎหมายประชามติฉบับนี้ยังไม่เคยใช้เลย จะไปแก้ทำไม” อย่างไรก็ตามเขาได้ส่งมอบร่างแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติ ให้คณะกรรมการชุดใหญ่แล้ว

ส่วนความเป็นไปได้ในการจัดประชามติแก้ไขรัฐธรรมนูญพร้อม ๆ กับการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อประหยัดงบประมาณนั้น นายนิกรบอกว่า “รอไม่ได้ เพราะจะถูกมองว่าเตะถ่วง” เนื่องจากการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย. 2567 หากรอไปจัดประชามติครั้งแรกในตอนนั้นจะล่าช้าเกินไป แต่อาจใช้เป็นวันจัดประชามติครั้งที่ 2 ได้ หากรัฐสภาพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 256 แล้วเสร็จ


นิกร จำนง บอกว่าหากไปรอจัดประชามติครั้งแรกพร้อมการเลือกตั้งนายก อบจ. เพื่อให้ประหยัดงบ อาจถูกมองว่ารัฐบาล "เตะถ่วง”

ตั้งคำถามว่าอะไร


คณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนฯ เสนอคำถามที่จะใช้ในการทำประชามติครั้งแรก โดยแบ่งเป็นออกเป็น 2 แนวทาง แต่คณะกรรมการชุดนายภูมิธรรมเลือก แนวทางที่ 2 คำถามที่ 1 แต่เปลี่ยนคำว่า “ซึ่ง” เป็น “โดย”

ข้อเสนอเดิมของคณะอนุกรรมการ

แนวทางแรก ใช้คำถามเดียวกัน
  • คำถามที่ 1: “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) โดยไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 บททั่วไป และหมวด 2 พระมหากษัตริย์”
  • คำถามที่ 2 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.”
แนวทางที่ 2 ใช้ 2 คำถาม และมีคำถามให้เลือก 2 ชุด

ชุดคำถามแรก
  • คำถามที่ 1: “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งไม่มีการเปลี่ยนแปลงหมวด 1 และ หมวด 2”
  • คำถามที่ 2: “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะให้ สสร. เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
ชุดคำถามที่สอง
  • คำถามที่ 1 “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดย สสร.”
  • คำถามที่ 2 คือ “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะให้ สสร. เป็นผู้จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่”
ข้อสรุปของคณะกรรมการชุดใหญ่

“ท่านเห็นชอบหรือไม่ ที่จะมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยไม่แก้ไขหมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”


กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญนำรายชื่อ 205,739 รายชื่อ ยื่นต่อ กกต. เพื่อเสนอคำถามประชามติจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เมื่อ 30 ส.ค.

ส่วนสาเหตุที่ไม่มีการเอ่ยถึง สสร. ในคำถามประชามติรอบแรก นายนิกรชี้แจงว่า หากตั้งคำถามเลยไปถึงเรื่อง สสร. กลัวว่าจะมีการโต้แย้ง หรือถูกร้องว่าสิ่งที่ทำประชามติขัดรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 166 ที่ไม่ให้ขอให้มีการออกเสียงประชามติในเรื่องที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ

“การเสนอให้มี สสร. ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เท่ากับว่าเรากำลังถามว่าจะยกเลิกรัฐธรรมนูญ 2560 และมีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญออกมาแล้ว จึงกันเอาไว้ก่อน เพราะเราไม่รู้ว่าใครจะร้องบ้าง ดังนั้นค่อยถามเมื่อถึงเวลาจะดีกว่า รอไว้ในขยัก 2” นายนิกรกล่าว

สสร. มาจากไหน

เมื่อตัด สสร. ออกจากคำถามประชามติยกแรก ทำให้โมเดล สสร. ที่นายนิกรเคยโยนไว้ต่อสาธารณะ ไม่ได้รับการพิจารณาในวันนี้

คำถามที่เกิดขึ้นคือ หากประชามติยกแรกผ่าน เข้าสู่ขั้นตอนจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 จะใช้โจทย์ใดกำหนดที่มาและอำนาจหน้าที่ของ สสร.

นายนิกรตอบว่า สิ่งที่เขาเสนอไว้เป็นเพียงตุ๊กตาที่สรุปจากการรับฟังความเห็นของฝ่ายต่าง ๆ ถึงเวลา ครม. อาจยื่นร่างกฎหมายของตัวเองก็ได้ แต่ “รัฐบาลกำหนด สสร. ไม่ได้ เพราะเป็นอำนาจของรัฐสภาโดยแท้”


ก่อนหน้านี้ นายนิกรเสนอให้มี สสร. จำนวน 100 คน มีที่มาจาก 2 แหล่ง

77 คน มาจากเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน จังหวัดละ 1 คน

23 คน มาจากการเลือกตั้งทางอ้อมผ่านรัฐสภา
  • เป็นตัวแทนจากองค์กร 5 กลุ่ม ได้แก่ ด้านเด็กและเยาวชน, ด้านสตรี, ด้านผู้สูงอายุ, ด้านผู้พิการ, และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ด้านละ 2 คน รวม 10 คน
  • เป็นผู้เชี่ยวชาญจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ ผู้เชี่ยวชาญสาขากฎหมายมหาชน 5 คน, ผู้เชี่ยวชาญสาขารัฐศาสตร์/รัฐประศาสนศาสตร์/สังคมศาสตร์/เศรษฐศาสตร์ 4 คน, ผู้มีประสบการณ์ด้านการเมือง การบริหารราชการแผ่นดิน หรือการร่างรัฐธรรมนูญ 4 คน รวม 13 คน
ก้าวไกลชง สสร. 3 ประเภท เลือกตั้ง 100%



ก่อนหน้านี้ พรรคก้าวไกล (ก.ก.) โดยนายพริษฐ์ วัชรสินธุ โฆษกพรรค ออกมาให้ความเห็นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรถูกร่างโดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้ง 100% และเสนอให้แบ่ง สสร. เป็น 3 ประเภท มีบัตรเลือกตั้ง 3 ใบ สรุปได้ ดังนี้
  • ประเภท ก. = สสร. ตัวแทนพื้นที่ อาจใช้จังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง
  • ประเภท ข. = สสร. ตัวแทนผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์ หรือฝ่ายวิชาการ เปิดให้ผู้สนใจและผ่านคุณสมบัติสมัครเข้ามา และให้ประชาชนเลือกผ่านคูหา
  • ประเภท ค. = สสร. ตัวแทนกลุ่มความหลากหลาย เปิดให้ผู้สนใจสมัครโดยระบุว่าเป็นตัวแทนกลุ่มความหลากหลายกลุ่มใด และให้ประชาชนเลือกผ่านคูหา
นายพริษฐ์ย้ำว่า แนวคิด สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ไม่ได้เป็นแนวคิดใหม่และผูกขาดจากการเสนอจากพรรค ก.ก. เพียงอย่างเดียว ในปี 2563-2564 รัฐสภาได้การพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับ สสร. ในวาระที่ 2 มีการลงมติเกินกึ่งหนึ่งว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ซึ่งนายนิกรก็เคยเป็นหนึ่งใน สส. ที่อยู่ในรัฐสภาชุดนั้น

อย่างไรก็ตามหากยังเห็นต่างกันจริง ๆ พรรค ก.ก. เสนอให้ประเด็นนี้เป็นหนึ่งในคำถามรองที่ถูกถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก นอกเหนือจากคำถามหลัก หากประชาชนลงความเห็นไปในทิศทางใดผ่านการทำประชามติ เชื่อว่าสมาชิกรัฐสภาทุกคนพร้อมเดินหน้าต่อตามเสียงของประชาชน