ถนนรามอินทราช่วงต้น ๆ มีชาวจีนมาอาศัยเพิ่มขึ้นในช่วงปีนี้ เนื่องจากใกล้กับมหาวิทยาลัยเกริกที่มีชาวจีนมาเรียนเป็นจำนวนมาก
ย่านจีนใหม่บางเขน-รามอินทรา กับการรุกคืบเข้ามาของทุนจีนในมหาวิทยาลัยไทย
ธันยพร บัวทอง
ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย
23 ธันวาคม 2023
เสียงสนทนาในวงร้านข้าวต้ม อื้ออึงแข่งกับเสียงรถบนถนนพหลโยธิน เป็นเสียงต่างชาติต่างภาษาจากมณฑลใดสักแห่งของจีน หนุ่มสาวชาวจีนในชุดเสื้อสีขาวแบบนักศึกษา คือประชากรกลุ่มใหม่ที่มาอยู่อาศัยในย่านบางเขน ตั้งแต่สะพานใหม่ จนถึงรามอินทรา
ไม่ไกลจากตรงนั้นในซอยพหลโยธิน 69 หนุ่มสาวชาวจีนเดินขวักไขว่เข้าออกร้านสะดวกซื้อ บ้างหอบข้าวของเหมือนนักศึกษาเพิ่งย้ายเข้ามาอยู่หอเมื่อเปิดเทอมใหม่ ปะปนกับคนไทยที่อยู่อพาร์ทเมนท์ในซอยนี้
แม่ค้าขายอาหารริมทาง บอกเล่าสิ่งที่ได้ฟังมาว่า มหาวิทยาลัยเกริกได้ซื้อตึกหอพักในซอยเพื่อให้นักศึกษาอยู่ ร้านอาหารจีน ร้านของชำของชาวจีนเริ่มเข้ามาเปิดประปราย เช่นเดียวกับห้างค้าปลีก ห้างสรรพสินค้า ลูกค้าที่ต่อแถวคิดเงินหรือนั่งกินข้าวในฟู้ดคอร์ทก็มีคนจีนมากขึ้นอย่างสังเกตได้
“ตรงนี้มันไชน่าทาวน์ไปแล้ว มีทั้งที่กิน ที่พัก ที่เรียน ร้านค้าเขาก็มาเปิดขายของเขา” วินมอเตอร์ไซค์หน้าห้างคนหนึ่งบอกกับบีบีซีไทย
นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปีนี้ หลังจากจีนกลับมาเปิดประเทศ ยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางจากโควิด-19
บีบีซีไทยได้พบกับนักศึกษาจีนกลุ่มหนึ่งในคอนโดมิเนียมติดกับรถไฟฟ้าสถานีสายหยุด เขตบางเขน พวกเขาเป็นนักศึกษาปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยเกริก ที่เพิ่งมาอยู่ไทยได้เพียง 4 เดือน
"น็อตตี้" นักศึกษาหนุ่มจีน วัย 20 ปี จากมณฑลซานตง บอกว่า เลือกมาเรียนเมืองไทยเพราะชอบบ้านเมืองนี้และครอบครัวก็สนับสนุน อีกทั้งเป็นโอกาสที่เขาได้สัมผัสกับคนและขนบธรรมเนียมที่แตกต่างออกไป
“มหาวิทยาลัยในไทยนั้นค่อนข้างที่จะเปิดกว้าง ที่นี่ยอมรับความหลากหลายความแตกต่างของวัฒนธรรมได้มากกว่าที่จีน ทำให้ได้ซึมซับความรู้ในแบบที่ไม่เหมือนกัน” น็อตตี้ ซึ่งมาเรียนสาขาการเงินการบัญชี กล่าว
"การใช้ชีวิตในเมืองไทย ไม่รีบร้อนรีบเร่ง เรียกได้ว่า ช้า ๆ และสภาพแวดล้อมก็สบายมาก ๆ"
ซอยพหลโยธิน 69 ย่านสายหยุด-สะพานใหม่ เขตบางเขน กทม. เป็นซอยที่มีอพาร์ทเมนต์หลายแห่ง ผู้อาศัยส่วนมากเป็นนักศึกษาและวัยทำงาน
ทุนจีนในมหาวิทยาลัยไทย เริ่มตั้งแต่ก่อนการเกิดโควิด
เมื่อต้นปีมานี้ ข่าวนักลงทุนจีนซื้อมหาวิทยาลัยเกริก ทำให้ทราบว่ามีผู้บริหารชาวจีนเข้ามาบริหาร เมื่อคลิกเข้าไปดูที่เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย จะพบว่ารองอธิการบดี 2 คน กรรมการสภามหาวิทยาลัย และคณบดีในบางคณะวิชา ล้วนแต่เป็นชาวจีน
ศ.นพ.ดร.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก กล่าวกับบีบีซีไทยว่า แรงจูงใจที่นักลงทุนจีนมาร่วมทุน เกิดจากนักศึกษาจีนมีมากขึ้นทุกปี จากปัญหาความจำกัดของที่เรียนในจีน นักลงทุนจีนที่ชื่อว่า หวัง ฉางหมิง ซึ่งเป็นเอเจนท์นำชาวจีนมาเรียนที่ไทยกว่า 10 ปี จึงเห็นว่าแทนที่จะเป็นเพียงตัวแทนจัดส่ง การทำมหาวิทยาลัยเองน่าจะเป็นโอกาสที่ดี
ศ.นพ.ดร.กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยของ ม.เกริก เอง เพราะก่อนหน้าที่ชาวจีนจะมาร่วมทุน ม.เกริก ประสบปัญหามีนักศึกษาไทยน้อยลงอยู่ระดับ 300-400 คน เมื่อนักลงทุนจีนสนใจร่วมทุนจึงเป็นทางรอดของมหาวิทยาลัย
ชาวจีนเข้ามาถือหุ้นกิจการของ ม.เกริก จำนวน 49% ตามเพดานสูงสุดที่กฎหมายไทยอนุญาต ตั้งแต่ ปี 2561แล้ว แต่เนื่องจากเกิดการระบาดของโควิด-19 นักศึกษาจีนจึงกลับประเทศ จนกระทั่งกลับมาเรียนออนไซต์ที่ไทยปีนี้
"การมีคนมาทำต่อ มาลงทุนต่อ พัฒนาให้มันเกิดเป็นมหาวิยาลัยเกริกอย่างทุกวันนี้ ผมมองบวกลบคูณหารตามสามัญสำนัก ผมว่ามันดีกว่าไม่ได้ทำ" ศ.นพ.กระแส กล่าว "ผมคิดว่าวันนี้ถ้าหากจีนสนใจไทย แล้ว Why not (ทำไมถึงไม่) ที่จะต้องเตรียมตัวเพื่อต้อนรับจีน"
มหาวิทยาลัยเอกชนที่มีชาวจีนเข้ามาร่วมทุนซื้อกิจการ ยังมี ม.สแตมฟอร์ด และ ม.เมธารัถย์ (ม.ชินวัตร เดิม) ตามการเปิดเผยของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เมื่อต้นปี 2566
ปีการศึกษา 2565 มีนักศึกษาต่างชาติในไทย ทั้งหมด 36,060 คน เป็นนักศึกษาจีนไปแล้ว 21,906 คน การเพิ่มขึ้นของนักศึกษาจีน นับว่าเพิ่มขึ้นถึง 9 เท่า จากเมื่อปี 2553 ที่มีนักเรียนจีนราว ๆ 2,000 คนเท่านั้น ปัจจุบันชาวจีนส่วนใหญ่เรียนในมหาวิทยาลัยเอกชนเกือบ 70% มากที่สุดอยู่ที่ ม.เกริก ซึ่งมีนักศึกษาชาวจีนอยู่ 4,199 คน จากนักศึกษาทั้งหมด 6,341 คน (ข้อมูลจาก อว. ปีการศึกษา 2565 ภาคเรียนที่ 1)
บรรยากาศในซอยรามอินทรา 1 ที่ตั้งมหาวิทยาลัยเกริก
หลักสูตรที่เปลี่ยนไป
เมื่อเข้าไปใน ม.เกริก อาคารสถานที่ต่าง ๆ ถูกติดป้ายไว้ด้วยภาษาจีน ตามห้องสมุด โรงอาหาร มีนักศึกษาจีนใช้บริการปะปนกันกับนักศึกษาชาวไทยที่ส่วนใหญ่เรียนในวิทยาลัยอิสลามนานาชาติ
จากข้อมูลของกระทรวง อว. นักศึกษาชาวจีนที่ ม.เกริก เกือบทั้งหมด เรียนในวิทยาลัยนานาชาติที่การเรียนการสอนทั้งหมดเป็นภาษาจีน โดยครึ่งหนึ่งเป็นนักศึกษาระดับปริญญาโท สาขาที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ หลักสูตรบริหารธุรกิจ และการบริหารการศึกษา
แม้จะมีนักศึกษาจีนเข้ามาจำนวนมากหลังการร่วมทุน แต่ผู้บริหาร ม.เกริก ชี้แจงกับบีบีซีไทยว่า สัดส่วนของนักศึกษาจีนและไทย ยังคงมีจำนวนพอ ๆ กัน
หลักสูตรนานาชาติที่สอนเป็นภาษาจีน สถาบันภาษาและวัฒนธรรมจีน เป็นความเปลี่ยนแปลงหลักที่เกิดขึ้น เพราะก่อนหน้านี้ ม.เกริก มีหลักสูตรนานาชาติสอนเป็นภาษาอังกฤษ เมื่อมีการเพิ่มหลักสูตรใหม่ ศ.นพ.ดร.กระแส กล่าวว่า มีการขออนุมัติหลักสูตรตามขั้นตอนของกระทรวง อว. และรัฐบาลจีนก็ให้การยอมรับด้วย
"เราไม่ถึงกับส่งไปให้เขา approve (อนุมัติ) หรอกครับ แต่ว่าประเทศไทย กระทรวง อว. ดูทุกขั้นตอน เมื่อผ่านกระทรวงเราแล้ว แปลว่าเป็นที่รู้กันว่า ทางประเทศไทยก็ควบคุมกันพอสมควร" อธิการบดี ม.เกริก กล่าว
นอกจากนี้ยังมีการจัดตั้งสถาบันวิชาการนอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ผ่านการสัมมนา อบรม โดยเนื้อหาจะสอดรับกับยุทธศาสตร์สายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Initiative – BRI) ของจีน
พื้นเพของชาวจีนที่มาเรียนที่ ม.เกริก พบว่า มาจากทั่วประเทศจีน เพราะนักลงทุนจีนมีเอเจนท์สาขาอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ในจีนถึง 28 แห่ง แต่ทางมณฑลยูนนานจะมากกว่าภูมิภาคอื่น เพราะไม่ไกลจากไทย
จีนรุ่นใหม่ ในมหาวิทยาลัยไทย
การฝึกฝนภาษาไทยหลังจากอยู่ไทยมา 6 ปี ทำให้ หวัง หยูว นักศึกษาหญิงชาวจีนวัย 24 ปี สื่อสารภาษาไทยกับบีบีซีได้อย่างคล่องแคล่ว
หยูว ที่มีชื่อภาษาไทยว่า “ขนมปัง” เรียนที่ ม.เกริก มาตั้งแต่ปริญญาตรี จนตอนนี้ เธอกำลังเรียนปีสุดท้ายของปริญญาโท ในด้านบริหารการศึกษา เธอบอกว่า ที่เลือกเรียนด้านนี้ เพราะอยากเป็นอาจารย์สอนภาษาจีนหรือไม่ก็ภาษาไทย ที่เธอกำลังฝึกฝนอยู่
แรงจูงใจในการมาเรียนที่ไทยของหยูว เริ่มจากการชอบดูซีรีส์ไทย แรกทีเดียวครอบครัวไม่เห็นด้วย แต่หยูวบอกกับที่บ้านว่าไปเรียนต่างประเทศจะทำให้ได้ภาษาอื่น ซึ่งช่วยเพิ่มรายได้ในอนาคต เธอยังรู้สึกว่า ความเป็นอยู่ในไทยไม่ได้แพงไปกว่าเมืองจีน การดำเนินชีวิตก็ "สบาย ๆ" แม้จะกังวลข่าวเรื่องยิงคนในห้างบ้าง "แต่รู้สึกสบายดี ดีกว่าที่จีน"
หยูวยังยืนยันด้วยว่า การเข้ามหาวิทยาลัยในจีนนั้นแข่งขันสูงมาก คนที่สอบไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยนไปเรียนสายอาชีพ ไม่ก็ต้องหางานทำ
หยูวพักอยู่ที่หอพักใกล้กับมหาวิทยาลัย การอยู่ไทยมาหลายปีทำให้เธอคุ้นเคยไม่เพียงแต่ย่านรามอินทราเท่านั้น แต่ยังรวมถึงโซนอื่น ๆ ของกรุงเทพฯ ดังที่ เธอบอกว่า ห้างที่เธอชอบเดินก็คือห้างดังย่านลาดพร้าว
โลกการทำงานหลังเรียนจบในจีนดูไม่น่าจะดึงดูดนักสำหรับหยูวในวัย 24 ปี เธอบอกเราว่า ตั้งใจทำงานต่อในเมืองไทย เพราะการดำเนินชีวิตที่นี่ไม่เคร่งครัด รายได้ก็เหมาะสมโดยไม่ต้องแข่งขันสูง ถ้าวันข้างหน้าอยากปักหลักที่ไทย พ่อแม่ก็พร้อมย้ายมาอยู่ เพราะซื้อบ้านที่ไทยตอนนี้ถูกกว่าในจีน
"ถ้าเราอยากทำงานที่นี่ รายได้จะสูงกว่า และจะรู้สึกว่าไม่กังวล เพราะที่จีนตอนนี้ทุกคนขยันไปหมด ต้องขยันมาก ๆ จึงจะมีรายได้ค่อนข้างสูง ที่นี่่เหมือนโอกาสเยอะกว่า" หยูวกล่าว "สำหรับคนจีน ถ้าอยากกลับจีนไปหางาน หายาก ถึงแม้ว่าเราเก่ง 3 ภาษา ก็รายได้ไม่เกิน 50,000 บาท ถ้าอย่างนั้นทำไมไม่อยู่ไทย"
นี่อาจเป็นความรู้สึกร่วมของชาวจีนในไทย เพราะว่าในตอนนี้ เศรษฐกิจไม่ได้ไปได้สวยเหมือนช่วงที่การเจริญเติบโตเร่งเครื่องสูงสุดเมื่อหลายปีก่อน
ในปีนี้ กว่า 1 ใน 5 ของชาวจีนอายุระหว่าง 16-24 ปี ตกอยู่ในสภาวะว่างงาน อัตราการว่างงานในคนหนุ่มสาวก็พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 21.3% ตามข้อมูลของรัฐบาลจีนเมื่อเดือน ก.ค. ถือว่าสูงที่สุดนับแต่จีนเริ่มเผยแพร่ข้อมูลในปี 2018
อย่างไรก็ตาม สำหรับ น็อตตี้ นักศึกษาจีนอีกคน แม้เข้าใจสถานการณ์ในจีนตอนนี้ดี แต่เขาเห็นว่า คนรุ่นใหม่จำนวนมากมีแนวคิดทำนองว่า การที่ทุกคนไม่มีงานทำถือเป็นเรื่องปกติ
"เรื่องปกติก็คือการหางานทำไม่ได้ งั้นถ้าตัวเราไม่มีงานทำก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัวอะไร และด้วยแนวคิดแบบนี้เอง ทำให้คนหนุ่มสาวไม่รู้สึกเกิดความกระตือรือร้นเพื่อหางานทำ"
นักศึกษาจีนเริ่มมาเรียนในไทยตอนไหน
ผศ.ดร.ชาดา เตรียมวิทยา อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยี พระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้เชี่ยวชาญด้านชาวจีนอพยพ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า คนจีนเข้ามาเรียนเมืองไทยตั้งแต่ช่วงปี 1980 จากนโยบายเปิดประเทศของจีน ที่ต้องการให้คนจีนระดับหัวกะทิอย่างนักเรียนทุน หรือ ตัวแทนรัฐบาล ออกไปเห็นโลกกว้าง
แต่ช่วงที่เข้ามาเยอะเป็นช่วงตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา หลังจากที่จีนเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก การออกไปเรียนต่างประเทศของชาวจีนก็เพิ่มขึ้น ในไทยเองก็มี ม.อัสสัมชัญ เป็นที่แรกที่เปิดนานาชาติ ช่วงนั้นชาวจีนเข้ามาเพื่อเรียนภาษาอังกฤษ หลังจากนั้นก็มาอย่างต่อเนื่อง พร้อม ๆ กับการขยายตัวของมหาวิทยาลัยเอกชนในช่วง 20 ปี
"เดิมทีเป็นการเข้ามาเรียนแบบปากต่อปาก ต่อมาเป็นระบบเอเจนท์จีน เริ่มต้นจากกลุ่มนักศึกษาจีนที่เคยเข้ามาเรียนในไทยแล้วก็กลับเข้ามา ซึ่งมีการเก็บค่าคอมมิชชั่น ค่าดำเนินการ ต่อมาตอนหลังจะเริ่มเป็นบริษัท ซึ่งจุดที่น่าสนใจคือพวกเขาจะไม่มีการทับเส้นกัน และแปลกที่ว่าเอเจนท์จีนรู้จักกันหมด"
ผศ.ดร.ชาดา ชี้ว่า ถ้าเทียบตัวเลือกในแถบอาเซียน ไทยนับว่าเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด ท่ามกลางทางเลือกอย่าง สิงคโปร์ มาเลเซีย เพราะการมาไทยนั้นจ่ายน้อยกว่า
จีนมาเรียนที่ไทยมากขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยจีนมีที่นั่งจำกัด จีนเองก็ให้ที่นั่งเด็กเก่งจากนานาชาติเข้าไปเรียนมากขึ้นด้วย จึงกดดันให้นักศึกษาจีนแสวงหาที่เรียนนอกประเทศ นอกจากนี้รัฐบาลท้องถิ่นจีนยังให้สิทธิพิเศษหลังจากเรียนจบ ได้แก่ สิทธิย้ายทะเบียนบ้าน สิทธิยกเว้นภาษีทำธุรกิจปีแรก และให้เงินทุนสนับสนุนก้นถุง ซึ่ง ผศ.ดร.ชาดา บอกว่า เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะจีน “กลัวว่าปัญหาการเมืองในประเทศจะทำให้สมองไหล”
การรุกคืบของทุนจีนในมหาวิทยาลัยไทย
นอกจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นในการมาเรียนไทย เหตุที่ทำให้ทุนจีนเข้ามาร่วมทุนกับมหาวิทยาลัยในไทย เป็นเรื่องของการทำธุรกิจ
ผศ.ดร.ชาดา กล่าวว่า เรื่องนี้เกิดจากการผูกขาดการส่งนักศึกษาของเอเจนท์ เนื่องจากเมื่อทับเส้นกันไม่ได้แล้วก็ขยายธุรกิจไม่ได้ การเข้าซื้อมหาวิทยาลัยจึงเป็นทางเลือก
“เขามองว่าจะซื้อแบบสำเร็จรูป เขาก็คอยดูว่า ที่ไหนจะเลิกกิจการบ้าง เขาจะเข้าไปร่วมทุน แต่พวกนี้ก็จะคิดก่อนว่า จะคุ้มไหม เพราะฉะนั้นมันไม่แปลกที่เขาจะเอามหาวิทยาลัยที่พอไปได้ และส่วนใหญ่เขาจะมองว่า ทางมหาวิทยาลัยเอกชนเองก็ต้องการเงินลงทุน เพื่อให้อยู่ได้ ทุนจีนมาฉันก็ยอม”
การยืนยันจาก กระทรวง อว. เมื่อต้นปี 2566 ระบุว่า มหาวิทยาลัยไทยที่ชาวจีนร่วมทุนมีอยู่ 3 แห่ง หลังจากมีนักวิชาการบางส่วนเปิดเผยว่า มีนักธุรกิจจีนเข้าเจรจาอยู่ราว 10 แห่ง บีบีซีไทย สอบถามเรื่องนี้ไปยังกระทรวง อว. ในเดือน ธ.ค. แต่ไม่ได้รับการตอบรับเข้าสัมภาษณ์
อาคารอพาร์ทเมนต์หลังห้างเซ็นทรัล รามอินทรา ที่ชาวบ้านในพื้นที่บอกว่าเป็นหอพักของนักศึกษาชาวจีน ที่ด้านหน้าติดป้ายว่าเป็นของบริษัท เกริก อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น โฮลดิ้ง จำกัด มีนายหวัง ฉางหมิง นักธุรกิจชาวจีนเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่
ร้านขายของชำจีนบริเวณใกล้กับสถานีบีทีเอส สายหยุด พหลโยธิน สะพานใหม่
ได้คุ้มเสียหรือไม่
ผศ.ดร.ชาดา ชี้ว่า การเพิ่มขึ้นของนักศึกษาจีน และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของการเปิดหลักสูตรนานาชาติเพื่อรองรับนักศึกษาจีน ทั้งในมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชน มาพร้อมกับความน่ากังวลของคุณภาพการศึกษา
นักวิชาการผู้นี้กล่าวว่า ปัญหาในมหาวิทยาลัยซึ่งสอนหลักสูตรนานาชาติเป็นภาษาอังกฤษ บางที่ประสบปัญหาเรื่องความสามารถทางภาษาของเด็กจีน ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า "ล่ามมหาวิทยาลัย" ที่นักศึกษาจีนจ้างมาแปลเป็นภาษาจีน
หรือกระทั่งบางแห่งแม้ชื่อเป็นหลักสูตรภาษาอังกฤษ แต่อาจารย์กลับสอนภาษาไทย เพื่อให้สะดวกต่อการจัดหาล่ามแปลไทยเป็นจีนที่มีค่าใช้จ่ายถูกกว่าล่ามอังกฤษแปลเป็นจีน
"อาจารย์พูดภาษาอังกฤษไป ล่ามก็จะแปลเป็นภาษาจีนไปในห้องเรียนเลย กระทั่งการเรียนออนไลน์" ผศ.ดร.ชาดา กล่าว พร้อมบอกว่าด้วยว่า พบการจ้างการเขียนวิทยานิพนธ์ในมหาวิทยาลัยบางแห่งด้วย
ผศ.ดร.ชาดา เตรียมวิทยา เคยทำการศึกษาชาวจีนอพยพในย่านห้วยขวาง เธอบอกว่า ชาวจีนย่านห้วยขวางแตกต่างจากย่านมหาวิทยาลัย เพราะเป็นกลุ่มแรงงานที่เข้ามาทำงาน ส่วนมากเป็นชาวจีนที่จบการศึกษาภาคบังคับ
ผศ.ดร.ชาดา เสริมด้วยว่า การเข้ามามากขึ้นของนักศึกษาจีน ด้านหนึ่งยังกระทบนักศึกษาไทยในแง่การเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสในการเข้าเรียน เพราะการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้นการเข้ามาของนักศึกษาจีนจำนวนมากก็ทำให้ไม่อาจทราบได้ว่ามีผู้ที่แอบแฝงทำอย่างอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเรียนด้วยหรือไม่
แนวโน้มและความกังวล
เมื่อถามถึงแนวโน้มการมาเรียนในไทยของนักศึกษาจีน ผศ.ดร.ชาดา มองว่า ขึ้นอยู่กับคุณภาพ และหากเอเจนท์จีนยังหาเด็กนักเรียนจีนได้มากขึ้นและสม่ำเสมอ ก็เห็นว่าจะมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่รัฐบาลไทยก็ต้องควบคุมคุณภาพของมหาวิทยาลัยที่เปิดรับนักศึกษาจีนด้วย
"แนวโน้มน่าจะมาเรื่อย ๆ ถ้าเปรียบเทียบกับ อินเดีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ตอนนี้ไทยเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดในตอนนี้ของเขา"
ส่วนผลที่จะได้กับประเทศไทย รวมทั้งผลกระทบต่อชุมชน ผู้เชี่ยวชาญด้านจีนอพยพ ชี้ว่า อยู่ที่ภาครัฐที่จะควบคุมดูแล ทั้งการศึกษาและการเข้ามาของธุรกิจจีนในชุมชนไทย
"กลัวอิทธิพลจีนครอบงำหรือเปล่า มันอยู่ที่ว่าเราสร้างความเป็นชาตินิยมให้กับเด็กเราได้แค่ไหน... ส่วนเรื่องธุรกิจมันอยู่ที่ภาครัฐจะจัดการว่า คุณจะมีโควตา ได้เท่าไหร่ในเขตนี้" ผศ.ดร.ชาดา ทิ้งท้าย
.....