iLaw
10h
·
ก่อนท้องฟ้าจะสดใส: ประชามติครั้งแรกต้องเป็นที่ยอมรับ การใส่ 'หมวด1-2' เป็นคำถามจะเพิ่มข้อถกเถียงต่อบทบาทของสถาบันฯ
บทสรุปจากการทำงานตลอดทั้งสามเดือนของ “คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” หรือ คณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ ถูกแถลงโดย ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566 โดยมีข้อสรุปในสองประเด็นสำคัญ คือ
ประเด็นที่ 1 จะมีการจัดทำประชามติเพื่อเขียนรัฐธรรมนูญใหม่สามครั้ง
ครั้งที่ 1 คือ การทำประชามติถามประชาชนว่า เห็นด้วยหรือไม่กับการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่
ครั้งที่ 2 คือ การทำประชามติเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ตามที่มาตรา 256 กำหนดไว้
ครั้งที่ 3 คือ การทำประชามติรับรองร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ประเด็นที่ 2 การทำประชามติครั้งแรกจะถามคำถามประชามติคำถามเดียวใจความว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
จากบทสรุปข้างต้นต้องยอมรับว่า "น่าผิดหวัง" ที่หลังระยะเวลาสามเดือนไม่มีบทสรุปใหม่ที่แตกต่างออกไปจาก "ธง" ซึ่งวางไว้อยู่แล้ว และเป็นการตัดสินใจที่ "น่ากังวลอย่างยิ่ง" โดยเฉพาะการตั้งคำถามประชามติครั้งแรกที่ออกแบบ "ล็อก" ไม่ให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวด 1 และหมวด 2 ซึ่งไม่เคยมีการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ครั้งไหนในประวัติศาสตร์การเมืองไทยที่มีข้อห้ามเช่นนี้มาก่อน
จนนำมาสู่ความผิดหวังและความกังวลสี่ประการดังนี้
ประการที่ 1 น่าผิดหวังที่คณะกรรมการฯ ไม่สามารถออกแบบกระบวนการประชามติให้เป็นที่ยอมรับได้ ซึ่งการทำประชามติครั้งที่ 1 นับว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในการเป็น "ประตูบานแรก" ที่จะเปิดทางให้ทุกฝ่ายร่วมมือกันยืนยันในหลักการพื้นฐานว่า รัฐธรรมนูญ 2560 มีปัญหาต้องแก้ไขและร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ดังนั้น การจะสร้างฉันทามติร่วมกันในสังคมการตั้งคำถามจะควร "เปิดกว้าง" ให้ประชาชนทุกคนในสังคมได้ร่วมออกเสียง มากกว่าเริ่มต้นคำถามด้วยการ "ตั้งธง" ของรัฐบาลเป็นหลัก
ประการที่ 2 น่าผิดหวังที่คณะกรรมการฯ จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นเป็นพิธีกรรม ตลอดระยะเวลาประมาณสามเดือน คณะกรรมการฯ ได้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากหลายกลุ่มหลายฝ่ายที่ทั้งเห็นด้วยกับรัฐบาลและไม่เห็นด้วย ซึ่งเป็นกระบวนการที่ถูกต้องชอบธรรม แต่เวทีรับฟังความคิดเห็นทุกครั้งจะเข้าได้เฉพาะผู้ที่ได้รับเชิญเท่านั้นโดยเอา "ธงคำถาม" ที่รัฐบาลต้องการใช้ตั้งไว้เป็นหลักในการพูดคุยและไม่เปิดให้เสนอแตกต่างเป็นอย่างอื่น ทำให้ผลสรุปออกมาเป็นไปตามที่วางธงไว้ตั้งแต่แรก กระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่เกิดขึ้นก็เป็นไปเพื่อสร้างความชอบธรรมให้คำตอบของรัฐบาลเท่านั้น และทำให้ข้อกล่าวหาเรื่องการถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญมีน้ำหนักมากขึ้น
ประการที่ 3 น่ากังวลว่า การตั้งคำถามประชามติอาจนำไปสู่ความขัดแย้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนำหมวด 2 สถาบันพระมหากษัตริย์เข้าไปอยู่ในคำถามประชามติอาจทำให้บทบาทและสถานะทางกฎหมายของสถาบันพระมหากษัตริย์กลายเป็นประเด็นถกเถียงหลักในการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งอาจนำมาสู่ความขัดแย้งและรุนแรงระหว่างประชาชนกับประชาชนที่ให้คุณค่าเรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แตกต่างกัน รวมทั้งระหว่างรัฐกับประชาชนได้ และไม่ว่าผลการทำประชามติจะออกมาเช่นไร ตำแหน่งแห่งที่ของสถาบันพระมหากษัตริย์จะมีส่วนสำคัญต่อกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่อย่างชัดเจนขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
นอกจากนี้ยังอาจทำให้ประเด็นการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญซึ่งมีหลากหลายประเด็นที่สำคัญ เช่น ศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ สว. ยุทธศาสตร์ชาติ หรือระบบเลือกตั้ง ถูกลดความสำคัญลงและมุ่งไปที่เรื่องสถาบันพระมหากษัตริย์แทน
ประการที่ 4 น่ากังวลว่า การตั้งคำถามที่มีเงื่อนไขซับซ้อนตามใจรัฐบาลอาจทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งลงคะแนน "ไม่เห็นชอบ" เพราะไม่เห็นด้วยกับกระบวนการและตัวคำถาม แต่ไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนนูญใหม่ และถ้าเสียงส่วนใหญ่ลงคะแนน "ไม่เห็นชอบ" ทำให้ประชามติไม่ผ่านรัฐบาลจะรับผิดชอบอย่างไร เพราะเท่ากับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องสะดุดลง ประชาชนก็ยังคงอยู่ภายใต้กติกาที่ไม่เป็นประชาธิปไตยต่อไป รัฐบาลไม่สามารถทำตามที่ประกาศไว้ให้สำเร็จได้ และอีกด้านหนึ่งถ้าประชาชนไม่เห็นชอบก็อาจแปลความได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่อาจไม่เห็นชอบกับสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ตามที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งจะส่งผลกระทบด้านลบต่อสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงแม้ว่าบทสรุปของคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ ข้างต้นจะยังไม่ใช่บทสรุปสุดท้าย เนื่องจากการ "เคาะ" คำถามประชามติเป็นอำนาจของคณะรัฐมนตรีเท่านั้น ซึ่งคณะกรรมการศึกษาแนวทางทำประชามติฯ จะต้องทำรายงานเพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อให้พิจารณาต่อไป ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณช่วงเดือนมกราคม 2567 ดังนั้น จึงยังมีเวลาสำหรับประชาชนที่จะร่วมกันส่งเสียงถึงคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาประเด็นนี้ให้รอบครอบยิ่งขึ้น
โดยไอลอว์มีข้อเสนอเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาดังนี้
1) ประชามติครั้งแรกต้องตั้งคำถามกว้างเพื่อสร้างฉันทามติให้ทุกฝ่ายเห็นชอบเดินหน้าสู่รัฐธรรมนูญใหม่ร่วมกัน เช่น การตั้งคำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” หรือถ้าหากรัฐบาลกังวลว่า ประเด็นรูปแบบของรัฐหรือสถานะของสถาบันพระมหากษัตริย์ ก็สามารถตั้งคำถามทำนองว่า “ท่านเห็นชอบหรือว่าควรจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ภายใต้ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ส่วนการจะไม่แก้ไขหมวด 1 หรือหมวด 2 หรือไม่ เป็นเพียงประเด็นในเชิงรายละเอียดที่รัฐสภาหรือสภาร่างรัฐธรรมนูญสามารถถกเถียงและหาข้อยุติโดยใช้เสียงข้างมาก ไม่ต้องนำมาใส่ในคำถามประชามติ
2) คณะรัฐมนตรีรับรองคำถามของภาคประชาชน 211,904 รายชื่อที่ใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอคำถามประชามติตามกฎหมายเป็นส่วนหนึ่งของคำถามประชามติ เช่น คณะรัฐมนตรีอาจจะให้มีสองคำถามเพื่อให้ประชาชนเห็นชอบ คือ คำถามแรกจากคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ กับคำถามจากกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ ว่ารัฐสภาต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน” ซึ่งการทำเช่นนี้จะช่วยสร้างความชอบธรรม และเพิ่มน้ำหนักของการมีส่วนร่วมจากประชาชนให้กับการทำประชามติของรัฐบาลมากยิ่งขึ้น