วันพุธ, ธันวาคม 13, 2566

ชวนรู้จักคดี 112 ของไอซ์-รักชนกก่อนศาลมีคำพิพากษาที่อาจหลุดเก้าอี้ สส. ในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00 น.


iLaw
21h·

112 ALERT : ชวนรู้จักคดี 112 ของไอซ์-รักชนกก่อนศาลมีคำพิพากษาที่อาจหลุดเก้าอี้สส.
วันที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00 น. ศาลอาญานัดไอซ์-รักชนก ศรีนอก สส.พรรคก้าวไกลฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 เธอถูกดำเนินคดีจากการทวีตและรีทวีตข้อความของผู้อื่นรวม 2 ข้อความบนทวิตเตอร์ คดีนี้หากศาลตัดสินว่า มีความผิดและสั่งลงโทษจำคุก โดยไม่ให้ประกันตัวหรือให้เข้าเรือนจำเพื่อรอคำสั่งประกันตัว เธอจะหลุดออกจากตำแหน่งสส.โดยทันที ขวนย้อนอ่านที่มาที่ไปคดีมาตรา 112 ของไอซ์
---------------------------------------------------
⁇ไอซ์-รักชนกเป็นใคร?
ปัจจุบันไอซ์เป็นสส.สังกัดพรรคก้าวไกล เขตบางบอน-หนองแขม กรุงเทพมหานคร เธอเป็นศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนหน้านี้ในปี 2557 ไอซ์เคยแสดงความคิดเห็นสนับสนุนการรัฐประหารบนโลกออนไลน์ เพราะคิดว่าการรัฐประหารจะทำให้การชุมนุมและความวุ่นวายยุติลง แต่เมื่อมีโอกาสถกเถียงกับเพื่อนในประเด็นการเมืองจึงเริ่มเปลี่ยนความคิด ปี 2564 ไอซ์-รักชนกเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นจากการตั้งคำถามตรงไปตรงมาบนแอพพลิเคชั่นคลับเฮาส์จนได้รับฉายาตัวแสบแห่งคลับเฮาส์ เธอเป็นสมาชิกกลุ่มพลังคลับเฮ้าส์เพื่อประชาธิปไตย เคลื่อนไหวรณรงค์ เช่น การจัดฟรีคอนเสิร์ตเพื่อระดมทุนเข้ากองทุนช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง นอกจากพื้นที่ออนไลน์ เธอยังไปร่วมการชุมนุมทางการเมืองและแสดงความคิดเห็นในพื้นที่ชุมนุมและโลกออนไลน์เรื่อยมา
---------------------------------------------------
จุดเริ่มต้นคดี 112
วันที่ 10 สิงหาคม 2564 มณีรัตน์ เลาวเลิศ ประชาชนทั่วไปแจ้งความร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ใช้แอคเคาท์ทวิตเตอร์ชื่อ “ไอซ์” หรือ @nanaicez กรณีพบแอคเคาท์ทวิตเตอร์ดังกล่าวทวีตและรีทวีตข้อความและรูปภาพจํานวน 2 โพสต์ ได้แก่ ทวีตที่เกี่ยวข้องการผูกขาดวัคซีนโควิด 19 และแคมเปญ #28กรกฎาร่วมใจใส่ชุดดํา” โพสต์นี้มีภาพประกอบซึ่งภายในภาพเป็นลักษณะคนถือป้ายข้อความว่า “ทรราช (คํานาม) TYRANT ; ผู้ปกครองบ้านเมืองที่ใช้อํานาจสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง”
อีกข้อความหนึ่งเป็นการรีทวีตจากทวิตเตอร์ที่ชื่อว่า นิรนาม โพสต์ไว้ตั้งแต่วันที่ 16 ตุลาคม 2563 เป็นภาพป้ายข้อความที่หน้าทำเนียบรัฐบาลว่า เราจะไม่เป็นไท และเขียนข้อความประกอบว่า “เราจะไม่เป็นไทจนกว่ากษัตริย์จะถูกแขวนคอด้วยลำไส้ของขุนนางคนสุดท้าย” ที่เป็นคำกล่าวของเดอนีส์ ดิเดโรต์ นักปรัชญาฝรั่งเศส และมีแฮชแท็กประกอบ จากนั้นมีบุคคลอื่นรีทวีตของนิรนามประกอบข้อความอีกหนึ่งครั้งและแอคเคาท์ที่เป็นเหตุในคดีนี้จึงรีทวีตข้อความของทั้งสองแอคเคาท์ดังกล่าว
จากการสืบสวนสอบสวนของเจ้าหน้าที่น่าเชื่อว่า ผู้ใช้บัญชีทวิตเตอร์ดังกล่าวคือ ไอซ์ พนักงานสอบสวนบก.ปอท.จึงออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2564 ในชั้นสอบสวนเธอให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา หลังเสร็จกระบวนการไม่ได้มีการยื่นคำร้องขอฝากขัง ต่อมาวันที่ 23 มีนาคม 2565 อัยการมีความเห็นสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา ศาลสั่งปล่อยตัวชั่วคราวในชั้นพิจารณาด้วยหลักทรัพย์ 100,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดเงื่อนไขห้ามจำเลยกระทำการหรือเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ในลักษณะทำนองเดียวกับการกระทำที่ถูกกล่าวหา และให้มารายงานตัวต่อศาลทุก 30 วัน จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น
---------------------------------------------------
สู้คดีในศาลที่ฝ่ายโจทก์มีหลักฐานเป็นภาพใบเดียว
ในชั้นศาลไอซ์ให้การปฏิเสธ เธอสู้คดีว่า มีคนส่งรูปไปในกลุ่มไลน์ โดยในภาพที่ส่งนั้นไม่ใช่ข้อความที่ตนโพสต์แต่มีชื่อแอคเคาท์ของตนติดอยู่ จากนั้นก็มีผู้นำภาพข้อความดังกล่าวไปแจ้งความ ซึ่งก็ได้พิสูจน์ไปว่าไม่ใช่คนทวีต โดยส่วนตัวไอซ์มองคดีที่เกิดขึ้นกับตัวเองว่า หลักฐานอ่อนมาก มีเพียงภาพใบเดียว ไปหาหลักฐานโพสต์ต้นทางก็ไม่เจอ ระหว่างการพิจารณาทนายจำเลยยื่นคำร้องเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) มาตรา 14 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 และมาตรา 34 หรือไม่ ต่อมาวันที่ 29 พฤศจิกายน 2566 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่คำวินิจฉัยเห็นว่าพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 วรรคหนึ่ง (1) (2) และ (3) ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญมาตรา26 และมาตรา 34 วรรคหนึ่ง
หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ศาลอาญานัดไอซ์ฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 ธันวาคม 2566 เวลา 9.00 น. ที่ห้องพิจารณา 807
เหยียบเรือนจำแม้เพียงนาทีเดียวก็หลุดตำแหน่งสส. ต้องเลือกตั้งใหม่
คดีนี้หากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้อง หรือให้ลงโทษแต่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างการสู้คดีชั้นอุทธรณ์ในวันเดียวกันกับที่มีคำพิพากษา ก็จะยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้เพราะยังไม่ถือว่าเข้าลักษณะต้องห้าม แต่หากศาลพิพากษาให้ลงโทษจำคุก และในวันที่ศาลมีคำพิพากษาศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว หรือสั่งให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำสั่ง ซึ่งส่งผลให้จำเลยต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำ ก็จะถือว่าเข้าลักษณะต้องห้ามเป็นบุคคลที่ถูกศาลพิพากษาจำคุกและถูกคุมขังตามหมายศาลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98(6) เป็นเหตุให้พ้นจากตำแหน่งส.ส. ทันที
หาก ส.ส. พ้นตำแหน่งด้วยเหตุนี้ ในกรณีที่เป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต รัฐธรรมนูญมาตรา 105 (1) กำหนดให้มีการตราพระราชกฤษฎีกาเพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแทนตำแหน่งที่ว่างลง (เลือกตั้งซ่อม) ยกเว้นอายุสภาเหลืออยู่ไม่ถึง 180 วัน โดยให้จัดการเลือกตั้งซ่อมภายใน 45 วัน นับจากวันที่สมาชิกสิ้นสมาชิกภาพ (นำมาตรา 102 มาบังคับโดยอนุโลม) สำหรับตัวของอดีต ส.ส. หากพ้นจากตำแหน่งในลักษณะที่คดียังไม่ถึงที่สุดและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวก็ยังถือว่าไม่เข้าลักษณะต้องห้ามสมัครรับเลือกตั้ง และกลับมาลงสมัครใหม่ได้อีก
อ่านคดีของไอซ์ที่นี่ https://database.tlhr2014.com/public/case/1818/lawsuit/602/
.....
Atukkit Sawangsuk
6h·

คดีไอซ์ รักชนก ศรีนอก - Rukchanok Srinork
ศาลตัดสินถูกผิดติดคุกเป็นอีกประเด็นหนึ่ง ซึ่งต้องรอฟังคำพิพากษาก่อนวิจารณ์
แต่ศาลต้องตระหนัก ต้องรู้แก่ใจ ว่าหากไม่ให้ประกัน หรือให้ประกันล่าช้า
นอนคุกคืนเดียว ไอซ์จะสิ้นสภาพ ส.ส.ทันที
ทั้งที่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชนท่วมท้น 4.7 หมื่นคะแนน
:
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560 ว่าด้วยการสิ้นสภาพ ส.ส. มาตรา 101(6) นั้น
ผู้พิพากษาผู้เชี่ยวชาญกฎหมายย่อมรู้ดีว่า ขัดต่อหลักความยุติธรรม
นำเอาข้อห้ามสมัครรับเลือกตั้ง
"ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล"
มาทำให้ขาดคุณสมบัติ ส.ส.ด้วย
ทั้งที่มาตรา 101(13) บัญญัติว่า สมาชิกภาพ ส.ส.สิ้นสุดลงเมื่อ "ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก"
:
ขัดกัน ย้อนแย้ง ลักลั่น
และขัดต่อรัฐธรรมนูญเอง มาตรา 29
"ก่อนมีคําพิพากษาอันถึงที่สุดแสดงว่าบุคคลใดได้กระทําความผิด จะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนเป็นผู้กระทําความผิดมิได้"
คดียังไม่ถึงที่สุด เพียงคำพิพากษาศาลชั้นต้น เพียงคำสั่งไม่ให้ประกันหรือรอประกัน
ทำให้ผู้แทนราษฎรที่มาจากเลือกตั้ง ต้องสิ้นสุดสมาชิกภาพ
เป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่มุ่งทำลายอำนาจประชาชนที่เลือกฝ่ายนิติบัญญัติ
โดยอาศัยอำนาจตุลาการ ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด
:
(บทบัญญัตินี้เพิ่งมีในรัฐธรรมนูญรัฐประหาร 2550,2560 รัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 109 แม้มีข้อห้ามสมัครรับเลือกตั้ง "ต้องคําพิพากษาให้จําคุกและถูกคุมขังอยู่โดยหมายของศาล" แต่ไม่ใช้เป็นข้อที่ทำให้สิ้นสภาพ ส.ส. รัฐธรรมนูญ 2534 ก็เช่นกัน)
:
ศาลจึงตระหนักแก่ใจว่า ถ้าสั่งไม่ให้ประกันหรือส่งศาลอุทธรณ์ข้ามวัน
ไอซ์จะสิ้นสภาพ ส.ส.ทันที ทั้งที่คดียังไม่สิ้นสุด
ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ขัดหลักความยุติธรรม รัฐธรรมนูญรัฐประหารที่มุ่งใช้อำนาจตุลาการเป็นเครื่องมือทำลายอำนาจนิติบัญญัติ ทั้งที่กระบวนการของอำนาจตุลาการเองยังไม่สิ้นสุด
พูดอีกอย่างคือ คนเขียนรัฐธรรมนูญต้องการเอาอำนาจตุลาการไปชนอำนาจเลือกตั้งของประชาชน
ศาลจะบอกว่าไม่รู้ไม่ได้ จะบอกว่าทำตามปกติเหมือนทุกคดีไม่ได้ รู้อยู่แก่ใจ
:
ยิ่งไปกว่านั้นหลักการพื้นฐานของกระบวนการยุติธรรม
มาตรา 29 "การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจําเลยให้กระทําได้เพียงเท่าที่จําเป็น เพื่อป้องกันมิให้มีการหลบหนี"
การประกันตัวเป็นสิทธิพื้นฐาน เว้นแต่จะหลบหนีหรือไปยุ่งเกี่ยวพยานหลักฐาน
คดีนี้พยานหลักฐานคือ cap เฟสบุ๊ค
ไอซ์เป็น ส.ส. ไม่หนีอยู่แล้ว อย่าออกคำสั่งแบบ "เกรงจำเลยจะหลบหนี"