วันพฤหัสบดี, กันยายน 05, 2567

อะไรเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้เพื่อไทยอยู่ในสภาพอิงแอบชนชั้นนำและกลายเป็นหัวหอกปีกพรรคอนุรักษนิยมอย่างที่เป็นอยู่



จากผนังทองแดงกำแพงเหล็ก สู่ผนังทองคำกำแพงแพลทินัม ความสำเร็จดิสรัปต์พรรคทักษิณ

3 Sep 2024
101 World

ผมเคยทำนายไว้ในคอลัมน์นี้ตั้งแต่เดือนมกราคม 2567 ว่าเศรษฐาจะพ้นตำแหน่งนายกฯ อย่างเร็วหลังเดือนพฤษภาคม 2567 อย่างช้าต้นปี 2568 แม้เหตุแห่งการพ้นตำแหน่งที่เคยเขียนไว้จะไม่ตรงกับที่เกิดขึ้นจริง แต่ในแง่เวลาที่พ้นตำแหน่งถือว่าใกล้เคียง

และยังฟันธงไว้ด้วยว่าแพทองธารจะก้าวขึ้นเป็นนายกฯ แทน ด้วยเหตุผลข้อเดียวคือเป็นลูกสาวทักษิณ ชินวัตร ผู้มีบารมีตัวจริงในพรรคเพื่อไทย

เกริ่นประเด็นนี้ขึ้นมาไม่ใช่เพราะอยากอวดอ้างที่ทำนายถูก แต่อยากชวนทบทวนผลงานเกือบหนึ่งปีของรัฐบาลเศรษฐา ก่อนจะก้าวเข้าสู่วาระรัฐบาลแพทองธารในเวลาที่เหลืออีกเกือบสามปี

1 ปีแห่งความล้มเหลวรัฐบาลเศรษฐา

ว่ากันตรงๆ ถ้ารัฐบาลเศรษฐามาด้วยเงื่อนไขและสถานการณ์การเมืองที่ปกติ เวลาไม่ถึงหนึ่งปีอาจไม่เป็นธรรมนักที่จะด่วนสรุปว่าล้มเหลว แต่เพราะเป็นรัฐบาลที่เกิดจากการข้ามขั้วและตระบัดสัตย์ ขาดความชอบธรรมทางการเมือง ผู้คนจึงยิ่งกดดันและคาดหวังสูงว่าจะต้องสร้างผลงานระดับโบแดงให้สำเร็จโดยเร็ว

นายกฯ เศรษฐาและแทบทุกคนในรัฐบาลก็รู้ข้อจำกัดนี้ดี จึงรีบประกาศขีดเส้นดีเดย์นโยบายสำคัญหลายเรื่อง เพื่อให้ประชาชนมองเห็นความหวังที่เป็นรูปธรรม

นโยบายที่เป็นตัวชี้วัดผลงานและมายาคติที่ว่า ‘เพื่อไทยเก่งเศรษฐกิจกว่าทุกพรรค’ ที่ชัดที่สุดคือ ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ เพราะนี่คือหมัดเด็ดในช่วงหาเสียงเลือกตั้งปี 2566 ช่วงโค้งสุดท้ายที่พรรคเพื่อไทยหวังกอบกู้คะแนนนิยม หลังพบว่าเป้าหมายชนะแบบแลนด์สไลด์ห่างไกลออกไปทุกที เพราะเสียเหลี่ยมให้กับมอตโต้เชิงอุดมการณ์ ‘มีลุง ไม่มีเรา – มีเรา ไม่มีลุง’ ของพรรคก้าวไกล

แต่เมื่อได้เป็นรัฐบาล คำสัญญาทั้งในเชิงหลักการสำคัญและกำหนดดีเดย์โครงการก็ถูกเปลี่ยนไปมา เลื่อนแล้วเลื่อนอีกจนแทบไม่เหลือสภาพนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะนำไปสู่การสร้างพายุหมุนทางเศรษฐกิจและนวัตกรรมทางการเงินเช่นที่หาเสียงไว้

ทั้งไม่แน่ชัดว่าเมื่อรัฐบาลแพทองธารเข้ามาจะสานต่อและเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขรายละเอียดอะไรเพิ่มเติมอีก (นอกจากที่ทักษิณกล่าวชี้นำไว้ผ่านเวทีแสดงวิสัยทัศน์ เมื่อวันที่ 22 ส.ค. ที่ผ่านมา)

แม้หลังนายกฯ เศรษฐาพ้นตำแหน่งเพียงวันเดียว ทีมพีอาร์ของพรรคเพื่อไทยจะสรุปรวบรวมอวดอ้างผลงานมากมาย แต่เกือบทั้งหมดล้วนเป็นผลงานระดับ ‘กระพี้’ รัฐบาลชุดไหนๆ ก็ทำได้ไม่แตกต่างกัน

ผลงานระดับ ‘แก่น’ ของจริงที่จะเทียบเคียงได้กับความสำเร็จระดับ ‘แก่น’ หรือ ‘โบแดง’ เช่น 30 บาทรักษาทุกโรค, กองทุนหมู่บ้าน, หนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ ฯลฯ ที่รัฐบาลไทยรักไทยเคยทำไว้

รัฐบาลเพื่อไทยภายใต้การนำของนายกฯ เศรษฐากลับไม่มีเลย

บทสรุปที่เหมาะเจาะที่สุดของรัฐบาลเศรษฐาจึงตรงกับคำคมทางการเมืองที่ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกฯ และรมว.พาณิชย์ เคยกล่าวเสียดสีความฝันและนโยบายของพรรคก้าวไกลไว้ว่า “ฝันถึงดวงดาว ไปไกลแค่ยอดมะพร้าว”

เฉพาะตัวนายกฯ เศรษฐายิ่งบอบช้ำทางการเมืองหนัก เพราะไม่สามารถสร้างผลงานให้คนจดจำ นอกจากภาพ ‘ความขยัน’ ซ้ำยังถูกสลักหลังและถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์ว่าพ้นจากตำแหน่งด้วยคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ฐานความผิด ‘ไม่ซื่อสัตย์สุจริตจนเป็นที่ประจักษ์’ ‘ฝ่าฝืนจริยธรรมขั้นร้ายแรง’

ผู้คนอาจจดจำสั้นๆ ง่ายๆ ว่า ‘นายกฯ คนขยัน แต่ผิดจริยธรรมขั้นร้ายแรง’

1 ปีแห่งความสำเร็จดิสรัปต์พรรคทักษิณ

อย่างไรก็ตาม แม้มองในแง่ผลงานที่สร้างประโยชน์ให้ประเทศและประชาชน เวลาหนึ่งปีที่ผ่านมารัฐบาลเศรษฐาล้มเหลว (จากที่คนคาดหวัง) เช่นที่กล่าวข้างต้น แต่หากมองในแง่ความเป็นพรรคเพื่อไทย ผมกลับคิดว่าหนึ่งปีที่ผ่านมาพรรคเพื่อไทยประสบผลสำเร็จขั้นสูงสุด (ตามเป้าหมาย?) ในการ ‘ดิสรัปต์’ ตัวเอง

ทำไมผมจึงสรุปเช่นนั้น ก่อนอื่นผมชวนย้อนกลับไปทบทวนรากที่มาของพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นร่างที่สามของพรรคเครือข่ายทักษิณ (ไทยรักไทย, พลังประชาชน, เพื่อไทย)

กำเนิดของพรรคไทยรักไทยในปี 2541 จนก้าวถึงจุดสูงสุดทางการเมืองในปี 2548 ที่ได้คะแนนสูงสุดร่วม 19 ล้านเสียง มี สส. 377 คนและเป็นรัฐบาลพรรคเดียวพรรคแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย มาจากการทำงานที่ยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง เชื่อในอำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน หลายนโยบายมุ่งตอบโจทย์การแก้ปัญหาชนชั้นล่างซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศที่ด้อยโอกาส

ความสำเร็จจากนโยบายเหล่านี้ทำให้ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี มีภาพจำ ‘นายกฯ ขวัญใจคนรากหญ้า’ และยังทำให้มอตโต้ของพรรคไทยรักไทยที่ว่า ‘พรรคไทยรักไทย หัวใจคือประชาชน’ เป็นภาพจำที่คนยอมรับสนิทใจ

อานิสงส์เหล่านี้ได้แปรให้ประชาชนจำนวนมากเป็น ‘ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก’ ให้กับทักษิณและพรรคของเขา ในทุกยามที่ต้องเผชิญศึกทางการเมืองตลอดห้วงปี 2548-2562

เหตุการณ์ที่ผมถือว่าเป็นภาพสะท้อนความหมาย ‘ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก’ ได้ชัดที่สุดคือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างทักษิณและพรรคเครือข่ายกับศัตรู (ชนชั้นนำ) คือเหตุการณ์ในช่วงปี 2552-2553

มีผู้คนมากมายออกมาร่วมต่อสู้เพราะศรัทธาทักษิณ พวกเขาทนไม่ได้ที่เห็นทักษิณได้รับความอยุติธรรม ทั้งๆ ที่สร้างผลงานไว้มหาศาล จำนวนมากถึงกับเสียชีวิต จำนวนไม่น้อยได้ร้บบาดเจ็บ และหลายคนต้องสิ้นอิสรภาพ

ถึงที่สุดแม้ผนังทองแดง กำแพงเหล็กจะพังทลาย แต่ก็แค่ชั่วคราว เพราะในการเลือกตั้งครั้งต่อมา ในปี 2554 พรรคเครือข่ายทักษิณก็กลับมาชนะได้เป็นรัฐบาลอีกครั้ง ก่อนจะถูกรัฐประหารในปี 2557

ชนชั้นนำใช้เวลาอีกห้าปี พยายามสลาย ‘ผนังทองแดง กำแพงเหล็ก’ แต่เลือกตั้งปี 2562 พรรคเครือข่ายทักษิณก็ยังชนะเลือกตั้งอันดับหนึ่งอีก เลยต้องใช้ช่องว่างตามรัฐธรรมนูญปี 2560 สกัดและแย่งชิงจัดตั้งรัฐบาล

จุดเริ่มความคิด ‘ดิสรัปต์’

ในทางเปิดเผยต่อสาธารณะ คนที่เริ่มจุดประเด็นความคิด ‘ดิสรัปต์’ พรรคเครือข่ายทักษิณคือ ‘หมอเลี้ยบ’ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี หนึ่งในคนใกล้ชิดที่ทักษิณไว้วางใจ

หมอเลี้ยบจุดประกายไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวราวปี 2561 และเริ่มขายไอเดียอย่างจริงจังช่วงปี 2563 เพราะเชื่อว่าพรรคเพื่อไทยจะก้าวต่อไปอย่างยั่งยืนต้อง ‘ดิสรัปต์’ ตัวเองใหม่ให้สอดคล้องกับบริบทการเมืองยุคใหม่และโลกยุคใหม่ เลิกยึดติดกับความสำเร็จในอดีต

แต่ผมไม่แน่ใจว่าความหมายและบรรทัดสุดท้ายของเป้าการ ‘ดิสรัปต์’ ของหมอเลี้ยบกับทักษิณสอดคล้องต้องกันตั้งแต่ต้นจนจบหรือไม่

เพราะถ้ามองในส่วนทักษิณ ผมคิดว่าความเชื่อเรื่องระบอบประชาธิปไตย ‘อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน’ ที่ทักษิณเคยประกาศลั่นระหว่างการชุมนุมคนเสื้อแดงห้วงปี 2552-2553 อยู่บ่อยๆ เริ่มส่งอาการสั่นคลอน ตั้งแต่งานรำลึกคนเสื้อแดงวันที่ 19 พ.ค. 2555 เมื่อทักษิณประกาศเป็นนัยว่า “พี่น้องพายเรือมาส่งผมถึงฝั่งแล้ว จะแบกเรือตามผมขึ้นเขาทำไม จากนี้ไปผมขอนั่งรถขึ้นเขาต่อไป”

หลังจากนั้นในช่วงรัฐบาลยิ่งลักษณ์ยังมีการเผยแพร่เทปบันทึกการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างชายสองคน เพื่อหาทางพาคนแดนไกลกลับบ้าน ข้อความตอนหนึ่งเป็นเสียงของ ‘คนแดนไกล’ พูดว่า “ไว้ใจตู่มาก”

เทปบันทึกเสียงที่หลุดโดยบังเอิญนี้แหละเป็นอีกหนึ่งจิ๊กซอว์ที่ต่อให้เห็นภาพ ‘ดีล’ ทางการเมืองตั้งแต่ช่วงนั้น เพราะทักษิณตระหนักแล้วว่าการต่อสู้กับชนชั้นนำบางทีมีประชาชนเป็นผนังทองแดง กำแพงเหล็ก นอกจากไม่ชนะ อาจจะรับมือไม่ไหวด้วย

เมื่อเข้าสู่โหมดเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2566 ยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนของพรรคเพื่อไทยจึงปรับเปลี่ยน หัวใจสำคัญที่เคยยึดมั่นว่าคือประชาชน คราวนี้เริ่มเจือจาง แต่กลับมีเฉด ‘หัวใจคือชนชั้นนำ’ ให้เห็นลางๆ จากท่าทีจุดยืนทางการเมืองว่า ‘เอาลุง’ หรือ ‘ไม่เอาลุง’ เมื่อถูกสื่อกดดันซักถาม จนแพทองธารหนึ่งในแคนดิเดตพรรคฯ ต้องชิ่งด้วยคำตอบ “ทุกอย่างเป็นไปได้ค่ะ”

หนึ่งปีที่ผ่านมานอกจากตระบัดสัตย์ตั้งรัฐบาลข้ามขั้วในนามรัฐบาลเศรษฐา วันนี้เมื่อถึงวาระรัฐบาลแพทองธารยังข้ามหัวคนเสื้อแดงด้วยการเชิญพรรคประชาธิปัตย์เข้าร่วมรัฐบาลอีกหนึ่งพรรค สมทบกับพลังประชารัฐและรวมไทยสร้างชาติ สองโจทย์เก่าคนรักประชาธิปไตย-รังเกียจรัฐประหาร

เป็นรัฐบาลฝนตกขี้หมูไหล คนอะไรมารวมกันอย่างสมบูรณ์

หนึ่งปีที่ผ่านมาในแง่ผลงานที่เป็นประโยชน์กับประเทศและประชาชน รัฐบาลเศรษฐาทำล้มเหลว แต่ในแง่พรรคเพื่อไทย การเดินเกมการเมืองตามยุทธศาสตร์ “ไม่ชอบหน้าต่างคนต่างอยู่” ที่ทักษิณเคยพูดไว้หลังพักโทษใหม่ๆ สำเร็จแล้ว

จากนี้ไปผมมองว่าพรรคเพื่อไทยและทักษิณได้ดิสรัปต์จุดยืนเดิม ‘มีประชาชนเป็นผนังทองแดงกำแพงเหล็ก’ หันไปอยู่ที่จุดยืนใหม่ ‘มีชนชั้นนำเป็นผนังทองคำกำแพงแพลทินัม’ และเป็นหัวหอกในปีกพรรคอนุรักษนิยมฟาดฟันกับพรรคประชาชนที่โดดเดี่ยวในปีกเสรีนิยม (มีพรรคเป็นธรรมเคียงข้าง)

เพราะพวกเขาตระหนักว่า ด้วยจุดยืนดังกล่าวแม้พวกเขา ‘ไม่มีปัญญาชนะเลือกตั้ง แต่มีปัญญาตั้งรัฐบาล’ ดังบทเรียนปี 2566

แต่คำถามสำคัญคือ ประชาชนส่วนใหญ่จะปล่อยให้เกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเช่นนั้นหรือ?

เรื่อง: ประทีป คงสิบ
ภาพประกอบ: พิรุฬพร นามมูลน้อย
(https://www.the101.world/prateep-sep-24/)