วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 19, 2566

องค์กรสิทธิมนุษยชน ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและระบบกระบวนการยุติธรรมไทย: ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติเพราะความคิดเห็นทางการเมืองในกระบวนการยุติธรรม


สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน - HRLA
13h·

จดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกาและระบบกระบวนการยุติธรรมไทย: ว่าด้วยการเลือกปฏิบัติเพราะความคิดเห็นทางการเมืองในกระบวนการยุติธรรม
.
ปัจจุบัน ระบบกระบวนการยุติธรรมกำลังทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อยับยั้ง ปราบปรม และใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือจัดการกับผู้เห็นต่างทางการเมือง สำนักงานอัยการยังคงเดินหน้าฟ้องคดีทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง แม้จะเป็นคดีที่เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2563 หรือ 2564 และเป็นคดีเกี่ยวกับการใช้เสรีภาพในการชุมนุม เจ้าพนักงานตำรวจ สน.สำราญราษฎร์ ยื่นคำร้องคัดค้านการปล่อยชั่วคราวของนายบารมี ชัยรัตน์ สมัชชาคนจนต่อศาลแขวงดุสิตเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2566 ทั้งที่ศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยไม่มีเงื่อนไขไปตั้งนานแล้ว แต่เนื่องจากต้องการใช้กลไกศาลเพื่อให้ศาลกำหนดเงื่อนไขห้ามไม่ให้นายบารมี ชัยรัตน์ ไปร่วมชุมนุมสมัชชาคนจน ที่มีการชุมนุมอย่างต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 8 ตุลาคม 2566 จนถึงปัจจุบัน เหล่านี้ เป็นภาพสะท้อนบางส่วนที่แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างเป็นระบบของกลไกในกระบวนยุติธรรมต่อผู้เห็นต่างทางการเมือง
.
ข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ณ วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 แสดงจำนวนผู้ต้องขังคดีการเมืองที่ไม่ได้รับสิทธิในการปล่อยชั่วคราวรวม 23 คน อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชนเป็นหนึ่งในจำนวนดังกล่าว และเป็นภาพสะท้อนปัญหาการปล่อยชั่วคราวและการไม่บังคับใช้ข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ข้อ 24 และ 25 ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ
.
ข้อบังคับของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและวิธีเรียกหลักประกันในคดีอาญา พ.ศ. 2565 ของท่าน ในข้อ 24 กำหนดว่า
.
“กรณีที่ศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกิน 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นคดีที่ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงหรือคดีที่ต้องขออนุญาตฎีกาก็ตาม หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นและศาลชั้นอุทธรณ์และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใดๆ ให้ศาลชั้นต้นพิจารณาสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว โดยใช้วิธีการอย่างเดียวกับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาหรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งให้ศาลชั้นอุทธรณ์หรือศาลฎีกาสั่ง
.
ในชั้นอุทธรณ์หรือฎีกา หากจำเลยไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนหรือได้รับการปล่อยชั่วคราวในระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นหรือศาลชั้นอุทธรณ์ และไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนีหรือก่อภัยอันตรายใดๆ แม้จำเลยยังไม่ได้ยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาหรือยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลที่มีอำนาจอาจมีคำสั่งให้ปล่อยชั่วคราวโดยใช้เงื่อนไขหรือมาตรการอย่างเดียวกับศาลล่างหรือจะใช้เงื่อนไขหรือมาตรการที่เข้มงวดเพิ่มขึ้นก็ได้”
.
ข้อ 25 กำหนดว่า “การดำเนินการตามข้อบังคับนี้ ให้ใช้วิธีการประเมินความเสี่ยงและแบบพิมพ์ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนด”
.
ทนายความของอานนท์ นำภา ได้ยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวหลายครั้ง ศาลอุทธรณ์ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวทุกครั้ง ต่อมาในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 ได้มีการอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวต่อศาลฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2566 ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวด้วยเหตุผลว่า
.
“พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง และศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ปรับเงิน 20,000 บาท หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์ มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว”
.
โดยคำสั่งศาลฎีกาไม่ระบุข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ของอานนท์ นำภา ที่ทำให้ศาลเชื่อว่าจะหลบหนี มีเพียงเหตุผลเลื่อนลอยในอากาศ เชื่อเอาเองว่าจะหลบหนี ทั้งที่อานนท์ นำภา ได้รับการปล่อยชั่วคราวในศาลชั้นต้นและโทษที่ศาลพิพากษานั้นไม่เกิน 5 ปี ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขข้อบังคับฯ ของท่านโดยครบถ้วนสมบูรณ์ โดยเฉพาะข้อเท็จจริงอันเป็นที่ประจักษ์ทั้งในทางสาธารณะและในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวว่าอานนท์ได้รับการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดีของศาลชั้นต้น และได้รับอนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ไปร่วมงานของมูลนิธิ 18 พฤษภารำลึก (May 18 Memorial Foundation) ณ สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) ซึ่งเป็นรางวัลที่ยกย่องบุคคลกลุ่มหรือสถาบันในเกาหลีและต่างประเทศที่มีส่วนร่วมในการส่งเสริมและพัฒนาสิทธิมนุษยชน ประชาธิปไตย และสันติภาพ ซึ่งอานนท์ นำภา เป็นผู้ได้รับรางวัลดังกล่าว หลังจากนั้นอานนท์ ได้เดินทางกลับมายังประเทศไทยและใช้สิทธิต่อสู้คดีตามกระบวนการตลอดมา รวมทั้งไปฟังคำพิพากษาตามที่ศาลนัด ไม่เคยมีพฤติการณ์หลบหนี
.
ในขณะที่สื่อมวลชนนำเสนอข่าวนายอิทธิพล คุณปลื้ม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม มีพฤติการณ์หลบหนีออกนอกราชอาณาจักร ในคดีออกใบอนุญาตก่อสร้างโครงการวอเตอร์ฟร้อนท์ หาดพัทยา จังหวัดชลบุรี จนมีการออกหมายจับ และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2566 เจ้าหน้าที่ตำรวจ ตม. จับกุมนายอิทธิพล คุณปลื้ม และศาลอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวทันที ทั้งที่มีข้อเท็จจริงปรากฏชัดเจนว่ามีพฤติการณ์หลบหนี หรือกรณีของใบเตย สุธีวัน กุญชร คดีแชร์ Forex - 3D ซึ่งศาลอาญาสั่งให้ไต่สวนคำร้องขอปล่อยชั่วคราว และอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 ที่ผ่านมา โดยกำหนดเงื่อนไขให้ติดกำไล EM ห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และรายงานตัวตามศาลนัด แต่กับคดีของอานนท์ นำภา ที่ร้องขอให้ศาลไต่สวนคำร้องเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงว่าจะไม่หลบหนี แต่ศาลอาญาและศาลอุทธรณ์ รวมทั้งศาลฎีกาไม่สั่งไต่สวนคำร้องเหมือนกับคดีของใบเตยแต่อย่างใด และศาลฎีกามีคำสั่งยกคำร้องขอปล่อยชั่วคราว
.
ดังนั้น จึงเป็นคำถามในใจของประชาชน โดยเฉพาะในแวดวงนักวิชาการ นักกฎหมายและทนายความอันเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมต่อประธานศาลฎีกาว่า
.
(1) เมื่อเทียบเคียงกับคดีอื่นข้างต้น ผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองเป็นกลุ่มที่ศาลฎีกาและศาลยุติธรรมยกเว้นสิทธิในการได้รับการปล่อยชั่วคราวหรือไม่
.
(2) ศาลฎีกาใช้ข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ใดในการพิจารณาว่าอานนท์ นำภา รวมทั้งผู้ต้องหาหรือจำเลยอื่นในคดีการเมืองจะหลบหนีหรือไม่หลบหนี มีการปฏิบัติตามข้อบังคับฯ ของท่าน ในข้อ 25 ซึ่งให้เครื่องมือศาลเป็นแบบวิธีการประเมินความเสี่ยงและแบบพิมพ์ตามที่สำนักงานศาลยุติธรรมกำหนดหรือไม่ก่อนจะวินิจฉัยว่าอานนท์จะหลบหนีหากได้รับการปล่อยชั่วคราว
.
(3) การที่ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวทั้งที่ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ของอานนท์ว่าจะหลบหนีนั้น เป็นการสั่งโดยไม่ชอบด้วยหลักกฎหมายว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวและข้อบังคับประธานศาลฎีกาว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวฯ ของท่านเองหรือไม่
.
(4) ท่านในฐานะประธานศาลฎีกาอันเป็นตำแหน่งสูงสุดของศาลยุติธรรม ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เช่นใดบ้างเพื่อให้ข้อบังคับฯ ของท่าน รวมทั้งหลักการพื้นฐานว่าด้วยการปล่อยชั่วคราวมีสภาพบังคับใช้ได้จริง และไม่เลือกปฏิบัติเพราะความคิดเห็นทางการเมือง
.
สมาคมฯ และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนมีความกังวลต่อบทบาทของศาลยุติธรรมต่อคดีการเมืองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสิทธิในการปล่อยชั่วคราวอันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างที่สุดในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งศาลจะปฏิบัติต่อผู้ต้องหาหรือจำเลยเสมือนว่าเป็นผู้กระทำความผิดไม่ได้ จนกว่าเขาผู้นั้นจะถูกพิพากษาถึงที่สุดว่าเป็นผู้กระทำความผิด อันเป็นหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ต้องหาหรือจำเลยในคดีการเมืองนั้น ถูกตั้งคำถามอย่างกว้างขวางจากสังคมว่าเป็นระบบกระบวนการยุติธรรมที่พร้อมจะยกเว้นหลักการกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในกระบวนการยุติธรรมเพียงเพราะว่าพวกเขาเหล่านั้นตั้งคำถามกับระบบความเชื่อทางการเมืองแบบเดิม เพื่อให้เกิดการทบทวน พูดคุย หาทางออกให้กับสังคมที่ดีกว่า
.
สมาคมฯ หวังว่าท่านจะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่เพื่อให้ข้อบังคับประธานศาลฎีกาฯ และหลักการพื้นฐานในการปล่อยชั่วคราว ถูกบังคับใช้และปฏิบัติตามเพื่อคุ้มครองหลักประกันสิทธิของผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญาอย่างเป็นเอกภาพและไม่เลือกปฏิบัติให้สมกับเป็นกระบวนการยุติธรรมในระบอบประชาธิปไตยต่อไป
.
18 พฤศจิกายน 2566
.
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
ภาคีนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน
สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน
มูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม - EnLAW
Cross Cultural Foundation (CrCF)
Non Binary Thailand