วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 30, 2566

ตั้ง ‘ประยุทธ์’ เป็นองคมนตรี ไม่ใช่เรื่องเล็ก แสดงความจงใจ “ไม่ยึดมั่นรัฐธรรมนูญ”

ไม่เล็กไม่น้อย เกี่ยวกับการตั้ง ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นองคมนตรี นอกจากราชกิจจาฯ จะไม่มีคนรับสนองพระบรมราชโองการ เช่นเดียวกับราชโองการฯ อื่นๆ หลายอย่างในรัชกาลนี้ ประดุจด้วยเจตนาจะแจ้งละเมิดรัฐธรรมนูญ

แล้วยังองคมนตรีคนนี้เป็นคนแรกที่เป็นหัวหน้าคณะรัฐประหาร แม้นว่าจะมีองคมนตรีอื่นที่รัชกาลนี้แต่งตั้งไว้แล้วก่อนหน้านี้ ที่เป็นสมาชิกคณะรัฐประหาร (คสช.) มาก่อน อีกทั้งองคมนตรี ๕ คนที่เคยเป็นนายกรัฐมนตรีนั้น ๓ คนแต่งตั้งจากผลแห่งการยึดอำนาจปกครอง

เมื่อดูความจงใจละเมิดรัฐธรรมนูญในการตั้งประยุทธ์ครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรก เมื่อประยุทธ์เข้ารับตำแหน่งนายกฯ หลังรัฐประหาร ๒๕๕๗ เขากล่าวคำถวายสัตย์ในพิธีเข้ารับตำแหน่งไม่ครบถ้วนตามธรรมเนียมปฏิบัติ เนื่องจากมีของแสลงอยู่ในคำถวายสัตย์ปกติ

นั่นคือ การสาบานตนที่จะเคารพและปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ครั้งนั้นประยุทธ์แสดงชัดแจ้งว่าไม่ยึดมั่นรัฐธรรมนูญ เขาเพียงถวายสัตย์ต่อพระมหากษัตริย์ แล้วตัดห้วนไม่ยอมกล่าวถึงการปกป้องรัฐธรรมนูญ อาจเป็นด้วยถือดีว่าตนเป็นคนฉีกรัฐธรรมนูญมาก่อน

ต่อการที่องคมนตรีชุดนี้มาจากนายทหารเสียกว่าครึ่ง ๕๒.๖๓ เปอร์เซ็นต์ คือ ๑๐ คน สามคนเคยเป็นผู้บัญชาการทหารบก ได้แก่ สุรยุทธ์ จุลานนท์ เฉลิมชัย สิทธิสาท และ ประยุทธ์ จันทร์โอชา และมีทหารถึง ๗ คนที่มีส่วนร่วมทำรัฐประหาร ๕๗

นอกจากประยุทธ์ (หัวหน้า) และเฉลิมชัยแล้ว ก็มี ไพบูลย์ คุ้มฉายา ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ กัมปนาท รุดดิษฐ์ อำพน กิตติอำพน (ประยุทธ์ตั้งให้เป็น สนช. สภานิติบัญญัติฯ) และ จอม รุ่งสว่าง รวมความแล้ว “เหมือนการตบหน้าประชาชนฉาดใหญ่”

ดังที่ Somsak Jeamteerasakul ระบุไว้ “ยังเป็นการลอยหน้าว่าการทำรัฐประหารไม่ผิด เป็นการทำงานรับใช้ราชบัลลังก์” นอกเหนือจากถือเป็นพระราชอำนาจจำเพาะของพระมหากษัตริย์ แล้วก็รับประทานเงินเดือน แสนกว่าบาท จากภาษีที่เก็บจากประชาชน

(https://ilaw.or.th/node/6703)