วันพุธ, พฤศจิกายน 29, 2566

เมื่อพิจารณาจากคำแถลงของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหา "หนี้นอกระบบ" พบว่า เนื้อหาไม่แตกต่างจากแนวทางในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากนัก



22 ปีรัฐบาลไทย แก้ปัญหา "หนี้นอกระบบ" สำเร็จหรือล้มเหลว อย่างไรบ้าง

28 พฤศจิกายน 2023
บีบีซีไทย

"หนี้นอกระบบ" เป็นปัญหาเรื้อรังในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน แต่ปัญหานี้ถูกหยิบยกมาเป็นนโยบายรัฐบาลเพื่อมาแก้ไขอย่างจริงจังอย่างน้อยก็เมื่อ 22 ปีที่แล้ว ทว่า จนถึงวันนี้ปัญหาดังกล่าวยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ล่าสุด รัฐบาลของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ประกาศว่า การกำจัดปัญหานี้ให้สิ้นไปจากแผ่นดินไทยถือเป็น "วาระแห่งชาติ" แต่ดูเหมือนว่าแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของรัฐบาลเศรษฐายังขาดรายละเอียด เมื่อเทียบกับรัฐบาลชุดก่อนอย่างน้อย 3 ชุด ที่เคยลุกขึ้นมาแก้ปัญหานี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากคำแถลงของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับแนวทางการแก้ไขปัญหา "หนี้นอกระบบ" พบว่า เนื้อหาไม่แตกต่างจากรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มากนัก

บีบีซีไทย สรุปรายละเอียดส่วนสำคัญจากคำแถลงของนายเศรษฐาต่อสื่อมวลชนเมื่อวันที่ 28 พ.ย. ดังนี้

สรุปแนวทางการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ของ "รัฐบาลเศรษฐา"

แนวทางที่นายเศรษฐา ประกาศส่วนใหญ่เป็นการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบตามกลไกเดิมที่มีอยู่แล้ว กล่าวคือ กระทรวงการคลังจะรับผิดชอบดูแลกลุ่มที่เป็นลูกหนี้นอกระบบหลังจากที่มีการปรับโครงสร้าง และไกล่เกลี่ยกันเรียบร้อยแล้ว ผ่านธนาคารของรัฐ ได้แก่ ธนาคารออมสิน และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)


นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย, นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รมช.คลัง และ พล.ต.อ.ธนา ชูวงศ์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ร่วมแถลงข่าววาระแห่งชาติ การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ

ธนาคารออมสิน ซึ่งขณะนี้มีโครงการอยู่แล้ว เงื่อนไขการขอแก้ไขหนี้นอกระบบ ประกอบด้วย
  • วงเงินกู้ส่วนบุคคลไม่เกินรายละ 50,000 บาท ในระยะเวลา 5 ปี
  • วงเงินกู้สำหรับผู้ที่มีอาชีพอิสระ วงเงินกู้ไม่เกิน 100,000 บาท ในระยะเวลาสูงสุด 8 ปี
สำหรับ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะดูแลกลุ่มเกษตรกรที่นำที่ดินไปขายฝาก หรือติดจำนองกับทางหนี้นอกระบบและได้มีการแก้ไขแล้ว
  • วงเงินสำหรับเกษตรกรไม่เกินรายละ 2.5 ล้านบาท
นอกจากนี้ ยังมีการส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัดภายใต้กำกับ (สินเชื่อฟิโกไฟแนนซ์) โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เป็นผู้กำกับดูแล เพื่อให้เป็นทางเลือกของประชาชนที่จะกู้ยืมเงินในระบบในยามฉุกเฉินและจำเป็น เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งทุน โดยผู้ประกอบการที่สนใจต้องมีทุนจดทะเบียนอย่างน้อย 5 ล้านบาท โดยจะเน้นการใช้เงินเพื่อเป็นเงินกู้เท่านั้น ไม่ใช่การรับฝากเงิน โดยคิดอัตราดอกเบี้ยตามที่กระทรวงการคลังกำหนด คือไม่เกิน 36% ต่อปี



อย่างไรก็ตาม "สินเชื่อฟิโกไฟแนนซ์" ไม่ใช่เรื่องใหม่ เนื่องจากกระทรวงการคลังได้เริ่มให้มีและส่งเสริมการประกอบธุรกิจสินเชื่อรายย่อยประเภทนี้มาแล้วตั้งแต่ปี 2560

ส่วนในด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีเพียงคำสั่งการให้กองบัญชาการตำรวจนครบาล ตำรวจภูธรภาค 1-9 ทำการเอกซเรย์พื้นที่ และส่งข้อมูลขึ้นบัญชีผู้ประกอบการหนี้นอกระบบทั้งหมด และเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายเท่านั้น

"ปัญหาหนี้นอกระบบได้กัดกร่อนสังคมไทยมายาวนาน และเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหาสังคมอีกหลายประการ รัฐบาลได้ประเมินจำนวนครัวเรือนที่มีปัญหาหนี้นอกระบบ คิดเป็นมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านบาท ซึ่งคิดว่า ตัวเลขนี้น่าจะประเมินไว้ค่อนข้างต่ำ และปัญหาจริง ๆ น่าจะมีมากกว่านั้น" นายเศรษฐากล่าวระหว่างการแถลงข่าว

"รัฐบาลประยุทธ์" กับ 5 แนวทางแก้หนี้นอกระบบ

บีบีซีไทยรวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยและเอกสารที่เผยแพร่สาธารณะว่าด้วย การแก้ไขปัญหา "หนี้นอกระบบ" พบว่า มีรัฐบาลอย่างน้อย 3 รัฐบาลที่ชูประเด็นการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบขึ้นเป็นนโยบายสำคัญ พร้อมทั้งระบุถึงผลของการดำเนินการ แม้ว่าปัญหาดังกล่าวยังไม่หมดไปก็ตาม


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี

ย้อยกลับไปในเดือน ก.ย. 2563 รัฐบาลของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ประกาศแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบเช่นกัน โดยสรุปเป็น 5 ด้าน ดังนี้
  • พระราชบัญญัติห้ามเรียกดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560 ซึ่งเพิ่มโทษกับเจ้าหนี้นอกระบบ และเปิดช่องทางให้เจ้าหนี้นอกระบบสามารถจดทะเบียนเป็นผู้ให้สินเชื่อในระบบได้
  • ลูกหนี้สามารถร้องทุกข์และขอคำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบได้ที่ “จุดให้คำปรึกษาปัญหาหนี้นอกระบบ” ที่ธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ทุกสาขา ซึ่งจะช่วยประสานคณะอนุกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด เพื่อช่วยเจรจาระหว่างลูกหนี้และเจ้าหนี้
  • การจัดหาแหล่งเงินในระบบให้ เมื่อไกล่เกลี่ยจนมูลหนี้เป็นธรรมแล้ว โดยรัฐบาลได้สนับสนุนให้มีสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ (PICO Finance)
  • ฟื้นฟูศักยภาพลูกหนี้ สำหรับลูกหนี้ที่ยังมีความสามารถในการชำระหนี้ต่ำเกินไป คณะอนุกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาศักยภาพการหารายได้ของลูกหนี้นอกระบบในทุกจังหวัด จะช่วยฟื้นฟูอาชีพ ปลูกฝังความรู้และวินัยทางการเงิน ฝึกอบรมอาชีพ หรือพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน
  • สร้างภูมิคุ้มกัน ภาครัฐจะพัฒนาเครือข่ายองค์กรการเงินชุมชนให้ทำหน้าที่ทดแทนเจ้าหนี้นอกระบบ พร้อมกับให้ความรู้ทางการเงินแก่ประชาชนและจัดทำฐานข้อมูลหนี้นอกระบบ เพื่อใช้กำหนดนโยบายที่เหมาะสมและตรงเป้าหมายต่อไป
ส่วนผลการดำเนินงานระหว่าง ส.ค. 2561 - ก.พ. 2563 ช่วยเหลือลูกหนี้ให้ได้รับทรัพย์สินคืนแล้ว 25,044 ราย คิดเป็นโฉนดที่ดินจำนวน 21,304 ฉบับ จับกุมผู้ปล่อยเงินกู้นอกระบบและผู้ติดตามทวงถามหนี้โดยวิธีการผิดกฎหมายได้จำนวน 6,002 ราย และการให้แหล่งเงินในระบบพิโกไฟแนนซ์ มียอดสินเชื่ออนุมัติสะสมจำนวน 269,880 บัญชี รวมเป็นจำนวนเงิน 7,018.34 ล้านบาท

"รัฐบาลอภิสิทธิ์" กับ “การลงทะเบียนหนี้นอกระบบ”

ในงานวิจัย "หนี้นอกระบบกับความเป็นธรรมทางสังคม" โดย ดร.สุรางค์รัตน์ จำเนียรพล จากสถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่เผยแพร่ในการประชุมวิชาการในปี 2557 ได้ระบุถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีโครงการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) ระหว่างปี 2552-2554 และถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความคล้ายคลึงกับการลงทะเบียนคนจนในรัฐบาลชุดก่อน หรือ รัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร

โครงการดังกล่าวมีกระทรวงการคลังเป็นเจ้าภาพหลัก ผ่านความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม ซึ่งตั้งเป้าหมายไปที่กลุ่มที่มีหนี้นอกระบบเท่านั้น


โครงการแก้ไขหนี้สินภาคประชาชน (หนี้นอกระบบ) ของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ามีความคล้ายคลึงกับการลงทะเบียนคนจนในรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการครั้งนั้น ประกอบด้วย การรับลงทะเบียนลูกหนี้นอกระบบที่มียอดคงค้างไม่เกิน 200,000 บาท ผ่านธนาคารออมสิน และ ธ.ก.ส. แล้วประมวลผล คัดกรองและจัดประเภทลูกหนี้ แล้วส่งไปสู่การเจรจาประนอมหนี้เพื่อนำเข้าสู่ระบบ หากลูกหนี้มีคุณสมบัติตามเกณฑ์การให้สินเชื่อของธนาคารภายใต้โครงการนี้ ก็สามารถกู้เงินได้

แต่สำหรับกรณีลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านเกณฑ์ จะได้รับการพิจารณาช่วยเหลือต่อไป


ในครั้งนั้น กระทรวงการคลังได้เผยแพร่ผลการดำเนินการว่า ยอดลูกหนี้ที่ขึ้นทะเบียนหนี้นอกระบบผ่าน ธ.ก.ส. และ ธนาคารออมสิน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (ธ.ค. 2552 - ม.ค. 2553) มีจำนวน 1,183,355 ราย คิดเป็นจำนวนมูลหนี้ 122,672.19 ล้านบาท และมีการเจรจาประนอมหนี้สำเร็จ 602,803 ราย ไม่สำเร็จ 182,862 และขอยุติเรื่อง 397,690 ราย

"รัฐบาลทักษิณ" กับ "การลงทะเบียนคนจน"

ในยุครัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร ได้มอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยเป็นเจ้าภาพหลัก และจัดตั้ง ศูนย์อำนวยการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจนแห่งชาติ หรือ ศตจ. ขึ้นในวันที่ 19 พ.ย. 2546 เพื่อทำหน้าที่บริหารจัดการแก้ไขปัญหาสังคมและความยากจนโดยบูรณาการทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง

ในระยะแรก กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยดำเนินการจดทะเบียนประชาชนที่ประสบปัญหาสังคมและความยากจนเพื่อเป็นข้อมูลในการดำเนินการแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งเริ่มจดทะเบียน ระหว่างวันที่ 6 ธ.ค. 2546 - 31 มี.ค. 2547 โดยมีผู้จดทะเบียนรวมกว่า 8 ล้านคน พบว่าในจำนวนผู้ลงทะเบียนมีปัญหามากกว่า 12.3 ล้านเรื่อง


นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี

ในขณะนั้นมีผู้ระบุว่าเป็นหนี้นอกระบบจำนวน 1,765,033 ราย คิดเป็นมูลหนี้ 136,750 ล้านบาท

รัฐบาลนายทักษิณดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวผ่านแนวทางสำคัญเบื้องต้น ดังนี้
  • ลงทะเบียนผู้ประสบปัญหา
  • การเจรจาและยุติเรื่อง โดยสามารถเจรจาและขอยุติเรื่องได้จำนวน 1,525,900 ราย คิดเป็น 86.5% ของลูกหนี้นอกระบบทั้งหมด
  • โอนหนี้นอกระบบมาเข้าสู่ในระบบ ลูกหนี้ที่ผ่านการเจรจาและประสงค์ขอกู้จำนวน 218,000 ราย ในจำนวนนั้นได้รับการอนุมัติ คิดเป็น 48.4% ของจำนวนผู้ผ่านกระบวนการเจรจาทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม ในงานวิจัยดังกล่าว ดร.สุรางค์รัตน์ ตั้งข้อสังเกตว่า นับตั้งแต่การยึดอำนาจการปกครองโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 รัฐบาลของ พล.อ. ประยุทธ์ ซึ่งดำรงตำแหน่งหัวหน้า คสช. มีการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบไม่แตกต่างจากการดำเนินการในรัฐบาลก่อนหน้า

ขณะเดียวกัน จากคำแถลงของนายเศรษฐา เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ที่ผ่านมา ก็มีเนื้อหาไม่แตกต่างจาก 5 แนวทางของการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบของ "รัฐบาลประยุทธ์" ที่เคยแถลงไว้เมื่อเดือน ก.ย. 2563