วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 23, 2566

อดีตพันธมิตรฯ มองต้องนิรโทษฯ คลี่คลาย ม.112 และเขียนรธน.ใหม่เพื่อออกจากวังวนความขัดแย้ง



อดีตพันธมิตรฯ มองต้องนิรโทษฯ คลี่คลาย ม.112 และเขียนรธน.ใหม่เพื่อออกจากวังวนความขัดแย้ง

22 พฤศจิกายน 2023
Ilaw

วันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 อมร อมรรัตนานนท์ อดีตแนวร่วมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวในเวทีเสวนา “ก้าวแรกอย่างไรในการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง” โดยสรุปว่า เวลานี้เป็นเวลาที่เหมาะสมในการพูดคุยเพื่อหาแนวทางให้ประเทศก้าวเดินไปข้างหน้าได้ การนิรโทษกรรมมีความจำเป็นในการที่จะก้าวพ้นความขัดแย้งและทำให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันได้ ที่ผ่านมามีข้อเสนอนิรโทษกรรมที่เป็นปลายปิด เช่น ไม่นิรโทษกรรมคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 แต่เขาเห็นว่า มาตรา 112 เป็นปัญหาร่วมของสังคมที่ต้องยอมรับว่ามันเป็นปัญหา ถ้าไม่คลี่คลายเยาวชนก็จะติดกับอยู่กับวังวนของความขัดแย้งแล้วก็ไม่มีที่สิ้นสุด นอกจากนี้ในระยะกลางต้องมีการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จากประชาชนเพื่อจัดวางโครงสร้างอำนาจแบบใหม่ให้กับประชาชน



ย้อนรอยการชุมนุมพันธมิตรเริ่มจากตรวจสอบรัฐบาลสู่วังวนการรัฐประหาร

อมรกล่าวว่า การมาพูดในวันนี้ถือว่า เป็นการมาในนามส่วนตัวเพราะว่า คำว่า “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” มันเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว มีการสลายตัวไปตั้งแต่หลังการชุมนุมเมื่อปี 2551 ที่หลายคนเรียกว่า “ปิดสนามบิน” หลังการเคลื่อนไหวครั้งนั้นบรรดาองค์กรแกนนำก็ได้สลายตัวเพราะว่า มันเป็นองค์กรแนวราบที่รวมตัวกันอย่างหลวมๆ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเป็นการก่อเกิดของขบวนการภาคประชาชนหลายส่วนในยุคแรกที่ชัดเจนและก็เป็นองค์กรที่จุดประกายในการเคลื่อนไหวตรวจสอบรัฐบาลไทยรักไทยในยุคนั้น รัฐบาลไทยรักไทยก่อเกิดเป็นผลพวงมาจากรัฐธรรมนูญ 2540 ซึ่งถือได้ว่า เป็นรัฐธรรมนูญของประชาชน เปิดพื้นที่อำนาจให้กับภาคประชาชนและมีองค์กรตรวจสอบที่เข้มแข็ง ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ได้สร้างความเข้มแข็งของระบบการเมือง แต่ในวันที่มีการเลือกตั้งมาองค์กรแรกที่จุดประกายในการตรวจสอบรัฐบาลในยุคนั้นคือ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย โดยประเด็นแรกที่ทำงานคือ การตรวจสอบมติสีเทา กรณีการซุกหุ้นที่เป็นการแทรกแซงองค์กรอิสระและทำให้เกิดความมัวหมองของระบบการเมือง ปปช.ในยุคนั้นมีมติให้ทักษิณ ชินวัตรพ้นผิด

จากจุดนั้นเองทำให้เกิดการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลในยุคของทักษิณ ชินวัตร ทำให้เกิดคำถามว่า ระบอบประชาธิปไตยที่เป็นระบอบประชาธิปไตยผ่านทางระบบรัฐสภา แน่นอนเสียงข้างมากเป็นความถูกต้อง ชัดเจนในการที่จะมีอำนาจในการบริหารประเทศ แต่ยังมีมุมมองว่า ประชาธิปไตยไม่ใช่แค่รูปแบบเท่านั้นจำเป็นต้องมีความชอบธรรมและมีเหตุมีผล

“การเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยจึงมีจุดยืนในการตรวจสอบทักษิณ สรุปว่า นี่เป็นระบอบเผด็จการรัฐสภา จากจุดนี้ทำให้เกิดความเห็นต่างกันในหมู่ภาคประชาชน นักเคลื่อนไหวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่มีมุมมองต่างกันเกี่ยวกับคำว่าประชาธิปไตย ผมถือว่าเป็นปัญหาใจกลางของความขัดแย้งที่พัฒนามาจนถึงทุกวันนี้ ขณะเดียวกันก็มีพี่น้องประชาชนบางส่วนมีมุมมองว่าระบอบประชาธิปไตยนั้นก็ต้องยึดหลักสากลนิยม ใช้เสียงข้างมากอย่างเดียว แต่ว่าในมุมของพันธมิตรนั้น อันนี้ผมกล่าวในนามที่ผมได้มีส่วนร่วมในการเคลื่อนไหวอยู่ในทัศนะขององค์กรประชาธิปไตยคือ ครป.ที่เป็นแกนกลางในวันนั้นเราต้องยอมรับกันทบทวนประวัติศาสตร์ว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนต่างๆมีมุมมองที่คล้อยตามกัน เห็นด้วย แต่จุดของการเคลื่อนไหวหลังจากนั้นมันก็แพร่ขยายไปปั่นก็เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่ามีกลุ่มพลังกลุ่มคนหลายกลุ่มที่เข้ามาร่วมจากเป้าหมายก็คือตรวจสอบรัฐบาลทักษิณ...”

ทางแยกของพันธมิตรฯ เริ่มด้วยนายกพระราชทานตามมาตรา 7

“จุดที่คิดว่าเป็นจุดที่ทำให้เริ่มเกิดความเห็นต่างกันภายในก็คือว่า การที่มีคุณจำลอง ศรีเมืองเข้ามา คุณสนธิ ลิ้มทองกุลซึ่งเป็นสื่อด้วย ในวันนั้นมุมบวกก็คือว่าทำให้พลังของการเคลื่อนไหวขยายตัวไปอย่างกว้างขวาง แต่ก็มีบางมุมในทางความคิด ซึ่งมาแสดงออกในระยะหลังๆจากที่การเคลื่อนไหวมาประมาณระยะหนึ่ง เนื่องจากการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในวันนั้นมองไม่เห็นทางออก เพราะว่ารัฐบาลไทยรักไทยในวันนั้นโดยเฉพาะคุณทักษิณ ชินวัตรไม่ยอมรับการตรวจสอบแล้วก็มีท่วงทำนองท่าทีที่แข็งขันในการที่จะไม่ยอมลงจากอำนาจ มันก็มีแรงสวิงของปีกพันธมิตรฯ เสนอมาตรา 7 ซึ่งเป็นอำนาจที่หลายคนมองว่า ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของการต่อสู้ในระบอบประชาธิปไตย เป็นการนำอำนาจที่ไม่ได้อยู่ในกลไกของระบอบประชาธิปไตยมาใช้ก็เกิดการถอนตัวขององค์กรเครือข่ายทางภาคประชาสังคม โดยเฉพาะพี่น้องเอ็นจีโอหลายส่วนก็ถอนตัวออกจากการเคลื่อนไหวแต่ก็มีพี่น้องประชาชนกลุ่ม หนึ่งก็ยังเหมือนกับยืนหยัดว่า ข้อเสนอที่ถูกเสนอโยนมาจากแกนนำพันธมิตรอาจจะมีความรู้สึกขัดความรู้สึกแต่เมื่อร่วมหัวจมท้ายแล้วก็ยังเคลื่อนไหวต่อไป”


“จุดเนี่ยมันก็เป็นจุดอ่อนแล้วก็เป็นปมเงื่อนที่ผมคิดว่า ถึงเวลานี้พวกเราหลายคนก็สรุปบทเรียนแล้วก็เห็นถึงการเคลื่อนไหวว่า ถึงจุดหนึ่งเราทำได้เพียงแค่ปลุกกระแสการตื่นตัวการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในหลายส่วนขึ้นมาเพื่อที่จะรับผิดชอบต่อกลไกของระบอบประชาธิปไตยในยุคนั้น แต่อีกจุดหนึ่งเราก็ได้บทเรียนว่าในการเคลื่อนไหวโดยสันติวิธีและก็เป็นการเคลื่อนไหวแบบเปิดเผย ถึงที่สุดแล้วเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรได้ เราก็ถูกฉกฉวยการเคลื่อนไหวการต่อสู้ในวันนั้นเกิดการรัฐประหารโดยคณะทหาร”

จุดพลิกผันเมื่อทหารฉวยใช้การเมืองท้องถนนเป็นข้ออ้างรัฐประหาร

“บทบาทของของการเคลื่อนไหวต้องหยุดตรงหลายส่วนก็ไปเข้าร่วม สนับสนุนเข้าไปเป็นสนช.เข้าไปร่วมอำนาจกับคณะรัฐบาลอันนี้คือข้อเท็จจริง ที่ปฏิเสธไม่ได้แต่บางส่วนก็ถอดถอน-ถอยตัวออกมายืนอยู่ในวงรอบที่จะทำหน้าที่ในการเคลื่อนไหวตรวจสอบต่อไป สิ่งที่เกิดขึ้นจากการรัฐประหารที่เกิดจากผลพวงของการเคลื่อนไหวของประชาชนในนามพันธมิตรฯ รัฐบาลในยุคนั้นคือรัฐบาลในยุคนั้นคือ รัฐบาลสุรยุทธ์ จุลานนท์ได้เอาข้ออ้าง เอาเหตุผลของการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน เอามาเป็นเหตุผลในการรัฐประหารแล้วก็ได้เขียนรัฐธรรมนูญฉบับปี ‘50 ขึ้นมา เรามองว่ามันเป็นการถอยหลัง เป็นการลดอำนาจทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ”

“และในขณะเดียวกันก็ได้สร้างค่านิยมทางการเมืองบางอย่างออกมาว่า นักการเมืองหรือบรรดาพรรคการเมืองซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า โดยส่วนใหญ่เป็นจริงก็คือว่าพรรคการเมืองไม่ได้เป็นพรรคการเมืองของตัวแทนของประชาชนและนักการเมืองเป็นกลุ่มคนที่ชั่วร้าย วิธีคิดมันฝังตัวอยู่ในการเคลื่อนไหวของประชาชนที่เรียกตัวเองว่าเป็นพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ความรู้สึกเรียกร้องต้องการมุมนึงก็บอกว่าอยากจะปฏิรูปทางการเมือง แต่อีกมุมนึงในการนำเสนอก็เป็นการนำเสนอที่ไม่เชื่อมั่นในระบบ ไม่เชื่อมั่นในระบบแล้วก็ไม่เชื่อมั่นกับ บรรดาพรรคการเมือง มันก็เกิดความคิดคือวาทกรรมหนึ่ง เราบอกว่าเสนอการปฏิรูปทางการเมืองแต่การปฏิรูปทางการเมืองมันรูปธรรมมันไม่สามารถเสนอโมเดลอะไรที่มันชัดเจนได้ มันก็เป็นวาทกรรมว่าเราต้องการนักการเมืองดี คนดีมาปกครองบ้านเมืองแต่ด้วยกลไกที่เรายอมรับต่อกติกาประชาธิปไตยผ่านรัฐธรรมนูญ การที่ภาคประชาชนหรือประชาชนในจะได้ตัวแทนของตัวเองเข้ามาจัดการกับอำนาจรัฐนะ มันก็ต้องผ่านกลไกของพรรคการเมืองซึ่งพรรคการเมืองที่ถูกเขียนกติกาไม่ว่าจะเป็น ‘40 ‘50 หรือรวมทั้งปัจจุบัน มันกลายเป็นหนทางที่ตีบตันที่ไม่สามารถให้ประชาชนหรือองค์กรภาคประชาชนเข้ามาสู่อำนาจและได้อย่างแท้จริง…”

“ในการเคลื่อนไหวของพันธมิตรประชาชน เนื่องจากนำเสนอปัญหาประชาธิปไตยที่เรียกว่าอาจจะค่อนข้างเป็นนามธรรมว่าเราต้องการการเมืองที่มีคุณธรรมก็มีพี่น้องประชาชนส่วนหนึ่ง เขาบอกว่า การเคลื่อนไหวแบบนี้เมื่อมันนำไปสู่การรัฐประหาร มันเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ถูกต้องผิดหลักการ ซึ่งตรงนั้นมันก็เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความขัดแย้งแตกแยกออกมา ทีนี้บรรยากาศที่ทำให้ความขัดแย้งมันบานปลายต้องยอมรับว่า ทั้งสองฝ่ายเนี่ยต่างมีวาทกรรมที่ค่อนข้างรุนแรง จากพลังของเหตุผลกลายเป็นพลังของความรู้สึกความเกลียดชัง บรรยากาศของความเกลียดชังกับบุคคลที่เห็นต่างต้องยอมรับว่ามันแผ่คลุมสภาพทางการเมืองหลังปี ‘49 ค่อนข้างสูง หลายครั้งเนี่ยมีการเผชิญหน้า มีการปะทะกัน ไม่ว่าจะเป็นวาทกรรมหรือแม้กระทั่งหลายครั้งก็นำไปสู่ความรุนแรง...จุดนี้เป็นจุดที่ทำให้การเมืองไทยร้าวลึกอย่างไม่เคยมีมาก่อน”

ชวนเปิดพื้นที่พูดคุยพาสังคมเดินหน้าออกจากความขัดแย้ง



“ผมคิดว่ามันเป็นก็เป็นโอกาสที่ดีที่สถานการณ์การเมืองมันพัฒนามา จนกระทั่งปัจจุบันผมคิดว่าทุกสีทุกฝ่ายเมื่อย้อนรอยถอยหลังกลับไปพิจารณาถึงเหตุถึงผล ถ้าทุกคนหันมาเข้าใจข้อเท็จจริงแล้วมองถอยออกจากจุดยืนของตัวเองแล้วมองเข้าไปในปัญหาความขัดแย้งที่เกิดขึ้นแต่ละยุคสมัยนั้นผมคิดว่าจังหวะเวลานี้เป็นจังหวะที่เหมาะสมในการที่เราจะมาหาข้อเท็จจริงในทางสังคมการเมืองว่า การเคลื่อนไหวของแต่ละกลุ่มแต่ละเครือข่ายแต่ละสีนั้น จุดยืนที่เรียกว่าเป็นจุดยืนที่เป็นผลประโยชน์ของประชาชนอย่างแท้จริงนั้นอยู่ตรงไหน ถ้าเกิดเป็นเวทีที่มีลักษณะแบบนี้และสามารถค้นคว้ายอมรับกันในมุมที่เอาเหตุผลและข้อเท็จจริงมาเป็นหลักผมคิดว่ามันน่าจะเป็นอะไรที่ทำให้กระบวนการภาคประชาชนหรือสังคมเดินหน้าไปได้อย่างเป็นตัวของตัวเองมากที่สุด”

“ในการที่เราจะข้ามพ้นความขัดแย้งและทำให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันได้ เฉพาะหน้ากฎหมายนิรโทษกรรมเป็นความจำเป็น…ผมก็ค่อนข้างสนับสนุนกับหลักคิดของพรรคก้าวไกลที่จะมีคณะกรรมการชุดหนึ่งมากรองในบุคคลที่เกี่ยวข้องจะได้รับหรือไม่ได้รับให้มันจบด้วยกรรมการชุดนี้แล้วก็ไปจบในระบบรัฐสภา ซึ่งในประเด็นอย่างคุณหมอเหวงว่า แกนนำไม่ควรจะได้รับ[การนิรโทษกรรม] มันจะได้เอาไปถกเถียงกันในเวทีนั้น การที่จะสรุปฟันธงร้อยเปอร์เซ็นต์เหมือนกับในอดีตเนี่ยมันมีสภาปฏิรูปหรือในยุคของคุณอภิสิทธิ์ก็มีการตั้งอาจารย์คณิต ณ นครมา ทุกชุดเห็นด้วยว่า ต้องมีนิรโทษกรรมแต่ว่ากรอบของนิรโทษกรรมจะระบุไปชัดเจน ซึ่งผมคิดว่าตรงนั้นมันจะเป็นปลายปิดมันอาจจะเกิดปัญหาอย่างเช่น รอบของสภาปฏิรูปหรือว่าอาจารย์คณิต ณ นครบอกว่าบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการเมืองถ้าเป็นคดีคอร์รัปชันไม่นิรโทษฯ 112 ก็ไม่ แต่ในวันนี้ผมเห็นว่าปัญหา 112 เป็นปัญหาร่วมของสังคมที่ต้องยอมรับว่ามันเป็นปัญหา ถ้าเราไม่คลี่คลายเยาวชนลูกหลานเราก็จะติดกับอยู่กับวังวนของความขัดแย้งแล้วก็ไม่มีที่สิ้นสุด”

“เพราะฉะนั้นแนวคิดผมสนับสนุนว่า ก่อนที่จะเป็นเนื้อหาร่างมีกรรมการชุดนี้[คณะกรรมการกลั่นกรอง]ก่อนมานั่งคุยกันแต่ปลายทางคือยังไงก็ต้องปลดล็อกในทางสังคมเพื่อที่จะเริ่มเดินหน้า ในระยะกลางคือต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่เพื่อวางโครงสร้างอำนาจให้ประชาชน...กรอบของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ได้ตัวแทนจากภาคประชาชนจากการเลือกตั้งมามาเขียนเหมือนกับปี ’40 นี่คือสิ่งที่ผมอยากจะเสนอว่า ถ้าไม่ทำสองสิ่งนี้การเมืองไทยก็คงต้องวนเวียนอยู่กับระบบอำนาจที่เราจะเห็นพรรคการเมืองแต่ละพรรคที่กุมอำนาจรัฐอยู่เนี่ยเป็นตัวแทนของทุนแล้วก็รับใช้ทุน รวมถึงไม่ได้เคยทำประโยชน์ให้กับประชาชน”

สรุปยอดคดีพันธมิตรฯ ผ่านมา 15 ปีคดียังไม่จบ

อมรอธิบายสรุปคดีการชุมนุมที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยว่า คดีหลักจะมีประมาณ 7 คดี เช่น

  1. คดีการชุมนุมที่ทำเนียบรัฐบาล คดีนี้ถึงที่สุดแล้วศาลพิพากษาให้จำคุกแกนนำคนละ 8 เดือน
  2. คดีการปิดสนามบินสุวรรณภูมิและดอนเมืองมีจำเลย 98 คน คดีนี้มีจำเลยเป็นผู้ร่วมชุมนุมที่ไม่ใช่แกนนำเช่น คุณป้าที่มาให้กำลังใจและจอย ศิริลักษณ์ ผ่องโชคที่มาร้องเพลงบนเวทีก็ถูกกล่าวหาว่า เป็นผู้ก่อการร้ายไปด้วย คดีนี้มีพยานประมาณหนึ่งพันคน โดยวันที่ 18 ธันวาคม 2566
  3. คดีชุมนุมที่หน้ารัฐสภา ก่อนการเข้าแถลงนโยบายของสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ซึ่งวันดังกล่าวตำรวจสลายการชุมนุม คดีนี้ศาลชั้นต้นและอุทธรณ์ยกฟ้อง จะต้องรอว่า อัยการจะฎีกาหรือไม่
  4. คดีชุมนุมที่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีที มีจำเลยประมาณหนึ่งร้อยคนและมีการฟ้องเพิ่มอีก 5 คน คดีนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์