การที่ อานนท์ นำภา ถอนตัวเองออกจากการขอประกันปล่อยตัวชั่วคราวทั้ง ๑๔ คดี กลายเป็นคุณูปการแก่ประชาชนทั่วไป ที่สนใจข่าวสารและเนื้อหาคดีของเขา ซึ่งได้ถูกส่งออกมาสู่สาธารณะตามปณิธานที่เจ้าตัวตั้งไว้ ในการต่อสู้คดีด้วยมิติใหม่
นั่นคือมันช่วยเพิ่มความมี ‘จักษุทัศน์บรรเจิด’ โดยไม่ต้องเบิ่งและเบิก กรณีหนึ่งคือการให้การในฐานะ ‘จำเลย’ ของเขาเมื่อวันที่ ๒๒ พฤศจิกา ที่ศาลอาญารัชดา ในคดีความผิด ม.๑๑๒ คดีหนึ่งซึ่งศาลชั้นต้นตัดสินจำคุกเขาไว้ ๔ ปี
คดีนี้มาจากการโพสต์ข้อความ ๓ ชิ้นของอานนท์ ที่อัยการอ้างว่าเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน ตั้งแต่ ๑ มกรา ๖๔ ถึง ๓ มกรา ๖๔ และว่าล้วนมีจุดมุ่งหมาย ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายสถาบันกษัตริย์
คำตอบของอานนท์ต่อข้อกล่าวหา Thanapol Eawsakul นำมาเผยแพร่ในบางส่วน ควรแก่การที่ผู้ใฝ่หาความจริงต้องใส่ใจ ธนาพลบอกว่า “คำให้การของอานนท์นั้นชัดเจนและรัดกุมมากโดยไม่หลงไปกับเหลี่ยมของอัยการที่มาซักค้าน”
เขายกตัวอย่าง ๒ ข้อ เรื่องแรกมื่ออัยการซักเกี่ยวกับสิ่งที่อานนท์เรียกร้อง “หลักพระมหากษัตริย์ทรงกระทำผิดมิได้ (The King Can Do No Wrong) การกระทำทุกครั้งก็มีผู้รับสนองพระบรมราชโองการใช่หรือไม่ อานนท์ตอบว่าใช่”
อัยการกลับเล่นลิ้น อ้างถึงรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ กับ พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ๒๕๖๐ ว่าต้องมีผู้รับสนองฯ จึงจะถูกต้องหรือ อานนท์ตอบว่า “เราไม่ได้พูดว่ามันผิดกฎหมาย แต่มันไม่ถูกต้องกับระบอบประชาธิปไตย...อันมีฯ”
อานนท์ยกตัวอย่าง พรบ.จัดระเบียบทรัพย์สินว่า “ทำให้เกิดการโอนสาธารณะสมบัติกลายเป็นของส่วนพระองค์ เช่น ลานพระบรมรูปทรงม้า สวนสัตว์ดุสิต เป็นต้น ซึ่งทั้งสองแห่งนั้นประชาชนเคยใช้เป็นพื้นที่สาธารณะร่วมกัน”
สำหรับคำให้การของธนาพลเองในฐานะพยานจำเลย ต่อกรณี พรบ.ดังกล่าว เขาชี้ว่าทำให้บริษัทใหญ่ๆ อันสำคัญ เช่นธนาคารไทยพาณิชย์ และปูนซิเม็นต์ไทย แต่เดิม ‘สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์’ เป็นผู้ถือหุ้น
ก็กลับเป็นของ “ในหลวงรัชกาลที่ ๑๐ โดยอัตโนมัติ” เขาว่า “เรื่องนี้เป็นสำคัญ เมื่อพระนามพระมหากษัตริย์ มาปรากฏในฐานะผู้เล่นทางเศรษฐกิจ ก็อาจจะมีส่วนระคายเคืองได้เช่นกัน”
(https://www.facebook.com/thanapol.eawsakul/posts/2VsT3bGCFW)