วันศุกร์, พฤศจิกายน 24, 2566

คำกล่าวตอนหนึ่งของอานนท์ ระหว่างการเบิกความ บทบาทสถาบันฯ คดี #ม112 จากสามโพสเฟซบุ๊ก ซึ่งศาลไม่ได้จดบันทึกไว้ในสำนวนคดี อานนท์พูดถึงความขลาดเขลาของ ตำรวจ อัยการ ศาล ที่ไม่กล้าพูดแต่ เอามาตรา 112 มาลงโทษคนกล้า


iLaw
6h ·

อานนท์ นำภา เบิกความอธิบายบทบาทสถาบันฯ คดี #ม112 จากสามโพสเฟซบุ๊ก สืบพยานเสร็จ
นัดพิพากษา 17 ม.ค. 67
.
22-23 พฤศจิกายน 2566 ศาลอาญานัดสืบพยานฝ่ายจำเลย ในคดีข้อหาฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตาม #มาตรา112 และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสเฟซบุ๊กสามโพสในช่วงต้นปี 2564 ซึ่งอานนท์ นำภา จำเลยในคดีนี้ขึ้นเบิกความต่อศาล อธิบายถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ในช่วงความขัดแย้งทางการเมืองที่ผ่านมากว่าสิบปี และอธิบายเหตุความจำเป็นที่ต้องใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นพูดเรื่องดังกล่าวต่อสาธารณะ

คดีนี้พนักงานอัยการฟ้องจากการที่เพจเฟซบุ๊กอานนท์ นำภาโพสข้อความสามข้อความ ข้อความที่หนึ่ง โพสเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นข้อความเกี่ยวกับการดำเนินคดีต่อคนที่เสื่อมศรัทธา ซึ่งอานนท์อธิบายว่า เขาไม่ได้โพสดูหมิ่นหรือให้ร้ายสถาบันพระมหากษัตริย์ แต่โพสวิจารณ์บุคลากรในกระบวนการยุติธรรม ที่ดำเนินคดีต่อทิวากร ที่จังหวัดขอนแก่นจาการใส่เสื้อเขียนว่า "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว" ข้อความที่สอง โพสเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นการกล่าวต่อตำรวจที่ดำเนินคดีคนที่ใส่เสื้อ "เราหมดศรัทธาสถาบันกษัตริย์แล้ว" และวิจารณ์มาตรา 112 ที่กำหนดอัตราโทษไว้หนักเกินไป โดยยกตัวอย่างข้อความประกอบ ข้อความที่สาม โพสเมื่อวันที่ 3 มกราคม 2564 เกี่ยวกับการวิจารณ์กลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยกับการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

ฝ่ายพนักงานอัยการโจทก์พิจารณาว่า การโพสเฟซบุ๊กสามโพสเป็นการกระทำต่อเนื่องกัน นับเป็นการกระทำครั้งเดียวและขอให้ศาลลงโทษเป็นหนึ่งการกระทำ ด้านฝ่ายจำเลยก็ปฏิเสธมาตลอด โดยเชื่อว่าทั้งสามโพสไม่ใช่การหมิ่นประมาทหรือให้ร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ที่มาตรา 112 คุ้มครอง แต่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในฐานะที่ประชาชนควรทำได้
 
ในการเบิกความของจำเลยเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ตอนหนึ่งอานนท์อธิบายถึงบทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ว่า มีความเกี่ยวข้องกับการเมืองกว่าสิบปีที่ผ่านมา โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์พระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ที่ตรัสต่อตุลาการ ก่อนการสั่งยุบพรรคไทยรักไทย ต่อมายังมีบทบาทของพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีที่พูดเรื่อง "เจ้าของม้า" และหลังเหตุการณ์รัฐประหารในปี 2549 พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งเป็นองคมนตรีก็มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี
 
อานนท์ยังเล่าถึงหลายเหตุการณ์ทางการเมือง เช่น การเสด็จไปร่วมงานศพของผู้ชุมนุมกลุ่ม "เสื้อเหลือง" พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยของสมเด็จพระราชินี หรือการที่เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารีเคยถ่ายภาพที่ฉลองพระองค์ด้วยสัญลักษณ์ของกลุ่มผู้ชุมนุมทางการเมือง หรือการที่ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตน์ ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2562 ก่อนจะตามมาด้วยประกาศสถาบันพระมหากษัตริย์จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10

นอกจากนี้ อานนท์ยังอธิบายถึงกระบวนการออกกฎหมาย ทั้งการพระราชทานข้อสังเกตในการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2560 และการออกพระราชบัญญัติจัดระเบียบทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ซึ่งมีผลให้สาธารณสมบัติของแผ่นดินเปลี่ยนเป็นทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ รวมทั้งอีกหลายประเด็นซึ่งเป็นฐานของข้อเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์

"ผมเป็นคนกลางเก่ากลางใหม่ วันนี้อายุ 39 ปี ผมเข้าใจคนที่มีอายุมากว่าคิดอะไร เช่ืออย่างไร และผมก็เข้าใจคนรุ่นใหม่ที่กำลังเติบโตขึ้นมาว่า เรื่องพวกนี้เขาคิดอีกอย่าง จึงเห็นว่าเรื่องนี้สำคัญ และจำเป็นต้องพูดกัน"
"ผมกำลังวิจารณ์พวกเราที่อยู่ในห้องนี้แหละ ทั้งตำรวจ อัยการ ศาล ที่เป็นคนเอามาตรา 112 มาใช้"
 
"ถ้าท่านเห็นว่ามันไม่ถูกต้อง แต่ท่านไม่กล้าออกมาพูด ก็ไม่เป็นไร แต่ไม่ใช่เอาโทษมาลงที่ผม" อานนท์ กล่าวตอนหนึ่งระหว่างการเบิกความ ซึ่งศาลไม่ได้จดบันทึกไว้ในสำนวนคดี

นอกจากอานนท์แล้วฝ่ายจำเลยยังมีพยานอีกสองปาก คือ ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ จาก iLaw ที่อธิบายถึงปรากฏการณ์การบังคับใช้มาตรา 112 ที่เปลี่ยนแปลงไปตามบรรยากาศทางการเมือง และเหตุการณ์การชุมนุมก่อนการโพสข้อความในคดีนี้ และธนาพล อิ๋วสกุล จากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันที่เบิกความถึงข้อมูลการจัดการทรัพย์สินของสถาบันพระมหากษัตริย์ในประวัติศาสตร์และปัญหาของระบบทรัพย์สินในปัจจุบันที่อาจส่งผลต่ออนาคต

หลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 17 มกราคม 2567 โดยระหว่างนี้อานนท์ยังถูกคุมขังอยู่ด้วยโทษจำคุก 4 ปีในคดีการปราศรัยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2563 และยังไม่ได้ประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ หากศาลอ่านคำพิพากษาในคดีนี้จะเป็นคดีที่สองของอานนท์ที่รู้ผลตัดสินของศาล