วันเสาร์, พฤศจิกายน 25, 2566

ภาคประชาชนเดินหน้า เข้าชื่อเสนอต่อสภา ยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี



ภาคประชาชนเดินหน้า เข้าชื่อเสนอต่อสภา ยกเลิกกฎหมายปราบปรามการค้าประเวณี

24 พ.ย. 2566 โดย iLaw

ไฟล์แนบ
ร่างพ.ร.บ.ยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี.pdf


“ตำรวจลุยตรวจพัทยา ไม่พบคนขายบริการ” หนึ่งในพาดหัวข่าวที่ยังคงเป็นที่จดจำและถูกนำมาเป็นบทสนทนาในพื้นที่ออนไลน์และออฟไลน์อยู่เป็นระยะ นัยหนึ่งที่พาดหัวข่าวดังกล่าวถูกนำมาใช้ เพื่อเสียดสีการทำงานของตำรวจที่ออกมายืนยันว่าไม่มีผู้ให้บริการทางเพศ ทั้งๆ ที่สังคมต่างก็รับรู้ถึงการมีอยู่ของผู้ให้บริการ และในอีกด้านหนึ่ง ก็มีรายงานข่าวที่สะท้อนถึงปัญหาการกดทับผู้ให้บริการทางเพศ ทั้งในเชิงทัศนคติที่เจ้าหน้าที่ในสถานพยาบาลของรัฐแสดงออกมา หรือแม้กระทั่งการถูกผู้บังคับใช้กฎหมายเอารัดเอาเปรียบจากการเรียกรับประโยชน์ หรือ “ส่วย” ไปจนถึงการล่อซื้อ ซึ่งละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้ให้บริการ ซึ่งปัญหาดังกล่าวเกี่ยวพันกับการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ซึ่งมีบทบัญญัติที่กำหนดโทษทางอาญาต่อผู้ให้บริการทางเพศ ทำให้เกิดการตีตราและการเลือกปฏิบัติต่อผู้ให้บริการทางเพศ

ภาคประชาชนนำโดยมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (SWING) จึงใช้สิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 เพื่อให้การค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจไม่เป็นความผิดอาญา (Decriminalization) และเพื่อให้ผู้ให้บริการทางเพศซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจในฐานะแรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิและได้รับการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับอาชีพอื่นๆ ในสังคม

สำหรับผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มีอายุ 18 ปีขึ้นไป และมีสัญชาติไทย สามารถร่วมลงชื่อเพื่อเสนอร่างกฎหมายนี้ให้ได้เกินกว่า 10,000 รายชื่อ เพื่อนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรต่อไป


เช็ค 2 ขั้นตอนลงชื่อเสนอยกเลิกกฎหมายปราบปรามค้าประเวณี

สำหรับการเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 สามารถเข้าชื่อได้ทางระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย (e-initiative) ของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งผู้ที่จะเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ต้องมีแอปพลิเคชัน ThaID แอปบัตรประชาชนอิเล็กทรอนิกส์ก่อนเพื่อยืนยันตัวตนในการเข้าชื่อ

ขั้นตอนการสมัครใช้แอป ThaID และขั้นตอนลงชื่อ ดังนี้


[1] โหลดและลงทะเบียนแอปพลิเคชัน ThaID เพื่อยืนยันตัวตนในตอนลงชื่อ



แอปพลิเคชัน ThaID สามารถดาวน์โหลดในโทรศัพท์หรือแท็บเลตได้ทั้งในระบบ Android และ iOS แอปพลิเคชันจะมีการใช้อินเทอร์เน็ต อัตลักษณ์บุคคล (Biometric) กล้อง และระบบการแจ้งเตือน ซึ่งผู้ใช้จะต้องอนุญาตแอปพลิเคชันให้ใช้ระบบดังกล่าวเพื่อใช้แอปพลิเคชันได้ หลังจากดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน ThaID และอนุญาตให้ใช้ระบบดังกล่าวแล้ว ขั้นตอนการลงทะเบียนใช้แอปพลิเคชัน ThaID นั้นมีสองวิธี คือ การลงทะเบียนด้วยตนเองและการลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่

สำหรับการลงทะเบียนด้วยตนเองจะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. อ่านและกด “ยอมรับ” ข้อตกลงและเงื่อนไขของการใช้แอปพลิเคชัน ThaID
2. ใช้แอปพลิเคชัน ThaID ถ่ายด้านหน้าของบัตรประจำตัวประชาชน
3. ใช้แอปพลิเคชัน ThaID ถ่ายด้านหลังของบัตรประจำตัวประชาชน
4. ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและยืนยันความถูกต้องของข้อมูล หากข้อมูลที่แอปพลิเคชันอ่านไม่ตรงกับข้อมูลที่ปรากฎบนบัตรประขำตัวประชาชน ผู้ใช้สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้
5. หากแอปพลิเคชัน ThaID ตรวจสอบใบหน้าไม่ผ่าน ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้หากภาพใบหน้าของผู้ใช้บนบัตรประจำตัวประชาชนไม่ชัด ผู้ใช้จะต้องทำบัตรประจำตัวประชาชนใหม่ซึ่งจะต้องแสดงใบหน้าได้อย่างชัดเจน
6. ใช้แอปพลิเคชัน ThaID ถ่ายใบหน้าของผู้ใช้ (เซลฟี)
7. สร้างรหัสผ่านแปดหลัก หลังจากที่สร้างรหัสผ่านแล้ว การลงทะเบียนการใช้แอปพลิเคชัน ThaID ก็เสร็จสิ้น

สำหรับการลงทะเบียนผ่านเจ้าหน้าที่จะมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

1. นำบัตรประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์หรือแท็บเลตที่มีแอปพลิเคชัน ThaID ไปที่สำนักทะเบียนที่สำนักงานเขตสำหรับผู้ใช้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ในกรุงเทพมหานคร หรือนำบัตรประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์หรือแท็บเลตที่มีแอปพลิเคชัน ThaID ไปที่สำนักทะเบียนที่ที่ว่าการอำเภอ ที่ว่าการกิ่งอำเภอ หรือสำนักงานเทศบาลสำหรับผู้ใช้ที่มีทะเบียนบ้านอยู่ใน 76 จังหวัด
2. ปิดแอปพลิเคชัน ThaID ในโทรศัพท์หรือแท็บเลตและกรอกเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก
3. ส่งบัตรประจำตัวประชาชนและโทรศัพท์หรือแท็บเลตให้กับเจ้าหน้าที่แล้วเจ้าหน้าที่จะยืนยันตัวตนของผู้ใช้ด้วยการดูใบหน้าของผู้ใช้และให้ผู้ใช้ประทับลายนิ้วมือบนเครื่องอ่าน
4. เจ้าหน้าที่จะนำโทรศัพท์หรือแท็บเลตไปสแกน QR Code และให้ผู้ใช้สร้างรหัสผ่านแปดหลัก ซึ่งผู้ใช้จะต้องกรอกรหัสผ่านแปดหลักนี้ทุกครั้งเมื่อจะใช้งานแอปพลิเคชัน หลังจากที่สร้างรหัสผ่านแล้ว การลงทะเบียนการใช้แอปพลิเคชัน ThaID ก็เสร็จสิ้น

[2] ลงชื่อเสนอยกเลิกกฎหมายปราบปรามค้าประเวณี

1. คลิกเพื่อเข้าไปที่เว็บไซต์ลงชื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539
2. คลิก/กดที่ปุ่ม "ร่วมเข้าชื่อ" จะขึ้นหน้าป๊อปอัพ "การยืนยันตัวตนเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างกฎหมาย" เด้งขึ้นมา ให้อ่าน ข้อตกลงและเงื่อนไข หากยอมรับให้ติ๊กที่ช่อง ข้าพเจ้ายอมรับข้อตกลงและเงื่อนไขในการใช้งานระบบเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
3. คลิกที่ปุ่ม "การยืนยันตัวตนด้วย ThaID" จะนำไปสู่หน้าคิวอาร์โคด เข้าสู่ระบบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายทางเทคโนโลยีถ้าเข้าเว็บลงชื่อด้วยมือถือเครื่องที่มีและลงทะเบียนแอป ThaID อยู่แล้ว ให้กดที่ปุ่ม "เข้าสู่ระบบด้วย ThaID" (ไม่ต้องสแกนคิวอาร์โคด) แอป ThaID จะมีหน้า "ยืนยันตัวตน" เด้งขึ้นมา หากประสงค์ลงชื่อ ให้กด "ยินยอม" และระบุรหัสผ่านแปดหลัก เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย
ถ้าเข้าเว็บด้วยคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือมือถือเครื่องอื่นที่ไม่ได้มีและลงทะเบียนแอป ThaID ให้นำมือถือเครื่องที่มีและลงทะเบียนแอป ThaID มา สแกนคิวอาร์โคดจากหน้าจออุปกรณ์เครื่องที่เข้าหน้าเว็บลงชื่อ (ปุ่มสแกนคิวอาร์โคดแอป ThaID จะอยู่ที่หน้าหลัก) แอป ThaID จะมีหน้า "ยืนยันตัวตน" เด้งขึ้นมา หากประสงค์ลงชื่อ ให้กด "ยินยอม" และระบุรหัสผ่านแปดหลัก เป็นอันเสร็จสิ้นกระบวนการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

เปิดพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี 2539 เอาผิดโฆษณาเพื่อค้าบริการทางเพศ จำคุกสูงสุดสองปี ปรับ 10,000-40,000 บาท

ในอดีต มีการยอมรับว่าอาชีพค้าบริการทางเพศเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมายจากการออกประกาศท้องตราภาษีบำรุงถนนในสมัยรัชกาลที่ 4 เพื่อจัดเก็บภาษีจากผู้ค้าบริการทางเพศ และต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็ได้มีการตราพระราชบัญญัติสัญจรโรค ร.ศ.127 (พ.ศ. 2451) ขึ้นโดยใช้การจดทะเบียนเพื่อควบคุมการค้าประเวณีที่มีจำนวนมากขึ้นจากการขยายตัวของเมืองและการเข้ามาของชาวตะวันตก

การค้าประเวณีหรือการให้บริการทางเพศถูกกำหนดให้เป็นการกระทำที่มีความผิดอาญาเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อมีการตราพระราชบัญญัติปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2503[2] ต่อมาได้มีการตราพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ขึ้นมาแทนที่ เพื่อลดโทษทางอาญาและปรับปรุงมาตรการช่วยเหลือผู้ให้บริการทางเพศ กำหนดอัตราโทษแก่ผู้มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการค้าประเวณีให้สูงขึ้น และเพิ่มบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองเด็กและเยาวชนด้วย

พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 กำหนดความผิดของบุคคลสองประเภท ด้วยกัน อันได้แก่ ความผิดที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางเพศ และความผิดของผู้ที่มีส่วนส่งเสริมหรือเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

ความผิดที่เกี่ยวกับผู้ให้บริการทางเพศ มีสามกรณี

1) ผู้ใดที่ติดต่อหรือชักชวนบุคคล เพื่อการค้าประเวณีอันเป็นการเปิดเผยและน่าอับอายหรือเป็นที่เดือดร้อนรำคาญแก่สาธารณชน ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 1,000 บาท

2) ผู้ให้บริการที่เข้าไปมั่วสุมในสถานที่ค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ในการค้าประเวณีของตนหรือผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้อาจผู้ที่เสี่ยงผิดกฎหมายอาจจะเป็นได้ทั้งตัวผู้ให้บริการทางเพศเอง หรือผู้อื่นที่ปฏิบัติงานในสถานบริการ อย่างไรก็ดี ถ้าถูกบังคับหรือตกอยู่ภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงหรือขัดขืนได้ ไม่มีความผิด

3) ผู้ให้บริการที่โฆษณาหรือทำให้แพร่หลายไปยังสาธารณะเพื่อการค้าประเวณีของตนเองหรือของผู้อื่น ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสองปี หรือปรับตั้งแต่ 10,000 – 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีนี้ผู้ที่มีความผิดทางกฎหมายมีทั้งผู้ให้บริการทางเพศ รวมไปถึงบุคคลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ที่โฆษณาการค้าประเวณีเพื่อประโยชน์ของตัวผู้ให้บริการทางเพศ

ทั้งนี้ การกำหนดให้การติดต่อและการโฆษณาเพื่อค้าประเวณีเป็นความผิด ทำให้ผู้ให้บริการทางเพศต้องเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตามกฎหมายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงต้องประกอบอาชีพอย่างหลบซ่อน หรือพึ่งพาผู้มีอิทธิพลเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน เมื่อสูญเสียอำนาจในการต่อรอง ก็มักจะถูกนายหน้าหรือนายจ้างเอาเปรียบค่าจ้างหรือเวลาทำงาน และเสี่ยงตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมอื่นๆ เช่น การค้ามนุษย์ ยาเสพติด การทำร้ายร่างกาย หรือแม้แต่การล่วงละเมิดทางเพศ โดยที่ผู้ให้บริการอาจไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากกระบวนการยุติธรรมตามปกติเพราะกลัวว่าจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายฉบับนี้เสียเอง

ความผิดของผู้ที่มีส่วนส่งเสริมหรือเกี่ยวข้องกับการค้าบริการทางเพศ มีสี่กรณี ดังต่อไปนี้

1) นายหน้าเพื่อการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 200,000 บาท หากได้กระทำต่อบุคคลอายุมากกว่า 15 แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาทถึงสามแสนบาท แต่ถ้าได้กระทำต่อเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท นอกจากนี้ ผู้กระทำยังต้องระวางโทษหนักขึ้นหากได้กระทำโดยใช้อุบายหลอกหลวง หรือใช้วิธีข่มขืนใจ

2) บิดา มารดา หรือผู้ปกครองซึ่งรู้เห็นในการกระทำนายหน้าค้าประเวณีต่อผู้อยู่ในความปกครองของตนซึ่งมีอายุไม่เกิน 18 ปี และมีส่วนร่วมรู้เห็นเป็นใจให้มีการกระทำความผิดนั้น ต้องระวางโทษระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 80,000 – 400,000 บาท

3) เจ้าของกิจการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการหรือสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามปีถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 – 300,000 บาท นอกจากนี้ หากปรากฏว่ามีเยาวชนค้าบริการอยู่ด้วยก็จะต้องระวางโทษจำคุกห้าปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่ 100,000 – 300,000 บาท และกรณีที่มีเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 10-20 ปี และปรับตั้งแต่ 200,000 – 400,000 บาท

4) ผู้ใช้บริการทางเพศ โดยหลักแล้วไม่มีความผิด เว้นแต่จะใช้บริการทางเพศจากอายุเกิน 15 แต่ไม่ถึง 18 ปี ในสถานการค้าประเวณี ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสามปี และปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท ถ้าใช้บริการทางเพศจากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี รับโทษหนักขึ้น จำคุกตั้งแต่สองปีถึงหกปี และปรับตั้งแต่สี่หมื่นบาทถึงหนึ่งแสนสองหมื่นบาท กรณีนี้ แม้ผู้ให้บริการทางเพศจะยินยอมก็มีความผิด

นอกจากนี้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มีการกำหนดมาตรการรับผู้ให้บริการทางเพศเข้ามาอยู่ในความรับผิดชอบของสถานแรกรับและสถานคุ้มครองและพัฒนาอาชีพ เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพและพัฒนาฝีมือแรงงาน อีกทั้งศาลยังมีอำนาจพิพากษาให้ผู้ให้บริการที่กระทำความผิดตามพ.ร.บ.นี้เข้าสู่กระบวนการคุ้มครองและพัฒนาอาชีพแทนการลงโทษก็ได้ และหากเกิดการหลบหนีจากสถานแรกรับหรือสถานคุ้มครองอาชีพ กฎหมายก็เพียงกำหนดให้เจ้าหน้าที่ออกติดตามตัวผู้หลบหนีเท่านั้น มิได้กำหนดให้ต้องมีความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด

กำหนดความผิดผู้ให้บริการทางเพศอาจได้ไม่คุ้มเสีย นักวิชาการชี้ยกเลิกกฎหมาย ≠ ค้าบริการทางเพศเสรี

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน รับรองสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ในมาตรา 28 และเสรีภาพในการประกอบอาชีพ ในมาตรา 40 ผู้ให้บริการทางเพศมีสิทธิจะยินยอมให้ผู้อื่นกระทำต่อร่างกายของตนได้ และมีเสรีภาพที่จะเลือกประกอบอาชีพ การให้บริการทางเพศโดยสมัครใจที่อยู่บนพื้นฐานของความยินยอม (Consent) จากผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการจึงไม่ได้ก่อความเสียหายต่อบุคคลอื่น แตกต่างจากกรณีแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณีโดยผิดกฎหมาย และการกำหนดให้การค้าบริการทางเพศเป็นความผิดอาจเข้าข่ายเป็นจำกัดสิทธิในเนื้อตัวร่างกายและเสรีภาพในการประกอบอาชีพของผู้ให้บริการเกินสมควรแก่เหตุด้วย

ช่วงสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 แม้ผู้ให้บริการทางเพศจะไม่ถูกกีดกันจากการลงทะเบียนรับเงินเยียวยาโครงการ “เราไม่ทิ้งกัน” เสียทีเดียว แต่ก็ยังมีสถานะเป็นแรงงานที่ไม่สามารถเข้าถึงความคุ้มครองสวัสดิการแรงงานขั้นพื้นฐานเหมือนอาชีพอื่น หากต้องตกงานจากการระบาดนี้ ก็ไม่อาจได้รับเงินทดแทนอย่างแรงงานที่มีสิทธิประกันสังคมได้ ทั้งที่ในความเป็นจริง อาชีพผู้ให้บริการทางเพศมีส่วนขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของไทยอย่างมาก และควรได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายสวัสดิการสังคมเช่นเดียวกัน

ในมิติด้านกฎหมาย ปิยวัฒน์ วิทูราภรณ์ ได้ตั้งข้อสังเกตในวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโท สาขากฎหมายอาญา เรื่อง “ปัญหาในการกำหนดความรับผิดของผู้ค้าประเวณี” ว่า การกำหนดความผิดอาญาแก่ผู้ให้บริการทางเพศในพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มีขอบเขตการบังคับใช้ไม่แน่นอนและทับซ้อนกับความผิดในกฎหมายอื่น เช่น กรณีความผิดเกี่ยวกับการโฆษณาการค้าประเวณี ซึ่งมุ่งหมายจะใช้แก้ปัญหาธุรกิจการค้าบริการทางเพศ แต่ก็ปรากฏว่าถูกนำมาบังคับใช้กับผู้ให้บริการทางเพศเช่นกัน และทับซ้อนกับความผิดเกี่ยวกับการเผยแพร่สิ่งลามกอนาจารสู่สาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 287 หรือกรณีนิยามของคำว่า “สถานการค้าประเวณี” หมายความรวมไปถึงสถานที่ที่แม้จะมีการค้าประเวณีเพียงหนึ่งครั้งก็เข้าข่ายตามนิยามนี้ ส่งผลให้การปรับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการเข้าไปมั่วสุมในสถานการค้าประเวณีมีขอบเขตกว้างกว่าที่ควรจะเป็น

เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบและประสิทธิภาพของการบังคับใช้กฎหมายฉบับดังกล่าวแล้ว การยกเลิกพ.ร.บ.ฉบับนี้ย่อมเป็นหมุดหมายสำคัญในการทบทวนสิทธิที่ผู้ให้บริการทางเพศควรจะได้รับเช่นเดียวกับผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ โดยในโครงการทบทวนกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี รองศาสตราจารย์ มาตาลักษณ์ เสรเมธากุล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงความพยายามในการควบคุมและคุ้มครองผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีทั้งหมดผ่านการยกร่างกฎหมายเพื่อรองรับการยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 มีการวางนโยบายคุ้มครองสิทธิของผู้ให้บริการทางเพศ การคุ้มครองไม่ให้ถูกแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ และการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ให้บริการตามความจำเป็น อันแสดงให้เห็นว่าการยกเลิกพ.ร.บ.ฉบับนี้น่าจะไม่ได้นำไปสู่การค้าบริการทางเพศอย่างเสรีในประเทศไทยตามที่มีความกังวลแต่อย่างใด

ย้อนจุดยืนพรรคการเมือง ก้าวไกล-ประชาธิปัตย์ หนุนยกเลิกกฎหมายปราบปรามค้าประเวณี

ย้อนกลับไปช่วงก่อนการเลือกตั้งทั่วไป เมื่อ 30 มีนาคม 2566 คณะทำงานเครือข่ายสิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบายพรรคการเมือง 2566 (LGBTIQNA+ Civil Rights Network for Political Party Policy 2023) จัดเวที “สิทธิประชาชนเพศหลากหลายกับนโยบายพรรคการเมือง 2566” โดยส่วนหนึ่งของเวทีนี้ คือให้ตัวแทนจากหลายพรรคการเมืองข้าร่วมเวทีเพื่อรับฟังเสียงและข้อเสนอจากภาคประชาชน และนำเสนอนโนบายเพื่อแสดงจุดยืนของพรรคในด้านการสนับสนุน คุ้มครอง และจัดสรรทรัพยากรเพื่อประชาชนเพศหลากหลาย และความเท่าเทียมทางเพศ

โดยตัวแทนจากพรรคการเมืองที่มีสส. ในสภาหลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 มีสองพรรคการเมืองที่ตัวแทนประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่าจะยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 คือ พรรคก้าวไกล โดยมีธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ เป็นตัวแทนแสดงจุดยืนในเวทีนี้ และพรรคประชาธิปัตย์ โดยมี แทนคุณ จิตต์อิสระ เป็นตัวแทนแสดงจุดยืน

ทั้งสองพรรคการเมืองล้วนเป็นพรรคฝ่ายค้านภายใต้สภาชุดเลือกตั้ง 2566 จากข้อมูลวันที่ 23 พฤศจิกายน 2566 พรรคก้าวไกลมี สส. ทั้งหมดที่มีอยู่ (ไม่นับรวมผู้ที่ศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่) 147 คน ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์มีสส. 25 คน

การพิจารณาร่างกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ ขอแค่ได้เสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาก็มีโอกาสที่ร่างกฎหมายนั้นจะผ่านแล้ว เงื่อนไขไม่ได้ซับซ้อนเท่าการพิจารณาแก้รัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม จากจำนวน สส. ทั้งสองพรรคที่มีจุดยืนสนับสนุนยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ก็ยังไม่ชัดเจนว่าหากร่างกฎหมายดังกล่าวเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรแล้ว จะเพียงพอให้ร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านสภาไปได้ จำเป็นที่จะต้องได้เสียงจาก สส. พรรคอื่นๆ เข้ามาโหวตเห็นชอบด้วย ก่อนที่ร่างกฎหมายจะเข้าสภา ประชาชนที่เห็นด้วยกับการยกเลิกพ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.2539 ช่วยกันส่งเสียงไปยัง สส. ในสภาพรรคให้ร่วมกันสนับสนุนยกเลิกกฎหมายนี้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
คู่มือเข้าชื่อเสนอกฎหมายสำหรับประชาชน