วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 26, 2566

5 เหตุการณ์ที่สังคมกังขาต่อความเป็นผู้นำของ นายกฯ เศรษฐา

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย

ประมวล 5 เหตุการณ์ที่สังคมกังขาต่อความเป็นผู้นำของ นายกฯ เศรษฐา

24 พฤศจิกายน 2023
บีบีซีไทย

กระแสวิพากษ์วิจารณ์ต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากกรณีที่เขากล่าวกับสมาชิกพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ในทำนองว่า สส. ฝากตำแหน่งผู้กำกับใหม่ ไม่ใช่ครั้งแรกที่สะท้อนให้เห็นว่า "การสื่อสารของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 มีปัญหา"

ในคลิปที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชน นายเศรษฐาพูดว่า

"การประชุมร่วมครั้งแรกระหว่างนายอำเภอและผู้กำกับ ผู้กำกับใหม่ ซึ่งผมมั่นใจว่าคงมีผู้ผิดหวังมากกว่าผู้สมหวังในห้องนี้ที่ขอตำแหน่งไป เพราะรู้สึกมันเยอะเหลือเกิน แต่ก็มีไม่น้อยที่ได้สมหวัง แต่ก็เป็นผู้กำกับใหม่ซึ่งเราจะต้องพูดคุยเรื่องนี้กันให้เข้าใจถึงถ่องแท้ และต้องกำจัดปัญหานี้ออกไป ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งซึ่งเราเห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญ"

นี่ไม่ใช่เป็นครั้งแรกที่การสื่อสารของนายเศรษฐาถูกตั้งคำถามถึง "ความเป็นผู้นำ" ของเขา หลังจากขึ้นสู่อำนาจได้เพียงสองเดือนกว่า

บีบีซีไทยรวบรวม 5 เหตุการณ์ ที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสารต่อสาธารณะของนายเศรษฐาในฐานะนายกรัฐมนตรี ว่ามีเหตุการณ์ใดบ้างที่อาจทำให้สังคมตั้งคำถามต่อความสามารถในการสื่อสารและภาวะผู้นำของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยผู้นี้

1. #ตั๋วเพื่อไทย

ไม่นานหลังจากคำพูดดังกล่าวของนายกรัฐมนตรีถูกเผยแพร่ คนในสังคมต่างเห็นแทบไปในทิศทางเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นคนในสังคมออนไลน์ นักการเมืองฝ่ายค้าน รวมทั้งกลุ่มนักร้องเรียนทางการเมือง รวมทั้งคนในสังคมออนไลน์ที่พูดคุยกันบนแพลตฟอร์มเอ็กซ์ผ่าน #ตั๋วเพื่อไทย โดยกลายเป็นกระแสมาแล้วสองวัน


บรรยากาศการประชุมประจำสัปดาห์ของพรรคเพื่อไทยเมื่อวันที่ 21 พ.ย. ที่คำพูดของนายเศรษฐาเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์

ในวันที่ 22 พ.ย. นายเศรษฐาออกมาแถลงข่าวปฏิเสธว่าเขาไม่มีอำนาจ ไม่เคยแทรกแซง ไม่เคยก้าวก่ายการแต่งตั้งข้าราชการและตำรวจ โดยบอกว่าเป็นหน้าที่ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะพิจารณาตามผลงาน ส่วน สส. ที่มีการมาพูดคุยกันนั้นเป็นเรื่องการแก้ปัญหายาเสพติดที่เรื้อรัง แล้วอาจจะมีความไม่สบายใจกับเจ้าหน้าที่ จึงได้มีการพูดคุยกัน

ทว่าเรื่องนี้ถูกสังคมตีความไปแล้ว ในจำนวนนั้นคือนายรังสิมันต์ โรม สส.พรรคก้าวไกล ที่เคยอภิปรายรัฐบาลชุดก่อน ว่าด้วยระบบอุปถัมภ์ในสำนักงานตำรวจแห่งชาติในลักษณะตั๋วประเภทต่าง ๆ เขามองเหตุการณ์ล่าสุดนี้ว่า ยังคงสะท้อนถึงระบบอุปถัมภ์ ระบบเส้นสาย ระบบตั๋ว ที่ไม่เคยหมดไปภายใต้รัฐบาลชุดนี้

นายรังสิมันต์ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในวันเดียวกัน (22 พ.ย.) โดยมองว่าอาจจะเข้าข่ายการกระทำผิดกฎหมาย 3 ฉบับ นั่นคือ รัฐธรรมนูญ ม.185, จริยธรรมนักการเมือง และ พ.ร.บ.ตำรวจแห่งชาติ เนื่องจากนายกรัฐมนตรีไม่มีอำนาจหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับผู้กำกับการ


ผู้ชุมนุมกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุมชูป้ายล้อเลียน "ตั๋วช้าง" ระหว่างจัดกิจกรรมอภิปรายนอกสภาที่หน้ารัฐสภาเมื่อ 20 ก.พ. 2564

ต่อมาในวันที่ 23 พ.ย. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย และอดีต ผบ.ตร. โพสต์ข้อความผ่านสังคมออนไลน์เสนอแนะให้นายเศรษฐาแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก

ส่วนในวันนี้ (24 พ.ย.) นายศรีสุวรรณ จรรยา ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ได้ยื่นร้องเรียนต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ให้ไต่สวนนายกรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าว ว่าฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่

ขณะเดียวกัน นายรังสิมันต์ได้แถลงข่าวอีกครั้งในวันนี้ (24 พ.ย.) ถามหาความรับผิดชอบจากนายกรัฐมนตรีในเรื่องนี้

"นี่หรือครับผู้นำของประเทศ นี่หรือครับคือวิธีการแก้ปัญหาของนายกรัฐมนตรีที่ชื่อว่า เศรษฐา ทวีสิน วันนี้ท่านต้องรับผิดชอบกับคำพูดที่ท่านพูด แทนที่จะแก้ปัญหาในเรื่องของระบบอุปถัมภ์เส้นสายตามที่ท่านหาเสียง กลายเป็นว่า ท่านใช้โครงสร้าง ท่านใช้รากแก้วเป็นประโยชน์กับเครือข่าย" นายรังสิมันต์ระบุ


นายกรัฐมนตรีประกาศต่อต้านคอรัปชัน ยึดหลักนิติธรรมที่เข้มแข็ง

ทั้งนี้ ย้อนไปเมื่อสองเดือนที่แล้ว นายเศรษฐาร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชันประจำปี 2566 (6 ก.ย.) ณ สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ เขาเคยประกาศถึงแนวทางในการปราบปรามการทุจริตในแวดวงราชการ ในฐานะรัฐบาลของประชาชน

นายกรัฐมนตรีกล่าวย้ำว่า เรื่องที่เขาให้ความสำคัญมากที่สุด ก็คือเรื่องการขับเคลื่อนภาคราชการ และเขาถือว่าภาคราชการเป็นภาคส่วนที่มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี เป็นผู้ปฏิบัติตามนโยบายรัฐบาล เป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ของรัฐบาล

"การซื้อขายตำแหน่ง การโยกย้ายที่ไม่เป็นธรรม การที่ต้องให้เกียรติกับข้าราชการทุกตำแหน่งถือว่าเป็นภารกิจที่ผมอยากจะนำเข้ามาในรัฐบาลนี้ เพื่อให้แน่ใจว่า ข้าราชการได้รับความเป็นธรรมได้รับการสนับสนุนเมื่อเขามีผลงานที่ดี การซื้อขายตำแหน่งในรัฐบาลนี้ต้องหมดไป" นายเศรษฐา กล่าว

2. เศรษฐาหลุดปาก บอกมีนายกฯ 2 คน

เมื่อวันที่ 25 ต.ค. ในระหว่างการเดินทางไปชมภาพยนตร์เรื่อง "สัปเหร่อ" ที่โรงภาพยนตร์ภายในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน นายเศรษฐาได้ไปร่วมงานดังกล่าวกับคณะรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย และ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ


นายเศรษฐา และ น.ส.แพทองธาร สวมชุดผ้าไทยไปชมภาพยนตร์ "สัปเหร่อ"

ในระหว่างที่นายเศรษฐา และ น.ส.แพทองธาร รับประทานป๊อปคอร์นเพื่อให้สื่อมวลชนบันทึกภาพอยู่นั้น มีช่างภาพคนหนึ่งขอให้นายกรัฐมนตรีหันมา แต่นายเศรษฐาหันมาถามช่างภาพคนนั้นทีเล่นทีจริงว่า

"นายกฯ คนไหน มีนายกฯ สองคนนะ"

ต่อมาวันที่ 27 ต.ค. ภายหลังจากที่ น.ส.แพทองธาร ได้รับการเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเพื่อไทยคนใหม่ ผู้สื่อข่าวสอบถามนายเศรษฐาว่าได้แสดงความยินดีกับ น.ส.แพทองธาร หรือยัง

เขาตอบกลับว่า ได้อวยพรไปแล้ว และเป็นกำลังใจให้ และเห็นว่า น.ส.แพทองธาร เก่งอยู่แล้วและมีทีมงานเป็นคนรุ่นใหม่ มีแรงและพลังสูงทุกคน ทุกคนมีความมั่นใจ

ในระหว่างอยู่ในลิฟต์ นายกรัฐมนตรีหันมากล่าวขยายความว่า “มั่นใจหมายความว่า เป็นนายกฯ ต่อได้สบาย ๆ" พร้อมทิ้งทายด้วยการยิ้มอย่างมีเลศนัย

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้สังคมตั้งถำถามต่อคำพูดของนายเศรษฐาว่ามีเจตนาอย่างไร หนึ่งในนั้นคือนายสุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนอาวุโส ที่ออกมาโพสต์ข้อความถามในเอ็กซ์ ว่า "วันนี้ ประเทศไทยมีนายกฯ กี่คน"



ต่อมานายเศรษฐาเข้ามารีโพสต์ข้อความของนายสุทธิชัยด้วยข้อความสั้น ๆ ว่า "คนเดียวครับ เศรษฐา ทวีสิน"

3. ปม "ทักษิณ" พ้นโทษจะขอคำปรึกษา

เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ระหว่างการเดินทางไปร่วมประชุมสมัชชาสหประชาชาติสามัญครั้งที่ 78 ที่นครนิวยอร์กของสหรัฐฯ นายเศรษฐาได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์บลูมเบิร์ก ในช่วงหนึ่งพิธีกรในรายการได้สอบถามนายเศรษฐาถึงบทบาทของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ในขณะนี้ยังต้องโทษจำคุกว่า บทบาทอดีตผู้นำผู้นี้จะเป็นอย่างไรเมื่อพ้นโทษแล้ว



นายเศรษฐาให้ความเห็นว่า เขาเชื่อว่านายทักษิณจะสร้างประโยชน์เพิ่มให้กับรัฐบาลและคนไทยได้ และนายทักษิณยังคงเป็นนายกรัฐมนตรีที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์การเมืองของไทย และเป็นเหตุผลที่ดีอย่างชัดเจนว่า คงไม่ฉลาดนักหากเมื่ออดีตนายกฯ ทักษิณ ได้รับอิสรภาพแล้วตัวเขาไม่ไปขอความเห็น

ประเด็นนี้จุดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอีกครั้งจนทำให้เกิดการคาดการณ์ว่านายเศรษฐามีแนวคิดแต่งตั้งนายทักษิณมาเป็นที่ปรึกษา ต่อมาในวันที่ 23 ก.ย. นายเศรษฐาให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนโดยปฏิเสธว่า เรื่องดังกล่าวไม่เป็นความจริง พร้อมกับบอกให้สื่อมวลชนไปถอดคำสัมภาษณ์ได้

4. เศรษฐา "ประณาม" การโจมตีของกลุ่มฮามาส กระทรวงการต่างประเทศต้องออกมาแก้ต่าง

ปฏิกิริยาของนายเศรษฐาต่อการเปิดฉากโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ต.ค. ที่ผ่านมา ดูเหมือนจะรวดเร็วกว่าท่าทีทางการของรัฐบาลไทย โดยนายเศรษฐาใช้การสื่อสารผ่านบัญชีเอ็กซ์ส่วนตัวกล่าวประณามการโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสว่าเป็น "การโจมตีที่ไร้มนุษยธรรมที่ทำให้ผู้บริสุทธิ์ต้องสูญเสียชีวิตและบาดเจ็บ และขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อรัฐบาลและประชาชนอิสราเอล"



นอกจากนี้ยังมีนายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้โพสต์ข้อความในลักษณะเดียวกันกับนายเศรษฐาด้วย

ไม่เพียงผู้ใช้งานบัญชีเอ็กซ์เท่านั้นที่เข้าไปแสดงความคิดเห็นในข้อความของนายเศรษฐาในลักษณะตั้งคำถามว่าเหมาะสมหรือไม่ที่ออกมาประณาณกลุ่มผู้โจมตีในขณะที่ยังมีคนไทยเป็นตัวประกันโดยไม่ทราบชะตากรรม

นายนันทิวัฒน์ สามารถ อดีตเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และอดีตรองผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ยังโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นตั้งคำถามว่า นายกฯ เศรษฐาใจร้อนเกินไปหรือไม่


นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

ต่อมาในวันที่ 8 ต.ค. ในการแถลงข่าวของกระทรวงการต่างประเทศ นายปานปรีย์ออกมาชี้แจงว่า ที่ประณามไปคือ การใช้ความรุนแรงและสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนไทยที่เป็นผู้บริสุทธิ์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถยอมรับได้ แต่ก็ได้ยอมปรับท่าทีลงด้วยการยืนยันว่า "ยังไม่ได้ประณามฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง"

5. การสื่อสาร ปมจ่ายเงินข้าราชการเดือนละ 2 รอบ

ในการแถลงข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกของรัฐบาลเศรษฐา มีประเด็นที่สร้างข้อถกเถียงและการตั้งคำถามในสังคมจนเกิด #เงินเดือนข้าราชการ คือ การเปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ โดยคาดว่าจะบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 เป็นต้นไป

หลังจากการแถลงข่าวดังกล่าว ได้เกิดการถกเถียงและโต้แย้งเป็นวงกว้าง ว่าการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 2 รอบอาจไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการเงินให้กับข้าราชการ และอาจทำให้มีปัญหาเพิ่มขึ้นด้วย เนื่องจากภาระการผ่อนจ่ายหนี้ที่ยังคงเป็นเดือนละครั้ง หากมีการบังคับให้ข้าราชการรับเงินเดือนเดือนละ 2 ครั้ง ก็อาจะทำให้ข้าราชการจำนวนมากมีปัญหาในการบริหารภาระหนี้สินได้

ต่อมา นายเศรษฐาใช้การโพสต์ข้อความทางบัญชีเอ็กซ์อธิบายในเรื่องนี้ว่า เขาเข้าใจว่าเรื่องการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ เป็นการเสนอทางเลือกใหม่ อาจจะมีทั้งคนชอบและคนไม่ชอบ ก็ขอยืนยันว่า รัฐบาลเสนอให้เป็นทางเลือก



"ปัจจุบันเงินเดือนจ่ายเดือนละหนเดียว ความตั้งใจของรัฐบาลในการแบ่งจ่ายเงินเดือนราชการสองหนคือเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระ สำหรับคนที่มีหนี้สามารถไปจ่ายหนี้สินคืนได้เร็วขึ้น แก้ปัญหาชักหน้าไม่ถึงหลัง" นายเศรษฐา กล่าวอธิบาย

อย่างไรก็ตาม สังคมยังคงตั้งคำถามต่อที่มาของแนวคิดดังกล่าว โดยหนึ่งในนั้นคือ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีต กกต. ที่ถามรัฐบาลว่าได้สอบถามความเห็นจากหน่วยงานราชการหรือยัง และมีการวิจัยสนับสนุนหรือไม่


ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ในที่สุดโฆษกประจำสำนักนายกฯ ก็ออกมาชี้แจงว่า มาตรการนี้มีที่มาจากหน่วยงานข้าราชการรายงานถึงปัญหาสภาพคล่องของข้าราชการในแต่ละเดือน หน่วยงานที่เสนอคือ กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ซึ่งได้ศึกษาและชั่งน้ำหนักมาแล้ว

จากเหตุการณ์ดังกล่าว นายสรกล อดุลยานนท์ เจ้าของนามปากกา "หนุ่มเมืองจันท์" นักเขียนด้านการตลาดและธุรกิจชื่อดัง ได้เขียนบทความทางหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจอธิบายความสับสนในการสื่อสารครั้งนี้ว่า คือ "บทเรียนและปัญหาด้านการสื่อสาร" ของรัฐบาลเศรษฐา