วันอังคาร, พฤศจิกายน 14, 2566

รัฐบาลใหม่แต่คดี 112 ยังไม่ลด


iLaw
1d
·
12 พฤศจิกายน 2566 ที่อาคาร All Rise โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) จัดงานเสวนา “3 ปี 112: คนและคดียังเดินหน้ารอวันพิพากษา” โดยเป็นส่วนหนึ่งของงานนิทรรศการผู้ใดหมิ่นประมาท ซึ่งจัดแสดงวันนี้เป็นวันแรก ไปจนถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2566 ในงานเสวนา มีการเชิญผู้ที่อยู่หลังในคดีมาตรา 112 ทั้งผู้ที่ทำงานเก็บข้อมูล เกี่ยวข้องกับกระบวนการต่อสู้คดี ไปจนถึงญาติของผู้ที่ต้องอยู่ในเรือนจำ มาร่วมพูดคุยและแบ่งปันประสบการณ์ในวันที่คำพิพากษาชี้ชะตากำลังใกล้เข้ามา
.
รัฐบาลใหม่แต่คดี 112 ยังไม่ลด
.
วิทยากรคนแรก ณัฐฐา อัชฌานุเคราะห์ ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เริ่มต้นด้วยการเล่าว่าแม้จะมีการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลเป็นพลเรือน แต่ตัวเลขของคดีมาตรา 112 ก็ยังไม่หยุด จนถึงตอนนี้มี 285 คดี และคาดการณ์ว่าภายในธันวาคมอาจจะทะลุถึง 300 คดี ในจำนวนนี้มีคดียกฟ้องเพียง 16 คดี คดีที่สิ้นสุดแล้ว 32 คดี เราอาจจะเข้าใจกันว่าความผิดส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในการชุมนุมหรือการแสดงออกในที่สาธารณะ แต่ส่วนใหญ่แล้วมูลเหตุแห่งคดีมาจากการโพสต์หรือแชร์ข้อความในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเป็นคดีที่กำลังอยู่ในชั้นศาล โดยที่ผ่านมาอัยการสั่งฟ้องทุกคดี อาจจะเรียกได้ว่าเป็นคดีทางการเมือง
.
เจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวต่อว่า ในส่วนคดีที่มีคำพิพากษาแล้วประมาณ 105 คดี แนวโน้มของคำพิพากษาน่าเป็นห่วงเพราะอัตราการยกฟ้องต่ำมาก คดีจำนวนหนึ่งที่ศาลชั้นต้นให้รอลงอาญาและประกัน แต่เมื่อถึงในชั้นอุธรณ์แล้ว ศาลกลับไม่ให้ประกัน ตัวอย่างที่ดีในช่วงนี้คือในคดีหนังสือปกแดงที่เพิ่งจะมีคำพิพากษายกฟ้องไป ศาลถามพยานพนักงานสอบสวนว่าทำไมถึงฟ้องคนที่นั่งหน้ารถบรรทุก แต่ไม่ฟ้องคนที่นั่งอยู่ในรถบรรทุกด้วย ซึ่งพยานก็ตอบไม่ได้ อีกทั้งคนที่ปราษรัยในหนังสือก็ไม่ได้ถูกฟ้อง 112 แต่ใช้ 116 แทน เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่แน่นอนของกฎหมายที้แม้แต่เจ้าหน้าที่รัฐเองก็ยังตีความไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ ในปีนี้มีการให้รอลงอาญาหรือกำหนดโทษมากขึ้น แต่จะเกิดขึ้นกับจำเลยที่ยอมรับสารภาพเท่านั้น
.
มากไปกว่านั้น ช่วงที่ผ่านมา ศูนย์ทนายยังได้รับทราบข้อมูลว่ามีผู้ต้องหาบางคนที่ไม่เคยทราบมาก่อนและอยู่ในเรือนจำ มีคนหนึ่งถูกฟ้องมาตรา 112 ถึง 18 กรรม และศาลให้ฝากขัง โดยตอนนี้ศูนย์ทนายได้ส่งคนไปช่วยแล้ว จนถึงธันวาคมมีอีกอย่างน้อย 10 คดีที่จะมีคำพิพากษา จึงอยากชวนให้ประชาชนร่วมติดตามและให้กำลังใจผู้ต้องหา
.
หน้าที่ของนายประกันต้องประกันความรู้สึกของญาติ
.
ต่อมา ชุติมน กฤษณปาณี เจ้าหน้าที่คณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) เล่าที่มาของการก้าวมาเป็นนายประกัน โดยเริ่มจากช่วงประมาณกันยายน 2564 ตนได้รับการเชิญชวนให้เป็นนายประกันให้กับผู้ต้องหามาตรา 112 ซึ่งต่อมาก็กลายเป็นกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีการแบ่งพื้นที่กันในองค์กรตามที่อยู่ของแต่ละคน แต่คดีส่วนใหญ่มักจะอยู่ที่ศาลอาญา ตนจึงได้เป็นนายประกันหลัก จนถึงตอนนี้ตนรับหน้าที่เป็นนายประกันเกิน 200 คดี ในบางวันก็ต้องเป็นนายประกันมากกว่าหนึ่งคดีด้วย
.
คดีหนึ่งที่จำได้คือคดีของอานนท์ นำภา เพราะมีผู้มาให้กำลังใจมากจนศาลต้องเปิดห้องเพิ่มและถ่ายทอดสดให้คนสามารถรับชมได้ ในช่วงแรกที่เป็นนายประกัน สองสามคดีแรกได้ประกัน แต่มีคดีหนึ่งที่ศาลอาญาเป็นคดีแรกที่ไม่ได้ประกัน ตนก็ต้องอธิบายให้กับญาติให้ฟังว่าทำไมถึงไม่ได้กลับบ้าน หน้าที่ของนายประกันไม่ใช่แค่การนำจำเลยไปศาลตามนัดเท่านั้น แต่ต้องคอยประกันความรู้สึกของญาติให้เขารู้สึกว่าไม่ถูกทอดทิ้ง เราจะยื่นประกันใหม่อีกครั้งอย่างแน่นอน
.
ก่อนที่จะไปประกันก็จะต้องดูข้อมูลเบื้องต้นก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นใคร และเตรียมเอกสารไปให้พร้อมเพราะการถ่ายเอกสารที่ศาลนั้นราคาสูงมาก ในหลายครั้งศาลก็ขอเอกสารที่ไม่เกี่ยวข้องกับคดี เช่น ศาลขอใบเปลี่ยนชื่อของพ่อของจำเลยซึ่งเปลี่ยนมากว่า 20 ปีแล้ว หมายความว่าพ่อจะต้องเดินทางมาศาลอีกครั้งหนึ่ง ปกติตนก็จะถ่ายเอกสารที่สำคัญและเซ็นพร้อมไว้เลย ในคดีที่มีคำพิพากษาลงโทษจำเลย ก็จะต้องเตรียมเงินให้พร้อม สำหรับศาลอาญาหนึ่งปีจะเท่ากับ 50,000 บาท และเศษของปีนับเป็นหนึ่งทั้งหมด ในบางคดีศาลลงโทษจำคุกเพียงหลักเดือนแต่ก็ปัดเศษจนทำให้ค่าประกันตัวแพง มันเป็นกระบวนการที่ปัดเศษและเราต่อรองอะไรไม่ได้
.
นายประกันมาตรา 112 เล่าต่อว่าเรื่องที่ตนไม่เข้าใจคือหากเราต้องการจะซื้ออาหารให้กับจำเลยที่อยู่ใต้ถุนศาล สำหรับผู้หญิงคือห้ามซื้อเครื่องดื่มที่มีน้ำแข็ง หรือการซื้ออาหารประเภทแกงก็ทำไม่ได้ ในแต่ละศาลก็มีวิธีปฏิบัติต่างกัน นอกจากนี้ เมื่อไปซื้ออาหารกับร้านก็มักจะถามว่าเป็นคดีประเภทไหน เมื่อตนบอกไปว่ามาตรา 112 เจ้าหน้าที่ก็มักจะไม่รู้จัก แต่เมื่ออธิบายไปก็จะตกใจว่าทำไมการแชร์โพสต์ถึงโดนคดีด้วย
.
“คุณเปลี่ยนชีวิตลูกผม คุณก็เปลี่ยนชีวิตผมด้วย” เสียงจากพ่อถึงลูกจำเลย 112
.
วิทยากรคนต่อมาคือ คุณไก่ พ่อของเก็ท-โสภณ จำเลยคดี 112 ที่ยังอยู่ในเรือนจำ หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก ข้อหามาตรา 112 และพ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ จำคุกสามปีหกเดือน ฝั่งทนายจำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์
.
คุณไก่เล่าว่าลูกชายเป็นคนเรียนเก่งอยู่แล้ว โดยเฉพาะในวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ที่ตนทึ่งมากคือตอนอยู่ ป.2 เก็ทเขียนความใฝ่ฝันของตนเองว่าอยากเป็นแพทย์ เมื่อสอบได้สาขารังสีเทคนิคจึงตัดสินใจเรียนต่อมาตามความหวังความตั้งใจ เท่าที่ตนสังเกตคือเดิมลูกชายก็ไม่ได้สนใจการเมืองมากนัก จนเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยได้ทำงานในสภามหาวิทยาลัย ต้องเป็นผู้นำพัฒนาระบบต่าง ๆ จึงเริ่มสนใจ เมื่อกลับมาบ้านก็มักจะมาเล่าให้ฟังเรื่องของความเป็นธรรมที่มีการถกเถียงกันภายในมหาวิทยาลัย ตนก็มักจะเตือนลูกว่าให้อยู่ห่างไว้เพราะพวกเขามีผู้ใหญ่หนุนหลัง
.
เมื่อกระแสการเมืองพุ่งขึ้นมา การเมืองก็เข้าไปสู่ในสังคมมหาวิทยาลัยด้วย ลูกชายก็เลยหันมาสนใจการเมือง พ่อแม่ก็ยอมรับว่ารู้สึกไม่สบายใจ เพราะเวทีการเมืองเป็นเรื่องน่ากลัว แต่เก็ทเป็นคนที่ตั้งใจในการปรับปรุงหรือพัฒนาประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ หลังจากที่ลูกถูกดำเนินคดีก็กังวลมาก เมื่อลูกเริ่มอดข้าวและอดนอนก็ยิ่งทำให้เครียดจนนอนไม่หลับ
.
“ลูกผมไม่ได้ขโมยหรือฆ่าใครตาย ทุกคนก็ยังมีความสุขกันดี ใช้วาทกรรมเรื่องความมั่นคงมาโจมตีกัน มาตรา 112 ไม่ได้ทำผมช็อกอย่างเดียว แต่ทำให้ผมผิดหวังในระบบและไม่เข้าใจว่าทำไมประเทศเราถึงมีเรื่องขนาดนี้ด้วย ส่วนตัวผมไม่ได้สนใจการเมือง แต่เมื่อมีการใช้การเมืองมาเล่นงานคนที่อยากพัฒนาประเทศ ก็รู้สึกว่าสิ่งนี้ไม่ถูกต้อง คุณเปลี่ยนชีวิตลูกผม คุณก็เปลี่ยนชีวิตผมด้วย เหมือนคุณเอาหัวใจผมไป”
.
โทษทางอาญาที่ไม่ได้สัดส่วนคือการละเมิดสิทธิมนุษยชน
.
วิทยากรคนสุดท้ายคือ ผศ.รณกรณ์ บุญมี อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ธรรมศาสตร์ พยานผู้เชี่ยวชาญคดีมาตรา 112 หลายคดี โดย รณกรณ์ กล่าวว่า การกระทำที่เกี่ยวข้องกับ 112 ไม่ได้มีแค่อาญาในชั้นศาลเท่านั้น แต่ยังอีกจำนวนมากที่อยู่ในชั้นพนักงานสอบสวน ส่วนตัวที่ถูกได้รับการเชิญให้เป็นผู้ให้ความเห็น ส่วนใหญ่คือในชั้นสอบสวนซึ่งก็สามารถยุติไปได้ มีทั้งนักเรียนที่แปลงเพลง ไปจนถึง สส. ทั้งหมดนี้คดีก็จบไปก่อนที่จะฟ้อง อีกประเภทหนึ่งที่เป็นคดีการเมืองโดยตรงอย่างเช่นคดีในศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับการแก้ไขมาตรา 112 เป็นการล้มล้างการปกครองหรือไม่
.
สำหรับอาจารย์คณะนิติศาสตร์ หัวใจของปัญหามาตรา 112 มีสองส่วน ในส่วนแรกคือตัวบท อีกเรื่องหนึ่งคือทัศนคติในการบังคับใช้ การตีความของผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องพูดถึงอัยการหรือตำรวจ คนที่ควรจะปกป้องสิทธิอย่างผู้พิพากษาก็ตีความอย่างน่าสงสัย มาตรา 112 ให้ความคุ้มครองสี่บุคคล คือพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการ แทนที่ศาลไทยจะตีความอย่างเคร่งครัด แต่กลับตีความไปถึงรัชกาลก่อน ๆ ตนเห็นว่ามีปัญหามาก กฎหมายอาญาต้องตีความอย่างเคร่งครัด อย่าลืมว่ากฎหมายไทยคุ้มครองผู้นำประเทศอื่นมากกว่าที่กฎหมายในประเทศนั้นจะคุ้มครองผู้นำของตนเองเสียอีก ในประเทศอังกฤษก็มีการล้อเลียนกันได้เป็นเรื่องปกติ แต่ถ้ามากระทำที่ไทยจะกลายเป็นความผิด
.
อีกประการหนึ่งก็คือเรื่องของโทษ ในบางประเทศอาจจะมีกฎหมายเช่นเดียวกัน แต่ไม่มีที่ใดที่โทษรุนแรงเท่านี้ การกำหนดโทษทางอาญาที่ไม่ได้สัดส่วนหรือ “เชือดไก่ให้ลิงดู” ผิดหลักสิทธิมนุษยชน ย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ประเด็นต่อมาคือการกระทำ มาตรา 112 ความผิดคือการดูหมิ่น หมิ่นประมาท อาฆาตมาดร้ายเท่านั้น ดังนั้นการพูดจาไม่สุภาพไม่ใช่การดูหมิ่น แต่เมื่อศาลนำคำเหล่านี้ไม่ใช้ แต่ตีความให้รวมถึงการไม่แสดงความเคารพด้วย การล้อเลียนไม่ใช่การลดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เลย ประเด็นที่สี่ สามการกระทำข้างต้นนั้นจริง ๆ แล้วโทษต่างกันเพราะความรุนแรงของการกระทำต่างกัน แต่ตัวบทของมาตรา 112 กลับให้เท่ากันหมด
.
ประเด็นที่สำคัญที่สุดคือเราวิพากษ์วิจารณ์คนสาธารณะ เราสามารถทำได้ ในเยอรมนี มีคำพิพากษาว่าการตามถ่ายรูปบุคคลสาธารณะสามารถทำได้ ในสเปน ศาลตัดสินว่าการเผารูปเพื่อแสดงออกก็สามารถทำได้เช่นกัน ตนอยากจะบอกว่าประเทศไทยเรามีมาตรา 329 ที่สามารถใช้ได้ แต่ศาลตัดระบบนี้ออกไป มาตรา 112 กลายเป็นเรื่องของความมั่นคงแทน พรรคการเมืองในระบอบประชาธิปไตยก็ควรจะนำเรื่องนี้มาคุยกันเพื่อหาทางออก ถ้าศาลตีความจนเลยตัวบท นิติบัญญัติก็ต้องออกกฎหมายมาตอบโต้ฝ่ายตุลาการ
.
อาจารย์จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปิดท้ายด้วยการฝากถึงบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมว่าท้ายที่สุดแล้วเราจะต้องอยู่กับมโนสำนึกของตนเอง ตนจึงอยากขอให้ใช้กฎหมายอย่างกล้าหาญ
.
นิทรรศการผู้ใดหมิ่นประมาทจัดแสดงวันที่ 12 – 19 พฤศจิกายน 2566 เวลา 11.00 – 20.00 น. ที่อาคาร All Rise (สำนักงานไอลอว์) บ้านกลางเมืองรัชดา ดูเส้นทางและที่ตั้ง https://maps.app.goo.gl/pwSekYp4wdnECnuTA?g_st=i
.....

iLaw
1d
·
ชวนดูนิทรรศการ 3 ปี 112 "ผู้ใด หมิ่นประมาท"
วันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 ระหว่างที่กระแสการชุมนุมของกลุ่มราษฎรกำลังเข้มข้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นออกแถลงการณ์ว่าจะบังคับใช้กฎหมาย ทุกฉบับ ทุกมาตรา กับผู้ชุมนุมที่ทำผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเสมือนการส่งสัญญาณว่าจะบังคับใช้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเข้มข้นอีกครั้ง หลังจากที่ได้มีการผ่อนคลายการบังคับใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นทางการตั้งแต่ช่วงประมาณปี 2561
ในโอกาสครบรอบ 3 ปี ที่ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ถูกนำกลับมาบังคับใช้อย่างเข้มข้นจนส่งผลให้ในช่วงเวลาสามปีที่ผ่านมาผู้จำนวนผู้ถูกดำเนินคดีด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 สะสมสูงถึง 262 คน (นับถึง 10 พฤศจิกายน 2566) ไอลอว์ถือโอกาสประมวลเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดสามปีนี้เป็นนิทรรศการ "ผู้ใดหมิ่นประมาท" ที่จะพาผู้ชมย้อนทบทวนเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นตลอดสามปีที่ผ่านมา ทั้งใบหน้าและเรื่องราวของผู้ถูกดำเนินคดี คำพิพากษาที่ออกมา รวมถึงข้อความที่ผู้ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 ส่งออกมาจากเรือนจำถึงครอบครัวและเพื่อนๆ ของพวกเขา
นอกจากนั้น เรายังจะชวนดูด้วยว่าเพื่อให้ผู้ที่กำลังถูกคุมขังมีโอกาสออกมาสัมผัสอิสรภาพและให้คนที่กำลังรอการพิจารณาคดีหรือรอฟังคำพิพากษาไม่ต้องถูกคุมขังเพียงเพราะการแสดงความคิดเห็น พอจะมีวิธีการหรือทางออกอย่างไรบ้าง และการจะไปถึงทางออกนั้นจะมีอะไรรออยู่บ้าง
นิทรรศการ "ผู้ใดหมิ่นประมาท" แบ่งพื้นที่จัดแสดงออกเป็นเจ็ดส่วน
นิทรรศการชั้น 1
"ผู้ใดหมิ่นประมาท" ประมวลชื่อและภาพถ่ายเท่าที่มีข้อมูลของคนที่เคยถูกตั้งข้อหาด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นับตั้งแต่ช่วงปี 2549 โดยในส่วนนี้ ผู้ชมสามารถหยิบหนังสือ "Never Stop คนและคดียังไปต่อ" หนังสือรวบรวมบทสัมภาษณ์จำเลยคดีมาตรา 112 ยุคการชุมนุมของราษฎร ที่เรานำมาตัดเป็นแผ่นๆ ติดมือกลับบ้านไปอ่านได้ และใครที่อยากจะอ่านหนังสือแบบเต็มๆ ก็สามารถแวะซื้อได้ที่ iLaw Shop บริเวณชั้นสองของนิทรรศการ
"ผู้ใดตัดสิน" จัดแสดงสถิติและตัวอย่างคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุคการชุมนุมของกลุ่มราษฎร โดยแบ่งการจัดแสดงออกเป็นสามประเภท ได้แก่ คำพิพากษาที่ศาลตีความประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเคร่งครัด คำพิพากษาที่ศาลตีความขยายความคุ้มครองของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เช่น ตีความให้คุ้มครองอดีตพระมหากษัตริย์ที่สวรรคตไปแล้ว และ คำพิพากษาคดีมาตรา 112 ที่มีมูลเหตุจากการแสดงศิลปะ
"ผู้ใด(ยัง)สนใจ" ชวนย้อนดู Engagement ของผู้ชมที่มีต่อการรายงานข่าวหรือเนื้อหาอิ่นๆ เกี่ยวกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 บนช่องทางต่างๆ ของ iLaw ทั้ง เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ และอินสตาแกรม ระหว่างปี 2564 - 2566 ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นถึงความสนใจของผู้ชมต่อเรื่องราวแวดล้อมมาตรา 112 ที่แตกต่างกันไปในแต่ละช่วงเวลา
"ผู้ใดอยู่ในเรือนจำ" ประมวลภาพและเรื่องราวของประชาชนที่กำลังถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 นิทรรศการในส่วนยังนี้ยังรวบรวมจดหมายและความในใจของผู้ถูกคุมขังที่ส่งออกมาถึงคนในครอบครัวและเพื่อนๆ ระหว่างถูกคุมขังด้วย
"ผู้ใดห่วงใย" รวบรวมจดหมายที่ประชาชนและเพื่อนร่วมอุดมการณ์เขียนและส่งเข้าไปในเรือนจำ เพื่อส่งความในใจและความห่วงใยให้คนที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 รู้ว่าพวกเขาไม่ได้ต่อสู้อย่างเดียวดาย นิทรรศการในส่วนนี้ยังมีป้ายที่เคยถูกใช้งานในกิจกรรม "ยืน หยุด ขัง" กิจกรรมยืนให้กำลังใจผู้ถูกคุมขังมาจัดแสดงไว้ด้วย นอกจากนั้นเราก็อยากชวนผู้ชมนิทรรศการเขียนข้อความให้กำลังใจผู้ถูกคุมขังในนิทรรศการส่วนนี้ด้วย
"ผู้ใดเสนอ" ประมวลเรื่องราวการเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในการ "เข้าชื่อเสนอกฎหมาย" เพื่อให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปี 2555 และเสนอร่างกฎหมายยกเลิกประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ในปี 2564 โดยนิทรรศการนี้พิพิธภัณฑ์สามัญชนได้รวบรวมหนังสือพิมพ์ เอกสาร และเสื้อรณรงค์ที่เกี่ยวข้องมาร่วมจัดแสดงด้วย
"ผู้ใดสนับสนุน" ชวนผู้ชมนิทรรศการทำความรู้จักกับการ "นิรโทษกรรม" ให้มากขึ้น นิรโทษกรรมกลายเป็น "ของแสลง" สำหรับการเมืองไทยเพราะสถานการณ์ทางการเมืองในปี 2556 ทั้งที่ในอดีต การนิรโทษกรรมก็เคยถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการหาทางออกจากความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศไทย ในนิทรรศการส่วนนี้เราอยากชวนผู้เข้าชมนิทรรศการทุกคนออกแบบการนิรโทษกรรมของตัวเองด้วย
นิทรรศการ 3 ปี 112 "ผู้ใด หมิ่นประมาท" เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 12 - 19 พฤศจิกายน 2566 ที่อาคาร All Rise (สำนักงาน iLaw) บ้านกลางเมืองรัชดาลาดพร้าว ตั้งแต่ 11.00 - 20.00 น. และติดตามรายละเอียดกิจกรรม side event ที่จะจัดระหว่างนิทรรศการนี้ได้ทางเพจ iLaw
การเดินทาง
• รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน สถานีลาดพร้าว
• รถไฟฟ้า Mono Rail สายสีเหลือง สถานีลาดพร้าว
• รถเมล์ สาย 8, 27, 44, 73, 137, 514
ดูเส้นทางและที่ตั้ง https://maps.app.goo.gl/pwSekYp4wdnECnuTA?g_st=i