วันพุธ, พฤศจิกายน 08, 2566

ความตายในฉนวนกาซา ทะลุ 10,000 คนแล้ว บางประเทศที่เคยสนับสนุนอิสราเอลในช่วงต้น ดูเหมือนจะเริ่มเปลี่ยนจุดยืนที่มีต่อสงครามครั้งนี้ ทั่วโลกมองสงครามครั้งนี้เปลี่ยนไปแค่ไหน บีบีซีสำรวจจุดยืนชาติต่าง ๆ ทั่วโลก ยังสนับสนุนอิสราเอลอยู่ไหม


สำรวจจุดยืนชาติต่าง ๆ ทั่วโลก ยังสนับสนุนอิสราเอลอยู่ไหม ในวันที่กาซามีผู้เสียชีวิตทะลุ 10,000 ราย

7 พฤศจิกายน 2023
บีบีซีไทย

ยิ่งยอดผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนปัจจุบัน ทะลุ 10,000 คนไปแล้ว ก็ยิ่งทำให้ความคิดเห็นของประชาคมโลกต่อการโจมตีกาซาของอิสราเอล แตกแยกมากขึ้นเรื่อย ๆ

หลายประเทศในช่วงแรกออกตัวสนับสนุนอิสราเอล หลังฮามาสก่อเหตุโจมตีอิสราเอลและสังหารผู้คนไป 1,400 คน เมื่อวันที่ 7 ต.ค. แต่การระดมโจมตีทางอากาศและปฏิบัติการภาคพื้นดินที่กำลังเกิดขึ้นในฉนวนกาซา เรียกกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง บางประเทศที่เคยสนับสนุนอิสราเอลในช่วงต้น ดูเหมือนจะเริ่มเปลี่ยนจุดยืนที่มีต่อสงครามครั้งนี้

ประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ในระดับนานาประเทศ คือการหยุดยิง

เมื่อ 27 ต.ค. ที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติรับมติการเรียกร้องให้มีการ “หยุดยิงทางมนุษยธรรมที่ยั่งยืนในทันที” เข้ามาพิจารณาในที่ประชุมสมัชชา

มติที่ไม่มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายที่ถูกเสนอโดยประเทศจอร์แดนนี้ ได้เสียงเห็นชอบ 120 เสียง ไม่เห็นชอบ 14 เสียง และมี 45 ประเทศงดออกเสียง

รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอล อีไล โคเฮน ชี้ว่า มติของสหประชาชาติเป็นมติที่ “น่ารังเกียจ” ขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล ปฏิเสธเสียงเรียกร้องให้หยุดยิงดังกล่าว พร้อมอ้างว่า การหยุดปฏิบัติการในเวลานี้ เท่ากับเป็นการ “ยอมแพ้” ให้ฮามาส


นับแต่นั้น บางประเทศได้ยกระดับการวิพากษ์วิจารณ์อิสราเอล ไปถึงขั้นเรียกตัวเอกอัครราชทูตประจำอิสราเอลกลับประเทศ และยกเลิกความสัมพันธ์ทางการทูต แม้แต่สหรัฐฯ ที่โหวตไม่เห็นชอบกับการหยุดยิงในมติของยูเอ็น ก็เริ่มมีท่าทีอ่อนลง โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ เรียกร้องให้ “พัก (pause)” การต่อสู้

บีบีซีได้ตรวจสอบนานาประเทศทั่วโลกว่า แต่ละประเทศพูดถึงสงครามอิสราเอล-ฮามาส อย่างไรบ้าง รวมถึงจุดยืนในการลงมติในสมัชชายูเอ็น ซึ่งต้องย้ำว่า ความเห็นเหล่านี้เป็นของรัฐบาลแต่ละประเทศ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศนั้น ๆ จะมีความเห็นเช่นนี้

ชาติตะวันตก

รัฐบาลชาติตะวันตกหลายประเทศ ประกาศออกสาธารณะว่าสนับสนุนอิสราเอล นับแต่สงครามเริ่มต้น

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ออกแถลงการณ์ฉบับแรก ๆ ภายหลังกลุ่มฮามาสก่อเหตุโจมตี ยืนกรานว่า สหรัฐฯ ยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล และจะทำให้มั่นใจว่า “อิสราเอลมีสิ่งที่จำเป็นเพื่อพิทักษ์ประชาชนของตนเอง”

ต่อมา ในการทำกิจกรรมทางการเมืองเมื่อวันที่ 2 พ.ย. ประธานาธิบดีไบเดน เรียกร้องให้พักความขัดแย้งครั้งนี้ หลังมีการเคลื่อนไหวเรียกร้องให้เขาผลักดันข้อตกลงหยุดยิง

ทำเนียบขาวยืนกรานในเวลาต่อมาว่า การพักการต่อสู้เป็นเพียงมาตรการชั่วคราวและครอบคลุมเฉพาะพื้นที่บางจุดเท่านั้น พร้อมประกาศปฏิเสธข้อเรียกร้องจากชาติอาหรับและอีกหลายประเทศ ที่ต้องการให้มีการหยุดยิงอย่างสมบูรณ์ในสงครามครั้งนี้

วันต่อมา แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เดินทางเยือนกรุงเทลอาวีฟของอิสราเอลเป็นครั้งที่สอง เพื่อผลักดันการพักการสู้รบเพื่อมนุษยธรรม พร้อมหารือถึงมาตรการที่เป็นรูปธรรมเพื่อลดอันตรายต่อพลเรือนในกาซา

“สหรัฐฯ เชื่อว่า และคิดว่าเราเพียงยืนกรานในจุดยืนของเรา นับแต่วันที่ 7 ต.ค. ว่านี่คือหนทางที่ดีที่สุด และนี่อาจเป็นเส้นทางเดียว... นั่นคือหลักการสองรัฐสำหรับประชาชนสองเชื้อชาติ” บลิงเคน กล่าวในกรุงเทลอาวีฟ หลังพบกับเนทันยาฮู และผู้นำอาวุโสคนอื่น ๆ


ประชาชนหลายหมื่นคนรวมตัวในกรุงลอนดอน เพื่อเรียกร้องการหยุดยิงในกาซา

นายกรัฐมนตรีแคนาดาและสหราชอาณาจักร เป็นอีกสองประเทศที่สนับสนุน “สิทธิของอิสราเอลในการปกป้องตัวเอง” ในแถลงการณ์ชุดแรก ๆ หลังความขัดแย้งปะทุขึ้น อย่างไรก็ดี สองประเทศนี้งดออกเสียงในมติสมัชชาสหประชาชาติ

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงสนับสนุนปาเลสไตน์ได้ออกมาเดินขบวนใจกลางกรุงลอนดอน เรียกร้องให้มีการหยุดยิงในสงคราม

ด้านสหภาพยุโรปประณาม “อย่างรุนแรงต่อการโจมตีของกลุ่มฮามาส” พร้อมประกาศยืนหยัดเคียงข้างอิสราเอล แต่สมาชิกอียูหลายประเทศ แสดงความเห็นที่ต่างกันออกไปในเรื่องการหยุดยิง

ยกตัวอย่าง เยอรมนีและอิตาลี ที่สนับสนุนสิทธิในการปกป้องตัวเองของอิสราเอล งดออกเสียงในมติสมัชชายูเอ็น ขณะที่สเปนและฝรั่งเศส ลงมติเห็นชอบต่อมติการหยุดยิงดังกล่าว

ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง ของฝรั่งเศส ประกาศก่อนหน้านี้ว่าเขายืนหยัดต่อสิทธิการปกป้องตนเองของอิสราเอล แต่ตอนนี้มาครงปรับจุดยืนของตัวเองเล็กน้อย ซึ่งอาจเป็นผลจากยอดผู้เสียชีวิตในกาซาที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

“ในกาซา ต้องมีการแบ่งแยกระหว่างฮามาสและพลเรือน” มาครง โพสต์ในเอ็กซ์ (ทวิตเตอร์ในอดีต)

“การสงบศึกเพื่อมนุษยธรรมเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้องกลุ่มผู้ที่เปราะบางที่สุด และเปิดโอกาสให้ดำเนินการกับผู้ก่อการร้ายได้ตรงเป้ายิ่งขึ้น”


สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในกาซาเลวร้ายลงเรื่อย ๆ

ตะวันออกกลาง

ชาติตะวันออกกลางส่วนใหญ่ลงมติเห็นชอบต่อการเรียกร้องการหยุดยิงของสหประชาชาติ และหลายประเทศประณามอย่างรุนแรงต่อปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอล

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์และบาห์เรน ซึ่งเป็นประเทศที่ฟื้นคืนความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอลผ่านข้อตกลงอับราฮัม เคยประณามการโจมตีกลุ่มฮามาสในช่วงแรก

แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว บาห์เรนได้ถอนเอกอัครราชทูตของตนจากอิสราเอล ขณะที่อิสราเอลก็ถอนเอกอัครราชทูตของตนจากกรุงมานามาของบาห์เรนเช่นกัน

จอร์แดน เป็นอีกประเทศที่เรียกเอกอัครราชทูตของตนในอิสราเอลกลับประเทศ โดยประณามว่า อิสราเอลได้ก่อให้เกิด “โศกนาฏกรรมทางมนุษยธรรมอย่างที่ไม่เคยเกิดมาก่อน”

ซาอุดีอาระเบียเอง ได้เรียกร้องให้ยุติความรุนแรงในทันที แต่ไม่ได้ประณามกลุ่มฮามาสอย่างชัดเจน โดยซาอุดีอาระเบียได้หารือกับอิสราเอลมานานหลายเดือนแล้ว เพื่อฟื้นคืนความสัมพันธ์ทางการทูต แต่ไม่ใช่ผ่านข้อตกลงอับราฮัม

ย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ต.ค. รัฐมนตรีต่างประเทศของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จอร์แดน บาห์เรน ซาอุดีอาระเบีย โอมาน กาตาร์ คูเวต อียิปต์ และโมร็อกโก ประณาม “การโจมตีพุ่งเป้าไปที่พลเรือนและการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศในกาซา”

แถลงการณ์ร่วมของชาติอาหรับเหล่านี้ ระบุว่า สิทธิในการป้องกันตนเองไม่ได้สร้างความชอบธรรมในการละเมิดกฎหมาย และละเมิดสิทธิของชาวปาเลสไตน์


ประธานาธิบดีตุรกีเรียกฮามาสเป็น กลุ่มอิสระที่ต่อสู้เพื่อพิทักษ์ดินแดนปาเลสไตน์

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำสูงสุดของอิหร่าน อะยาโตลเลาะห์ อาลี คาเมเนอี เรียกร้องให้ชาติมุสลิมตัดความสัมพันธ์กับอิสราเอล พร้อมตัดการส่งออกน้ำมันและอาหารไปยังอิสราเอล

ทั้งคาเมเนอี และประธานาธิบดีอิหร่าน อีบราฮิม ไรซี ต่างแสดงความยินดีกับฮามาสในการโจมตีอิสราเอล โดยชื่นชมกลุ่มติดอาวุธถึง “ความกล้าหาญ การยืนหยัดต่อสู้ และความคิดริเริ่ม” อย่างไรก็ดี อิหร่านปฏิเสธว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุโจมตี

ประธานาธิบดีตุรกี เรเจป ทายยิป แอร์โดอัน พยายามวางจุดยืนเป็นกลางในช่วงแรก ก่อนจะเริ่มเพิ่มแรงวิพากษ์วิจารณ์ ภายหลังเหตุระเบิดที่โรงพยาบาลอัล-อาห์ลี เมื่อวันที่ 17 ต.ค.

เหตุระเบิดโรงพยาบาลแห่งนี้ ยังเป็นที่ถกเถียงว่าเป็นการโจมตีของฝ่ายใด ขณะที่กระทรวงสาธารณสุขของฮามาสในกาซา ระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 500 คน จากเหตุระเบิดดังกล่าว

ในการชุมนุมใหญ่ของผู้สนับสนุนปาเลสไตน์ในนครอิสตันบูล เมื่อวันที่ 28 ต.ค. แอร์โดอัน ระบุว่า ตุรกีกำลังเตรียมประกาศให้อิสราเอลเป็น “อาชญากรสงคราม”

รัฐมนตรีต่างประเทศตุรกี กล่าวเมื่อวันที่ 4 พ.ย. ว่า ได้เรียกเอกอัครราชทูตของตนกลับจากกรุงเทลอาวีฟแล้ว พร้อมกล่าวหาอิสราเอลที่ไม่ยอมรับคำเรียกร้องให้หยุดยิง อีกทั้งยังเดินหน้าโจมตีใส่พลเรือน รวมถึงไม่อนุญาตให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไปยังฉนวนกาซา

ตุรกีถือว่าแตกต่างจากสมาชิกองค์การนาโตประเทศอื่น ๆ เพราะตุรกีไม่ได้กำหนดให้ฮามาสเป็นองค์กรก่อการร้าย อีกทั้งยังให้สมาชิกฮามาสเข้ามาพำนักในตุรกีอีกด้วย โดยประธานาธิบดีแอร์โดอัน กล่าวเมื่อไม่นานมานี้ว่า ฮามาสเป็น “กลุ่มอิสระที่ต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดนปาเลสไตน์”

ตุรกียังเป็นอีกประเทศที่ลงมติเห็นชอบการหยุดยิงในการลงมติของสหประชาชาติเมื่อวันที่ 27 ต.ค. ขณะที่ประเทศแถบตะวันออกกลางประเทศเดียวที่งดออกเสียง คือ อิรัก และไม่มีประเทศใดในตะวันออกกลางลงมติไม่เห็นชอบ ยกเว้น อิสราเอล

รัสเซีย


ผู้เสียชีวิตในกาซาทะลุ 10,000 คนแล้ว

ประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูติน ของรัสเซีย นิ่งเงียบตลอดช่วงวันแรก ๆ หลังฮามาสโจมตีอิสราเอล และการแสดงความเห็นของเขาครั้งแรกก็พุ่งเป้าไปที่สหรัฐอเมริกามากกว่า โดยปูตินชี้ว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นเป็นผลจาก “ความล้มเหลวของนโยบายของสหรัฐฯ ในตะวันออกกลาง”

เมื่อสงครามปะทุผ่านไปได้ 1 สัปดาห์ ปูติน ระบุว่า “อิสราเอลเผชิญกับการโจมตีรุนแรงอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนโดยความโหดร้ายของกลุ่มติดอาวุธฮามาส” แต่ก็ระบุด้วยว่า อิสราเอลเองก็ตอบโต้ด้วยความโหดร้ายในแบบของตนเอง

รัฐบาลรัสเซียไม่ได้แสดงความเสียใจต่ออิสราเอล และไม่ได้ประณามฮามาส ไม่เพียงเท่านั้น รัสเซียยังให้การต้อนรับผู้แทนจากฮามาสในกรุงมอสโก เมื่อวันที่ 26 ต.ค. เพื่อหารือถึงการปล่อยตัวประกัน รวมถึงพลเรือนรัสเซีย

รัสเซีย โหวตเห็นชอบในสมัชชาสหประชาชาติที่เรียกร้องให้มีการสงบศึกเพื่อมนุษยธรรม เมื่อ 27 ต.ค.

เอเชีย

เกือบทุกชาติเอเชียลงมติเห็นชอบให้มีการสงบศึกในที่ประชุมสมัชชายูเอ็น

จีน ซึ่งพยายามวางตัวเป็นตัวกลางเจรจาสันติภาพในตะวันออกกลาง เรียกร้องให้ “ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอดทน อดกลั้น และยุติการใช้ความรุนแรง เพื่อปกป้องพลเรือน” ในแถลงการณ์แรก ๆ ภายหลังฮามาสก่อเหตุโจมตี

กระทรวงต่างประเทศจีนระบุว่า “หนทางออกจากวิกฤต ขึ้นอยู่กับการบังคับใช้แนวทางแก้ปัญหาแบบสองรัฐ และจัดตั้งรัฐอิสระปาเลสไตน์”

ภายหลังสงครามดำเนินไป 1 สัปดาห์ นายหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ระบุว่า การกระทำของอิสราเอลในฉนวนกาซานั้น “เกินเลยกว่าการป้องกันตัวเองแล้ว” และรัฐบาลอิสราเอลจำเป็นต้อง “ยุติการลงโทษประชาชนในกาซา” ได้แล้ว



อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่งดออกเสียงในการลงมติของยูเอ็น ซึ่งพรรคฝ่ายค้านอินเดียชี้ว่า เป็นเรื่อง “น่าตกใจมาก” เพราะในช่วงปีแรก ๆ ของการประกาศเอกราชของอินเดีย อินเดียมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับชาวปาเลสไตน์ และนโยบายหลักของอินเดีย คือการสนับสนุนหลักการสองรัฐ

อย่างไรก็ดี นับแต่รัฐบาลแนวคิดฝ่ายขวา ของนายกรัฐมนตรีนาเรนดรา โมดี ขึ้นสู่อำนาจ อินเดียก็กระชับความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิสราเอลมากขึ้น

ในแถลงการณ์ชุดแรก ภายหลังการโจมตีของกลุ่มฮามาส เมื่อ 7 ต.ค. นายโมดีกล่าวว่า “ประชาชนชาวอินเดียยืนหยัดกับอิสราเอลในห้วงเวลาที่ยากลำบาก อินเดียขอประณามอย่างรุนแรงต่อการก่อการร้ายในทุกรูปแบบ”

ปากีสถาน ซึ่งไม่มีความสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล แสดงท่าทีเรียกร้องให้ทุกฝ่ายอดทนอดกลั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือดและการเสียชีวิต แต่ภายหลังเหตุโจมตีค่ายผู้ลี้ภัยจาบาเลียในกาซา เมื่อ 1 พ.ย. ปากีสถานปรับจุดยืนแข็งกร้าวขึ้น โดยกระทรวงการต่างประเทศประณามสิ่งที่เรียกว่า “การโจมตีอันป่าเถื่อนของอิสราเอล”

สำหรับไทยนั้น รัฐบาลภายใต้นายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน ออกแถลงการณ์ในช่วงวันแรก ๆ “ประณามการโจมตีอิสราเอลที่ทำให้เกิดการสูญเสีย” แต่ไม่ได้ประณามกลุ่มฮามาสโดยตรง และประกาศจะช่วยเหลือคนไทยในอิสราเอลกลับประเทศ

ประเทศไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่ลงมติเห็นชอบให้มีการหยุดยิงด้านมนุษยธรรมในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

แอฟริกา


สหภาพแอฟริกา ซึ่งมีสมาชิก 55 ประเทศ ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 ต.ค. เพื่อสนับสนุนปาเลสไตน์

“การลิดรอนสิทธิขั้นพื้นฐานของชาวปาเลสไตน์ โดยเฉพาะสิทธิการมีรัฐอธิปไตยที่เป็นอิสระ เป็นสาเหตุหลักต่อความตึงเครียดถาวรระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์”

นายกรัฐมนตรีโซมาเลีย ระบุในแถลงการณ์ว่า รัฐบาลไม่ได้มองกลุ่มฮามาสเป็นผู้ก่อการร้าย และพร้อมจะให้การสนับสนุนฮามาส

ด้านตูนิเซีย แม้จะยืนหยัดอย่างเต็มที่เคียงข้างชาวปาเลสไตน์ในช่วงเริ่มต้นของสงคราม แต่กลับเลือกจะงดออกเสียงในการลงมติของยูเอ็น ซึ่งการงดออกเสียงนี้ เกิดขึ้นแม้ประธานาธิบดีตูนิเซีย ประณามว่าประชาคมโลกนิ่งเฉยต่อ “การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ที่อิสราเอลกำลังกระทำกับคนในกาซา

ชาติแอฟริกาอื่น ๆ ที่งดออกเสียงในการลงมติดังกล่าว คือ แคเมอรูน เอธิโอเปีย ซูดานใต้ และแซมเบีย แต่ไม่มีชาติแอฟริกาใดที่ลงมติไม่เห็นชอบกับการหยุดยิงในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติเมื่อ 27 ต.ค.

ลาตินอเมริกา

ชาติลาตินอเมริกาส่วนใหญ่ ลงมติเห็นชอบให้มีการหยุดยิงในที่ประชุมสมัชชาสหประชาชาติ

เมื่อสัปดาห์ก่อน ประเทศโบลิเวียเป็นชาติแรกในลาตินอเมริกา ที่ตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล นับแต่การบุกโจมตีกาซาภาคพื้นดินเริ่มต้นขึ้น โดยรัฐบาลโบลิเวียเรียกการโจมตีกาซาของอิสราเอลว่า “ก้าวร้าวและไม่เหมาะสม”

อิสราเอลตอบโต้โบลิเวียว่า “ยอมแพ้ให้กับการก่อการร้าย”


ชาติลาตินอเมริกา 2 ประเทศ คือ โคลอมเบียและชิลี ได้เรียกตัวเอกอัครราชทูตของตนเองกลับจากอิสราเอล จากวิกฤตมนุษยธรรมที่รุนแรงขึ้นในกาซา

ชิลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีชาวปาเลสไตน์พำนักอยู่มากที่สุดนอกชาติอาหรับ ระบุว่า ชิลีจะดำเนินการเพื่อประท้วงต่อต้านการกระทำของอิสราเอลที่ถือเป็นการละเมิดกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ด้านโคลอมเบีย ประณามการโจมตีของอิสราเอลต่อฉนวนกาซา นับแต่สงครามเริ่มต้น “เราไม่สนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์” ประธานาธิบดีโคลอมเบียกล่าว พร้อมขู่จะตัดสัมพันธ์ทางการทูตกับอิสราเอล

ด้านประธานาธิบดีบราซิล ได้ประณามการโจมตีของฮามาสต่อพลเรือนชาวอิสราเอลในช่วงแรก และเรียกร้องให้ปล่อยตัวประกันทั้งหมด แต่ในแถลงการณ์ช่วงหลัง ๆ เขาประณามการบุกโจมตีของอิสราเอลในกาซา

“สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่สงคราม มันคือการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่นำมาสู่การสังหารเด็กหลายพันคนที่ไม่เกี่ยวข้องกับสงครามเลย พวกเขาเป็นเหยื่อของสงคราม”

ปารากวัย และกัวเตมาลา เป็นเพียงสองชาติจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ที่ลงมติไม่เห็นชอบกับการหยุดยิงในที่ประชุมสมัชชายูเอ็น