วันอาทิตย์, กันยายน 15, 2562

"อะไรต่ออะไรมันเริ่มกัดกร่อนเหมือนน้ำเน่ากัดเท้า ถึงต้องวิ่งแจ้นไปหาแบ็คถึงเกาะสมุย"


สมแล้วที่โดน เพื่อไทยค่อนแคะว่าไม่เหลียวแลคนอีสาน ไปดี๊ด๊าใส่หมวกเชฟ (กลับหัวกลับหาง) ผูกเอี๊ยมปรุงอาหารกับลุงกำนันอยู่สมุย อย่างที่ ไทกร พลสุวรรณ แขวะว่ากลับไปหา แบ็คน่าจะใช่

ต่อการที่ผลพวงของพายุโซนร้อนโพดลและคาจิกิทำให้ฝนตกน้ำหลากท่วมไร่นาและบ้านเรือนประชาชนทั่วอีสานและภาคเหนือตอนล่าง กรมป้องกันสาธารณภัยแจ้งว่าก่อความเสียหายกว่า ๔ แสนครัวเรือน มีผู้เสียชีวิตแล้ว ๓๒ ราย

อาการหนักขณะนี้ที่จังหวัดอุบลราชธานี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไปพูดที่จังหวัดนครศรีธรรมราชระหว่างการลงพื้นที่ เมืองคอน-เกาะสมุยแสดงความห่วงใยว่า “เมื่อคืนยังนั่งเอาใจช่วย” ทั้งยืนยันว่าทุกภาคส่วนได้ร่วมกันบูรณาการแล้ว ตามยุทธศาสตร์บริหารจัดการน้ำ ๒๐ ปี

ทางศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ของจังหวัดอุบล ผู้ว่าฯ แถลงเองสรุปสถานการณ์เกือบทุกวัน ชี้ว่าเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองปฏิบัติการเฝ้าระวังตลอด ๒๔ ชั่วโมง “เร่งคืนพื้นผิวจราจร โดยติดตั้งเครื่องสูบน้ำและวางกระสอบทรายป้องกันน้ำท่วมพื้นที่ในเมือง”

ทั้งยังติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำที่พิบูลมังสาหารและโขงเจียมอีกราว ๑๖๐ เครื่อง เพื่อผลักดันน้ำลงสู่แม่น้ำโขงด้วย พร้อมแจงข่าวดีว่า “หากไม่มีฝนมาเพิ่มเติม พรุ่งนี้น้ำมูลจะทรงตัว” ทั่นผู้ว่าฯ ไม่ลืมแจ้ง ยอดบริจาคที่ประชาชนส่งผ่านธนาคารกรุงไทย เป็นงบประมาณช่วยน้ำท่วมครั้งนี้ด้วย
 
ว่ายอดเวลานี้อยู่ที่ ๖๔๙,๕๒๘ บาท จังหวัดได้ส่งเข้าไปให้สำนักนายกรัฐมนตรีตามระเบียบราชการ ยังไม่สามารถนำมาใช้จ่ายได้ทันที ต้องรอ “ทำเรื่องเบิกจ่ายตามความจำเป็น” อีกที เฉพาะที่มีผู้บริจาคเป็นสิ่งของเท่านั้นจึงจะเอามาใช้ได้ทันที

โดยเหตุนี้จึงมีประชาชนร้องว้ากันขรม บ้างโอดโอย บางรายระเบิด “ตายห่ากันพอดี” แต่เวลานี้เขารณรงค์กันในสิ่งที่ต้องการเร่งด่วน เช่น “๑.เทียนพรรษาจำนวนมาก เนื่องจากหลายพื้นที่ไฟดับหลายวันแล้ว ๒.ไฟฉาย

๓.ผ้าใบ...๔.น้ำมันเชื้อเพลิง ๕.ยาแก้ปวดและยาแก้น้ำกัดเท้า บริจาคได้ที่ศูนย์ฯ คณะศิลปศาสตร์ ม.อุบลฯ 045 353 700 Cr: อ.ชัยณรงค์ มมส” (@Thanwa_ThaiPBS)

อีกราย พี่อ้อ อิหยังวะ @aorwiki ย้ำว่า “สิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากๆ คือ ๑. ยารักษาน้ำกัดเท้า ๒. เทียนไข ใหญ่ๆ แบบเทียนพรรษายิ่งดี ไม่ต้องจุดบ่อย ๓. ยากันยุง ๔. มุ้งพับได้ ๕. กล่องสุขาเคลื่อนที่”
 
อนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทยวิพากษ์ว่า “พื้นที่ผลิตข้าวหอมมะลิ ข้าวเหนียวเสียหายอย่างหนัก ยอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูง ประชาชนอาจสงสัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จัดลำดับความสำคัญของการแก้ไขปัญหาอย่างไร รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมใหญ่แบบลูบหน้าปะจมูกไม่ได้”

ทาง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เลขาธิการพรรคประชาชาติเจาะที่กลางใจ ยุทธศาสตร์จัดการน้ำ๒๐ ปีของประยุทธ์ที่เริ่มเมื่อพฤษภา ๕๘ แล้วตั้งเป็น สำนักบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแห่งชาติเมื่อตุลา ๖๐ นี้ ฟาดงบประมาณแผ่นดินทุกปี ปีละ ๕-๖ หมื่นล้าน

ปี ๕๙ จำนวน ๕๒,๖๓๐ ล้านบาท ปี ๖๐ จำนวน ๕๔,๒๐๐ ล้านบาท ปี ๖๑ จำนวน ๖๐,๓๕๕ ล้านบาท ปี ๖๒ จำนวน ๖๒,๘๓๑ ล้านบาท จะเห็นว่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกๆ ปี แล้วก็มีปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้งอย่างต่อเนื่องทุกปีเช่นกัน ในรัฐบาล คสช.๑

มาถึงงบประมาณปี ๖๓ วงเงินที่อ้างว่าใช้จัดการน้ำของรัฐบาล คสช.๒ ลดลงเล็กน้อยเหลือ ๕๙,๔๓๑ ล้านบาท เช่นนี้ไหมหนอทำให้ประยุทธ์เลือกไปเยี่ยมพื้นที่ซึ่งน้ำยังไม่ท่วมอย่างเกาะสมุยและเมืองคอนเพื่อจะถามว่า

“เห็นนายกฯคนนี้แล้วเป็นอย่างไร ใช้ได้มั้ย ส่วนเรื่องหล่อเอาไว้ก่อน...ขอให้เห็นใจรัฐบาลด้วยเพราะต้องทำงานทุกด้านไม่ใช่ทำอะไรไม่ดีก็มาว่ามาด่ารัฐบาลอย่างเดียว” แต่ เสธ.ทวีเขาไม่เห็นอย่างนั้น ชี้ว่ารัฐบาลชุดที่แล้วอ้างเสมอว่าสาเหตุน้ำท่วมน้ำแล้งอยู่ปริมาณฝนกับภูมิอากาศโลก

“การบริหารจัดการน้ำ...ใช้งบประมาณที่ไปลงทุนเพื่อแก้ปัญหาได้ตรงจุดที่คุ้มค่าหรือไม่ หรือไม่ได้ลงทุนจริงแค่ไหนเพียงไร ที่ผ่านมาขาดการตรวจสอบ เพราะบ้านเมืองไม่เป็นประชาธิปไตยทำให้ประชาชนไม่มีส่วนร่วม”

หนำซ้ำ “งบน้ำ งบภัยแล้ง งบอุทกภัย จะเป็นที่โจษขานว่ามีการหาประโยชน์ในงานขุดลอกแหล่งน้ำทั่วประเทศ...พล.อ.ประยุทธ์ฯ ที่รวบอำนาจนั่งเป็นประธานบริหารจัดการน้ำแทนทั้งสิ้น จึงไม่มีใครกล้าตรวจสอบ

...แม้รัฐใช้งบบริหารจัดการน้ำไปมากกว่า ๒ แสนล้านบาทแต่กลับพบว่าปัญหาน้ำท่วมและแห้งแล้งขาดน้ำไม่ได้เบาบางลงเลย”


นี่ไง เพราะความเละเทะ ไร้น้ำยาที่ผ่านมา อะไรต่ออะไรมันเริ่มกัดกร่อนเหมือนน้ำเน่ากัดเท้า ถึงต้องวิ่งแจ้นไปหาแบ็คถึงเกาะสมุย