วันจันทร์, กันยายน 02, 2562

ไม่ว่าจะ ‘มุ่งมั่นดันไป’ หรือใครจะ ‘เอาจริงแต่วิงวอน’ แต่การเห็นพ้องแก้ไขรัฐธรรมนูญก็เพื่อยับยั้งความ 'มั่งคั่งยั่งยืนของนักรัฐประหาร'


ผลร้ายพายุเมืองร้อน โพดอลหนักหนาสากัณฑ์ อุทกภัยเกือบทั่วอีสานและภาคเหนือตอนล่าง ผ่านมาสามวันทั่น ผบ.ทบ.จัดแจงแถลงว่า นายกฯ รู้ล่วงหน้า ๒-๓ วันแล้วละ ไลน์สั่งการ ผบ.เหล่าทัพดูแล แต่ชาวบ้านบ่น “ก็เดือดร้อนเหมือนเดิม” (ดูเพิ่มจากภาพ)

แถมคนร้อยเอ็ดโพสต์ “เห็นแต่อาสากู้ภัยกับชาวบ้าน นักข่าว ให้การช่วยเหลือเบื้องต้น...ไม่รู้จะโม้ไปทำไม...ระเบิดก็รู้ล่วงหน้า น้ำท่วมก็รู้ล่วงหน้า แต่ไม่ได้เตรียมการหรือแจ้งเตือนอะไรสักอย่าง” (@NONpayakphan)

บก.ลายจุดถึงต้องแนะ ไอ้ที่จะแจกเงินให้คนเที่ยวนั่น ผันมาช่วยน้ำท่วมเสียก่อนไม่ดีกว่าหรือ ฝ่ายค้านพูดแล้วพูดอีก “รัฐบาลควรคิดว่าจะทำอย่างไรให้มีเงินเข้ามา แต่กลับใช้เงินแหลกลาญ แจกเงินอย่างไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา

ใช้แนวทางเอาคนรวยนำคนจน โครงการธงฟ้าประชารัฐเราก็รู้ว่าเอาสินค้าของใครมาวางขาย ประชาชนก็ต้องเอาเงินที่ได้จากบัตรสวัสดิการมาซื้อของเหล่านั้น ทำให้เงินหมุนเวียนเฉพาะกลุ่มทุน”

สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ หัวหน้าพรรคเพื่อไทยไปพูดที่เชียงใหม่ ในกิจกรรม ๔ ภาค ฝ่ายค้านเพื่อประชาชน นัดแรก “สิ่งที่รัฐบาลพยายามทำมาตลอดคือโน้มน้าวกับสังคมว่าต้องแก้เศรษฐกิจก่อนแล้วค่อยแก้รัฐธรรมนูญ ทั้งๆ ที่ปัญหาเศรษฐกิจกำลังรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ”

หนึ่งในแกนนำหลักของฝ่ายค้านชี้ว่าภาวะข้าวยากหมากแพงเกิดจากรัฐบาล คสช.นั้นเอง ที่มุ่งมาดแต่จะสืบทอดอำนาจ ดังนั้นฝ่ายค้านจึงตั้งเป้าแก้ไขรัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ ของ คสช.นี้ ด้วยการชักชวนประชาชนร่วมรณรงค์ให้มีการเลือก สสร. ๒๕๐ คนขึ้นทำการร่างรัฐธรรมนูญใหม่

การเสวนาวันแรกเมื่อ ๑ กันยา ที่เชียงใหม่นี้ มีทั้งตัวแทนพรรคการเมือง ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม รวม ๗ คนร่วมอภิปรายกันอย่างถึงแก่น สมชาย ปรีชาศิลปกุล แห่งคณะนิติศาสตร์ มช. กล่าวว่ารัฐธรรมนูญที่จะร่างใหม่ มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชนในแนวเดียวกับรัฐธรรมนูญ ๒๕๔๐
ด้านนายนิคม บุญวิเศษ หัวหน้าพรรคพลังปวงชนไทยเปรียบรัฐธรรมนูญฉบับ ๖๐ ว่า “ทำให้การเมืองและรัฐบาลอ่อนแอ เมื่อสิ่งเหล่านี้อ่อนแอใครจะเชื่อมั่นมาลงทุน” ผลก็คือถ้าขืนใช้ต่อไปเรื่อยๆ จะก่อให้เกิดการพอกพูนหนี้ในหมู่ประชาชน จนสุดท้ายก็ล้มละลาย

นายภูมิธรรม เวชยชัย จากพรรคเพื่อไทยเผยว่า “ตลอด ๕ ปีที่ผ่านมาเราได้พิสูจน์แล้วว่า การบริหารที่สามารถควบคุมชีวิตของพี่น้องประชาชนอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ไม่สามารถแก้ไขปัญหาของพี่น้องประชาชนได้”

เขาเสริมด้วยว่า “ประชาชนคือคนที่ได้รับผลกระทบจากระบบการเมืองการปกครอง ดังนั้นเรามีสิทธิที่จะลุกขึ้นมาแสดงออกเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง” โดยกำหนดการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นวาระประชาชนทุกภาคส่วน และทำพร้อมๆ กันไปกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ

แต่โดยเหตุที่รัฐธรรมนูญของ คสช.ฉบับนี้วางเงื่อนงำไว้ให้แก้ไขยาก ดังที่นางเยาวลักษณ์ วงษ์ประภารัตน์ กรรมการบริหารพรรคอนาคตใหม่ระบุ จึงจำเป็นต้องได้เสียงสนับสนุนจากประชาชนส่วนใหญ่อย่างแน่นหนา “ลำพัง ส.ส.ไม่พอ”

สภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ สสร.จึงต้องมาจากประชาชนโดยตรง และแก้ไขปัญหาหลักในรัฐธรรมนูญฉบับ คสช.นี้ ที่กำหนดให้ ภัยต่อความมั่นคง สามารถจำกัดสิทธิ เสรีภาพในการแสดงออกและเสนอความคิดเห็นโดยประชาชน

น.ส.อนินท์ญา ขันขาว สมาชิกกลุ่มนักกิจกรรมเยาวชนเล่าว่า “ในฐานะนักเคลื่อนไหวและนักกิจกรรม สิ่งที่ใกล้ตัวที่สุดคือการถูกคุกคามเสรีภาพเวลาที่เราออกไปเคลื่อนไหว” แม้ในการผลักดันแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ไม่แตะต้องหมวด ๑ และ ๒ แล้วก็ยังถูกจำกัดควบคุม

ขณะที่นายสุรยุทธ จันทวงค์ สมาชิกกลุ่มนักศึกษานิติขับเคลื่อนประกาศว่า “วันนี้สิ่งที่นักศึกษาต้องทำคือต้องตั้งมั่น และเชื่อว่าประชาธิปไตยจะผลิดอกออกผลนสังคมไทยได้ เราศึกษากฎหมายตามระบบและครรลองของประชาธิปไตย ไม่ใช่ให้ใครมาครอบงำเราได้

เราต้องไม่เกรงกลัวต่ออำนาจที่ข่มขู่เรา เราต้องเชื่อว่าอำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชนจริงๆ โดยที่ไม่ต้องให้ใครมาบอก แต่เราต้องเชื่อโดยบริสุทธิ์ใจ”


อย่างไรก็ดีผู้อภิปรายเหล่านี้ต่างย้ำเตือนให้ตระหนักว่า ถึงแม้การแก้ไขรัฐธรรมนูญของ คสช.นี้จะเป็นเรื่องยากเย็น ทว่าความมุ่งมั่นในเป้าหมายและความแม่นยำในหลักการ ดังที่ปรากฏในเนื้อถ้อยดังกล่าวแล้วนั้น จะเป็นแรงกระตุ้นและจูงใจประชาชนทั่วไปให้เข้าร่วมอย่างพร้อมมวล
 
โดยเฉพาะเมื่อมีภาคประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งร่วมกันจัดตั้ง “เครือข่ายภาคีรณรงค์เคลื่อนไหวแก้ไขรัฐธรรมนูญและปฏิรูปประชาธิปไตย” ขึ้นแล้วมีนายโคทม อารียา เป็นประธาน และนายอนุสรณ์ ธรรมใจ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน

กลุ่มนี้แจ้งว่า แม้จะ “ยังเป็นการหารือกันเบื้องต้นมากๆ ยังไม่มีมติอะไรที่ชัดเจน เพราะเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการกันอย่างรอบครอบเพื่อจะต้องมีช่วงเวลาที่ต้องปรึกษาหารือกันอย่างมาก” แต่ก็ตั้งปณิธานกันไว้แล้วว่า

“อยากให้มีรูปแบบเหมือนตอนที่รณรงค์รัฐธรรมนูญสีเขียวเมื่อปี ๔๐” และ “รวมเอากลุ่มต่างๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกันมาขับเคลื่อนไปพร้อมกัน” นายอนุสรณ์แย้มด้วยว่า “เราต้องทำงานร่วมกับทางรัฐสภาและรัฐบาลด้วย ซึ่งถ้าเขาไม่เห็นด้วยเต็มที่เลยก็จะทำงานยาก”


ไม่ว่าใครจะมีท่าที มุ่งมั่นดันไป หรือใครจะ เอาจริงแต่วิงวอนค่อนข้างจะเดินขนานกันไปในทางเดียว อย่างน้อยๆ ก็ได้ความรู้สึกร่วมกันแล้วว่า รัฐธรรมนูญ ๒๕๖๐ นั้นจัดมาเพื่อสืบทอดอำนาจ คสช.โดยแท้ และสรรพคุณไม่ใช่เพื่อปากท้องของประชาชน แต่เพื่อความมั่งคั่งยั่งยืนของนักรัฐประหารเท่านั้น