สังคมไทยมักมองการปฏิบัติภาวนาเป็นเรื่องเป้าหมายความสุขส่วนตัว เราอยากมีจิตใจที่สงบขึ้น ทุกข์น้อยลง แก้ปัญหาส่วนตัวได้ ฯลฯ ไกลกว่านั้นสักนิดก็อาจแผ่ไปถึงคนข้างๆ พ่อแม่ ครอบครัว คนรัก... แต่จะให้ไกลถึงคำว่า "เพื่อนมนุษย์" นั้นค่อนข้างเป็นอะไรที่น่าสงสัย เมื่อเป็นเช่นนั้น การปฏิบัติภาวนาจึงไม่เคยทำหน้าที่ในมิติทางสังคมเลย พูดง่ายๆ คือ คนเข้าวัดปฏิบัติธรรมเยอะขึ้นก็ไม่ได้ทำให้จิตสำนึกทางสังคมดีขึ้น
ศพผู้ลี้ภัยการเมืองที่ถูกฆ่าคว้านท้องยัดเสาคอนกรีตลอยอืดในแม่น้ำโขง จะมีผู้ปฏิบัติธรรมสักกี่คน ที่รู้สึกว่าควรภาวนาให้กับการตายอย่างโหดเหี้ยมของพวกเขา
6 ตุลา, ตากใบ, เสื้อแดง, อากง, ชัยภูมิ ป่าแส, อับดุลเลาะ อีซอมูซอ,....อีกมากมายๆๆๆๆ
และล่าสุดกับการตายของบิลลี่
จะพูดถึงเรื่องการปล่อยวาง พูดถึงเรื่องการหลุดพ้น พูดถึงบุญ ทาน สวรรค์ นิพพาน อะไรก็ตามแต่ แต่การภาวนาของสังคมไทย ไม่เคยไปไหนไกลกว่าตัวใครตัวมันเลย
สังคมต้องการพื้นที่ให้กับการภาวนากับความทุกข์ของผู้คนเหล่านี้... พูดง่ายๆ คือ เราต้องมีพื้นที่ให้รู้สึกสะเทือนใจร่วมกันบ้าง
หากไม่รู้สึกอะไรต่อความตายของคนเหล่านี้ ไม่สน ไม่รู้สึกรู้สาอะไรเลย แล้วประเทศจะมีจิตสำนึกร่วมไปรับมือกับอะไรได้
ขอให้การตายอย่างโหดเหี้ยมที่เกิดขึ้นกับประชาชนที่ต่อสู้กับอำนาจรัฐเกิดขึ้นเป็นครั้งสุดท้าย และขอให้จิตใจที่มีความรักและเคารพต่อเพื่อนมนุษย์เอาชนะอำนาจอันชั่วร้ายไร้ความเป็นธรรมในที่สุด
Vichak Panich