ประเทดไตนี่อยู่ในสภาพแบ่งขั้วโจ่งแจ้งจริงแล้วกระนั้นหรือ
“สองคนยลตามช่อง คนหนึ่งมองเห็นโคลนตม” อีกคนเห็นดาวอยู่พราวพราย
อันเนื่องมาแต่โพล ‘นิด้า’ ล่าสุดนี่ละ ถามเรื่อง “แก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจจะดีขึ้น” ไหม
พอดีมีคำถามพาดพิงเรื่องเศรษฐกิจเช่นกันว่า
อะไรเป็นเหตุให้เศรษฐกิจไทยบักโกรกใกล้ถึงขั้นหนักหนาสากัณฑ์ขณะนี้ คำตอบอยู่ที่
คุณอ่านข่าวจากสื่อฟากไหนล่ะ ถ้านิยม คสช.ก็จะพบว่า “นิด้าโพล เผย
ปชช.ไม่เชื่อแก้รธน.เศรษฐกิจจะดีขึ้น”
หากฟากไม่เอาสืบทอดอำนาจเขาบอก “ประชาชนส่วนใหญ่ชี้
รัฐบาลเป็นสาเหตุหลักทำเศรษฐกิจแย่” (มติชน) แต่ทั้งคู่มาจากโพลเดียวกันของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ที่แม้ตั้งคำถามเกี่ยวพันเรื่องแก้
รธน. แต่มีพ่วงเรื่องสาเหตุเศรษฐกิจพังด้วย
ทว่าคำตอบจากผู้ที่โพลเจาะไปถึง ๑,๒๖๐ คน
๔๖.๖๗% บอกว่าปัญหาเศรษฐกิจเกิดจาก “รัฐบาลไม่มีความสามารถในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ”
ขณะที่มีเพียง ๓๒.๑๔% ไม่เชื่อเลย (ว่า) หากแก้รัฐธรรมนูญแล้วเศรษฐกิจไทยจะดีขึ้น
๓๒ เปอร์เซ็นต์นี้บอกด้วยว่า “แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการของรัฐบาลมากกว่า
ว่าจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างไร” ค่ายเนชั่น-สนธิญานนิวส์ (ฐานเศรษฐกิจ
กรุงเทพธุรกิจ) และผู้จัดการ เลือกที่จะพาดหัวประเด็นด้อย
เพราะไม่ให้เกียรติความเห็นฟากตรงข้าม ใช่ไหม
นี่เป็นแนวประพฤติปกติอย่างไทยๆ
โดยเฉพาะในทางการเมือง ‘เหยียดชั้น แบ่งชน’ แม้กระทั่งในฟากเดียวกัน อย่างที่ ธรรมนัส (พรหมเผ่า) รมช.เกษตรเรียก ๑๐ พรรคจิ๋ว
‘เอื้ออาทร’ ลูกไล่พลังประชารัฐดั่ง ‘ฝูงลิง’ เหมือนที่ลูกพรรค ปชป.สมัยเสนีย์ ถูกเปรียบเปรย
มันช่างเหมาะเหม็งพอดีกับที่ พิเชษฐ
สถิรชวาล หัวหน้าพรรคประชาธรรมไทย “กลับลำ ปัดถอนตัวร่วมรัฐบาล เคลียร์ ‘ธรรมนัส’ แล้ว แจงแค่แยกห้องทำงาน”
วันเดียวกันกับที่ธรรมนัสพูดติดตลกถึงกรณีที่ลือกันว่า ๑๐ พรรคจิ๋วเตรียมแยกตัวออกจากพรรคร่วมรัฐบาล
เขาเปรียบ “ตนเองเหมือนคนเลี้ยงลิง
เลยต้องเอากล้วยให้ลิงกินตลอดเวลา ขณะนี้เชื่อว่ากินจนอิ่มแล้ว น่าจะพอได้แล้ว” เลยทำให้แกนนำพรรคเพื่อไทยได้ช่องแหวะแผลหน้าแตก
“ถ้าไปยอมทำตัวให้เขาดูถูกเหยียดหยามได้ขนาดนั้น ก็ถือว่าหมดศักดิ์ศรีแล้ว
จะเป็นผู้แทนของประชาชนได้อย่างไร”
(https://www.khaosod.co.th/politics/news_2868541 และhttps://www.innnews.co.th/politics/news_483716/)
สมุฏฐานของการไม่ลงรอยอย่างเรื้อรังในสังคมไทยเรานี้น่าจะมาจาก
ฟากหนึ่งยึดมั่นลุ่มหลงอยู่กับต้นรากโบราณ ไม่ยอมปรับตัวให้ก้าวหน้าทันชนเชื้ออื่นๆ
ในโลกกว้างแห่งศตวรรษที่ ๒๑ รวมถึงความเชื่อในเรื่องศาสนา
จนทำให้ศาสนาพุทธที่มีฐานรากเป็นวิทยาศาสตร์
(Metaphysics)
ตั้งอยู่บนแก่นของเหตุและผลเป็นสำคัญ แม้กระทั่งในทฤษฎีการเกิดของมนุษยชาติยังก้าวหน้ากว่าศาสนาอื่น
การหลงใหลในพิธีกรรมนั่นต่างหากทำให้กลับล้าหลังเขาไกลหลายสิบล้านโยชน์
เหตุที่นักศึกษาราชภัฏนครราชสีมาต้องไปทำพิธีกราบขอขมาต่อเจ้าคณะจังหวัด
(ในนามคณะสงฆ์) พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด อธิการบดีราชภัฏ
พร้อมเจ้าหน้าที่สำนักพุทธและวัฒนธรรม
ไม่ใช่ “รู้เท่าไม่ถึงการณ์” หรือเป็นการ “ไม่เหมาะสม
ลบหลู่ดูหมิ่นพระพุทธศาสนา” ที่วาดภาพสีน้ำมันเศียรพระพุทธรูปบนร่างของอุลตร้าแมน แต่อย่างใด
ทว่ามันเป็น “การสื่อให้เห็นว่าพระพุทธเจ้าเป็นฮีโร่เหมือนอุลตร้าแมน
ที่สามารถอดทนต่อสิ่งเร้ารอบด้าน
และช่วยขจัดปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายให้กับมนุษย์ ทำให้โลกมนุษย์สงบสุขได้”
ดังคำอธิบายของ นศ.หญิงผู้สร้างงานศิลปกรรมเหล่านั้นให้ไว้
แต่หมู่ชนที่หมกมุ่นกับวัตถุบูชายิ่งกว่าแก่นแท้ของศาสนาเข้าไม่ถึงหลักคิดเสียละมากกว่า
(ดูรายละเอียดเรื่องนี้ที่ https://workpointnews.com/2019/09/07/art/qx0M และ https://prachatai.com/journal/2019/09/84214)
มีหลายคอมเม้นต์ทางสื่อสังคมชี้ว่ายังดีที่มีฟากก้าวหน้าอยู่ในสังคมไทย
เช่น Thanya Hanpetchsakul อ้างถึง “ขนาดวัดของอาจายร์เฉลิมชัย ยังมีการ์ตูนเลย ศาสนาพุทธ ดีที่สุดแล้วคือการไม่ยึดติดสิ่งใดสิ่งหนึ่ง”
กับที่ @Superdoctor_KC ชี้
“ก่อนพระพุทธเจ้าจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
พระอานนท์ถามพระองค์ว่าจะให้ใครแทนพระองค์ พระพุทธเจ้าตรัสว่า
พระธรรมคำสอนคือสิ่งที่แทนตัวตถาคต ไม่ใช่พระพุทธรูป
พุทธสอนเรื่องปัญญาและการรู้แจ้ง ไม่ใช่ความงมงาย”
หรือจากปุจฉาของ Kaewmala
@Thai_Talk “ยังไม่เคยเห็นมีการเรียกร้องขอขมาแบบนี้จากพระสงฆ์ที่ข่มขืนทารุณเด็ก
กินเหล้ายา เอาสีกาในกุฏิ หรือโกงเงินวัด หรือเพราะเหตุการณ์แบบที่ว่ามีเป็นประจำจนชิน...”
เช่นเดียวกับเครื่องรางและพระเครื่อง แบบ ‘หลวงพ่อโดเรม่อน’
ถ้าประดาคนที่จัดการให้ผู้รังสรรค์ภาพ ‘พุทธอุลตร้าแมน’ ต้องไปหลั่งน้ำตากราบขอขมาได้หยั่งคิดอย่างพระไพรวัลย์
วรรณบุตร สักหน่อย ให้ “สนใจเรื่องเล่าที่อยู่เบื้องหลังภาพวาด อะไรคือสิ่งที่ซ่อนอยู่...อะไรคือความลึกซึ้งทางศิลปะที่ศิลปินต้องการจะถ่ายทอด”
ละก็ จะไม่ต้องกลายเป็น ‘สลิ่มดราม่า’ ในสังคมบัวใต้น้ำ ฉุดยึดไตแลนเดียให้จมปลักอยู่กับการเป็น
‘กะลาแลนด์ ๐.๔’ เช่นนี้ต่อไป