วันอังคาร, สิงหาคม 14, 2561

ข้อเสนอการจัดการ "มรดก" คณะรัฐประหาร โดยปิยบุตร แสงกนกกุล





1. การจัดการ "มรดก" คณะรัฐประหาร

หลักการ

ความขัดแย้งทางการเมืองที่ดำรงอยู่อย่างร้าวลึกตลอดทศวรรษ จนดูเหมือนว่าไม่อาจหาฉันทามติร่วมกันได้ ทำให้กองทัพฉวยโอกาสก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองสองครั้ง ได้แก่ รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

ในช่วงของการครองอำนาจ คณะรัฐประหารได้สร้าง “มรดก” ในรูปของ “รัฐธรรมนูญ” และ “กฎหมาย” ไว้จำนวนมาก เพื่อเป็นกลไกรับประกันว่าระบอบการเมืองในฝันของคณะรัฐประหารจะสามารถดำรงอยู่ได้ “มรดก” เหล่านี้ มีลักษณะไม่เป็นประชาธิปไตย ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ขาดความชอบธรรมและการมีส่วนร่วมจากประชาชน หากไม่จัดการ “มรดก” ของคณะรัฐประหาร จะทำให้ระบอบรัฐประหารดำรงอยู่กับเราต่อไปจนยากที่จะกลับมาสู่ระบอบประชาธิปไตยได้

ข้อเสนอที่ 1.1.
แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อกำหนดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ

เหตุผล

รัฐธรรมนูญ 2560 เป็นผลพวงจากรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีที่มา กระบวนการจัดทำ และเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับประชาธิปไตย อีกทั้งกระบวนการออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ก็ไม่ได้ตามมาตรฐานตามแบบประชาธิปไตย คสช.จำกัดเสรีภาพของบุคคลในการแสดงความคิดเห็น และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนได้รณรงค์อย่างเต็มที่ มีบุคคลจำนวนมากที่รณรงค์ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญแต่กลับถูกจับกุมและดำเนินคดี ดังนั้น รัฐธรรมนูญ 2560 จึงไม่มีความชอบธรรม

รัฐธรรมนูญ คือ กฎหมายสูงสุดของประเทศที่สถาปนาโดยประชาชน เพื่อกำหนดระบอบการเมืองการปกครอง ก่อตั้งสถาบันการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันการเมือง และประกันสิทธิเสรีภาพ ด้วยความสำคัญและเป็นกฎเกณฑ์ขั้นพื้นฐานเช่นนี้เอง ทำให้รัฐธรรมนูญต้องเกิดจากฉันทามติของคนในสังคม

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยขาดแคลนรัฐธรรมนูญในลักษณะนี้มานานแล้ว อาจพอกล่าวได้ว่า รัฐธรรมนูญฉบับสุดท้ายที่เป็นฉันทามติ (consensus) ของสังคมไทย ที่เกิดจากความเห็นพ้องต้องกันและพอจะยอมรับกันได้ทุกฝักฝ่าย คือ รัฐธรรมนูญ 2540 ส่วนรัฐธรรมนูญหลังจากนั้น ไม่ว่าจะเป็น รัฐธรรมนูญ 2549 2550 2557 และ 2560 ต่างก็เป็นรัฐธรรมนูญแบบ “ตอบโต้” กับระบบและสภาพการณ์ที่มีมาก่อนหน้า มีความสัมพันธ์กับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ร่างเพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของรัฐประหาร และไม่ได้ถูกร่างภายใต้บรรยากาศของการปรึกษาหารืออย่างกว้างขวาง รัฐธรรมนูญลักษณะเช่นนี้ไม่สามารถสร้างระบบการเมืองที่ดีและทุกฝ่ายยอมรับกันได้ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องจัดการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 เพื่อเปิดทางให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสูงสุดในการสถาปานารัฐธรรมนูญได้ตัดสินใจจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่

วิธีการ

(1.) เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พุทธศักราช ... เพิ่มหมวดว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ กำหนดให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญประกอบไปด้วยสมาชิกจำนวน 100 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ โดยให้มีเนื้อหาตามกรอบของระบอบประชาธิปไตย เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จ ให้ประชาชนออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญใหม่นั้นในขั้นตอนสุดท้าย โดยกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดนี้ต้องแล้วเสร็จภายใน 1 ปี

(2.) การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตาม (1.) ให้ดำเนินการตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 หมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 255 และมาตรา 256 ซึ่งกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับหมวด 15 นี้ต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติ

(3.) เมื่อพิจารณาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญตามกระบวนการที่กำหนดในรัฐธรรมนูญ 2560 และกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับแล้ว จะต้องมีการออกเสียงประชามติ 2 ครั้ง ได้แก่

ครั้งแรก การออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติในหมวดที่ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และ

คร้้งที่สอง การออกเสียงประชามติให้ความเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับที่สภาร่างรัฐธรรมนูญได้จัดทำขึ้น

ข้อเสนอที่ 1.2.
ยกเลิกมาตรา 279

เหตุผล

มาตรา 279 ได้รับรองให้บรรดาประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำที่เกี่ยวเนื่อง (ไม่ว่าจะเกิดขึ้นก่อนหรือหลังรัฐธรรมนูญ 2560) ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายทุกประการ ทำให้บุคคลไม่อาจโต้แย้งว่าการกระทำเหล่านี้ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายได้เลย ในขณะที่ศาลทั้งหลายต่างไม่รับฟ้องกรณีเหล่านี้ โดยอ้างมาตรา 279 ว่ารับรองให้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายไว้หมดแล้ว ดังนั้น แม้การกระทำเหล่านี้จะมีเนื้อหาที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ละเมิดสิทธิเสรีภาพ ไม่ยุติธรรม การกระทำเหล่านี้ก็ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมายเสมอ กรณีเช่นนี้ ย่อมส่งผลให้ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ อยู่เหนือระบบกฎหมายทั้งหมด

เพื่อทำให้หลักความเป็นกฎหมายสูงสุดของรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจริงและเปิดโอกาสให้มีการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญและความชอบด้วยกฎหมายของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. คำสั่งหัวหน้า คสช. และการกระทำอันเกี่ยวเนื่องได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องยกเลิกมาตรา 279

วิธีการ

เสนอร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติ่ม พุทธศักราช ... เพื่อยกเลิกมาตรา 279

ข้อเสนอที่ 1.3.
ทบทวน แก้ไข ยกเลิก ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.

เหตุผล

นับตั้งแต่ คสช. ก่อรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองประเทศตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2557 คสช.ได้ออกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. จำนวนมาก โดย “เสก” ให้ประกาศและคำสั่งเหล่านี้มีสถานะเป็น “กฎหมาย” และกำหนดบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ 2557 และ 2560 เพื่อรับรองให้ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและชอบด้วยกฎหมายตลอดกาล

ประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านี้มีที่มาที่ไม่ชอบธรรม และสร้างให้ประเทศไทยมีระบบกฎหมายสองระบบในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ ระบบปกติที่อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ และระบบพิเศษของ คสช. ที่ได้รับการยกเว้นให้อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ

วิธีการ

(1.) แต่งตั้งคณะกรรมการทำหน้าที่จำแนกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ทั้งหมด

(2.) กรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ออกมาเพื่อการบริหารราชการแผ่นดินโดยทั่วไป ไม่ได้มุ่งหมาย และมีบุคคลที่ได้รับประโยชน์ไปโดยสุจริต ให้ตราพระราชบัญญัติเพื่อเปลี่ยนสภาพของประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ให้เป็นพระราชบัญญัติ พระราชกฤษฎีกา กฎหมายลำดับรอง และคำสั่งทางปกครอง แล้วแต่กรณี

(3.) กรณีประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนองตอบวัตถุประสงค์ของ คสช. ในการปราบปรามศัตรูทางการเมือง หรือละเมิดสิทธิมนุษยชน หรือมีเนื้อหาที่ขัดต่อความยุติธรรมอย่างร้ายแรง ให้ยกเลิกประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นทันที และกำหนดให้มีกระบวนการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนหรือมาตรการเยียวยาให้แก่ผู้เสียหายจากประกาศ คสช. คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช. เหล่านั้นด้ว

ข้อเสนอที่ 1.4.
ยกเลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป

วิธีการ

เสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อยกเลิกพระราชบัญญัติการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2560

ข้อเสนอที่ 1.5.
การลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และการต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน

วิธีการ

จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยให้ประชาชนออกเสียงประชามติในขั้นตอนสุดท้าย โดยมีบทบัญญัติในส่วนที่ว่าด้วยการลบล้างผลพวงรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และการต่อต้านการแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชน ดังนี้

(1.) ประกาศให้รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย และประกาศให้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 48 (บทบัญญัตินิรโทษกรรมให้กับรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557) เสียเปล่าและถือว่าไม่เคยเกิดขึ้นและไม่เคยมีผลในทางกฎหมาย

(2.) บัญญัติให้ปวงชนชาวไทยมีสิทธิและหน้าที่ในการต่อต้านโดยวิธีการใดๆต่อการแย่งชิง (usurpation) อำนาจสูงสุดของประชาชน

(3.) บัญญัติให้การแย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนเป็นความผิดอาญา ภายหลังการรื้อฟื้นอำนาจที่ชอบธรรมกลับมาได้แล้ว ก็ให้ดำเนินคดีต่อบุคคลที่แย่งชิงอำนาจสูงสุดของประชาชนดังกล่าว โดยให้อายุความเริ่มนับตั้งแต่มีการรื้อฟื้นอำนาจอันชอบธรรมนั้น


Piyabutr Saengkanokkul

...

"จุดมุ่งหมายสุดท้ายของรัฐ มิใช่การครอบงำมนุษย์หรือเหนี่ยวรั้งมนุษย์ไว้ด้วยความกลัว แต่คือการปลดปล่อยมนุษย์ออกจากความกลัว ซึ่งทำให้เขามีชีวิตอันอิสระที่จะปฏิบัติได้อย่างมั่นใจ โดยไม่เป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น จุดหมายปลายทางของรัฐ มิใช่การเปลี่ยนมนุษย์ที่มีเหตุผลให้กลายเป็นเครื่องจักร แต่รัฐต้องอำนวยให้ร่างกายและจิตใจของมนุษย์ทำหน้าที่ได้อย่างปลอดภัย และชักนำให้มนุษย์มีเหตุผล และใช้เหตุผลอย่างอิสระ เพื่อที่ว่ามนุษย์จะไม่สูญเสียพลังไปกับความเกลียดชัง ความโกรธ ความหลอกลวง และการปฏิบัติอย่างอยุติธรรมต่อกัน ดังนั้น จุดหมายสุดท้ายของรัฐ คือ เสรีภาพ"

Spinoza, Tractatus Theologico-Politicus, XX, 3,1670

ที่มา FB
Piyabutr Saengkanokkul