สามชาย ศรีสันต์: เศรษฐกิจพอเพียง ความสุขจากการบริโภคชนบท และธรรมโองการเหนือรัฐธรรมนูญ
2018-08-23
ที่มา ประชาไท
กรกฤช สมจิตรานุกิจ สัมภาษณ์และเรียบเรียง
วิเคราะห์วาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ความเป็นไทยที่ถูกสร้างขึ้นสอดรับกับความเป็นชนบท โดยมีคนเมืองเป็นผู้บริโภคชนบทอย่างมีความสุข
เมื่อพูดถึง ‘หลักเศรษฐกิจพอเพียง’ ความทรงจำร่วมของคนในสังคมไทยมักย้อนกลับไปช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2541 ที่ว่า
“วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าแต่ละคนพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิจ จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้”
แต่จากงานศึกษาเรื่อง ‘ชนบท-เมือง การสร้างความสุขทางสังคมภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโครงการการสร้างการรับรู้ในสังคมไทย (The Construction of the Thai Mind) ได้แสดงให้เห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีความเป็นมาถอยหลังไปยาวนานกว่านั้น ตั้งแต่ยุคภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ และพัฒนาต่อมากระทั่งเป็นวาทกรรมที่ครอบงำสังคม ผลิตสร้างความเป็นไทย และมีหน้าที่บางประการที่ตอบรับกับอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมืองในสังคม
ที่มา ประชาไท
กรกฤช สมจิตรานุกิจ สัมภาษณ์และเรียบเรียง
วิเคราะห์วาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียง ความเป็นไทยที่ถูกสร้างขึ้นสอดรับกับความเป็นชนบท โดยมีคนเมืองเป็นผู้บริโภคชนบทอย่างมีความสุข
- หลักเศรษฐกิจพอเพียงถูกใช้เป็นเครื่องรับมือและแก้ไขวิกฤตที่มาจากภายนอกและไม่ใช่ไทย
- หลักเศรษฐกิจพอเพียงถูกทำให้กลายเป็นไทยและสวมทับกับภาพความเป็นไทยของชนบทที่ถูกสร้างขึ้นเช่นกัน โดยคนชนบทมีความสุขจากงบประมาณอันเนื่องจากแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ขณะที่คนเมืองมีความสุขจากการได้บริโภคชนบท
- วาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงหล่อเลี้ยงความเหลื่อมล้ำในสังคม
- หลักเศรษฐกิจพอเพียงคือธรรมโองการฉบับถาวรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่สถาบันกษัตริย์พระราชทานให้แก่คนไทยทุกคน
เมื่อพูดถึง ‘หลักเศรษฐกิจพอเพียง’ ความทรงจำร่วมของคนในสังคมไทยมักย้อนกลับไปช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และพระราชดำรัสของในหลวงรัชกาลที่ 9 เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิตดาลัย วันที่ 4 ธันวาคม 2541 ที่ว่า
“วันนั้นได้พูดว่า เราควรจะปฏิบัติให้พอมีพอกิน พอมีพอกินนี้ก็แปลว่าเศรษฐกิจพอเพียง ถ้าแต่ละคนพอมีพอกิน ก็ใช้ได้ ยิ่งถ้าทั้งประเทศพอมีพอกินก็ยิ่งดี และประเทศไทยเวลานั้นก็เริ่มจะไม่พอมีพอกิน บางคนก็มีมาก บางคนก็ไม่มีเลย สมัยก่อนนี้พอมีพอกิน มาสมัยนี้ชักจะไม่พอมีพอกิจ จึงต้องมีนโยบายที่จะทำเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อที่จะให้ทุกคนมีพอเพียงได้”
แต่จากงานศึกษาเรื่อง ‘ชนบท-เมือง การสร้างความสุขทางสังคมภายใต้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ สามชาย ศรีสันต์ อาจารย์ประจำวิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในโครงการการสร้างการรับรู้ในสังคมไทย (The Construction of the Thai Mind) ได้แสดงให้เห็นว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงมีความเป็นมาถอยหลังไปยาวนานกว่านั้น ตั้งแต่ยุคภัยคุกคามคอมมิวนิสต์ และพัฒนาต่อมากระทั่งเป็นวาทกรรมที่ครอบงำสังคม ผลิตสร้างความเป็นไทย และมีหน้าที่บางประการที่ตอบรับกับอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมืองในสังคม
เครื่องมือต่อต้านภัยคุกคามจากภายนอกที่ไม่ใช่ไทย
สามชาย กล่าวว่า ตนมองเศรษฐกิจพอเพียงในฐานะวาทกรรมที่แวดล้อมตัวบุคคลในชีวิตประจำวัน และยังหมายถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่พยายามปลูกฝังเพื่อบอกเล่าประวัติศาสตร์ของความเป็นชาติไทยและสร้างความเป็นไทยขึ้นมา โดยเศรษฐกิจพอเพียงถูกนำมาใช้แก้ปัญหาภัยความมั่นคงของชาติและเป็นวิกฤตของคนไทยทุกคนในแต่ละช่วงเวลา โดยเฉพาะภัยที่มาจากภายนอกที่เข้ามาคุกคาม ควบคุม เปลี่ยนแปลงความเป็นไทย ประกอบด้วยภัยคอมมิวนิสต์ วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 และระบอบทักษิณ
“ในช่วงภัยคอมมิวนิสต์แม้จะไม่ใช้คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงโดยตรง แต่พระราชดำรัสบ่งบอกทิศทางการพัฒนาประเทศที่ให้ทำไปตามลำดับขั้น อย่าก้าวกระโดด หรือเปลี่ยนแปลงอะไรที่ไกลเกินไป ขอแค่พออยู่พอกินก่อน ผมคิดว่าในช่วงเวลานั้น สถาบันกษัตริย์มองเห็นว่าประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมากในการพัฒนาประเทศ จุดโจมตีสำคัญของลัทธิคอมมิวนิสต์คือความไม่เป็นธรรม ความเหลื่อมล้ำ หมู่บ้านในชนบทถูกขูดรีด การให้ค่อยๆ ทำไปตามที่เราทำได้ ทำแค่พอมีพอกินจึงเป็นคำปลอบประโลม”
ช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ 2540 ก็เช่นกัน จอร์จ โซรอส ผู้โจมตีค่าเงินบาท กองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ การหลงฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยของภาคธุรกิจไทย รวมถึงระบบทุนนิยม ถูกทำให้เป็นภัยภายนอกที่รุกรานกระทั่งประเทศไทยสูญเสียอำนาจอธิปไตยทางเศรษฐกิจ และเศรษฐกิจพอเพียงก็คือทางออกจากวิกฤต
“พอพูดถึงเศรษฐกิจพอเพียงจึงกลายเป็นว่า สิ่งเดิมดีอยู่แล้ว เป็นเรื่องที่เราเอาตัวรอดมาได้ทุกยุคสมัย ความเป็นชาติ ความอุดมสมบูรณ์ เกี่ยวข้องโดยตรงกับสถาบันกษัตริย์ที่ปกป้องรักษาอธิปไตยของชาติมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นเราก็ต้องกลับไปหาความเป็นไทย กลับไปหาอดีตที่เราเคยรุ่งเรือง ภาพฝันแบบนี้ถูกสร้างขึ้น จังหวะนี้เองเป็นจังหวะที่วัฒนธรรมชุมชนก็เกิดขึ้น ความสำเร็จของกลุ่มนี้อย่างหนึ่งคือการสร้างให้ชนบทเป็นตัวแทนของความเป็นไทยผ่านวัฒนธรรมที่ยังคงหลงเหลืออยู่จากการรุกรานของวัฒนธรรมตะวันตก
“เกิดการสร้างภาพว่าชนบทมีความเข้มแข็ง มีภูมิปัญญา พึ่งตนเองได้ เป็นเกราะคุ้มครองประเทศไทยไม่ให้สูญเสียความเป็นไทย ความสำเร็จนี้ทำให้เศรษฐกิจพอเพียงที่กำลังมองหาพื้นที่ที่มีตัวแทนความเป็นไทยหลงเหลืออยู่ เข้าไปสวมทับเพื่อสร้างดินแดนแห่งความสุขของความเป็นไทยขึ้นมา ซึ่งก็คือชนบท”
ตามมาด้วยระบอบทักษิณที่ถูกมองว่าไม่มีความเป็นไทยและขายชาติ ขณะที่คนชนบทถูกกำหนดนิยามเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ กลุ่มแรกคือพสกนิกรที่ดีที่ยังคงความเป็นไทยไว้ ทำการเกษตร กลุ่มนี้คือกลุ่มที่ได้รับการยกย่องให้เป็นปราชญ์ ขณะที่กลุ่มที่ไปเข้ากับระบอบทักษิณคือกลุ่มที่ไม่มีความเป็นไทย หลงฟุ้งเฟ้อกับวิธีคิดแบบทุนนิยมตะวันตก และประชานิยม ในที่สุดแล้วการถูกกันออกไปจากความเป็นไทยและทำให้เราสามารถทำร้ายเข่นฆ่ากันได้
สามชาย ตั้งข้อสังเกตว่า ทุกครั้งที่สังคมไทยมีภัยจะมีการสร้างศัตรูขึ้นมาเสมอระหว่างไทยกับไม่ใช่ไทย ความเป็นไทยที่ถูกสร้างขึ้นโดยสถาบันชาติ ศาสน์ กษัตริย์ ซึ่งเศรษฐกิจพอเพียงทำให้พื้นที่ชนบทกลายเป็นพื้นที่ของความเป็นไทยที่เราต้องรักษาหวงแหนไว้
20 ปี ต้มยำกุ้ง : คุยกับ ‘เก่งกิจ’ ว่าด้วย ‘เศรษฐกิจพอเพียง’ ในฐานะโวหาร ‘เสรีนิยมใหม่’
เสรีนิยมไปกันได้ด้วยดีกับเศรษฐกิจพอเพียง?
ชนบท ดินแดนแห่งความสุขและเป็นไทย และการบริโภคชนบทของคนเมือง
ทันทีที่ชนบทถูกสร้างเป็นดินแดนแห่งความสุขและเป็นไทย คนเมืองผู้มีปัญหารากเหง้าของตนเองที่ถูกทำให้หายไปจากการพัฒนาประเทศ เกิดวัฒนธรรมสากล ก็โหยหาอดีตและรากเหง้า จึงให้การยอมรับชนบทในฐานะพื้นที่ความเป็นไทย
“วิธีการที่จะครอบครองความเป็นไทย ครอบครองพื้นที่ของความสุขที่ตนเองอ้างอิงได้ ก็โดยการบริโภคชนบท ขณะเดียวกันก็พยายามมีสถานะทางชนชั้นที่เหนือกว่าจากการใกล้ชิดศูนย์กลางของอำนาจ แล้วบอกว่าสิ่งที่ตนเข้าไปบริโภคนี้คือการช่วยให้ชนบทดีขึ้น ช่วยรักษาความเป็นไทย และตนเองก็ทำตัวเป็นลูกที่ดี เหล่านี้อยู่บนเงื่อนไขของความพอเพียงทั้งหมด เกิดความสุขจากการบริโภคชนบท ความเป็นไทย ความสุขที่สะท้อนออกมาผ่านการปฏิบัติของคนในทางร่างกาย วิธีพูด ท่าที การแต่งกาย การใช้ชีวิตในเวลาว่าง ออกมาผ่านการบริโภค ชาวนาวันหยุด ใช้สินค้าอินทรีย์ ได้ช่วยเหลือชนบท สร้างความเป็นไทย เป็นคนดี เป็นความหมายรวมของร่างกาย ความพอเพียงที่ตนเองแสดงออกเป็นความพอเพียงที่เกิดขึ้นจากการบริโภค ขณะที่ชนบทก็ถูกควบคุม คนชนบทที่รับความพอเพียงและแสดงออกตรงตามเงื่อนไขก็จะได้รับการยอมรับเป็นปราชญ์”
สามชาย อธิบายว่า ปราชญ์ชาวบ้านคือตัวแทนที่สืบทอดวิธีคิด มีความใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจที่เป็นความใกล้ชิดผ่านแนวทางพระราชดำริ หากได้พูดคุยกับคนกลุ่มนี้รูปแบบของการพูดจะไม่ต่างกันคือ พบทางออกของชีวิต พบความสุขได้จากเส้นทางเศรษฐกิจพอเพียง จากที่เคยหลงผิดกับค่านิยมตะวันตก ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย หรือหลงไปกับประชานิยมแบบทักษิณ
ขณะเดียวกันคนชนบททั่วไปก็มีความสุขจากเศรษฐกิจพอเพียงผ่านการจัดสรรทรัพยากรและงบประมาณในโครงการพัฒนาต่างๆ ที่ลงไป หาทำอะไรสักอย่างที่สะท้อนถึงความพอเพียงก็จะได้รับการดูแล ไม่ถูกแยกออกไปเป็นชายขอบ
“ผมคิดว่าชนชั้นกลางในเมืองเป็นคนที่มีปมด้อย เข้ามาหาความเจริญในเมืองและประสบความสำเร็จ พัฒนาตนเองขึ้นเป็นชนชั้นกลางได้ ซึ่งควรจะเหนือกว่า ควรครอบครองอาณาบริเวณพื้นที่ของชนบทได้ แต่กลับพ่ายแพ้ระบอบทักษิณที่คนชนบทเลือก มีพลังในการเลือกตั้งแล้วมากำหนดนโยบายประเทศ จึงหาทางที่จะเอาสถานะนี้กลับคืนมาด้วย 2 แนวทาง หนึ่งคือรับเศรษฐกิจพอเพียงมาเพื่อใกล้ชิดกับชนบท สองคือทำตนให้ใกล้ชิดกับศูนย์กลางอำนาจที่อยู่เหนือที่สุดซึ่งก็คือการเป็นลูก”
หล่อเลี้ยงความเหลื่อมล้ำ
สามชาย ยังเห็นว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงยังแฝงด้วยอุดมการณ์ความเชื่อทางการเมือง โดยการสร้างแบบแผนการประพฤติปฏิบัติของคนในสังคม สร้างระบบความเชื่อที่สะท้อนออกมาว่าถ้าใครไม่เชื่อแบบนี้ก็จะไม่ใช่คนไทย ไม่ใช่ลูกที่ดี คุณจะถูกสังคมลงโทษ เป็นการกำกับควบคุมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ขณะเดียวกัน มันยังสะท้อนว่าสังคมไทยมีความซาบซึ้งตรึงใจในระบอบการปกครองแบบพ่อปกครองลูก เป็นพื้นที่ของความสุข เป็นระบบความสัมพันธ์ที่มีความสุข มีความเชื่อว่าระบบชนชั้นวรรณะที่จัดสรรอำนาจและหน้าที่ที่แต่ละคนมีเป็นเรื่องที่เหมาะกับสังคมไทย โดยที่แต่ละหน้าที่ก็มีสิทธิเสรีภาพแตกต่างกัน ไม่ได้มองว่ามนุษย์มีความเท่าเทียมกันโดยพื้นฐาน แต่เกิดจากชาติตระกูลและมีหน้าที่รับใช้อะไรในสังคม รับใช้สถาบันสูงสุดที่ลดหลั่นกันลงมา ดังนั้น อำนาจ หน้าที่ สิทธิ เสรีภาพก็จะถูกจัดสรรไปตามบทบาทหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราพยายามทำให้เกิดขึ้นในปัจจุบัน
เมื่อเป็นเช่นนี้ วาทกรรมเศรษฐกิจพอเพียงจึงมีส่วนทำให้ความเหลื่อมล้ำดำรงอยู่ สามชาย อธิบายว่า
“วาทกรรมนี้ทำการจัดชั้น แบ่งประเภท กำหนดหน้าที่ความรับผิดชอบของคนที่สังคมนี้คาดหวัง ขณะเดียวกันก็กระจายสิทธิ เสรีภาพให้ไม่เท่ากัน คนจน คนในชนบทก็ควรดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ ทำการเกษตร ส่งพืชผัก ข้าว มาให้คนเมืองบริโภค และอย่าไปยุ่งเกี่ยวกับการเมืองเพราะคุณไม่รู้เรื่องการเมืองหรอก คุณคือคนที่ถูกหลอกได้ง่าย ดังนั้น คุณก็ไม่ควรจะมีสิทธิ เสรีภาพมากมายนัก คือมีความพยายามที่จะกันเสียงของคนในชนบทออกไป ไม่ให้มายุ่งกับการเมืองหรือไม่ให้มีอิทธิพลทางการเมือง”
หลักเศรษฐกิจพอเพียงคือธรรมโองการฉบับถาวรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ
การลงหลักปักฐานอย่างแน่นหนามั่นคงของหลักเศรษฐกิจพอเพียงทำให้ สามชาย สรุปว่า หลักเศรษฐกิจพอเพียงคือธรรมโองการฉบับถาวรที่อยู่เหนือรัฐธรรมนูญที่สถาบันกษัตริย์ทรงพระราชทานให้แก่คนไทยทุกคน
“เพราะรัฐธรรมนูญถูกฉีกตลอดเวลา แล้วรัฐธรรมนูญที่ถูกฉีกในระยะ 20 ปีมานี้ต้องใส่คำว่าเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปในรัฐธรรมนูญ ทุกสิ่งทุกอย่างต้องล้อไปกับเศรษฐกิจพอเพียง ทุกคำพูด การจัดทำงบประมาณ กฎหมายต่างๆ ยุทธศาสตร์ชาติ นโยบายของกระทรวง ทบวง กรม รวมถึงสถาบันการศึกษาในมหาวิทยาลัยก็ต้องสอนเรื่องนี้ และจะมีการสืบทอดต่อไป
“นี่คือการทำให้สถาบันกษัตริย์ไม่ยึดติดกับตัวบุคคล แต่กลายเป็นธรรมโองการที่เป็นแบบแผนปฏิบัติทางสังคมที่จะอยู่ต่อไปอีกยาวนาน ตัวบุคคลใหม่ๆ ที่ขึ้นมาก็จะสวมทับธรรมโองการนี้ในการดำเนินการปกครองบ้านเมืองสืบไป”