“ธนาธร” ชี้หลังยึดอำนาจงบฯทหารแซงงบฯ30บาท
22/08/2018
THE ISAAN RECORD
ขอนแก่น – ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่เผย หลังรัฐประหาร ปี 2549 และรัฐประหาร ปี 2557 งบประมาณการทหารสูงกว่างบประมาณสาธารณสุข และการอุดหนุนภาคการเกษตรของรัฐบาลที่ผ่านมาไร้ประสิทธิภาพ โดยอยากเห็นการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการเกษตรมากกว่า แจงรัฐควรกระจายอำนาจให้ส่วนท้องถิ่นสามารถตัดสินใจกำหนดอนาคตของตัวเอง
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2561 ที่ห้องประชุม 3 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งและว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในฐานะนักวิชาการอิสระ บรรยายพิเศษเรื่อง “นโยบายสาธารณะกับการพัฒนาสังคมไทย” แก่นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ผู้ก่อตั้งและว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า เมื่อพูดถึงนโยบายสาธารณะ อยากให้ดูว่ารัฐบาลผู้ที่มีอำนาจในการจัดสรรงบประมาณของประเทศ นำงบประมาณไปใช้ดำเนินนโยบายอะไร แล้วเพื่อการใด
นายธนาธรกล่าวว่า เมื่อพูดถึงนโยบายสาธารณะ ตนอยากให้คิดถึงบทบาทของรัฐบาลกับการจัดสรรงบประมาณของประเทศไทย อย่างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2562 วงเงินกว่า 3 ล้านล้านบาท ตามหลักการแล้ว งบประมาณส่วนนี้รัฐบาลที่ได้เข้ามาบริหารงบประมาณ รัฐบาลต้องคิดว่าจะเอางบประมาณไปใช้จ่ายทำอะไร เรียกว่ารายจ่าย รวมถึงรัฐบาลจะต้องวางแผนหางบประมาณเพิ่มเพื่อเอามาดำเนินนโยบาย เรีบกว่ารายรับ
“เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องคิดว่าจะเอางบประมาณไปใช้จ่ายทำอะไร แล้วคิดว่าจะหางบประมาณที่ไหนมาจ่าย หน้าที่ของรัฐบาลคือการวางแผนว่าจะใช้งบประมาณของประเทศพัฒนาประเทศไปในทิศทางไหน” นายธนาธรกล่าว
นายธนาธรกล่าวอีกว่า การปกครองแบบประชาธิปไตย พรรคการเมืองมีหน้าที่ที่จะนำเสนอต่อประชาชนว่า พรรคจะนำเงินภาษีของประชาชนซึ่งก็คืองบประมาณประจำปีของประเทศที่อยู่ที่กระทรวงการคลังไปใช้เพื่อการใด
“ก่อนการเลือกตั้งที่ผ่านมา หนึ่งในนโยบายสาธารณะที่พรรคการเมืองใหญ่สองพรรคนำเสนอคือ นโยบายแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ เช่น เพื่อไทยเสนอนโยบายจำนำข้าว ประชาธิปัตย์เสนอนโยบายประกันราคาข้าว” นายธนาธรกล่าว
นอกจากนี้ นายธนาธรยังกล่าวว่า เมื่อพูดถึงนโยบายสาธารณะควรจะพูดการจัดสรรงบประมาณเพื่อดำเนินการนโยบายสาธารณะ ตนขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบงบประมาณที่ดำเนินการนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรคของกระทรวงสาธารณสุขกับนโยบายของกิจการทหารของกระทรวงกลาโหม ในหลายปีที่ผ่านมาพบว่า ก่อนทหารรัฐประหารยึดอำนาจการปกครอง เมื่อ ปี 2549 งบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับสูงกว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหม แต่หลังจากการรัฐประหารสองปี งบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับน้อยกว่างบประมาณของกระทรวงกลาโหมและหลังจากการรัฐประหารในปี 2557 งบประมาณที่กระทรวงกลาโหมได้รับก็สูงขึ้นกว่างบประมาณที่กระทรวงสาธารณสุขได้รับ
“การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะเรื่องการ จัดสรรงบประมาณที่เป็นเงินภาษีของประชาชนถูกนำไปใช้ทำอะไร เพื่อคนกลุ่มไหน” นายธนาธรกล่าว
นายธนาธรกล่าวอีกว่า กระบวนการจัดสรรงบประมาณในประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกับคนที่มาเป็นรัฐบาล เพราะถ้าคนที่มาเป็นรัฐบาลมีความเชื่อว่าความมั่นคงของประเทศมีความสำคัญกว่าเรื่องสวัสดิการสาธารณสุข รัฐบาลชุดนั้นก็จะเพิ่มงบประมาณด้านการทหาร แต่ถ้ารัฐบาลชุดนั้นเชื่อว่าระบบสวัสดิการสุขภาพของประชาชนสำคัญกว่าก็จะเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุข
“ถ้าลดงบทหารประมาณร้อยละ 30 อาจจะได้เงินมา 6 หมื่น 8 พันล้านบาท ซึ่งสามารถเพิ่มเบี้ยคนชราจาก 600 บาทต่อเดือน เป็น 1,200 บาทต่อเดือนได้ สำหรับคนชราจำนวน 8 ล้าน 5 แสนคนทั่วประเทศได้” นายธนาธรกล่าว
ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ผู้นี้กล่าวอีกว่า อีกหนึ่งตัวอย่างของนโยบายสาธารณะที่ตนคิดว่าใช้จ่ายงบประมาณไม่มีประสิทธิภาพเรื่องของภาคเกษตรกรรม ภาคการเกษตรที่ใช้คนเยอะ ใช้ทรัพยากรเยอะ แต่สร้างผลผลิตน้อย คนที่อยู่ในภาคการเกษตรเป็นคนมีรายได้ต่ำ รัฐบาลที่ผ่านมาใช้วิธีแก้ไขปัญหาด้วยการอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร ในฤดูกาลที่แล้วเฉพาะข้าว รัฐบาลมีงบประมาณช่วยเหลือชาวนา จำนวน 8 หมื่น 7 พันล้านบาท ในงบประมาณจำนวนนี้แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรกให้เป็นสินเชื่อชาวนา 3 หมื่น 3 พันล้านบาท และงบประมาณอุดหนุนราคาข้าวให้ชาวนา 5 หมื่น 3 พันล้านบาท
“เงินอุดหนุนราคาข้าวดังกล่าวนี้เท่ากับเป็นงบประมาณจ่ายขาด คือ จ่ายเงินงบประมาณนี้ทิ้งไป” นายธนาธรกล่าว
นายธนาธรกล่าวว่า กรณีนี้ถ้าผู้มีอำนาจมองว่า ภาคการเกษตรควรเพิ่มเทคโนโลยี เพื่อศักยภาพในการผลิต ยกระดับให้เป็นอุตสาหกรรมการเกษตรที่ใช้เทคโนโลยี เช่น สร้างเครื่องจักรกลเพื่อเพิ่มการผลิตและเพื่อมูลค่าจากผลผลิต และใช้ทรัพยากรคนน้อยลง ผู้มีอำนาจจะไม่เอาเงิน 5 หมื่น 3 พันล้านบาทไปอุดหนุนราคาสินค้าเกษตร แต่จะเอาเงินส่วนนี้ไปลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีการทำการเกษตร พัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรให้ก้าวหน้า เป็นต้น
นายธนาธรกล่าวอีกว่า เมื่อพูดถึงเรื่องการจัดสรรทรัพยากรเพื่อพัฒนาประเทศ ควรต้องพูดเรื่องอำนาจ โดยเฉพาะประเด็นที่ว่าอำนาจในการจัดสรรงบประมาณ ของประเทศนั้นอยู่ที่ใคร ตนคิดว่าควรพูดถึงเรื่องการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่น ผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บริหารจัดการท้องถิ่นตัวเอง เช่น ให้อำนาจบริหารงบประมาณ บริหารบุคลากร รวมถึงให้ประชาชนมีสิทธิเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นตัวเอง
“ตั้งแต่มีการกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นตั้งแต่ปี 2540 ประเทศไทยไม่มีการกระจายอย่างแท้จริง เพราะอำนาจในการบริหารท้องถิ่นยังอยู่ที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งคือส่วนกลาง” นายธนาธรกล่าว
ว่าที่หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่กล่าวอีกว่า ตามหลักการกระจายอำนาจแล้วควรย้ายข้าราชการส่วนภูมิภาคทั้งหมดมาสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพราะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอยู่ใกล้ชิดประชาชนมากกว่า ความใกล้ชิดนี้ทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายเพื่อท้องถิ่น รวมถึงมีสิทธิที่จะให้คุณ ให้โทษแก่ข้าราชการส่วนนี้ได้
“ถ้าข้าราชการท้องถิ่นทำงานไม่ดี ประชาชนก็จะลงโทษโดยไม่เลือกตั้งพวกเขามาเป็นผู้บริหารท้องถิ่น แต่แนวคิดนี้ไม่เคยเกิดขึ้นจริงในสังคมไทย” นายธนาธรกล่าว
นักศึกษา อาจารย์ และบุคลากร ม.ขอนแก่น รวมถึงบุคคลทั่วไปเข้าร่วมรบฟังการบรรยายของนายธนาธร เรื่อง “นโยบายสาธารณะกับการพัฒนาสังคมไทย” ที่ห้องประชุม 3 คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ม.ขอนแก่น เมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2561
นายธนาธรกล่าวด้วยว่า กรณีท้องถิ่นที่มีอำนาจออกแบบการพัฒนาของท้องถิ่นตัวเอง ตนขอยกตัวอย่างเมืองซูค เมืองหนึ่งในรัฐซูค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ที่กลายเป็นศูนย์กลางการเงินสกุลดิจิทัลที่ใหญ่อันดับสองของโลก โดยมีเงินสกุลหนึ่งชื่อว่า บิทคอย (bitcoin) เหตุผลที่เมืองซูคกลายเป็นศูนย์กลางการเงินดิจิทัล เพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ผู้บริหารของเมืองนี้เห็นว่า เงินที่จะใช้ในโลกในปัจจุบันและอนาคตมีแนวโน้มจะเป็นเงินดิจิทัล ไม่ใช่เงินที่เป็นเหรียญเป็นธนบัตร จึงทำให้ผู้บริหารของเมืองนี้เสนอให้ประชาชนในเมืองจ่ายเงินค่าบริการต่างๆ รวมถึงจ่ายภาษีให้เมืองเป็นเงินดิจิทัล
นายธนาธรกล่าวอีกว่า ผู้บริหารและสภาเมืองได้มีมติเสนอให้ติดตั้งตู้เบิกเงินสด (ATM) เป็นตู้เบิกเงินดิจิทัลขึ้นในเมือง เพื่อตอบสนอการเกิดขึ้นเงินดิจิทัล ทำให้นักลงทุนและนักพัฒนาหนุ่มสาวทั่วโลกที่สนใจพัฒนาเงินสกุลดิจิทัลเข้ามาทำงานในเมืองแห่งนี้จำนวนมาก
“นี่คือเมืองมีอำนาจตัดสินใจ เพราะเมืองนี้ซึ่งมีสถานะเท่ากับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทย มีอำนาจในการออกแบบทิศทางของเมือง เพื่อทำให้เมืองพัฒนาขึ้นได้” นายธนาธรกล่าว
นายธนาธรกล่าวอีกว่า กรณีข้างต้นแตกต่างจากกรณีที่ชาวตำบลนาโส่ อ.กุดชุม จ.ยโสธร ที่คิดหาวิธีแก้ไขปัญหาและความเดือดร้อนจากวิกฤตเศรษฐกิจ เมื่อปี 2540 โดยการกำหนดเบี้ย (ระบบเงินชนิดหนึ่ง) แทนเงินบาท ที่เรียกว่า “เบี้ยกุดชุม” ใช้ซื้อ ขาย แลกเปลี่ยนกันในชุมชน เพราะต้องการลดผลกระทบจากเงินเฟ้อจากเงินบาทในยุคข้าวของแพงช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งช่วงนั้นเบี้ยกุดชุมได้รับการยอมรับในชุมชนแห่งนี้เป็นอย่างมาก แต่ต่อมาธนาคารแห่งประเทศไทยบอกว่า การใช้เบี้ยกุดชิมเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายพระราชบัญญัติเงินตรา พ.ศ. 2501 เพราะตัวกลางในแลกเปลี่ยนสินค้าในประเทศไทยใช้ได้เฉพาะเงินบาท เบี้ยกุดชุมจึงตายไปจากสังคม
“ลองเปรียบเทียบ 2 กรณีข้างต้นจะพบว่า อำนาจของชุมชนท้องถิ่นในประเทศไทยไม่สามารถออกแบบอนาคตของตัวเองได้เหมือนอย่างที่เมืองซูค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์” นายธนาธรกล่าว
ผู้ก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ผู้นี้กล่าวว่า อีกหนึ่งตัวอย่างเมืองที่สามารถใช้อำนาจกำหนดอนาคตของเมืองได้ คือ เมืองคาโตวีตเซ (Katowice) ประเทศโปแลนด์ ที่เปลี่ยนจากเมืองที่เคยมีรายได้จากการทำอุตสาหกรรมเหมืองแร่ กลายมาเป็นเมืองศูนย์กลางการแข่งกันกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ (E-sport) ในยุโรป เมื่อปี 2559 โดยแนวคิดการสร้างศูนย์กลางการแข่งขันอีสปอร์ตนี้เกิดจากผู้บริหารและสภาเมืองมองเห็นแนวโน้มการเติบโตของกีฬาประเภทนี้ในยุโรป แต่ยังไม่มีสถานที่ในจัดการแข่งขันกีฬาประเภทนี้อย่างจริงจริง ผู้บริหารและสภาเมืองจึงลงมติให้สร้างสนามแข่งกีฬาอี-สปอร์ตขึ้นเมือง ผลจากการสร้างสนามแข่งขันทำให้เมืองมีรายได้จากการขายบัตรเข้าชมการแข่งขัน 60 ล้านบาทต่อปี
“ลองคิดดูถ้าขอนแก่นบอกว่าอยากทำสนามแข่งขันอี-สปอร์ตเหมือนเมืองคาโตวีตเซ ผู้บริหารเมืองต้องวิ่งไปขอราชการส่วนกลางที่กรุงเทพฯ ซึ่งก็ไม่รู้ว่าจะได้รับอนุญาตให้ทำหรือไม่” นายธนาธรกล่าว
นายธนาธรกล่าวอีกว่า ตนเชื่อว่าคนในท้องถิ่นมีความคิดสร้างสรรค์มากมายที่อยากจะพัฒนาท้องถิ่นตัวเอง แต่มีสิ่งที่กดทับอยู่คือรัฐราชการของไทยที่มีขนาดใหญ่โตมาก ทำให้ศักยภาพคนในท้องถิ่นประเทศไทยนี้ไม่สามารถทำอะไรได้