โครงการเวนคืนพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ให้เป็นเขตพระราชฐานล้วนๆ
(ในความรู้สึกที่ว่าไม่ใช่ของรัฐบาล) ที่ประชาชนในกรุงเทพมหานครพากันจับตามาพักใหญ่
เป็นรูปธรรมขึ้นมาชัดเจนแล้ว
เมื่อปรากฏ ‘แผนพัฒนา กทม. ระยะ ๒๐ ปี’ และ ‘แผนผังแม่บทการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์’
ซึ่งอยู่ในระหว่างการพิจารณาหล่อหลอมให้เพียบพร้อมบริบูรณ์ โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
(สศช.) ก่อนจะเสนอคณะรัฐมนตรี คสช. อนุมัติในไม่ช้า
ที่ว่า ‘ในไม่ช้า’ นี้หมายถึงจะไม่ผูกพันกับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง
ไม่ว่าประเทศจะมีรัฐบาลใหม่จากการเลือกตั้งในปลายปี ๒๕๖๒ หรือว่าคณะยึดอำนาจ คสช.
ยังคงเป็นรัฐบาลต่อไปอีกนานเท่าใด ไม่รู้ ทั้งนี้เนื่องจาก ‘แผนแม่บท’
เริ่มมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแล้วอย่างจริงจัง
สำนักงานนโยบายและวางแผนฯ (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ
ได้ว่าจ้างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขยายแผนแม่บท จากของเดิมที่มีการจัดทำไว้เมื่อปี
๒๕๔๐ “เพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ใหม่ฉบับปี ๒๕๖๐ โดยขยายขอบเขตพื้นที่ครอบคลุม”
ทั้งกรุงรัตนโกสินทร์ ชั้นใน ชั้นนอก
กับพื้นที่ต่อเนื่องกับทั้งสองชั้นนี้ “ตั้งแต่แนวคลองรอบกรุงถึงแนวคลองผดุงกรุงเกษม”
แล้วยังมีพื้นที่ฝั่งธนบุรีตรงข้ามเกาะรัตนโกสินทร์ และพื้นที่ต่อเนื่องในธนบุรีที่อยู่ตรงข้ามเกาะรัตนโกสินทร์ด้วย
รูปธรรมที่เห็น จากการย้ายเขาดินออกนอกเกาะรัตนโกสินทร์ แผนการย้ายมหาวิทยาลัยราชภัฏ
โครงการย้ายกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงท่องเที่ยวฯ และศาลาว่าการ กทม.
เพื่อลดความแออัด ไปจนถึงการ
“ปรับปรุงภูมิทัศน์ ระบบการจราจร การใช้ประโยชน์ที่ดิน
ระบบสาธารณูปโภค สาธารณูปการ การปรับปรุงสถานที่ท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวและวิถีชุมชน” บนเกาะรัตนโกสินทร์ทั้งหมด ดังที่นายศักดิ์ชัย บุญมา
ผอ.ผังเมืองแจ้งว่า
“เพื่อเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวศิลปวัฒนธรรมและโบราณสถานในพื้นที่รอบกรุงรัตนโกสินทร์”
จะทำให้เป็นแลนด์มาร์คของการท่องเที่ยวประเทศไทย “เหมือนกับถนนฌ็องเซลิเซ่ของประเทศฝรั่งเศส”
นั่นเลยเชียว
เป็นที่น่ายินดีกับการสถาปนามิติแห่งการท่องเที่ยงทางวัฒนธรรมเช่นนี้
ในแนวทางที่ย่านปูซานของเกาหลีใต้ หรือห้อยอันของเวียตนามประสบความสำเร็จมาแล้ว และวาดฝันให้แก่เกาะรัตนโกสินทร์ได้ทัดเทียมหรือล้ำหน้าได้
แต่มิติแห่งการท่องเที่ยวที่ประเทศไทยเคยโด่งดัง เช่นการที่ชาวต่างชาตินิยมมาคลุกคลีกับร้านค้า
แผงอาหารริมถนนคนเดิน ‘สตรีทฟู้ด’ เช่นประตูน้ำและถนนข้าวสาร กำลังจะมลายหายไปกับการจัดระเบียบริมทางเท้า
ที่ กทม. ภายใต้ mindset หรือจิตสำนึกความเรียบร้อยในระบอบอำนาจเบ็ดเสร็จจากรัฐประหาร
กับการท่องเที่ยวแบบสนุกสนานเฮฮาในธรรมชาติ
อย่างการลุยป่าเขากูนังมูลูในมาเลเซีย การล่องแพสำราญที่วังเวียงในลาว
หรือการดำน้ำเกาะเต่า และฟูลมูนปาร์ตี้ชายหาดเกาะพะงัน ที่จุดหมายในประเทศไทยกลายเป็นสถานที่ต้องห้าม
‘เกาะแห่งความตาย’ ไปแล้ว
‘ชื่อเสีย’ ของเกาะเต่าในอ่าวไทย กลับมาเป็นเป้าวิพากษ์อีกครั้งเมื่อนักท่องเที่ยวหญิงสาววัย
๑๙ ปีชาวอังกฤษไปเปิดโปงเรื่องชั่วร้ายที่เธอประสบระหว่างท่องเที่ยวหาความสำราญบนเกาะเต่าของไทยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา
หนังสือพิมพ์ประเภทแท้ปลอยของอังกฤษอย่างน้อยสองฉบับ ประโคมข่าวเหตุการณ์ที่หญิงสาวฝรั่งถูกมอมยาแล้วข่มขืนบนชายหาดของเกาะเต่า
หลังจากไปดื่มที่ร้านฟิสช์โบว์บาร์และลีโอบาร์ “ก่อนจะรู้สึกตัวอีกทีในตอนเช้าก็ปรากฏว่าตัวเองนอนเปลือยเปล่าอยู่บนหาดทรายรี
ข้างๆ มีชายคนหนึ่งนอนอยู่ด้วยแต่ต่อมาหลบหนีหายไป
ผู้เสียหายระบุว่ารุดแจ้งความกับตำรวจอำเภอเกาะพะงันว่าถูกกระทำชำเรา
แต่เจ้าหน้าที่กลับเพิกเฉย และลงบันทึกเพียงว่าเป็นเหตุลักทรัพย์
มีโทรศัพท์มือถือไอโฟน ๗ และเงินสดราว ๓,๐๐๐ บาทถูกขโมยไป”
ไม่ว่าทางการตำรวจไทยจะแถลงแก้ตัวอย่างไร
ชื่อเสียของเกาะเต่าแต่เมื่อครั้งนักท่องเที่ยวสาวและเพื่อนชายถูกฆาตกรรมโหดบนชายหาดทรายรีเช่นกัน
เมื่อปี ๒๕๕๗ ที่เป็นข่าวอื้อฉาวจับแพะหนุ่มหม่องสองนาย ยัดข้อหาและรีบตัดสิน ‘แก้ผ้าเอาหน้ารอด’
จนเป็นที่ดูแคลนต่อกระบวนการยุติธรรมไทยไปทั่วโลก ก็ยังคงเคลือบอยู่กับภาพลักษณ์ประเทศไทย
แม้กระทั่งในสังคมไทยเอง
เหตุการณ์ที่เกิดในค่ายทหารจังหวัดตรัง ที่เด็กชายวัย ๗ ขวบถูกทหารกระทำชำเรา แล้วมารดาของเด็กร้องเรียนหลังจากที่ทางกองทัพพยายามปิดปากด้วยค่าตอบแทน
๓ แสนบาท
สุดท้ายที่ความยุติธรรมตาม พันเอกวินธัย
สุวารี โฆษก ทบ. อ้าง คือคณะกรรมการวินัยของกองทัพลงโทษด้วยการจำคุกผู้กระทำผิด ๑๕
วัน และสั่งพักงานโดยไม่จ่ายเงินเดือนอีก ๑๕ วัน หวังให้จบแค่นั้นนั่นหรือ
ยังมีกรณีที่พลทหารรุ่นพี่เกิดความหมั่นไส้ไอ้เณรรุ่นน้อง
เลยจัดการซ่อมและซ้อม (สองกรรมวิธีธำรงวินัยในหมู่ทหาร) “สั่งให้เอาหัวปักดินและผลัดกันเตะเข้าที่ชายโครงคนละ
๑ ครั้ง และเตะไปอีก ๒ ครั้ง” จนทำให้พลทหารคชา
พะชะ อาการปางตาย หมอแจ้งว่ามีโอกาสรอดชีวิตได้เพียง ๓๐%
แล้วคณะทหารยังมีการนำคณะแพทย์มาแถลงเรื่องนี้
ว่าตรวจไม่พบแม้แต่รอยฟกช้ำใดๆ บนร่างของพลทหารเข้ม อีกทั้งพลทหารรุ่นพี่ที่กระทำทารุณกรรมสามคนไปกราบขอโทษต่อแม่ของพลทหารเข้ม
ก็มิได้ทำให้วัฒนธรรมของการข่มเหงอย่างเหี้ยมโหดแบบทหารพ้นมลทินความผิด
และความจำเป็นที่ประชาชนพลเมืองธรรมดา
จักต้องล้มล้างไปให้สิ้นซากวันใดวันหนึ่งอย่างเร็วไว