วันอาทิตย์, สิงหาคม 26, 2561

การรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยและปกป้องสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย อาจไม่เพียงเป็นเรื่องของการเอาทหารออกจากการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเอา “วัฒนธรรมแบบทหาร” และระบบ “อำนาจนิยม” ที่ครอบงำสังคมไทยออก



ภาพกรณีทหารเข้ามาฝึกวินัยนักเรียนใน รร.สาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
ประสานมิตร ฝ่ายประถม (ภาพจากข่าวสดออนไลน์)


จากการเพรียกหา “วินัย” ในโรงเรียน-มหาลัย ถึงวิธีคิดแบบทหารที่ขยายตัวในสังคมไทย


ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน
2018-08-25
ที่มา ประชาไท


“บรรดาทหารเกณฑ์เป็นผู้ที่มีวินัยที่สุด มหาวิทยาลัยจึงเชิญครูฝึกทหารมาฝึกอบรมนักศึกษา สอนให้ลูกศิษย์ มีระเบียบวินัย ตรงต่อเวลา เคารพกติกาสังคม มีจิตสาธารณะและมีภาวะผู้นำ ดังนั้นกิจกรรมแบบนี้ จะไม่ดีได้อย่างไร” ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ให้สัมภาษณ์ในอมรินทร์ทีวี

รายงานข่าวหนึ่งที่ได้รับความสนใจในแวดวงการศึกษาและมหาวิทยาลัยในอาทิตย์นี้ ประเด็นหนึ่งคือกรณีที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้เชิญเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นครูฝึกสังกัดมณฑลทหารบกที่ 41 มาฝึก ‘ภาวะความเป็นผู้นำ’ ให้กับนักศึกษาชั้นปีที่ 1 กว่า 2,000 คน

รายงานของมหาวิทยาลัยระบุว่าการฝึกดังกล่าวเกิดขึ้นภายใต้โครงการ ‘WU Next Generation Leadership 2018’ ระหว่างวันที่ 14 ส.ค. – 20 ก.ย. 61 เพื่อฝึกให้นักศึกษามีคุณสมบัติของการเป็นผู้นำยุคใหม่ ภายใต้แนวคิด “กตัญญู รู้วินัย ใจอาสา พัฒนาภาวะผู้นำ” ทางมหาวิทยาลัยระบุว่าถึงแม้จะมีครูฝึกทหารแต่ไม่ใช่การฝึกที่รุนแรง แต่ลักษณะการฝึกจะเหมือนการฝึกกีฬา ฝึกวินัย และได้ออกกำลังกาย ทั้งเมื่อฝึกครบจะได้คะแนนตาม “พาสปอตคนดี”

กรณีเจ้าหน้าที่ทหารเข้ามาช่วยอบรมวินัยของมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ครั้งนี้ไม่ใช่กรณีแรก แต่เป็นหนึ่งในปรากฏการณ์ที่ทหารเข้าสู่พื้นที่สถานศึกษา อย่างโรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมทั้งระบบการอบรมข้าราชการมาอย่างต่อเนื่อง และเข้มข้นขึ้นอย่างมากภายหลังการรัฐประหารปี 2557 นี้ ปรากฏการณ์เหล่านี้ยังดูจะสะท้อนไปถึงอิทธิพลของวิธีคิดแบบทหารหรือระบอบอำนาจนิยมในสังคมไทย ที่ดำรงอยู่แม้แต่ในพลเรือนด้วยกันเอง แต่สามารถเปิดเผยตัวและขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางในช่วงหลังรัฐประหารครั้งนี้ด้วย


ไม่ได้เพิ่งมีที่ ม.วลัยลักษณ์ แต่ทหารเข้าอบรมในหลายโรงเรียน-หน่วยราชการ

หากยังจำกันได้เมื่อปีที่แล้ว (2560) มีรายงานข่าวในหลายสื่อกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารจากกองพันทหารราบ มณฑลทหารบกที่ 11 จำนวน 16 คน นำโดย ชิน-ชินวุฒ อินทรคูสิน ดารานักร้อง ที่เข้าเกณฑ์ทหารอยู่ในสังกัดของทหารกองพันนี้ เข้ามาปฐมนิเทศนักเรียนในระดับชั้นประถมปีที่ 3 และ 4 ภายในโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ฝ่ายประถม

ผู้อำนวยการโรงเรียนระบุว่าเป็นนโยบายของโรงเรียนเอง ที่ต้องการปลูกฝังความมีระเบียบวินัยและตรงต่อเวลาให้กับนักเรียน จึงได้ประสานติดต่อกับเจ้าหน้าที่ทหาร ให้มาช่วยสอนในเรื่องของระเบียบแถว การเดิน และซ้ายหัน-ขวาหัน โดยมีการแจ้งให้ผู้ปกครองรับทราบ และให้นักเรียนเข้าร่วมกิจกรรมด้วยความสมัครใจ แต่เมื่อเป็นข่าว นโยบายดังกล่าวก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางจากทั้งผู้ปกครองของนักเรียน และอาจารย์ด้านการศึกษา

ทางคณบดีคณะศึกษาศาสตร์ มศว. ในขณะนั้นยังระบุด้วยว่าแนวคิดการเอาทหารมาฝึกวินัยเด็กนั้น โรงเรียนทำแบบนี้มานานแล้ว โดยได้ความคิดมาจากโรงเรียนเครือเซนต์คาเบรียล และยังมีโรงเรียนดังในกรุงเทพอีกมากที่เอาทหารฝึกในปัจจุบัน เนื่องจากเห็นว่านักเรียนไร้วินัย และผู้ฝึกวินัยที่ดีที่สุดน่าจะเป็นทหาร

หรือย้อนไปเมื่อปี 2559 ก็มีข่าวที่ได้รับความสนใจอีกกรณีหนึ่ง คือกรณีที่โรงเรียนชุมชนดูนสาด ต.ดูนสาด อ.กระนวน จ.ขอนแก่น ทางโรงเรียนได้ให้เด็กนักเรียนชั้นอนุบาล 1-3 แต่งชุดทหารมาเรียนทุกวันพฤหัสบดี ในฐานะส่วนหนึ่งของโครงการ “ทหารน้อยลูกแม่ฟ้าหลวง” เพื่อเป็นการสำนึกในแม่ฟ้าหลวง และปลูกฝังให้เด็กมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย มีระเบียบวินัย

แม้ตามรายงานข่าวระบุว่าโครงการนี้มีมากว่า 4 ปี ก่อนหน้าจะเป็นตกเป็นข่าว และถูกวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม แต่น่าสนใจว่าเมื่อกลายเป็นข่าว เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กระทรวงศึกษาธิการ ได้ออกมาชื่นชมกับโครงการดังกล่าว โดยเห็นว่าเป็นกิจกรรมที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลคสช. และกระทรวง โดยระบุว่าการใส่ชุดทหารมาเข้าร่วมกิจกรรมนั้นไม่ถือว่าผิดระเบียบเพราะสถานศึกษาเป็นผู้กำหนด และยังทำให้เด็กรู้สึกภาคภูมิใจและรู้สึกเข้มแข็งเมื่อสวมเครื่องแบบ



ภาพเด็กนักเรียนของโรงเรียนชุมชนดูนสาด ใส่ชุดทหารมาเรียน
(ภาพจาก Workpoint TV)


ไม่เพียงแต่ในแวดวงการศึกษา แต่วงการข้าราชการพลเรือนเอง ก็มีการนำทหารเข้ามาช่วย “ฝึก” เช่นกัน โดยในปีที่ 2560 ปรากฏเป็นข่าวกรณี ‘การอบรมข้าราชการที่ดี’ ในค่ายอบรมกลุ่มวิชาชีพสาธารณสุขเขต 5 โดยมีการให้ผู้อบรมเข้าไปฝึกในโรงเรียนนายร้อย จปร. มีการยึดมือถือ และมีการนำทหารมาฝึก โดยกำหนดให้เข้าฐานเหมือนฝึกทหาร จนผู้เข้าอบรมมีการร้องเรียนเรื่องการบังคับให้ยืนกลางแดด ตากฝน กระโดดข้ามกองไฟ ปาประทัดใส่ หรือมีการให้เดินป่าในตอนกลางคืน โดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้า

ผู้เคยเข้าอบรมยังเปิดเผยว่าการเข้าอบรมดังกล่าวมีลักษณะบังคับ คือต้องเข้าอบรมภายในหกเดือนหลังเข้ารับราชการ มิเช่นนั้นจะไม่ได้รับการบรรจุ ซึ่งในค่ายจะมีการนำบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งหมอ เภสัช ทันตแพทย์ และพยาบาล มาอบรม โดยใช้เวลาทั้งหมด 7 วัน ในสองวันแรกเป็นการฝึกในโรงเรียนนายร้อย จปร. และอีก 5 วันให้หลังเป็นการฟังบรรยายในโรงแรม

กรณี “การอบรมข้าราชการที่ดี” ดังกล่าว หากลองสืบค้นดู จะพบว่าในหลายกระทรวงก็ได้มีการจัดการอบรมโดยให้เจ้าหน้าที่ทหารเข้ามามีส่วนสำคัญเช่นกัน เช่น การฝึกอบรมข้าราชการบรรจุใหม่ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีกำหนด 16 วัน ส่วนหนึ่งมีการเข้าไปฝึกอบรมภายในค่ายธนะรัชต์ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และให้มีการฝึกเพื่อระเบียบวินัย และสร้างความสามัคคี โดยมีวิทยากรครูฝึกทหารของค่ายด้วย รูปแบบการอบรมลักษณะนี้ในปัจจุบันจึงน่าจะถูกใช้ทั่วไปในการฝึกอบรมข้าราชการใหม่ในหลายกระทรวง




ส่วนหนึ่งในรูปแบบการฝึกอบรมหลักสูตร “การเป็นข้าราชการที่ดี” ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ
และสิ่งแวดล้อม ปี 2560 ที่ให้มีการนำฝึกกิจกรรมภาคสนามโดยครูฝึกทหาร


กองทัพก็จัดโครงการอบรมนักเรียนในโรงเรียนต่อเนื่อง

ในทางตรงกันข้าม นอกจากกรณีที่เป็นข่าวในลักษณะนี้ ยังมีกรณีที่กองทัพนำบุคลากรของตนเองเข้าไปอบรมในสถานศึกษาเอง ภายใต้ชื่อโครงการต่างๆ ที่หน่วยงานในกองทัพดำเนินการเอง ซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เช่น โครงการสร้างเสริมอุดมการณ์ความรักชาติ สร้างคนดีด้วยประวัติศาสตร์ สร้างชาติด้วยอุดมการณ์ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่ทหารเข้าไปอบรมให้นักเรียนตามโรงเรียนต่างๆ (ดูตัวอย่างโรงเรียนในจังหวัดสตูล โรงเรียนในจังหวัดกาญจนบุรี)



ภาพการฝึกอบรมโครงการรณรงค์ปลุกจิตสำนึกรู้คุณแผ่นดิน ที่โรงเรียนอุดมสิทธิศึกษา
อำเภอสังขละบุรี เมื่อวันที่ 18 พ.ย. 60 (ภาพจากสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์)


หรือโครงการในลักษณะที่เป็นการทำงานของชุดปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์ของกองทัพภาคต่างๆ ก็มีการเข้าไปปฏิบัติงานอบรม หรือพูดคุยหน้าเสาธงกับเด็กนักเรียนโรงเรียนต่างๆ ด้วย (ดูตัวอย่างโรงเรียนในจังหวัดสุรินทร์โรงเรียนในจังหวัดหนองคาย)



ภาพเจ้าหน้าที่ทหารชุดปฏิบัติการจิตวิทยาและประชาสัมพันธ์ ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพภาคที่ 2
ปฏิบัติงานที่ รร.ปราสาทเบงวิทยา จังหวัดสุรินทร์ วันที่ 5 ก.พ. 59 (ภาพจากเว็บไซต์โรงเรียน)


ทางกองทัพบกเอง ยังได้มีโครงการร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดโครงการค่ายฝึกเยาวชนส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม ภายใต้โครงการรณรงค์เสริมสร้างความรักความสามัคคีของคนในชาติ โดยในปี 2560 มีการจัดจำนวนทั้งหมด 60 ค่ายในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ

โครงการนี้มีการให้นักเรียนชั้นมัธยมเข้าไปรับการอบรมภายในค่ายทหาร โดยมีวิทยากรของกองทัพคอยให้ความรู้ในเรื่องต่างๆ เช่น ประวัติศาสตร์ไทย, ความสมานฉันท์, การเสริมสร้างอุดมการณ์ความรักชาติและยาเสพติด, การดูแลสุขภาพ และการป้องกันโรคติดต่อ, ศิลปะป้องกันตัว การออกกำลังกาย, หน้าที่พลเมืองที่ดี, การสร้างแรงบันดาลใจ และการอยู่สังคมอย่างมีคุณค่า, การสร้างระเบียบวินัยในตนเอง และมีการนำนักเรียนไปศึกษาดูงานในที่ต่างๆ กันไปในแต่ละจังหวัด ก่อนจะมีการมอบประกาศนียบัตรให้กับนักเรียนที่เข้าร่วม (ดูตัวอย่างรายงานข่าวการจัดอบรมลักษณะนี้ในจังหวัดพิษณุโลก จังหวัดลำปาง จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดเลย เป็นต้น)

โครงการและปฏิบัติการเหล่านี้ สะท้อนถึงความพยายามของกองทัพที่จะปลูกฝังค่านิยมของกองทัพให้กับเยาวชน และนักเรียนที่ยังอยู่ในกระบวนการเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ซึ่งดูจะเข้มข้นขึ้นอย่างมากหลังรัฐประหารครั้งนี้ด้วย





ภาพการฝึกอบรมโครงการค่ายเยาวชนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม
ภายในมณฑลทหารบกที่ 33 เมื่อวันที่ 20-23 มี.ค. 60 (ภาพจากเชียงใหม่นิวส์)


พลเรือนไทยยุคหลังรัฐประหาร: ไม่จำเป็นต้องเป็นทหาร ก็คิดแบบทหาร


ปรากฏการณ์เหล่านี้ โดยเฉพาะกรณีที่ครูอาจารย์ตามสถานศึกษา-ข้าราชการพลเรือนในหน่วยงานต่างๆ เป็นฝ่ายต้นคิดเชิญฝ่ายทหารมาอบรมในกรณีต่างๆ เสียเอง หรือการคิดว่ารูปแบบการฝึกแบบหน่วยงานทหารเป็นการแสดงออกถึง “วินัย” ในรูปแบบที่ดีที่สุด ไม่เพียงสะท้อนถึงภาวะที่บทบาทของกองทัพและทหารขยายตัวเพิ่มมากขึ้น แต่ยังสะท้อนไปถึงภาวะที่วิธีคิดแบบทหารขยายตัวออกไปในสังคม โดยที่พลเรือนเองด้วยซ้ำ ที่กลับมีค่านิยมถึงการปลูกฝังความคิด หรือการสร้างความสัมพันธ์ในแบบทหารๆ เสียเอง

ในทางวิชาการมีกรอบแนวคิดหนึ่ง ที่ถูกใช้อธิบายภาวะที่บทบาทของทหารขยายตัวไปในสังคมอย่างกว้างขวาง ได้แก่ แนวคิด Militarization (กระบวนการทำให้มีลักษณะทางทหาร หรือมีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ อย่างพิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ เสนอคำแปลว่า “ยุทธาภิวัฒน์”) หมายถึงกระบวนการที่สังคมหรือบุคคลโดยทั่วไปค่อยๆ ถูกกำกับควบคุมโดยกองทัพ หรือถูกทำให้ขึ้นอยู่กับวิธีคิดแบบทหาร

สังคมที่อยู่ภายใต้กระบวนการนี้ จะทำให้ความจำเป็นทางทหาร และสมมติฐานแบบทหารไม่เพียงจะเป็นคุณค่าที่ครอบงำ แต่ยังกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมนั้นๆ ด้วย กระบวนการนี้จึงเกี่ยวพันกับการเปลี่ยนแปรความเชื่อและคุณค่าของสังคมทั่วๆ ไป ให้เป็นไปในวิถีทางที่ให้ความชอบธรรมกับการใช้กำลังหรือการใช้อำนาจในลักษณะบีบบังคับมากขึ้น


ดูเพิ่มเติมในบางส่วนของรายงานโดยศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน “นิติรัฐที่พังทลาย: รายงานสิทธิมนุษยชน 4 ปี ภายใต้ คสช. กับมรดกต่อสังคมไทย”




ภาพการฝึกอบรมโครงการค่ายเยาวชนส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ภายในมณฑลทหารบกที่ 28
เมื่อวันที่ 30 มี.ค. 61 (ภาพจากข่าวประชาสัมพันธ์ มทบ.28)


ภายใต้มุมมองเรื่องนี้ ความสำเร็จอย่างหนึ่งของกองทัพในการรัฐประหารปี 2557 นี้ นอกจากความสามารถการในการยึดอำนาจทางการเมืองไว้ได้ยาวนานกว่า 4 ปี แล้ว ในช่วงที่ผ่านมา กรอบคิดแบบทหารยังขยายขอบเขตออกไปอย่างกว้างขวาง เข้าไปมีอิทธิพลต่อวิธีคิดและปฏิบัติการต่างๆ ของบุคคลพลเรือน หน่วยงาน หรือองค์กรในสังคมด้วย จนแม้ไม่จำเป็นต้องเป็นทหารในกองทัพ แต่ได้ดำเนินการภายใต้กรอบคิดแบบทหารเสียเอง

กล่าวอย่างถึงที่สุด การสร้างวินัยและการฝึกอบรมแบบทหารนั้น วางอยู่ฐานการใช้อำนาจบังคับ และเป็นวินัยแบบมีลำดับชั้นสูงต่ำ กล่าวคือทหารชั้นผู้น้อยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของทหารชั้นสูงกว่าเสมอ ถ้าไม่ปฏิบัติตามจะถูกลงโทษ “ธำรงวินัย” หรือ “ถูกซ่อม” วินัยแบบทหารจึงวางอยู่บนระบบการบังคับบัญชา การสั่งแล้วทำตาม คำสั่งของผู้บังคับบัญชาเป็นเรื่องเด็ดขาด ผู้รับคำสั่งไม่ต้องคิด ไม่ตั้งคำถาม หรือ “ไม่แตกแถว”

ฐานคิดเหล่านี้เมื่อถูกนำใช้เองโดยพลเรือน และให้ทหารเข้ามาช่วยฝึกอบรม ไม่ว่าจะรู้ตัวหรือไม่ จึงดูจะหมายถึงการพยายามสร้างความสัมพันธ์ทางสังคม ให้นักเรียน นักศึกษาใหม่ หรือข้าราชการใหม่ ต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งของครูอาจารย์ หรือผู้มีตำแหน่งสูงกว่า “ผู้น้อย” ที่มาเข้ามาใหม่ ต้องธำรงความสัมพันธ์กับ “ผู้ใหญ่” แบบมีลำดับสูงต่ำเอาไว้ ต้องรู้จักมีระเบียบวินัยในการแสดงออกเพื่อให้ผู้ใหญ่สามารถดูแล จัดการ กระทั่งควบคุมได้ง่าย และเพื่อให้สังคม-ชุมชนคง “ความสงบเรียบร้อย” และการทำอะไรขัดแย้งหรือแตกต่างกับระเบียบของผู้ใหญ่ อาจนำมาซึ่งการถูกลงโทษได้

ฐานคิดเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของระบบอำนาจนิยมที่ดำรงมาอยู่แล้วในวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางสังคมในเมืองไทย แต่รัฐประหารครั้งนี้ดูจะทำให้สิ่งเหล่านี้กล้าเผยตัว และขยายตัวออกไปในสถาบันและวงการต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยไม่ต้องเหนียมอายกับความขัดแย้งต่อคุณค่าแบบอื่นๆ เช่น ความเท่าเทียม ความมีเหตุมีผล หรือสิทธิเสรีภาพ มากเท่าไร

การมีฐานคิดเหล่านี้รองรับอยู่แล้วในหมู่พลเรือน จึงมีส่วนทำให้การยึดอำนาจการปกครอง และการใช้อำนาจละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยกองทัพตลอด 4 ปีกว่าที่ผ่านมากระทำได้ง่ายขึ้น

และถึงที่สุดแล้ว การพยายามรื้อฟื้นระบอบประชาธิปไตยและปกป้องสิทธิเสรีภาพในสังคมไทย อาจไม่เพียงเป็นเรื่องของการเอาทหารออกจากการเมืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลง “วัฒนธรรมแบบทหาร” และระบบ “อำนาจนิยม” ที่ครอบงำสังคมไทยอยู่ แม้แต่ในหมู่พลเรือนด้วยกันเองอีกด้วย


ดูข้อวิเคราะห์เพิ่มเติมในประเด็นการเข้ามาอบรมวินัยโดยเจ้าหน้าที่ทหารในโรงเรียน

สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ: วินัยแบบทหารในโรงเรียน
ทหารอบรมข้าราชการ นักเรียน กับภาพจำ “ระเบียบวินัย” ในสังคม ทางออกอยู่ที่ประชาธิปไตย

ooo