เป็นปรากฏการณ์ปกติไปแล้ว สำหรับการส่งข่าว และภาพข่าว ของหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์ ในลักษณะของไลน์กลุ่ม ให้ผู้สื่อข่าว จากนั้นก็ผู้สื่อข่าวก็ส่งให้สำนักข่าวที่ตนเองสังกัดเพื่อนำไปเผยแพร่ ในลักษณะ “ก็อป-วาง”(Copy –paste ) ด้วยความรวดเร็ว ทันกับสถานการณ์ข่าวออนไลน์ที่แข่งขันกันสูง
แม้กระทั่งกองทัพ ซึ่งในอดีตอ่อนไหวต่อคำว่า “กระทบความมั่นคง” ยังต้องใช้วิธีการดังกล่าวในการส่งต่อข้อมูลในการประชาสัมพันธ์ ตอบโต้ข้อมูลที่ถูกกล่าวหา ผ่าน “ไลน์กลุ่ม” เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วง 4 ปีหลัง ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เข้ามาควบคุมการบริหารประเทศ โดยกองทัพยังมีบทบาทหลักในการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย กลไกในการชี้แจงประเด็นที่ถูกฝ่ายต้าน คสช. แฉ เปิดโปง กล่าวหา จึงต้องให้ทีมงาน โฆษกคสช. ในการชี้แจงอย่างทันท่วงที พร้อมทั้งประชาสัมพันธ์เชิงรุก สร้างภาพลักษณ์บวกให้ กับคสช. กองทัพ และ “ทหาร” ในฐานะกำลังพลของหน่วย ที่ถูกโจมตีอย่างต่อเนื่อง ผ่านช่องทางหลักคือ “ไลน์กลุ่ม”
ที่น่าสนใจคือการเปิดตัวของ “เพจทหาร” จำนวนไม่น้อย ที่จัดทำโดยหน่วยงานของกองทัพ กลายเป็นช่องทางการประชาสัมพันธ์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้น
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ 13 นักฟุตบอลทีมหมูป่าอะคาเดมี่ติดอยู่ในถ้ำหลวงขุนน้ำ-นางนอน เพจที่ชี่อว่า Thai NavySEAL ของหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ (นสร.) หรือหน่วยซีล กลายเป็นเพจทหาร ยอดฮิต จากมียอดติดตามแค่ 1.6 หมื่น พุ่งสูงขึ้นเป็น1.2 ล้าน และปัจจุบันมียอดติดตาม 1.7 ล้านวิว ทั้งที่เป็นเพจของหน่วยทหาร แต่นำเสนอความเคลื่อนไหว “วงใน” ที่เป็นข้อเท็จจริง จึงมีการนำไปแชร์และส่งต่อ ส่งผลให้คนเริ่มติดตามเพจของหน่วยทหารมากขึ้น