ดูจากที่อภิสิทธิ์ตอบสัมภาษณ์ฌอน คริสปินแห่งเอเซียไทม์
ไม่มีทางที่พรรคประชาธิปัตย์จะร่วมตั้งรัฐบาลกับพรรคเพื่อไทย หลังจาก (หากมี)
การเลือกตั้ง แม้เขาจะอ้อมค้อมไปหลายขุมว่า
“ผมมองไม่เห็นคุณค่าใดๆ ในการร่วมงานรัฐบาลกับพรรคการเมืองที่ไม่เชื่อมั่นในค่านิยมของพวกเรา
(ปชป.)” และ “ถ้าเราจะเข้าร่วมในการบริหารประเทศกับรัฐบาลหน้าในแนวทางเดียวกับที่เป็นอยู่ขณะนี้
นั่นมันไม่เหมาะกับเรา”
หัวหน้า ปชป. ตอบผู้สื่อข่าวเอเซียไทม์ในการสัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับพรรคพลังประชารัฐ
ซึ่งอื้อฉาวในเรื่องการดูดอดีต ส.ส.เข้าไปเป็นพวก ผ่านทางกลุ่ม ‘สามมิตร’
ของสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ สมศักดิ์ เทพสุทิน และสุริยะ
จึงรุ่งเรืองกิจ
ที่ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกครั้ง
โดยโจ่งแจ้งด้วยปากของสมคิด โดยกระมิดกระเมี้ยนจากภาษากายของอีกสองมิตร ไม่ว่าจะในทางใดตามรายชื่อแคนดิเดทของพรรคการเมือง
หรือเป็น ‘คนนอก’ ผู้มีบารมีในรัฐธรรมนูญ
นายอภิสิทธิ์ไม่อ้อมค้อมในการปฏิเสธพรรคเพื่อไทย
ว่ายังอยู่ภายใต้การกำกับของทักษิณ หรืออยู่ในควบคุมของตระกูลชินวัตร แต่ใช้ถ้อยคำกำกวมเช่นว่า
“มันขึ้นอยู่กับพวกเหล่านั้นยึดหลักอย่างไร” ถ้าจะร่วมไปกับพรรคพลังประชารัฐ
กับ ‘ทักษิณ’ เขาเห็นว่ามีสององค์สุดแล้วแต่จะลงองค์ไหน
‘เดอะแมน’ หรือ ‘เดอะแบรนด์’
ซึ่งอภิสิทธิ์ยอมรับว่า “ความเข้มแข็งของยี่ห้อทักษิณในอดีตยังคงมีปรากฏอยู่
อันเป็นผลมาจากนโยบายที่ประสบความสำเร็จบางอย่าง”
เขายังคงแสดงออกอย่างแม่นมั่นในการ ‘แอนตี้ทักษิณ’
ว่าเป็นเรื่องโชคร้ายที่อดีตนายกฯ ทักษิณ ‘เดอะแมน’ ในส่วนของบุคคลเป็นสินค้าขายควบกับเดอะแบรนด์ จากการนิรโทษกรรมสุดซอย
การคอรัปชั่น และการใช้อำนาจเกินขอบข่าย
“ที่มากับรัฐบาลซึ่งทักษิณนำหรือทักษิณหนุน ผมเดาเอาว่ามันขึ้นอยู่กับผู้สนับสนุนเขาจะยอมให้เดอะแบรนด์หรือเดอะแมนกันแน่เป็นตัวนำ”
เป็นข้อที่ ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ หนึ่งในผู้ดำเนินรายการ ‘ทูไน้ท์ไทยแลนด์’ ของว้อยซ์ทีวีตั้งข้อสังเกตุว่าจะรับฟังเฉพาะในหมู่แฟนพันธุ์แท้ของ ปชป.
เท่านั้น
ต่อคำถามอย่างตรงเป้าของฌอนที่ว่าเขาและพรรคประชาธิปัตย์สนับสนุนและเข้าร่วมกับ
กปปส. เอาการเมืองลงไปเล่นบนถนน จนเปิดช่องให้ทหารเข้ายึดอำนาจ อภิสิทธิ์ปฏิเสธหน้าตายว่าเขาและพวก
ปชป. ไม่ได้ตั้งใจเลยจะให้มีการรัฐประหาร
จนกระทั่ง ๑๐ นาฑีก่อนมีการยึดอำนาจเกิดขึ้น ตนพยายามเสนอทางออกเลี่ยงการรัฐประหารให้แล้ว
เพื่อไทยไม่ยอมรับเอง นั่นก็เป็นประเด็นให้ ดร.พิชญ์ต้องคอมเม้นต์อีกว่า
อยากให้นายอภิสิทธิ์ออกมาชี้แจงเพิ่มเติมข้ออ้างที่ว่า ทางออกนั้นเป็นอะไรกันแน่
แม้จะเป็นที่รู้กันว่าตอนนั้น ปชป.กดดันให้เพื่อไทยยอมสละอาณัติที่ได้รับมาจากผลการชนะเลือกตั้ง
ลาออกจากรัฐบาล ยอมให้คณะบุคคลอื่นเข้าไปเป็นรัฐบาลชั่วคราว
คำตอบอย่างโวหารที่อภิสิท์ตอบเอเซียไทม์กลับเป็นว่า
“เอิ่ม ผมได้พยายามแสดงตนชัดแจ้งแล้วว่าไม่ต้องการรัฐประหาร
พวกฝ่ายตรงข้ามนั่นต่างหากที่พยายามจะเหมารวมเราให้อยู่ในฝ่ายรัฐประหาร
คุณจะต้องมองภาพให้ถ้วนทั่วไว้นะว่า
การประท้วงจะไม่เกิดขึ้นถ้าพรรคเพื่อไทยจะไม่ตั้งหน้ารับใช้ต่อผลประโยชน์ของตระกูลชินวัตร”
ครั้นเมื่อนายคริสปินถามย้อนว่า ถ้าเป็นอย่างที่คุณว่า
อะไรจะแย่กว่ากันกับการที่รัฐบาลยิ่งลักษณ์จัดการนำทักษิณกลับไทยด้วยการนิรโทษกรรมสุดซอย
กับยอมให้ทหารเข้ายึดอำนาจและยกเลิกประชาธิปไตย
อภิสิทธิ์แถกตอบอย่างบิดประเด็นว่า “พวกเราประชาธิปัตย์ยังคงพร้อมที่จะบอกว่า
เราน่าจะได้อะไรที่ดีกว่าทั้งสองอย่างนั้นแหละ”
แม้กระทั่งช่วงต้นๆ ของการสัมภาษณ์
อภิสิทธิ์พยายามจะเปลี่ยนโฉมพรรคของตนด้วยการกล่าวอ้างอย่างลอยๆ ว่า
ไม่ใช่อนุรักษ์นิยมและไม่เป็นลูกไล่ทหาร ทั้งที่ความประพฤติที่ผ่านมามันฟ้องว่าเป็นรัฐบาลเสียงข้างน้อยได้เพราะทหารตั้งให้
“ผมหวังว่าประชาชนจะเห็นเราชัดเจนขึ้นว่าเราเป็นพรรคที่ยึดประเพณีเสรีนิยมประชาธิปไตย”
และการที่ทำตัวเป็นพรรคการเมืองไม่แคร์ประชาธิปไตย บอยคอตเลือกตั้งบ้าง ค้านในสภาไม่ได้ก็ไปประท้วงข้างถนนบ้าง
ไรบ้าง
“ส่วนหนึ่งของปัญหามาจาก การที่เราต้องต่อสู้กับพรรคของ
(อดีตนายกรัฐมนตรี) ทักษิณ (ชินวัตร) ได้ทำให้บทบาทของเราออกมาในรูปที่ต่างออกไป
ซึ่งผมไม่คิดเลยว่ามันจะสะท้อนคุณค่าของเราอย่างแท้จริง”
เขาช่างบิดพริ้วถ้อยคำให้เห็นว่าตัวตนจริงๆ ล้วนมีสิ่งดีๆ ในเรื่องอุดมการณ์
ทั้งที่การกระทำ (เล่น) การเมืองที่ผ่านมาแสนชั่ว เพราะตรงข้ามกับสิ่งดีๆ ที่อ้าง
กระนั้นเมื่อฌอนถามตรงไปตรงมาอีกครั้งว่า “พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นตัวแทนให้ชัดแจ้งในการโหวตว่าต่อต้านการครองเมืองของทหารไหม”
อภิสิทธิ์ก็ยังไม่เว้นเลี่ยงตอบอีกจนได้ ไพล่ไปบอกว่า
“เราเป็นตัวแทนของทางเลือกที่ไม่ใช่ทั้งทหารและเพื่อไทย”
ถ้างั้นผู้ออกเสียงควรจะเลือกคุณมากกว่าประยุทธ์ใช่ไหม ฌอนย้อน “เอิ่ม
เรามีความแตกต่างในทางนโยบายอย่างแจ่มชัด” อภิสิทธิ์งึมงำอีกครั้ง
“ข้อแรกเราเชื่อมั่นในประชาธิปไตย” ที่จริงคงต้องการใช้คำ ‘ประชาธิปัตย์’ เสียละมากกว่า “ข้อสองเราเชื่อถือการกระจายอำนาจ และข้อสามเราเชื่อมั่นกับการค้นหาบริบทใหม่ในการบริหารเศรษฐกิจ”
ฟังดูล้วนแต่ดีๆ ทั้งนั้น
แต่น่าเสียดายที่มาช้าไปหลายเดือน
จนอาจจะมีการเข้าใจผิดได้ว่า ‘เลียนแบบ’ พรรคอนาคตใหม่ที่ได้เสนอการกระจายอำนาจไปไกลถึงเรื่อง
‘จังหวัดจัดการตนเอง’ โน่นแล้ว ส่วนเรื่องเศรษฐกิจนั่นก็อนาคตใหม่ลงรายละเอียดไปแล้วนับสิบๆ
จังหวัดเช่นกัน
ว่าแล้วก็เป็นห่วง เดี๋ยวจะเป็นเหมือน คสช. ให้สมคิด ‘ลอกแบบ’ ทักษิณเกือบทุกอย่าง แล้วยังทำไม่ได้ผลอะไรเลยสักอย่าง
เพราะลอกมาแล้วปรับใช้ไม่เป็น
(อ่านและชมเพิ่มเติมได้ที่ http://www.atimes.com/article/abhisit-says-thais-deserve-better-than-military-rule/ และ https://www.youtube.com/watch?v=J7Ahi24uAs0)