วันศุกร์, สิงหาคม 24, 2561

ถ้าคุณใช้สารพิษกำจัดวัชพืช ต้องดู ! + ความจริงเรื่องพาราควอต




น่ายกย่อง ! ชมคลิป นายกสมาคมธุรกิจค้าสารพิษกำจัดศัตรูพืช ไม่ใช้สารพิษในแปลงเกษตรของตัวเอง !

อดีตนายกสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ป้ายสีว่าผู้สนับสนุนการแบนพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซตว่าเป็นผู้ก่อการร้ายทำลายความมั่นคงทางอาหาร ทั้งๆที่พาราควอตถูกแบนแล้วใน 53 ประเทศ คลอร์ไพริฟอสทำลายสมองทารก จนศาลสั่งให้ EPA แบนภายใน 60 วัน และไกลโฟเซต สารพิษก่อมะเร็งที่ศาลสหรัฐสั่งให้บริษัทต้องชดใช้ค่าเสียหายเกือบหมื่นล้านบาท

แต่ในแปลงเกษตรของเขากลับไม่มีมีการฉีดพ่นสารพิษกำจัดวัชพืชเลย ใช้วิธีการตัดหญ้าเอาเท่านั้น เพื่อรักษาความชุ่มชื้น รักษาหน้าดินและความอุดมสมบูรณ์เอาไว้

ใครที่เป็นลูกค้าสมาคมสารพิษพวกนี้ ห้ามดูคลิปนี้ เพราะท่านจะหมดความมั่นใจที่จะฉีดยาฆ่าหญ้า ซึ่งผู้ขายเองก็ไม่ยอมใช้ในพื้นที่ของตน

#แบนพาราควอต #แบนคลอร์ไพริฟอส #แบนไกลโฟเซต

...




คำแถลงต่อสื่อมวลชน

มูลนิธิชีววิถี (BioThai) และเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช(Thai-PAN) เปิดเผยรายงานของคณะกรรมการวัตถุอันตรายซึ่งไม่เคยเผยแพร่มาก่อน ชี้เป็นรายงานอัปลักษณ์ซึ่งนำไปสู่การลงมติอัปยศไม่แบนสารพิษร้ายแรงพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต สวนทางศาลสหรัฐสั่งให้มีการยกเลิกการใช้และให้บริษัทจ่ายค่าเสียหายนับหมื่นล้านบาทแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ

สวนชีววิถี, ไทรม้า จ.นนทบุรี
วันที่ 20 สิงหาคม 2561

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ผู้อำนวยการมูลนิธิชีววิถี (BioThai) และนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ร่วมกันแถลงข่าวเพื่อเปิดเผยรายงานของ
"อนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต" ซึ่งเป็นที่มาของการลงมติไม่แบนสารพิษที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 3 สารดังกล่าวเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ทั้งๆที่สารพิษกำจัดวัชพืชพาราควอต มีประเทศต่างยกเลิกการแบนแล้ว 51 ประเทศและเตรียมการแบนในปี 2020 อีก 2 ประเทศคือจีน และบราซิล เนื่องจากมีพิษเฉียบพลันสูง ไม่มียาถอนพิษ และก่อพาร์กินสัน ในขณะที่คลอร์ไพริฟอสนั้นเป็นสารพิษที่มีผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของเด็กและทารก สารฆ่าแมลงชนิดนี้ศาลสหรัฐเพิ่งตัดสินไปเมื่อวันที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา สั่งการให้สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) ดำเนินการแบนภายใน 60 วัน เช่นเดียวกับที่ไกลโฟเซต ซึ่งสถาบันมะเร็งนานาชาติ (IARC) ขององค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นสารน่าจะก่อมะเร็งนั้น ศาลสหรัฐเพิ่งตัดสินให้บริษัทมอนซานโต้ต้องจ่ายค่าเสียหายแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบมีมูลค่าสูงเกือบหนึ่งหมื่นล้านบาท

“หากอ่านเอกสารดังกล่าวโดยละเอียดจะพบว่ามีประเด็นความไม่ชอบมาพากล 11 ประการได้แก่ 1. จงใจเลือกข้อมูลมาสนับสนุนให้มีการใช้สารพิษต่อ 2. ซ่อนข้อมูลผลกระทบแบบเนียนๆ 3. โยนทิ้งงานวิจัยที่น่าเชื่อถือ 4. บิดเบือนเหตุผลการเสนอแบน 5. แปรข้อมูลปิดบังความเสี่ยง 6. ปฏิเสธงานวิจัยใหม่ๆ 7. อ้างข้อสรุปปัญหาเล็กบิดบังปัญหาใหญ่ 8. เลือกใช้ข้อมูลจากบรรษัท 9.โยนบาปว่าเป็นความผิดของเกษตรกร 10. ละเลยไม่นำเสนอทางเลือกที่ดีกว่า และ 11. มีการลงมติชี้นำกรรมการวัตถุอันตราย ทั้งๆที่อนุกรรมการเหล่านี้มาจากฝ่ายที่สนับสนุนให้มีการใช้สารพิษอันตรายมาตั้งแต่ต้น” นายวิฑูรย์กล่าว

นางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ กล่าวว่า “อนุกรรมการฯไม่นำประเด็นสาเหตุหลักของการแบนมาใส่ในรายงาน เช่น การที่สำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐล่าสุดประกาศให้พาราควอต เป็นสารพิษที่มีพิษเฉียบพลันสูง แค่จิบเดียวก็ตายได้ และไม่มียาถอนพิษ ไม่ใส่งานวิจัยเป็นจำนวนมากที่พบว่าคลอร์ไพริฟอส ก่อให้เกิดผลกระทบต่อพัฒนาการทางสมองของทารกอย่างถาวร พยายามปิดกั้นการนำเสนอข้อมูลการพบการตกค้างของพาราควอตในขี้เทาทารกแรกเกิดของมหาวิทยาลัยมหิดล โดยอ้างว่ายังไม่มีการตีพิมพ์ แต่กลับนำเอาข้อมูลซึ่งไม่มีการตีพิมพ์ของหน่วยงานที่สนับสนุนการใช้สารพิษต่อ เช่น ของบริษัทมอนซานโต้ สมาคมวิทยาการวัชพืช และบทความในวารสารการเกษตรที่มีรายได้สำคัญมาจากค่าโฆษณาขายสารเคมีมาใช้ในรายงานเป็นจำนวนมาก เป็นต้น"

“กระบวนการจัดทำรายงานฉบับนี้จึงเป็นการศึกษาที่ไม่อาจยอมรับได้ โดยอนุกรรมการเฉพาะกิจซึ่งส่วนใหญ่มีแสดงจุดยืนสนับสนุนการใช้ลงมติชี้นำให้มีการใช้สารพิษทั้งสามสารต่อ และต่อมาข้อมูลเหล่านี้ได้ถูกใช้ไปเพื่อเสนอต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายคณะใหญ่ และนำไปสู่การลงมติอัปยศ ให้มีการใช้สารพิษทั้ง 3 ชนิดต่อ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 โดยในการแถลงครั้งนี้ ได้เปิดเผยให้เห็นว่ามีคณะกรรมการเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ลงมติปกป้องผลประโยชน์ของประชาชน” นางสาวปรกชลกล่าว

นายวิฑูรย์ เลี่ยนจำรูญ ได้สรุปว่า ปัญหาเกิดขึ้นจากผลประโยชน์ทับซ้อนในกลไกตามกฎหมาย และปัญหาเชิงโครงสร้างของกฎหมายที่ให้อำนาจในการแบนหรือไม่แบนสารใดให้ขึ้นอยู่กับกระทรวงเกษตรเป็นหลัก ในขณะที่ควรจะอยู่กับหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพมากกว่า ซึ่งจำเป็นต้องมีการแก้ไขพ.ร.บ.วัตถุอันตรายดังกล่าว และออกแบบกฎหมายให้โปร่งใสที่ประชาชน มีส่วนร่วมและสามารถตรวจสอบได้ โดยพร้อมกันนี้ “มูลนิธิชีววิถี มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และมูลนิธินิติธรรมสิ่งแวดล้อม กำลังดำเนินการฟ้องร้องคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อให้เพิกถอนมติให้มีการใช้สารพิษ เนื่องจากกระบวนการพิจารณาและศึกษาเป็นไปอย่างไม่โปร่งใส มีผลประโยชน์ทับซ้อน และอาจขัดต่อมาตรา 12 ในพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว"

“ การแบนสารพิษร้ายแรงทั้ง 3 ชนิดจะสำเร็จหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกภาคส่วน เราไม่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงนี้มาจากการใช้อำนาจพิเศษ เพราะปัญหารากฐานของเรื่องนี้เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง ซึ่งการตื่นขึ้นของเกษตรกรและผู้บริโภคจะเป็นผู้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้น “นายวิฑูรย์ กล่าว