วันอังคาร, พฤษภาคม 15, 2561

หนังไทยฉายที่ #Cannes2018 น่าสนยิ่งกว่านางแบบและดาราไทยไปขึ้น ‘คานส์’

เทศกาลหนังที่ฝรั่งเศสปีนี้ ดูเหมือนนางแบบและดาราไทยไปขึ้น คานส์ กันฟู่ฟ่ามากกว่าปีไหน ทั้ง ชมพู่- อารยา เอ ฮาร์เก็ต และ ปู-ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ล้วนโดดเด่นกับเนมแบรนด์ที่เป็นตัวแทนกันถ้วนหน้า

บ้างรับคำชมบ้างโดนถล่ม บ้างฟู่ฟ่าเสียจนโดนด่ายับก็มี ดั่ง เจนี่ (เทียนโพธิ์สุวรรณ) วุ้นเส้น (วิริฒิภา ภักดีประสงค์) และโยเกิร์ต (ณัฐฐชาช์ บุญประชม) ที่เป็นข่าววิพากษ์มากกว่าใคร
 
จน @Earth_Oscar อดไม่ไหว ต้องทวี้ตว่า “สิ่งที่ควรเป็นข่าวมากกว่าดาราเดินพรมแดง คือมีผู้กำกับชาวไทยกลุ่มหนึ่งกล้าหาญทำหนัง anthology ว่าด้วยเมืองไทยในอีก 10 ปีข้างหน้า

ในชื่อ Ten Years Thailand และได้ฉายที่ #Cannes2018 ไม่รู้ว่าหนังจะสามารถลอดรั้วลวดหนามมาฉายในประเทศบ้านเกิดได้รึเปล่า เราคนนึงล่ะที่อยากดูมาก #movietwit

เขาชวนให้ไปอ่านบทวิจารณ์หนังเรื่องนี้ที่ ‘GM Live’ ซึ่ง “***มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วน” ด้วย ทำให้รู้จักหนังเรื่องนี้กันมากยิ่งกว่า เป็นการรวมหนังสั้นสี่เรื่อง โดยผู้กำกับสี่คน ที่มีเนื้อหาสี่แบบ อันสอดประสานขานรับต่อเนื่องกัน

‘Ten Years Thailand’ เป็นหนังที่ร่วมทุนสร้างระหว่างไทย-ฮ่องกง-ญี่ปุ่น อันเป็นโครงการต่อเนื่องกับความสำเร็จของภาพยนตร์เรื่อง ‘Ten Years Hongkong’ โดยผู้กำกับ ๕ คนร่วมกันเล่าอนาคตสภาพสังคมฮ่องกงใน ๑๐ ปีข้างหน้า ด้วยแรงบันดาลใจจาก ‘Umbrella Movement’ ที่ประชาชนชาวฮ่องกงกว่าแสนคนออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตยระดับท้องถิ่นจากรัฐบาลจีน ประสพความสำเร็จในการเลือกตั้งผู้นำสูงสุดของฮ่องกง ในปี ๒๕๕๗

หนังสั้นตอนแรกใน ‘Ten Years Thailand’ ชื่อ Sunset กำกับโดย อาทิตย์ อัสสรัตน์ เจ้าของรางวัลสุพรรณหงส์ ต่อด้วย Catopia ฝีมือของ วิศิษฐ์ ศาสนเที่ยง ที่เคยดังจาก ฟ้าทลายโจร (๒๕๔๓) และ รุ่นพี่ (๒๕๕๘) เรื่องที่สามคือ Planetarium กำกับโดย จุฬญานนท์ ผู้กำกับรุ่นใหม่ที่น่าจับตา และปิดท้ายด้วย Song of the City ผลงานของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับฯ ระดับรางวัล Palme d’Or ของ Cannes
 
ลงรายละเอียดเนื้อหาหนังแต่ละตอน โดยสังเขปดังนี้

Sunset ว่าด้วยเรื่องราวของทหารชั้นผู้น้อยชาวอีสาน ซึ่งทำหน้าที่เป็นพนักงานขับรถพาทหารและตำรวจมาชมนิทรรศการแสดงภาพถ่ายที่ได้รับแจ้งมาว่าเนื้อหาของงานแสดงศิลปะเซตนี้นั้น อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในสังคม

แต่เหมือนพรหมลิขิตบันดาลชักพา ทหารหนุ่มนั้นเกิดปิ๊งปั๊งกับแม่บ้านสาวชาวอีสานที่ทำงานในแกลเลอรี่นั้น ในระหว่างที่เหล่าทหารและตำรวจรุ่นพี่กำลังถกเถียงกับตัวศิลปินและเจ้าของแกลเลอรี่ ตั้งคำถามถึงความเหมาะสมว่าศิลปะ หน้าที่ และ ความหมายของมันคืออะไร

ตัวภาพยนตร์โฟกัสไปที่สภาพแวดล้อมของความเป็นมนุษย์ ซึ่งกอปรสร้างมาจากความต่างของพื้นเพที่เติบโต หน้าที่การงาน และสภาพสังคม ก่อให้เกิดการปะทะ ถกเถียงวิพากษ์วิจารณ์ ผ่านงานศิลปะงานหนึ่งที่บอกเล่าเหตุการทางสังคม-วัฒนธรรม-การเมือง

คล้ายกำลังบอกคนดูว่าคุณกำลังจะเจออะไรในการรับชม Ten Years Thailand 

Catopia ก็เช่นกัน ภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ว่าด้วยเรื่องราวของมนุษย์ชายคนหนึ่ง ที่ต้องหลบซ่อนอัตลักษณ์ ตัวตน และทัศนคติของตนเองที่แตกต่างจากคนอื่น เพราะในขณะนั้นโลกใบนี้ถูกปกครองด้วยมนุษย์แมว ที่คอยกวาดล้างมนุษย์ชาวเราให้หมดไปจากโลก

เพื่อความอยู่รอด พระเอกต้องคอยปลอมตัวจนบางทีก็หลงลืมไปเลยว่าตัวตนของตนเองจริงๆ นั้นเป็นอย่างไร เหมือนเหตุการณ์ทุกอย่างจะดำเนินไปได้ด้วยดี แต่เมื่อวันหนึ่งเหล่ามนุษย์แมวเกิดจับได้ว่ามีมนุษย์คนแฝงตัวอยู่ในกลุ่ม และชักชวนให้พระเอกออกล่ามนุษย์ด้วยกัน ตัวพระเอกนั้นจะตัดสินใจกับเหตุการณ์นี้อย่างไร

ภาพยนตร์สั้นเรื่องที่สาม ยิ่งผลักดันให้ Agenda ของ ๑๐ ปีประเทศไทยในภาพรวมของหนังชัดขึ้นไปอีก Planetarium เล่าเรื่องราวของเจ้าลัทธิ ที่ใช้เพลงอิเล็กทรอนิกส์คอยกล่อมเกลาลูกลัทธิให้แสดงความเชื่อฟัง เมื่อเพลงดังขึ้นเหล่าลูกลัทธิต้องหยุดกิจกรรม และหันไปเพลิดเพลินกับดนตรีอิเล็กทรอนิกส์นี้

เป็นข้อคิดว่าการเชื่อฟังนั้นเกิดจากความเพลิดเพลินกับดนตรี หรือเป็นเพราะคนรอบข้าง ใครๆ ก็ทำอย่างนั้นกันหมด หรืออีกแง่หนึ่งแสดงการเชื่อฟังเพราะความเกรงกลัว เนื่องจากเห็นผู้ฝ่าฝืนถูกนำตัวไปบังคับฟังดนตรีชนิดที่หนักกว่า

เรื่องปิดท้าย Song of the City อภิชาติพงศ์นำผู้ชมไปร่วมวงกับการปฏิสังขรณ์อนุสาวรีย์จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่ขอนแก่น บรรยากาศแวดล้อมเต็มไปด้วยเสียงแตรเสียงกลองของวงดุริยางค์เคล้ากับเสียงของเครื่องมือก่อสร้างและเสียงเทปูน โดยมีตัวละครจากภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ของอภิชาติพงศ์มานั่งๆ นอนๆ สนทนาโน่นนี่เรื่อยเปื่อย

“ชวนให้เกิดความสงสัยและตั้งคำถามถึงอนาคตว่า ไอ้ที่กำลังรีโนเวทบูรณะกันอยู่นี้ มันจะออกมาอีท่าไหนกัน พอเข้าใจดังนั้นแล้วก็ใจหายตุ๊มๆ ต่อมๆ อย่างพิลึก” นนทวัฒน์ นำเบญจพล สังเกตุการณ์
 
“ส่วนหนึ่งที่ต้องชื่นชมคือการจัดเรียงบริหารไอเดียของโปรดิวเซอร์ อย่าง โสฬส สุขุม กับ คัทลียา เผ่าศรีเจริญ ที่คัดเลือกผู้กำกับออกมาได้อย่างเหมาะสม การเรียงภาพยนตร์แต่ละเรื่อง ก่อนหลังได้อย่างลงตัว และสามารถสะท้อนสภาวะบางอย่างได้อย่างน่าสนใจ”


หนังไทยไปคานส์เรื่องนี้ฉายเปิดตัวในชุด Special Screening เมื่อวันที่ ๑๐ พ.ค. เป็นรอบปฐมฤกษ์ ด้วยความหวังว่า “สำหรับประเทศไทยคาดว่าอีกไม่นานคงจะได้รับชมและร่วมภาคภูมิใจไปกับผลงานคนไทยที่ไปเฉิดฉายในเวทีระดับโลกกัน”