วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 24, 2561

แถลงการณ์ HRW เรียกร้องให้ยกเลิกข้อหา และปล่อยตัว #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง โดยไม่มีเงื่อนไขในทันที ชี้สี่ปีหลังรัฐประหารเผด็จการ คสช. ไม่จริงใจที่จะคืนอำนาจให้ประชาชน





ประเทศไทย: ปล่อยตัวนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย 14 คน

การปราบปรามยิ่งทำให้คำสัญญาว่าจะฟื้นฟูประชาธิปไตย 'กลายเป็นเรื่องเหลวไหล'




รังสิมันต์ โรม นักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย (กลาง) โบกธงชาติไทยในขณะที่ผู้ประท้วงต่อต้านรัฐบาลรวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน ที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย วันที่ 22 พฤษภาคม 2561
© 2018 Reuters/Athit Perawongmetha


พฤษภาคม 22, 2018
ที่มา Human Rights Watch


(นิวยอร์ก) – ทางการไทยควรถอนฟ้องและปล่อยตัวนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตย 14 คนทุกคดีและอย่างไม่มีเงื่อนไข พวกเขาได้จัดการประท้วงต่อต้านระบอบทหารอย่างสงบ ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในวันนี้ ทั้ง 14 คนถูกดำเนินคดีในข้อหายุยงปลุกปั่น ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกินเจ็ดปี และในข้อหาละเมิดคำสั่งของรัฐบาลทหารที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไป

“การจับกุมนักกิจกรรมที่เรียกร้องประชาธิปไตยอย่างสงบ และต้องการให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลทหารไทยไม่มีเจตนาผ่อนคลายมาตรการจำกัดสิทธิต่าง ๆ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “การขัดขวางการชุมนุมประท้วงอย่างสงบ ทำให้เห็นว่าคำสัญญาที่ให้ไว้เองของนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชาที่จะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในไทย เป็นเรื่องเหลวไหล”



ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 มีการจัดการชุมนุมอย่างสงบด้านนอกอาคารสหประชาชาติที่กรุงเทพฯ ในโอกาสครบรอบสี่ปีรัฐประหารเมื่อปี 2557 ตำรวจได้สลายการชุมนุมและจับกุมแกนนำและสมาชิก “กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง” หลังจากพวกเขาได้อ่านแถลงการณ์ เรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยกเลิกมาตรการจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐาน และให้จัดการเลือกตั้งตามที่สัญญาไว้

กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง 14 คนที่ถูกควบคุมตัวที่สน.พญาไทและสน.ชนะสงครามที่กรุงเทพฯ ประกอบด้วยณัฏฐา มหัทธนา, ชลธิชา แจ้งเร็ว, อานนท์ นำภา, รังสิมันต์ โรม, สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์, ปิยรัฐ จงเทพ, เอกชัย หงส์กังวาน, โชคชัย ไพบูลย์รัชตะ, คีรี ขันทอง, พุทไธสิงห์ พิมพ์จันทร์, โรจน์ ตรงงามรักษ์, นายวิเศษณ์ สังขวิศิษฎ์, ภัทราภรณ์ จันทร์กอด และประสงค์ วาโนวัน

กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากเนื้อหาของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights-ICCPR) ที่ประเทศไทยให้สัตยาบันรับรองเมื่อปี 2539 คุ้มครองสิทธิที่จะมีเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมอย่างสงบ แต่นับจากรัฐประหารเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 รัฐบาลทหารได้ บังคับให้มีการเซ็นเซอร์ และปิดกั้นการอภิปรายในที่สาธารณะเกี่ยวกับสถานการณ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตยของไทย นักกิจกรรมและผู้เห็นต่างจากรัฐหลายร้อยคนถูกดำเนินคดีอาญาทั้งในข้อหา ความผิดทางคอมพิวเตอร์ และ หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เนื่องจากการแสดงความเห็นของตนอย่างสงบ มีคำสั่งห้ามการชุมนุมสาธารณะของบุคคลกว่าห้าคนขึ้นไปและห้ามจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย บุคคลหลายพันคนถูกทางการเรียกตัวและกดดันให้หยุดแสดงความเห็นทางการเมือง เพื่อต่อต้านรัฐบาลทหาร

จำเป็นต้องมีแรงกดดันจากนานาชาติอย่างเร่งด่วน เพื่อให้มีการเปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็วไปสู่ระบอบประชาธิปไตยแบบพลเรือนในประเทศไทย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว

“ยิ่งมีการจับกุมในข้อหาการเมืองมากเท่าไร หนทางไปสู่ประชาธิปไตยของประเทศไทยยิ่งมืดมนเท่านั้น” อดัมส์กล่าว “รัฐบาลทั่วโลกควรกดดันรัฐบาลทหารให้กำหนดวันเลือกตั้งอย่างชัดเจน และเปิดโอกาสให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถรวมตัวกันและแสดงวิสัยทัศน์ที่มีต่ออนาคตของประเทศตนเองได้”


เรื่องเกี่ยวข้อง...

หลากหลายสาขาวิชาชีพร่วมให้กำลังใจ-เรียกร้องปล่อยตัว "คนอยากเลือกตั้ง"


จุดเทียนร้องปล่อย 'คนอยากเลือกตั้ง' - อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิฯ แจง ตร. ไม่ละเมิดสิทธิฯ

(ที่มา ประชาไท)