วันพุธ, พฤษภาคม 30, 2561

สุรพศ ทวีศักดิ์ : จดหมายเปิดผนึกถึงผู้มีอำนาจรัฐและชาวพุทธ ปัญหากรณีพุทธะอิสระและเรื่องทุจริตเงินทอนวัด




ภาพจากประชาชาติ


จดหมายเปิดผนึกถึงผู้มีอำนาจรัฐและชาวพุทธ

ความเชื่อที่ว่า รัฐจะสามารถ “ชำระล้างศาสนาให้บริสุทธิ์” เป็นความเชื่อในยุคก่อนสมัยใหม่ แต่ในยุคสมัยใหม่ รัฐ (ที่ไม่ใช่ “รัฐศาสนา”) ต้องเป็นกลางทางศาสนา มีหน้าที่ให้หลักประกันเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาเท่านั้น ไม่ได้มีหน้าที่อุปถัมภ์ส่งเสริมศาสนา หรือชำระศาสนาให้บริสุทธิ์แต่อย่างใด

ปัญหากรณีพุทธะอิสระและเรื่องทุจริตเงินทอนวัด (เป็นต้น) ไม่ใช่เรื่องที่รัฐทำหน้าที่ชำระศาสนาให้บริสุทธิ์ แต่เป็นเรื่องที่รัฐต้องจัดการกับการกระทำที่ผิดกฎหมายเหมือนกรณีอื่นๆ โดยรัฐต้องดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรมที่เป็นอิสระ, เป็นกลาง และเปิดเผยต่อสาธารณะ ไม่ใช่ดำเนินการตาม “ใบสั่ง” ของบุคคล หรือกลุ่มบุคคลใดๆ

อย่างไรก็ตาม “รากฐานของปัญหา” ที่แทบไม่มีใครพูดถึงกันเลยคือ การที่รัฐกับศาสนาไม่ได้แยกเป็นอิสระจากกัน ทำให้นักบวชต้องเกี่ยวข้องกับการเมือง, ยศศักดิ์, ตำแหน่ง, อำนาจทางกฎหมาย, งบประมาณมหาศาล ภายใต้อำนาจที่ไม่มีการถ่วงดุลตรวจสอบที่ดำรงอยู่ด้วยกันกับความเชื่อที่ว่านักบวชเป็นผู้ละกิเลส ละทางโลก ไม่ยึดติดในตำแหน่ง อำนาจ ฯลฯ

ระบบสงฆ์ที่ไม่มีการถ่วงดุลตรวจสอบที่อยู่บนความไว้วางใจว่านักบวชเป็นคนดี มีคุณธรรม ละกิเลส ไม่ยึดติด คือระบบที่กลายเป็น “ช่องว่าง” ให้เกิดปัญหาตามที่เป็นข่าว (เป็นต้น) ที่จริงแล้วไม่เฉพาะวงการสงฆ์เท่านั้น “ทุกระบบอำนาจ” ที่ไม่มีการถ่วงดุลตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ ถ้าวันหนึ่งถูกเจาะหา “การทุจริต” ย่อมไม่มีใครเชื่อว่าจะไม่พบการทุจริต

จะแก้ปัญหาดังกล่าวได้ถาวร ต้องแก้ที่ “รากฐานของปัญหา” คือต้อง “แยกศาสนากับรัฐให้เป็นอิสระจากกัน” (separation of church and state) คือยกเลิกองค์กรศาสนาของรัฐทั้งหมด ให้ทุกองค์กรศาสนาเป็นเอกชน องค์กรศาสนา หรือนักบวช, ผู้นำศาสนา ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง, ยศศักดิ์, ตำแหน่ง, อำนาจทางกฎหมาย และงบประมาณมหาศาลของรัฐอีกต่อไป

รัฐและผู้มีอำนาจรัฐก็ไม่ใช้ศาสนาสนับสนุนอุดมการณ์รัฐ และไม่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือทางการเมืองอีกต่อไป ศาสนากับการเมืองไม่เกี่ยวข้องกัน รัฐเป็นกลางทางศาสนา มีหน้าที่รักษาเสรีภาพและความเสมอภาคทางศาสนาเท่านั้น ไม่อุปถัมภ์หรือสนับสนุนศาสนาใดๆ

สุรพศ ทวีศักดิ์
วิสาบูชา 2561


สุรพศ ทวีศักดิ์