วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 24, 2561

The Standard เปิดผังเครือข่ายค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ + กลยุทธ และกระบวนการเตรียมพร้อมสืบทอดอำนาจคสช.





เปิดผังเครือข่ายค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ ตอนที่ 1


22 พฤษภาคม 2018
ที่มา The Standard
โดย วยาส


HIGHLIGHTS:

  • ครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เท่ากับว่า คนไทยอยู่กับ ‘ระบอบประยุทธ์’ มาแล้ว 4 ปี และไม่มีทีท่าจะยุติแค่นี้ จนถึงวันนี้ระบอบประยุทธ์เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมหลัก 4 เรื่อง 1. การทุจริตอย่างกว้างขวาง 2. การปฏิรูปประเทศที่เดินทางมาถึงจุดล้มเหลว 3. การเลื่อนเลือกตั้ง 4. ความพยายามในการสืบทอดอำนาจทางการเมือง 
  • หนึ่งในคำถามสำคัญในวาระครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารคือ ‘เพราะเหตุใด รัฐบาลที่เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมถึงเพียงนี้จึงสามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้ และยังอาจสืบทอดอำนาจไปได้อีกยาวไกล’ 
  • บทความชิ้นนี้เสนอว่า มีเครือข่ายที่ค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ให้มั่นคงแข็งแรงอย่างน้อย 6 กลุ่ม 1. กลุ่มทุนหนุนหลัง 2. กองทัพที่เป็นปึกแผ่น 3. เนติบริกรชั้นครู อุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ สภาตรายางและองค์กรอิสระสีเขียว 4. ดึง ‘ข้าราชการ’ มาเป็นคณะรัฐมนตรีท้องถิ่น 5. โฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบ 6. ทีมวางแผนสืบทอดอำนาจ 


จะอ่านน้ำเสียงไม่พอใจของ ‘เนติบริกรชั้นครู’ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ว่าอย่างไรก็ได้ ทั้งเป็นเสียงเตือนจากพันธมิตรคนกันเอง และสัญญาณเตือนถึงขาลง-ลางร้ายของ ‘ระบอบประยุทธ์’ ก็ได้ เหมือนที่ตัวเขาเองร่อนจดหมายลาออกถึงนายกฯ ทักษิณ มาแล้วในเดือนมิถุนายน 2549 ทิ้งตำแหน่งระดับซี 11 และอายุราชการอีก 9 ปีโดยไม่หันหลังกลับไปซบ ‘ระบอบทักษิณ’ อีกเลย

ถัดจากบวรศักดิ์ลาออกไม่นานนัก ก็ตามด้วยการลาออกของ วิษณุ เครืองาม ในเดือนเดียวกันปีเดียวกัน ทั้งสองเนติบริกรตีจากระบอบทักษิณ เพราะเลยจุดที่จะรับบท ‘ศรีธนญชัย’ ได้อีกต่อไป

ครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เท่ากับว่าคนไทยอยู่กับ ‘ระบอบประยุทธ์’ มาแล้ว 4 ปี และไม่มีทีท่าจะยุติแค่นี้ จนถึงวันนี้ระบอบประยุทธ์เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมหลัก 4 เรื่องในระดับที่เป็นขาลง ลางร้ายครั้งแล้วครั้งเล่า แต่ก็ยังหยัดยืนบนผืนดิน ‘ไทยคู่ฟ้า’ ได้อย่างมั่นคง

ตั้งแต่ 1. การทุจริตอย่างกว้างขวางทำให้เสื่อม เริ่มที่ไมโครโฟนไฮเทคติดตั้งในห้องประชุม ครม. ซึ่งมีราคาสูง, การใช้งบประมาณก่อสร้างโครงการจัดสร้างอุทยานราชภักดิ์ที่ไม่โปร่งใส, ความไม่ชอบมาพากลในการซื้อเรือดำน้ำ, การทุจริตในการก่อสร้างอาคารรัฐสภาแห่งใหม่ และโครงการจัดซื้อรถเมล์ NGV เฉพาะ 5 โปรเจกต์นี้มีตัวเลขความเสียหายเกือบ 2 หมื่นล้านบาท ยังไม่รวมมหากาพย์การเปิดโปง ‘แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน’ ที่การตรวจสอบโดย ป.ป.ช. ดูเหมือนจะเป็นการประวิงเวลาออกไปเรื่อยๆ และคงสรุปจบสวยงามตามคาดว่า ‘ไม่ผิดอะไร’

ขณะที่ระบบราชการก็ถูกตั้งคำถามผ่านกรณีโกงเงินคนจนเกือบครบ 77 จังหวัดทั่วประเทศ โกงเงินนักเรียนกองทุนเสมา และกรณีเสือดำเปรมชัย ไปจนถึงระบบตุลาการที่หนุนคณะรัฐประหารอยู่ไกลๆ ยังถูกตั้งคำถามผ่านกรณีหมู่บ้านป่าแหว่ง ภาพกว้างคือสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของผู้มีอำนาจ และ คสช. ในฐานะองค์กรกลางที่โอบอุ้มคุ้มกันทุกองค์กรอยู่

2. การปฏิรูปประเทศที่เดินทางมาถึงจุดล้มเหลว เห็นได้จากน้ำเสียงของบวรศักดิ์ที่แสดงความเห็นว่า การให้ระบบราชการ ‘ปฏิรูปตัวเอง’ เป็นสิ่งที่ “ไม่เป็นชิ้นเป็นอัน” “ออกทะเล” “เหนื่อย เพราะมองไม่เห็นว่าจะไปจบลงอย่างไร” เสียงของบวรศักดิ์ กลายเป็นหลักฐานถึงความล้มเหลวในการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเปิดช่องให้หลายฝ่ายเอาไปเป็นประเด็นโจมตีรัฐบาลได้ว่า ‘รัฐประหารครั้งนี้เสียของ’

3. การเลื่อนเลือกตั้ง และ 4. ความพยายามในการสืบทอดอำนาจทางการเมือง ทั้งสองภารกิจนี้ดำเนินไปพร้อมกัน เป็นการขยับการเลือกตั้งไปเรื่อยๆ จนกว่าจะมั่นใจได้ว่า ‘ดูดได้มาก วางมัดจำได้หมด’ จนปักหมุดได้ว่าสูตรนายกคนใน-นายกคนกลาง สามารถเกิดขึ้นจริง เหล่านี้คือความพยายามในการสืบทอดอำนาจทางการเมืองที่จะดำเนินผ่านการเข้าไปถืออำนาจรัฐให้ได้ แต่หากไม่เป็นไปตามนัด แผนการควบคุมพรรคการเมืองที่ชนะเลือกตั้งก็ปรากฏชัดผ่านยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เป็นการบีบ-ล็อกคอ พรรคการเมืองให้ทำตามแนวทางทหาร

หนึ่งในคำถามสำคัญในวาระครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารคือ เพราะเหตุใด รัฐบาลที่เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมถึงเพียงนี้จึงสามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้ และยังอาจสืบทอดอำนาจไปได้อีกยาวไกล บทความชิ้นนี้เสนอว่า มีเครือข่ายที่ค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ให้มั่นคงแข็งแรงอย่างน้อย 6 กลุ่ม

1. กลุ่มทุนที่เชื่อมต่อผ่าน พล.อ. ประวิตร – ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ พูดไว้ในเวทีสื่อต่างชาติว่า “ผมมาจากคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% แรกของสังคม แต่ผมยืนหยัดเพื่อคนอีก 99% ในสังคม” ประโยคนี้ปะทะกับการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทหารอย่างจัง เพราะในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมา 1% ของประเทศนี้มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นสูงมาก ทุนใหญ่ขยายกิจการโดยได้รับการสนับสนุน ลดหย่อน เอื้ออำนวยความสะดวก จากรัฐทั้งในเชิงข้อกฎหมาย และการแลกเปลี่ยนแบบต่างๆ หรือนัยหนึ่ง ทุนใหญ่พอใจกับเสถียรภาพและสิทธิพิเศษทางเศรษฐกิจที่รัฐบาลทหารมอบให้ สอดคล้องกับ เดอะแจ็ค-วัชระ เพชรทอง ที่เสนอว่ามีความตั้งใจจะระดมทุนถึง 4 หมื่นล้านบาทเพื่อสนับสนุน ‘พรรคทหาร’

ตัวอย่างการระดมทุนพรรคทหารไม่นานมานี้ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ นอกจากเป็น รองนายกรัฐมนตรีและผู้มีบารมีในรัฐบาลทหารแล้ว ยังสวมหมวกประธานคณะกรรมการการกีฬาแห่งประเทศไทย ทำให้สามารถโชว์ซูเปอร์คอนเน็กชันมาสร้าง ‘บิ๊กดีล’ โดยดูดกลุ่มทุนต่างๆ มาเป็นกองหนุนได้สำเร็จ จนสามารถคว้าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียมาฉายได้สำเร็จ

ดึงเอกชน 9 รายมาร่วมเป็นกองหนุน ประกอบด้วย เครือเจริญโภคภัณฑ์, ไทยเบฟเวอเรจ, คิง เพาเวอร์, กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี, บีทีเอส กรุ๊ป, ธนาคารกสิกรไทย, พีทีที โกลบอล เคมิคอล, บางจาก และคาราบาวแดง มาร่วมลงขัน โดยระดมทุนกันราว 1.4 พันล้านบาท 6 บริษัทแรกลงกันคนละ 200 ล้านบาท พีทีที โกลบอล เคมิคอล ลง 100 ล้านบาท ส่วนบางจากและคาราบาวแดง คนละ 50 ล้านบาท

อันนี้แค่ซ้อมๆ เมื่อฤดูเลือกตั้งมาถึงคงสะพัดมากกว่านี้ นอกจากกลุ่มทุนที่มีชื่อข้างต้นแล้ว ยังมีทุนใหญ่สนใจจะลงขันกับบิ๊กป้อมอีกหลายราย แต่อย่างว่าทุนใหญ่ใกล้ทหารเขามีลำดับชั้น ไม่ใช่ใครจะเข้าไปลงขันได้หมด นาทีนี้ตัวเลขที่เดอะแจ็คบอกจึง ‘เล็กน้อย’ และคงได้มากกว่านั้นหลายเท่าตัว

4 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลดึง ‘เจ้าสัว-ทุนใหญ่’ มาร่วมช่วยงานและลงขันกับภาครัฐได้แนบแน่น ดังปรากฏผ่านการบริหารแนวใหม่ สูตรสานพลังประชารัฐ ดึงทุนใหญ่มาร่วมทำโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจ พัฒนาคน

ทุนใหญ่ที่มาก็เช่น ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน), บมจ. ไทยเบฟเวอเรจ, บมจ. ปูนซิเมนต์ไทย, ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน), บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด, บมจ. ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป, บมจ. ปตท., บริษัท กลุ่มเซ็นทรัล จำกัด, บมจ. เบอร์ลี่ ยุคเกอร์, บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร, บมจ. ซีพี ออลล์, บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น

ขณะเดียวกันโปรเจกต์ EEC ก็ดูเหมือนผลประโยชน์จะตกกับ 1% ทั้งนั้น ในขณะที่ 99% ที่เหลือในประเทศนี้มีเงินในกระเป๋าน้อยลงทุกวัน จะ ‘ทหาร’ หรือ ‘นักการเมือง’ มาอยู่ชั่วครั้งชั่วคราวก็จากไป แต่ ‘ทุนใหญ่’ นั้นอยู่นาน การจ่ายค่าผ่านทางและค่าเช่าทางเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่พวกเขายินดี

2. กองทัพที่เป็นปึกแผ่น – นาทีนี้การจัดรายชื่ออวยยศกำลังพลในกองทัพ แม้จะมีผู้บารมีหลายคนร่วมกันจัดโผและเคาะ แต่ผู้ทำบัญชีหลักๆ ยังคงเป็น ‘ประยุทธ์-ประวิตร’ ทำให้พวกเขาสามารถกระจายโอกาส ผลประโยชน์ การเติบโต และคุมกองทัพให้อยู่ในโอวาทต่อไป หนึ่งในสูตรการจัดโผคือยินดีให้แม่น้ำสายใหม่ๆ ได้ไหลมาบรรจบลงบ่อเดียวเพื่อเอกภาพทางการเมือง

แม่น้ำสองสาย ‘บูรพาพยัคฆ์’ และ ‘วงศ์เทวัญ’ ไหลรวมสู่บ่อเดียวเพื่อเป็นเอกภาพหนุนลุงตู่อยู่ยาว โดยเฉพาะการปรากฏชื่อของ ‘บิ๊กแดง’ พล.อ. อภิรัชต์ คงสมพงษ์ สายวงศ์เทวัญ ตท.20 ในฐานะแคนดิเดต ผบ.ทบ. ที่มีอายุราชการยาวถึงปี 63 ถือเป็นชื่อที่ได้รับแรงหนุนจากบิ๊กเนม

ชื่อชั้นของบิ๊กแดง บรรดาบิ๊กการเมืองรู้จักดี เพราะตลอด 4 ปี บิ๊กแดงเดินสายพบปะกับนักการเมืองเพื่อสร้างความสงบเรียบร้อยให้กับ คสช. เขายังเป็นหลักในการดูแลความสงบ ดูแลม็อบต่างๆ ไม่ให้แผ้วพาน นายกฯ ได้ ผบ.ทบ. คนใหม่ จะเป็นปัจจัยค้ำยันให้ ระบอบประยุทธ์อยู่ได้อีกยาว อย่างไรก็ตามไม่พึงประเมินบิ๊กแดงต่ำเกินไป ทายาท ‘คงสมพงษ์’ คนนี้อาจสร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ในทางการเมืองอย่างใดอย่างหนึ่งในอนาคตก็ได้

รัฐประหารที่อยู่นานทำให้กองทัพผลักดันตัวเองให้ได้มีบทบาทในทางการเมืองและสังคมหลายรูปแบบ โดยเฉพาะการขยายอำนาจทหารที่ได้รับคำวิจารณ์อยู่ไม่น้อย คือ คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 51/2560 เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร หรือที่รู้จักกันดีในนาม พ.ร.บ. ความมั่นคง ให้อำนาจ กอ.รมน. แก้ไขภัยความมั่นคงในประเทศ แก้ไขกฎหมายครั้งนี้ รื้อใหญ่ ใช้ยาแรง แผ่อำนาจกองทัพลงไปถึงทุกจังหวัด ดึงผู้แทนจากส่วนราชการทุกกระทรวงในจังหวัดมาร่วมในโครงสร้าง กอ.รมน. จังหวัด นาทีนี้ กองทัพเป็นปึกแผ่นยังไม่พอ แต่ยังดึงข้าราชการพลเรือนเข้ามาอยู่ใต้การนำของกองทัพอีกด้วย

3. เนติบริกรชั้นครู อุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ สภาตรายางและองค์กรอิสระสีเขียว – ระบอบประยุทธ์จะอยู่ได้ยาวนานขนาดนี้ไม่ได้ถ้าไม่มี ‘อภินิหารทางกฎหมาย’ คอยอุ้มชูโดย ‘เนติบริกรชั้นครู’ 3 รายคือ มีชัย วิษณุ บวรศักดิ์

ชื่อแรก มีชัย เป็นพลเรือนเพียงรายเดียวที่ได้เป็นสมาชิกในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ตัวเขาคุมการร่างรัฐธรรมนูญ คุมการคลอดกฎหมายลูกทุกฉบับ จะเลื่อนหรือขยับการเลือกตั้ง มีชัยทำได้ ผลงานสุดท้ายที่จะฝากไว้คือปฏิรูปตำรวจ กฎหมายซึ่งนายกฯ ตั้งใจใช้เป็นบทพิสูจน์การปฏิรูปประเทศว่า ‘กล้าปฏิรูปพวกเดียวกันเอง’

ชื่อที่สอง วิษณุ เป็นหนึ่งในพลเรือนที่นั่งในคณะที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ รั้งตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี คุมกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลแทบทั้งหมด รวมถึงนั่งหัวโต๊ะการประชุมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศอยู่ตลอด

ชื่อที่สาม บวรศักดิ์ กำลังจะนั่งเป็นหัวโต๊ะคณะกรรมการออกกฎหมายเร่งด่วน บวรศักดิ์ทิ้งคำคมล่าสุด “ถ้านายกรัฐมนตรีคนต่อไปเป็น พล.อ. ประยุทธ์จะไหลลื่น แต่ถ้าเป็นธนาธร อภิสิทธิ์ สุดารัตน์ จะดูไม่จืด”

เครือข่ายวงวารที่ค้ำยัน คสช. ยังรวมถึง ‘คณะกรรมการปฏิรูป 11 คณะ’ ตาม พ.ร.บ. กำหนดแผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ 2560 ซึ่งจะอยู่ยาว 5 ปี เพื่อทำภารกิจนี้ให้สำเร็จ เช่น อเนก คุมปฏิรูปด้านการเมือง, กฤษฎา รัฐมนตรีนกหวีด คุมปฏิรูปด้านการบริหารราชการแผ่นดิน, บวรศักดิ์ คุมด้านกฎหมาย, ปานเทพ กล้าณรงค์ราญ คุมด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ, ประสาร ไตรรัตน์วรกุล คุมด้านเศรษฐกิจ และอื่นๆ ทั้งหมดนี้ต้องเรียกว่าเป็น ‘อุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ’ เมื่อทำเสร็จจะได้แผนกล่องใหญ่ ส่วนจะนำไปปฏิบัติจริงและได้ผลหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ที่ซ้ำรอยเดิมกับการปฏิรูปครั้งก่อนๆ ก็คือ ในอุตสาหกรรมนี้ผู้รับจ้างแสดงมีหน้าเดิมๆ ทั้งนั้น

นอกจาก ‘สภาตรายาง’ ที่นำทีมโดย ‘พรเพชร’ แล้ว ที่น่าจับตาต่อไปยาวๆ คือ ความพยายามในการล้วงลูกองค์กรอิสระ ยุบชุดเก่า แต่งตั้งชุดใหม่ให้เป็นองค์กรอิสระสีเขียว เช่น ใช้อำนาจตามมาตรา 44 สั่งปลดนายสมชัย ศรีสุทธิยากร พ้นจากตำแหน่ง กกต. หนักไปกว่านั้น ล่าสุด วิษณุ เดินหน้าร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการเทียบตำแหน่งของข้าราชการทหารกับข้าราชการพลเรือนเผยบ้างแล้ว ทำนอง “ใครเป็นพลตรีก็เทียบเท่าระดับอธิบดีแล้วกัน”

ถ้าใช้มาตรฐานแบบนี้ ต่อไปเราจะได้เห็นทหารตบเท้าในองค์กรอิสระกันพรึ่บ เพราะอธิบดีมีไม่มาก แต่นายพลยศพลตรีมีหลักหลายร้อย มาแนวนี้คือวางแนวทางเพื่อการอยู่ยาวแบบราบรื่น และวางยารัฐบาลอื่นๆ ที่ นายกฯ ไม่ได้ชื่อประยุทธ์

...


เปิดผังเครือข่ายค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ ตอนที่ 2 (ตอนจบ)


23 พฤษภาคม 2018
ที่มา The Standard
โดย วยาส


HIGHLIGHTS:

  • ครบรอบ 4 ปีการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เท่ากับว่าคนไทยอยู่กับ ‘ระบอบประยุทธ์’ มาแล้ว 4 ปี และไม่มีทีท่าจะยุติแค่นี้ จนถึงวันนี้ระบอบประยุทธ์เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมหลัก 4 เรื่อง 1. การทุจริตอย่างกว้างขวาง 2. การปฏิรูปประเทศที่เดินทางมาถึงจุดล้มเหลว 3. การเลื่อนเลือกตั้ง 4. ความพยายามในการสืบทอดอำนาจทางการเมือง 
  • หนึ่งในคำถามสำคัญในวาระครบรอบ 4 ปีของการรัฐประหารคือ ‘เพราะเหตุใด รัฐบาลที่เผชิญกับวิกฤตความชอบธรรมถึงเพียงนี้จึงสามารถดำรงอยู่ในอำนาจได้ และยังอาจสืบทอดอำนาจไปได้อีกยาวไกล’ 
  • บทความชิ้นนี้เสนอว่า มีเครือข่ายที่ค้ำยันฐานอำนาจระบอบประยุทธ์ให้มั่นคงแข็งแรงอย่างน้อย 6 กลุ่ม 1. กลุ่มทุนหนุนหลัง 2. กองทัพที่เป็นปึกแผ่น 3. เนติบริกรชั้นครู อุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ สภาตรายางและองค์กรอิสระสีเขียว 4. ดึง ‘ข้าราชการ’ มาเป็นคณะรัฐมนตรีท้องถิ่น 5. โฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบ 6. ทีมวางแผนสืบทอดอำนาจ 

4. ดึง ‘ข้าราชการ’ มาเป็นคณะรัฐมนตรีท้องถิ่น – นัยยะของ ‘โครงการไทยนิยม ยั่งยืน’ มีอยู่ 3 เรื่อง หนึ่งคือ ตีฆ้องร้องป่าวสิ่งที่รัฐบาลเผด็จการทำมาตลอดหลายปี โดยเฉพาะรื้อฟื้นความทรงจำว่ารัฐบาลนี้ได้ดูแลคนจนผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือบัตรคนจน ซึ่งได้อัดฉีดงบลงพื้นที่อย่างน้อยสองรอบคือ ในปี 2560 ราว 41,940 ล้านบาท และรอบที่สองในปี 2561 ราว 35,679.09 ล้านบาท

จะเรียกโครงการทำนองนี้ด้วยภาษาแบบไหนก็ได้ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าก็คือ ‘ประชานิยม’ เพื่อ ‘คะแนนนิยม’​





สองคือ หว่านงบลงพื้นที่ครั้งสุดท้าย ก่อนเปิดเกมเลือกตั้ง อนุญาตให้พรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง โดยกระจายงบผ่านโครงการไทยนิยม อ้างว่า ‘กระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก’ ใน 82,474 หมู่บ้าน รับไปชุมชนละไม่เกิน 2 แสนบาท รวมหว่านเงินราว 16,474 ล้านบาท

สามคือ ปรับทัศนคติ-เปลี่ยนผลการเลือกตั้ง เมื่อตรวจสอบในคู่มือการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยมฯ ซึ่งมีลักษณะคล้าย ‘บทละคร’ ที่ข้าราชการต้องอ่านและทำความเข้าใจก่อนจะลงพื้นที่ คู่มือนี้กำหนดให้วิทยากรต้องไปเทศนา บรรยายและถามตอบกับชาวบ้านถึงประเด็นเหล่านี้ เช่น ประชาธิปไตยคืออะไร ความเป็นไทยคืออะไร ประชาธิปไตยแบบไหนที่เหมาะสมกับสังคมไทย คนดีในหมู่บ้านเราเป็นอย่างไร นักการเมืองที่ให้เงินชาวบ้านถือเป็นคนดีหรือไม่ หรือนัยหนึ่งคือชี้ชวนให้ชาวบ้านเห็นว่า อย่าเลือกนักการเมืองเลวแบบเดิม ประเทศนี้ต้องการคนดีมาปกครองบ้านเมือง

ไทยนิยมฯ ถูกมั่นหมายจาก คสช. ให้เป็นการตีฆ้องร้องป่าวผลงานเป็นครั้งสุดท้ายก่อนสนามเลือกตั้งจะถูกเปิดเป็นทางการ ตั้งใจให้เป็น ‘ครม. ท้องถิ่น’ ไปเยี่ยมชาวบ้านถึงศาลากลางชุมชน เพราะเวลาลงพื้นที่ ทีมวิทยากรไทยนิยมฯ จะไปครบทุกส่วนราชการในอำเภอ แต่บรรดาข้าราชการรู้ดีว่าโครงการนี้ ‘ล้มเหลว’ เพราะสายตาชาวบ้านไม่ได้ฟังอย่างเอาจริงเอาจัง หมดยุคสมัยของการเทศนาสั่งสอน ที่ใครจะมาล้างสมองได้ ขณะที่ประชาชนก็รู้ดี ใครเอางบมาให้ก็รับไว้ ไปโครงการไทยนิยมก็ไปร่วมพอเป็นพิธี…ได้ทานข้าวเย็นฟรีก็พอ





5. การโฆษณาชวนเชื่ออย่างเป็นระบบ ทั้งโดยรัฐและเอกชนมืออาชีพ – ถ้าระบอบประยุทธ์ได้กลับมามีอำนาจอีกครั้งหลังการเลือกตั้งในปีหน้า ต้องปักหมุดไว้ว่าเดือนเมษายน 2561 เป็นเดือนที่สำคัญของปฏิทินการเมือง เพราะรัฐบาลประยุทธ์ โดย ‘PR Man’ กอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นคนที่นายกไว้ใจ พูดอะไรแล้วนายกเชื่อมากที่สุดขณะนี้ เดินเครื่องโหมโฆษณาประชาสัมพันธ์ผลงานรัฐบาลอย่างหนักหน่วงตั้งแต่เมษายนเป็นต้นมา โดยยึดหลัก 4 ยุทธศาสตร์การ PR





ดึงคนดังเป็นกองหนุน ดึงนักแสดง นักร้องชื่อดัง ตั้งแต่ทีม บุพเพสันนิวาส ฟีเวอร์ ทีม BNK48 ไปพบที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อเป็น ‘กองหนุน’ ใหม่ๆ สำหรับลุงตู่ กองหนุนกลุ่มนี้กำลังเป็นกระแสในสังคม ได้รับความนิยม มีฐานแฟนคลับมาก และช่วยลดทอนภาพลักษณ์การเป็น ‘ผู้นำเผด็จการ’ ของลุงตู่ให้ดูอ่อนโยนลงมา และชวนให้สังคมสนทนาถึงการพบปะแต่ละครั้ง ซึ่งสามารถกลบข่าวเสียหายของรัฐบาลได้เป็นอย่างดี





เปิดเพจ เปิดตัวเพลง เปิดแฟนเพจ ‘สายตรงไทยนิยม’ (สายตรงลุงตู่) สื่อถึงความเข้าถึงง่ายของผู้นำประเทศ เป็นการลดลำดับชั้นการติดต่อทางราชการ การเกิดขึ้นของเพจโดยเฉพาะในเวลาที่ระบบข้าราชการกำลังเสื่อมด้วยข้อหาการทุจริต ยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกว่ารัฐบาลมีความพยายามในการแก้ปัญหาการทุจริต ขณะที่การเปิดตัวเพลงใหม่ สู้เพื่อแผ่นดิน เป็นความพยายามในการสื่อสารถึงเหตุผลในการอยู่ต่อ-ขอเวลา เพลงดังกล่าวยังเป็นครั้งแรกที่นายกฯ เขียนถึงคนร้าย คนหลงทาง หรือนัยหนึ่งคือการวิจารณ์ขั้วตรงข้ามทางการเมืองผ่านเพลงแบบตรงๆ เป็นครั้งแรก





สร้างกระแสการันตี ผู้มีบารมี นักการเมือง ศิลปิน ดารา ออกมาการันตีนายกฯ ประยุทธ์แล้วหลายคน ทั้งรองนายกฯ สมคิด ที่มีข่าวว่าจะเป็นผู้นำพรรคนอมินีทหารในอนาคต ทั้ง ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศล่วงหน้าถึงการเดินเกมในสภา เพื่อให้นายกฯ คนต่อไปเป็น พล.อ. ​ประยุทธ์ แต่ไม่มีเสียงการันตีใดจะดังและทรงพลังไปกว่า พล.อ. เปรม ที่กลับมาเป็นกองหนุน เพื่อน และผู้สนับสนุนให้กับ พล.อ.​ ประยุทธ์





สงครามข่าว IO ขอเชิญไปส่องเพจเหล่านี้ แล้วจะรู้ว่าระบอบประยุทธ์รุกโลกออนไลน์อย่างหนักหน่วง เพจเดินตามลุงตู่หมาไม่กัด, จับผีการเมืองถ่วงหม้อ, ปรองดองเป็นของประชาชน, ซูฮกลุงตู่, มั่นใจว่าคนไทยเกิน 1 ล้านคน สนับสนุนลุงตู่เป็นนายก, ไทยนิยม, ใต้โต๊ะ ครม., สายลับจับแหล, ลูงตู่มาแว้วๆๆๆ, กองอำนวยการรักษาความสงบแห่งชาติ, Gen.Prayut Chan-o-cha ทีมงาน, ทีมลุงตู่, ขอล้าน like สนับสนุนให้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายก, ไทยคู่ฟ้า, มั่นใจคนไทยทั้งแผ่นดินเชียร์ลุงตู่, สายตรงข่าวกรอง และอื่นๆ เพจเหล่านี้มีเป้าหมายอยู่ที่การโฆษณาชวนเชื่อและเร้าวาทกรรม ‘นักการเมืองเลว’ ให้กลับมาทำงานอีกครั้ง





6. ทีมวางแผนสืบทอดอำนาจ – ชัดแล้วว่า สูตรทางการที่จะเกิดขึ้นหลังการเลือกครั้งหน้าคือสูตรนายกฯ คนใน นายกฯ คนกลาง สูตรนี้ต้องอาศัยการสร้างกองหนุนแห่งชาติ กองหนุนลุงตู่ให้ใหญ่โตที่สุด จะสำเร็จได้ก็ด้วย ‘พลังดูดชั้นดี’ สำหรับนักการเมืองเก๋าเกม เมื่อดีลลับ-ผลประโยชน์ลงตัว ก็ยินดีเป็นกองหนุน หลายรายถูกมัดใจด้วยเงิน เก้าอี้สำคัญ บางรายถูกบีบด้วยข้อกฎหมาย และหลายรายได้รับ ‘เค้ก’ เป็นก้อนที่พอดีคำ ทั้งคำรับปากว่าถ้าอยู่ยาวไปด้วยกัน ผลประโยชน์ที่ได้รับก็จะมีความสม่ำเสมอ





รองนายกฯ สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รับหน้าที่เป็นศูนย์กลางของกองหนุนลุงตู่ ทั้งสร้างพรรค เป็นกระเป๋าสตางค์ของพรรค ชื่อชั้นของสมคิด คือชื่อชั้นของผู้ใหญ่ที่มีลูกน้องมาก จึงแตกเป็นชื่อลูกน้องได้อีก 3 ชื่อคือ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พาณิชย์, อุตตม สาวนายน รมว.อุตสาหกรรม และ สุวิทย์ เมษินทรีย์ รมว. คุม 4.0 ชื่อของทีมสมคิดยังมีเทคโนแครตชั้นนำพร้อมมาช่วยงานอีกหลายชื่อ ‘ทีมสมคิด’ ในเวลานี้ ไม่ใช่แค่ทีมดูแลเศรษฐกิจ แต่คือทีมสืบทอดอำนาจ

เวลานี้เครือข่ายในทีมสืบทอดอำนาจแตกแขนงออกเป็นหลายรูปแบบ ใหญ่ๆ คือ จะเข้ามาช่วยตั้งพรรคทหารผ่านพรรคพลังประชารัฐ และจะเข้ามาเป็นกองหนุนเมื่อถึงเวลา มีความเป็นไปได้ว่าพรรคและกลุ่มการเมืองต่อไปนี้จะเข้ามาเป็นกองหนุนลุงตู่ ตั้งแต่ พรรคภูมิใจไทย​ (ประเมินเก้าอี้ 25 ที่นั่ง) พรรคชาติไทยพัฒนา (19 ที่นั่ง) พรรคชาติพัฒนา (7 ที่นั่ง) พรรคพลังชล (7 ที่นั่ง) ยังมีซุ้มทางการเมืองอีกหลายซุ้ม เช่น กลุ่มมัชฌิมา แห่งตระกูลเทพสุทิน (9 ที่นั่ง) กลุ่มบ้านริมน้ำ แห่งตระกูลตันเจริญ (3-5 ที่นั่ง) กลุ่มบ้านใหญ่นครปฐม แห่งตระกูลสะสมทรัพย์ (5 ที่นั่ง) และพรรคลุงกำนัน (6 ที่นั่ง) รวมถึงพรรคตั้งขึ้นใหม่อย่าง พรรคประชาชนปฏิรูป ของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ที่ประกาศชัดว่า “ให้เป็นพรรคของคนที่อยากหนุนลุงตู่อยู่ต่อ”

สูตรจับตาการดูดคือ ถือเอาว่า ถ้าคณะรัฐมนตรีไปสัญจรที่ไหน ก็จะไม่ยอมกลับมามือเปล่า ประชาชาติธุรกิจเคาะตัวเลขมาว่า ตลอด 4 ปีมี ครม. สัญจรไปแล้ว 9 ครั้ง ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ที่มีพลังดูดหมุนเวียน วางมัดจำแล้ว เป็นกรอบวงเงินงบประมาณกว่า 1,847,000 ล้านบาท





ยิ่งเมื่อระบอบประยุทธ์มีกลไก ‘อำนาจยุบพรรค-ห้ามวิจารณ์’ อยู่ในมือ เกมสังหาร พรรคเพื่อไทย ตั้งแต่เกมเลือกตั้งยังไม่เปิดก็อาจเป็นไปได้ เพราะโพลนายใหญ่ตราดูไบดันไปสอดคล้องกับโพลทหารที่บอกว่า เลือกตั้งครั้งนี้อาจได้ไปถึง 220 ที่นั่ง อันเป็นผลมาจากยุทธศาสตร์สะสมความโกรธของประชาชน ที่จะสะท้อนผ่านผลเลือกตั้ง ตัวเลข 220 เมื่อรวมกับพรรคอนาคตใหม่ และพรรคเล็กพรรคน้อยที่พอมีอุดมการณ์ จึงอาจได้นายกฯ เป็นชื่อ สุดารัตน์​ ชัชชาติ หรือธนาธร (บวรศักดิ์เนมชื่อเหล่านี้ด้วยตัวเอง) สูตรทางการเมืองแบบนี้เป็นไปได้หมด อย่ารีบปิดความเป็นไปได้ไวเกินไป สำคัญคือ ฝ่ายประชาธิปไตยต้องทำงานหนักในทางยุทธศาสตร์

4 ปีมานี้เครือข่ายที่ค้ำยันฐานอำนาจของระบอบนี้ไม่ได้ลดลงเลย อีก 2 คำถามที่ทิ้งไว้อย่างกว้างๆ และอาจต้องใช้เวลาเพื่อหาคำตอบที่เหมาะสมกันอีกสักระยะคือ หนึ่ง เครือข่ายทั้งหมดนี้ดำเนินไปได้ด้วยการแบ่งสรรปันผลประโยชน์แบบใด สอง เครือข่ายทั้งหมดนี้จะมีจุดจบแบบใด จะอยู่ได้มั่นคงแข็งแรงแบบ ‘เปรมาธิปไตย’ หรือ จะนำไปสู่ฉันทามติร่วมกันของสังคมนี้ว่า ‘ถึงเวลาต้องนำทหารออกจากการเมืองไทยเสียที’